ฉบับที่ ๑๙๖ เดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๖๒

สมาธิ...ประสบการณ์สากล ที่ทุกคนสัมผัสได้

บทความน่าอ่าน
เรื่อง : พระมหาพงศ์ศักดิ์ ฐานิโย, ดร.
มหาวิทยาลัยบอสตัน (BOSTON UNIVERSITY)


สมาธิ...ประสบการณ์สากล
ที่ทุกคนสัมผัสได้


       เย็นวันหนึ่งหลังจากการเรียนตลอดทั้งวันที่มหาวิทยาลัยบอสตัน ขณะที่ผู้เขียนได้นั่งพักดื่มน้ำและทอดสายตาออกไปทางหน้าต่าง เพื่อพักสมองและสายตาจากการเรียนตลอดทั้งวันหัวหน้าศูนย์กิจกรรมพิเศษได้เดินเข้ามาพบ และขอให้ผู้เขียนได้เปิดชมรมสมาธิขึ้นที่ NESE (The New England School of English, Cambridge) โดยจัดกิจกรรมทุกวันพุธ หลังจากเลิกการเรียนการสอนของทางโรงเรียน


         ขณะนั้นความคิดแรกที่เกิดขึ้นมา คือ “นี่เป็นเดือนที่ ๓ ที่มาเรียน แล้วเราจะทำได้หรือ ?” แต่หลังจากนั้นก็มีอีกความคิดหนึ่งขึ้นมาว่า “สมาธิ...เป็นการสื่อสารด้วยภาษาใจไม่ใช่ภาษาวาจาเพียงอย่างเดียว” ผู้เขียนจึงตัดสินใจตอบรับคำเชิญชวนนั้น มาถึงวันนี้ผู้เขียนได้มีโอกาสแนะนำสมาธิให้แก่เพื่อน ๆ กว่า ๑๐๐ คน ที่เดินทางมาเรียน ณ โรงเรียนแห่งนี้จากหลายทวีปทั่วโลก อาทิ เอเชีย ยุโรป อเมริกาใต้ และแอฟริกา ซึ่งภายหลังจากการนั่งสมาธิแล้ว ทุกท่านได้รับความสุขและความสงบ และหลายท่านยังได้ขออนุญาตนำวิธีการทำสมาธิไปแนะนำต่อเมื่อกลับไปยังประเทศของตนเอง


       นอกจากนี้ ผู้เขียนยังได้มีโอกาสแนะนำสมาธิในคอร์สที่จัดขึ้นทุกวันเสาร์ โดยวัดพระธรรมกายบอสตัน (Dhammakaya Meditation Center Boston) โดยการนำของพระครูภาวนาวิเทศ (พระมหาวิรัตน์ มณิกนฺโต) เจ้าอาวาสและคณะสงฆ์ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันแนะนำและแบ่งปันประสบการณ์ในการเจริญสมาธิภาวนาให้แก่ผู้ที่สนใจ รวมถึงการแนะนำสมาธิแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ณ สถานีตำรวจกลางเมืองควินซี (City of Quincy Police Headquarters) อีกทั้งการแนะนำและแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับสมาธิให้แก่ผู้สนใจที่อยู่ห่างไกลในรัฐอื่น เช่น ศูนย์ปฏิบัติธรรมอลาบามา (Meditation Center of Alabama) เป็นต้น ทั้งนี้ยังไม่กล่าวถึงกิจกรรมที่ศูนย์วัดพระธรรมกายกว่า ๑๐๐ แห่ง ที่กระจายอยู่ทั่วทุกทวีปกำลังทำหน้าที่ในการขยายวิธีการเข้าถึงสันติสุขภายในด้วยสมาธิ


      จากตัวอย่างประสบการณ์ที่ผู้เขียนได้สัมผัสด้วยตนเอง และได้รับข้อมูลในการทำหน้าที่ของคณะพระภิกษุ อุบาสก อุบาสิกา รวมถึงสาธุชน ซึ่งล้วนทำหน้าที่กันอย่างเต็มที่เพื่อขยายสันติสุขที่แท้จริงที่มีอยู่ภายในตัวของทุก ๆ คน ทำให้ผู้เขียนยิ่งเข้าใจและซาบซึ้งถึง “พระธรรมคุณ” ที่กล่าวไว้ว่า ผู้ปฏิบัติตามย่อมเห็นได้ด้วยตนเอง (สนฺทิฏฺฐิโก) ไม่จำกัดด้วยกาลเวลา (อกาลิโก) ควรเชิญชวนให้มาพิสูจน์ (เอหิปสฺสิโก) ควรน้อมเข้ามาเพื่อปฏิบัติ (โอปนยิโก) และวิญญูชนผู้ปฏิบัติตามย่อมรู้ได้เฉพาะตน (ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ) ซึ่งเราสามารถสรุปเรื่องของ “สมาธิ” ลงในประโยคที่ว่า...

          “สมาธิ...เป็นสิ่งสากลที่ทุกคนเข้าถึงได้ โดยไม่จำกัดด้วยเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรมใด ๆ ทั้งสิ้น”


      เราทุกคนล้วนมีบุญลาภอันประเสริฐที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนา และมีศรัทธาในพระรัตนตรัย จึงไม่เป็นเรื่องยากที่เราจะได้ยินได้ฟังเกี่ยวกับเรื่องราวของ “สมาธิ” แต่เราจะไม่ปล่อยให้บุญลาภที่เรามี หยุดอยู่เพียงการได้ยินได้ฟังเท่านั้น ดังนั้นจึงควรลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังด้วยวิธีการที่ถูกต้อง เมื่อเป็นเช่นนี้ บุญลาภที่เรามีในเบื้องต้น ก็จะขยายไปสู่บุญลาภเบื้องสูง คือ การบรรลุมรรค ผล นิพพาน ตามอย่างพระผู้มีพระภาคเจ้าและพระอรหันตสาวกสืบต่อไป

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล