ฉบับที่ 106 สิงหาคม ปี2554

คุณค่าของฤดูกาล เข้าพรรษา

หลวงพ่อตอบปัญหา
โดย : พระภาวนาวิริยคุณ

 


 

    วันเข้าพรรษาเป็นวันบุญใหญ่ของชาวพุทธทั่วโลก ถ้ามองตามประวัติศาสตร์ก็จะเห็นว่าเป็น เรื่องของพระภิกษุ ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกำหนดไว้ว่าให้อยู่ประจำวัด ไม่ให้ออกไปค้างคืนที่ไหน จะได้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมให้เต็มที่ ถ้าจาริกออกไปเทศน์ที่นั่นที่นี่ ก็จะเป็นการรบกวน ชาวโลก แต่ว่าเมื่อเจาะลึกลงไปในภาคปฏิบัติแล้ว เราก็พบว่า วันเข้าพรรษาเป็นวันที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่งต่อพระพุทธศาสนาและพุทธศาสนิกชนทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นพระภิกษุและพวกเราชาวโลก เพราะว่า

          ๑. มีประเพณีนิยมกันในโลกของพระพุทธศาสนาว่า หากกุลบุตรจะเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา ก็จะเข้ามาบวชกันในช่วงเข้าพรรษานี้

          ๒. ในช่วงเข้าพรรษา พระผู้ใหญ่ท่านก็ไม่ไปไหน ท่านจะอยู่ประจำที่วัดของท่าน

          ในการอยู่ประจำวัดของพระผู้ใหญ่นั้น ก็มีนัยสำคัญ ๆ อยู่ ๓ ประการด้วยกัน

         ประการที่ ๑ ท่านจะอยู่ทำหน้าที่อบรมพระภิกษุใหม่ เนื่องจากท่านไม่ไปไหนตามพระวินัย กำหนด แล้วก็เคร่งครัดในพระธรรมวินัย คือนอกจากการบำเพ็ญภาวนาตามกิจวัตรประจำวันแล้ว ท่านก็ตั้งใจอบรมพระใหม่ ปลูกฝังพระธรรมวินัยให้กับพระใหม่ และลงมาจัดการเรื่องการเรียนการสอนอย่างเป็นล่ำเป็นสันในฤดูเข้าพรรษานี้ด้วยตนเอง

      เมื่อมีการเรียนการสอนอย่างเป็นล่ำเป็นสันอย่างนี้ตั้งแต่โบราณมาแล้ว ก็เลยเกิดประเพณีของญาติโยม ที่ควบคู่มากับการเข้าพรรษาของพระภิกษุ ได้แก่ ประเพณีถวายเทียนเข้าพรรษา

            เมื่อหลวงพ่อยังเป็นเด็ก เวลาไปตามวัดต่าง ๆ ในตอนกลางคืน จะเห็นเทียนเข้าพรรษาต้นโต ๆ สูงหนึ่งเมตรบ้าง หนึ่งเมตรครึ่งบ้าง จุดไว้ ๒ ต้น ๓ ต้น สว่างทั่วทั้งศาลา พระผู้ใหญ่ท่านก็นั่งเป็นประธานแล้วก็สอนธรรมะกันตอนกลางคืน พระผู้น้อยที่บวชใหม่ก็ล้อมวงเรียนธรรมะด้วยความตั้งใจ นี่ก็คือประเพณีการศึกษาพระธรรมวินัยในพระพุทธศาสนาที่มีมายาวนานตั้งแต่โบราณ

        " ...ฤดูเข้าพรรษาก็เลยกลายเป็นฤดูแห่งการทำบุญทำทานของญาติโยม ยิ่งมีพระภิกษุจำพรรษากับคับคั่งในแต่ละวัดมากเท่าไร การทำบุญทำทานยิ่งคึกคักกันมกาเท่านั้น "

    ประการที่ ๓ ท่านจะประชุมวางแผนเตรียมงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาในช่วงออกพรรษา เมื่อสิ้นฤดูฝนแล้ว ว่าจะต้องไปทำอะไร ที่ไหน อย่างไรกันบ้าง เช่น ออกเดินทางไปเทศน์โปรดชาวบ้านในถิ่นที่ไกล ๆ หรือเตรียมบูรณะวัดวาอารามที่ตนเองอยู่ หรือจะซ่อมแซมโบสถ์ศาลาในวัดของตนเอง หรือจะไปสร้างวัดใหม่ในชนบทที่ห่างไกล เป็นต้น  แต่เนื่องจากในปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น ประเพณีการถวายเทียนเข้าพรรษาในทุกวันนี้ ก็เลยปรับมาเป็นการถวายประทีปโคมไฟแทน แต่ไม่ได้หมายความว่า พระท่านเรียนธรรมะเฉพาะในฤดูเข้าพรรษา นอกฤดูเข้าพรรษาท่านก็เรียนธรรมะตามปกติ แต่เหมือนกับว่า ในช่วงฤดูเข้าพรรษาเป็นช่วงเวลาที่เหมาะแก่การเปลี่ยนประทีปโคมไฟ เพื่อสนับสนุนการศึกษาเล่าเรียนธรรมะของพระภิกษุนั่นเอง นี่ก็เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาในพระพุทธศาสนา

          ประการที่ ๒ ท่านอยู่จำพรรษาพร้อมหน้าพร้อมตา จึงถือโอกาสฝึกหัดขัดเกลาตนเองไป พร้อมกัน คือนอกจากพระผู้ใหญ่หลาย ๆ รูป จะวางภารกิจในการเทศน์นอกวัดเพื่อมาอบรมพระใหม่แล้ว ก็ยังถือโอกาสอบรมตนเองด้วยการเจริญภาวนาไปพร้อม ๆ กัน เพราะว่าอากาศใน ฤดูเข้าพรรษา ทั้งไม่ร้อน ไม่หนาว ชุ่มชื่นกำลังดี เหมาะแก่การเจริญภาวนา เมื่อท่านอยู่พร้อม หน้าพร้อมตากัน ฤดูกาลนี้จึงกลายเป็นฤดูแห่งการเจริญภาวนาไปด้วยในตัว

          หน้าที่ทั้ง ๓ ประการนี้ คือภาระใหญ่ของพระผู้ใหญ่ที่ทำกันอยู่ในช่วงฤดูเข้าพรรษาส่วนในฝ่ายญาติโยมก็เช่นกัน ตั้งแต่โบราณมาแล้ว ปู่ย่า ตายาย ก็ดีใจกันว่า ในช่วงฤดู เข้าพรรษานี้ นอกจากหลวงพ่อ หลวงพี่ จะอยู่ประจำวัดแล้ว ก็ยังมีพระใหม่ที่บวชก่อนเข้าพรรษา และพระหนุ่มเณรน้อยที่มาบวชเพิ่มในช่วงเข้าพรรษาอีกด้วย ฤดูเข้าพรรษาก็เลยกลายเป็นฤดูแห่ง การทำบุญทำทานของญาติโยม ยิ่งมีพระภิกษุจำพรรษากันคับคั่งในแต่ละวัดมากเท่าไร การทำบุญ ทำทานยิ่งคึกคักกันมากเท่านั้น เพราะฉะนั้น ฤดูเข้าพรรษาจึงกลายเป็นประเพณีทำบุญของญาติโยมที่สืบทอดกันมาในพระพุทธศาสนาโดยปริยาย

          หลวงพ่อจำได้ว่า เมื่อสมัยยังเป็นเด็ก ญาติโยมที่มาทำบุญในสมัยนั้น ท่านจะเริ่มไปวัดตั้งแต่วันโกน (วันก่อนวันพระ ๑ วัน) แล้วก็มักจะไปนอนค้างที่วัด เตรียมจัดทำข้าวปลาอาหารตั้งแต่วันโกน แล้วพอรุ่งขึ้นเป็นวันพระ ท่านก็เลี้ยงพระทั้งวัดกันเต็มที่เลย พอทำบุญแล้วก็ฟังเทศน์ นั่งสมาธิ ร่วมกับพระที่วัดนั้น แล้วพอวันรุ่งขึ้น (หลังจากวันพระ) ท่านก็อยู่เก็บกวาดทำความสะอาด วัดให้เรียบร้อยก่อน แล้วค่อยกลับบ้าน ก็เป็นอันว่า ๑ สัปดาห์มี ๗ วัน ญาติโยมก็มาอยู่ที่วัดตั้ง ๓ วัน คือ ก่อนวันพระ ๑ วัน ในวันพระอีก ๑ วัน หลังวันพระอีก ๑ วัน พอบ่าย ๆ เย็น ๆ จึงได้กลับบ้านกัน

        เมื่อประเพณีการอยู่วัดในช่วงเข้าพรรษาเป็นแบบนี้ ก็เลยกลายเป็นว่า ฤดูเข้าพรรษาในแต่ละปี ไม่ใช่เฉพาะพระเท่านั้นที่ฝึกอบรมศีลธรรมอย่างเคร่งครัด แต่ยังมีญาติโยมที่ไปทำบุญที่วัดนั้นร่วมกันปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัดอีกด้วย ฤดูกาลเข้าพรรษาจึงกลายเป็นฤดูกาลแห่งการอบรม ศีลธรรมอย่างเคร่งครัดทั้งพระภิกษุและญาติโยมไปโดยปริยาย ด้วยเหตุนี้ การบรรลุธรรมในฤดูเข้าพรรษาทั้งฝ่ายพระและฝ่ายบ้านจึงมีอย่างต่อเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ

         การที่ญาติโยมพร้อมหน้าพร้อมตากันทำบุญนี้ นอกจากจะได้ชื่อว่าเป็นการสั่งสมบุญให้กับ ตนเองให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปแล้ว ก็ยังเป็นการสนับสนุนหลวงพ่อ หลวงพี่ทั้งหลายให้ได้ปฏิบัติคันถธุระและวิปัสสนาธุระของท่านได้อย่างเต็มที่อีกด้วย ส่วนญาติโยมเองก็มีเวลาที่จะมาฟังเทศน์และปฏิบัติธรรมให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปด้วยเช่นกัน

       พระเดชพระคุณหลวงพ่อคุณครูไม่ใหญ่ (หลวงพ่อธัมมชโย) ได้ให้โอวาทกับลูกพระลูกเณรในวัดพระธรรมกายไว้เสมอว่า ในฤดูเข้าพรรษาก็ขอให้ลูก ๆ ทุกคนตั้งใจเป็นพระทั้ง ๒ ชั้น พระชั้นแรก คือกายเนื้อที่บวชเป็นพระอยู่ ห่มครองผ้ากาสาวพัสตร์อยู่ ก็ต้องปฏิบัติตามพระธรรม-วินัยให้เรียบร้อยเคร่งครัด ส่วนพระชั้นที่สอง คือการตั้งใจเจริญสมาธิภาวนาไปจนกระทั่งเข้าถึง พระธรรมกายในตัว นี้จึงเป็นการบวช ๒ ชั้น คือเป็นพระทั้งข้างนอกและข้างใน 

         เมื่อพระเดชพระคุณหลวงพ่อท่าน ให้นโยบายในช่วงฤดูเข้าพรรษาไว้แบบนี้แล้ว ท่านก็ให้กำลังใจกับลูกพระลูกเณรของท่านที่เพิ่งมาบวชใหม่ ซึ่งตรงนี้ญาติโยมก็นำไปใช้ได้เช่นกัน

          ท่านให้กำลังใจในการเจริญภาวนาไว้ว่า "การทำสมาธินั้น ไม่ต้องไปเร่งไปร้อน แต่ว่าให้ค่อย ๆ ทำไปทุกวัน ๆ เหมือนปลวกเหมือนมดที่ก่อรังขึ้นทีละน้อย ๆ " 

         การก่อรังของมดปลวกนั้น ไม่ใช่หักโหมทีละมาก ๆ หรอก เพราะตัวมันนิดเดียว แต่มันอาศัยความเพียรต่อเนื่อง ไม่ว่าจะคาบดิน จะแทะกิ่งไม้ ใบไม้ มันก็ทำได้ทีละนิด ๆ แล้วก็ขนเอา มาทำรัง แต่ว่ามันก็ทำของมันไป เผลอแป๊บเดียวเท่านั้น จอมปลวกก็เกิดขึ้นมาจอมเบ้อเร่อ รังมด บนยอดไม้ก็รังเบ้อเร่อ พวกเราก็เหมือนกัน ตลอด ๓ เดือนของฤดูเข้าพรรษานี้ ตั้งจิตอธิษฐานให้ดีอยู่ ๒ เรื่อง

          เรื่องที่หนึ่ง คือการอธิษฐานจิตเพื่อสะสมการทำภาวนา ไปทีละเล็กทีละน้อยต่อเนื่องทั้งวันเหมือนกับมดปลวกสร้างรัง 

        ในระหว่างวันนั้น เมื่อเราระลึกรู้ตัวขึ้นได้เมื่อไร ก็ให้ภาวนาคำว่า สัมมา อะระหัง เพื่อสั่งสมความใจหยุดใจนิ่งให้เป็นสมาธิไปทีละเล็กทีละน้อย ไม่ว่าวันหนึ่งจะได้เท่าไร จะระลึกได้กี่รอบ ก็สะสมกันไปสุดความสามารถของเราเท่านั้น ซึ่งก็จะเพาะเป็นความคุ้นเคยกับการทำภาวนาไปโดยปริยาย เมื่อถึงเวลาเลิกจากภารกิจการงานในแต่ละวัน พอลงมือนั่งสมาธิปุ๊บ ใจก็จะสงบนิ่งได้ไว เพราะฝึกซ้อมมาทั้งวันแล้ว ทำให้มีโอกาสเข้าถึงธรรมได้ไวขึ้น และจะกลายเป็นการเพาะนิสัยรักการทำภาวนาติดตัวข้ามภพข้ามชาติไปโดยเราไม่รู้ตัว

"ในพรรษานี้ นอกจากจะเป็นการทำภาวนาให้เต็มที่แล้ว ยังต้องแก้ไข นิสัยไม่ดีของตัวเองอย่างเต็มที่ด้วย"

     เรื่องที่สอง คือการอธิษฐานเพื่อแก้ไขนิสัยที่เป็นข้อบกพร่องของตนเอง 
         เมื่อสมัยที่พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) พระผู้ปราบมาร พระผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย ท่านยังมีชีวิตอยู่ พอถึงวันเข้าพรรษาเท่านั้น ท่านก็เรียกประชุม ลูกพระ ลูกเณร รวมทั้งชาววัดทั้งหมด ให้มาพร้อมหน้าพร้อมตากัน แล้วท่านก็สอนให้อธิษฐานจิต ว่า พรรษานี้ให้ทุกคนสำรวจดูตัวเองว่ามีข้อบกพร่องอะไรบ้าง ที่ถือว่าเสียหายมาก ๆ แล้วก็อธิษฐานตั้งใจแก้ไขข้อเสียนั้นให้ได้ภายในพรรษานี้

        พูดง่าย ๆ ก็คือ ในพรรษานี้ นอกจากจะเป็นการทำภาวนาให้เต็มที่แล้ว ยังต้องแก้ไขนิสัย ไม่ดีของตัวเองอย่างเต็มที่ด้วย

      หลวงปู่ท่านให้พิจารณาว่า เรามีนิสัยไม่ดีอะไรบ้าง ซึ่งแต่ละคนก็มีทั้งนิสัยดีและไม่ดีคนละ หลาย ๆ อย่าง แต่ท่านแนะนำว่า ให้ยกเอานิสัยไม่ดีมาแค่ข้อเดียวก่อน แล้วก็ให้ตั้งจิตอธิษฐานแก้ไขนิสัยไม่ดีนั้นให้ได้ภายในพรรษานี้ โดยอาศัยบารมีของพระรัตนตรัย บารมีของครูบาอาจารย์ ที่อยู่จำพรรษาในวัด สงสัยอะไรก็จะได้ไปซักถามท่าน แล้วนำกลับมาแก้ไขข้อบกพร่องของตนเอง อธิษฐานจิตลงไปเลยว่า พรรษานี้จะต้องแก้ให้ได้ แล้วตั้งใจแก้ไขปรับปรุงตนเองไป จะแก้ไขได้มาก น้อยแค่ไหน ก็ปรับปรุงกันไป ถึงแม้ยังแก้ได้ไม่หมด ทุเลาเบาบางไปได้บ้างก็ยังดี ซึ่งถ้าตั้งใจจริงอย่างต่อเนื่องตลอด ๓ เดือนนี้ ก็มีโอกาสแก้ไขหมดได้

      หลวงปู่ท่านสอนอย่างนี้เป็นประจำในช่วงฤดูเข้าพรรษา หลวงพ่อก็ขอฝากพวกเราให้ไปพิจารณาว่า เรามีนิสัยไม่ดีอะไรบ้าง ที่มักจะทำความเสียหายให้เราอยู่เป็นประจำ แล้วก็ยกเอานิสัยไม่ดีนั้น ตั้งเป็นเป้าหมายในการอธิษฐานจิต เพื่อแก้ไขนิสัยไม่ดีนั้นให้หมดไปให้ได้ในพรรษานี้ 

         การอธิษฐานจิตตามคำแนะนำของหลวงปู่นี้ ไม่ควรจำกัดเฉพาะเราเท่านั้น แม้แต่ลูกหลานว่านเครือเนื้อหน่อในวงศาคณาญาติ ก็ควรแนะนำให้เขาด้วย เขาจะได้ย้อนกลับมาทำความรู้จักนิสัยทั้งดีและไม่ดีของตนเอง รู้จักคิดพิจารณาแก้ไขนิสัยไม่ดีของตนเอง ถ้าเราทำอย่างนี้ เมื่อถึงวันออกพรรษา เราก็จะได้ลูกแก้ว หลานแก้ว ที่เป็นทั้งคนดีและคนเก่งเต็มบ้านเต็มเมือง โดยมีเรา เป็นต้นแบบของผู้นำในการทำความดี

          ในช่วงฤดูเข้าพรรษาแห่งการฝึกฝนอบรมตนเองนี้ หลวงพ่อก็ขออนุโมทนาบุญกับพวกเราที่มาสร้างบุญใหญ่เนื่องในโอกาสวันเข้าพรรษา และที่กำลังจะสร้างบุญใหม่ให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปตลอดทั้งพรรษา ขอให้อำนาจบุญนั้น จงดลบันดาลให้พวกเราทุกคนแตกฉานในธรรมะของพระสัมมา-สัมพุทธเจ้าโดยง่ายดายและเข้าถึงพระธรรมกายกันทั่วหน้าทุกคนเทอญ

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล