ฉบับที่ ๑๓๘ เดือนเมษายน ๒๕๕๗

เตรียมงานสงกรานต์

หลวงพ่อตอบปัญหา
หลวงพ่อทัตตชีโว

 

 

 

เตรียมงานสงกรานต์

 

 

การจัดงานสงกรานต์ที่เป็นธรรมเนียมไทยแท้ ๆ เขาทำกันอย่างไร?


    ในวันสงกรานต์ซึ่งถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวไทยเรามาแต่โบราณ ปู่ย่า ตายาย ท่านทำหลายสิ่งหลายอย่าง ซึ่งล้วนแต่เป็นกิจกรรมที่ประสานงานทางโลกและทางธรรมให้กลมกลืน กันไป และงานสงกรานต์นี้ท่านก็ไม่ได้ทำกันเฉพาะในวันที่ ๑๓ เมษายน ท่านประกอบพิธีแบบไทย ๆ มาตั้งแต่วันตรุษ ซึ่งถือเป็นวันสิ้นปี นับทางจันทรคติตรงกับวันแรม ๑๔ หรือ ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ ก่อนวันสงกรานต์หลายวัน ซึ่งท่านตั้งหลักการจัดงานไว้ดังนี้ คือ


    ๑.    ถือความกตัญญูกตเวทีเป็นที่ตั้ง เพราะฉะนั้นช่วงนี้ลูกหลานว่านเครือทั้งหลาย ไม่ว่าจะไปทำมาหากินอยู่ที่ไหน ต้องจัดแจงการงาน จัดเวลาให้ว่างไว้ เพื่อกลับไปเยี่ยมบ้านในวันสงกรานต์ให้ได้ นอกจากจะกลับไปเยี่ยมผู้เฒ่าแล้ว ยังไม่ควรไปมือเปล่า จะต้องมีสิ่งของที่สมควร เช่น ผ้าผ่อนท่อนสไบ ของกินบำรุงสุขภาพติดมือไปเป็นเครื่องกราบเครื่องไหว้ หรือที่เรียกว่า เครื่องสักการะ แม้ปู่ย่า ตายาย ล่วงลับไปแล้ว ก็ควรที่จะแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อท่านด้วยการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ เพราะฉะนั้นประเพณีไทยในวันสงกรานต์ ท่านจึงกำหนดให้จัดพิธีทำบุญกระดูกบรรพบุรุษกันด้วย


    ๒.    ถือหลักเมตตากรุณา ความเมตตากรุณาเป็นคุณธรรมค้ำจุนโลก ให้มีสันติสุขตลอดไปท่านจึงจัดให้มีการปล่อยสัตว์ปล่อยปลา ให้ชีวิตสัตว์เป็นทาน 


    ในช่วงวันสงกรานต์ ชาวบ้านจะพากันไปดูตามห้วยหนองคลองบึงที่แห้งขอด ถ้าพบปลาเล็กปลาน้อยติดค้างรอวันตายอยู่ ก็จะจับจะช้อนเอาไปปล่อยตามแม่น้ำลำคลองใหญ่ ๆ


    ๓.    ถือหลักอภัยทาน คนเราอยู่ด้วยกันก็เหมือนลิ้นกับฟัน อดที่จะกระทบกันโกรธกันไม่ได้ แต่ไม่ควรผูกโกรธ เก็บความอึดอัดขัดเคืองจากการกระทบกระทั่งไว้ในใจเป็นแรมเดือนแรมปี


    ตามธรรมเนียมไทยใครที่รู้ตัวว่าทำผิดทำพลาดล่วงเกินใครไว้ เขาจะใช้โอกาสวันสงกรานต์ นี้ไปขอขมาลาโทษ ส่วนคนที่มีใครมาขอขมาลาโทษ มาขออภัยในความผิด ก็ต้องให้อภัยเขา    ด้วย แล้วเวลานั้นก็ไม่จำเป็นต้องรื้อฟื้นเรื่องที่ผิดพลาดขึ้นมาจาระไน เดี๋ยวพูดพลาดไปจะกลับโกรธขึ้นมาใหม่อีก


    คนที่มีใครมาขออภัยแล้ว ยังไม่ยอมให้อภัยเขา บัณฑิตทั้งหลายตำหนิว่าเป็นคนพาล ด้วยเหตุนี้พุทธศาสนิกชนไทยเรา แม้มีเรื่องบาดตาบาดใจกันหนักหนาแค่ไหน ก็ไม่โกรธข้ามปี เขาจะถือโอกาสวันสิ้นปีเก่าขึ้นปีใหม่จัดการปิดบัญชีบาป เปิดบัญชีบุญกันเป็นประจำทุกปี 


     ปู่ย่า ตายาย ของเรานอกจากจะถือหลักให้มีอภัยทานแล้ว ท่านยังถือว่าเป็นโอกาสที่ทุกคนจะได้แสดงน้ำใสใจจริงต่อกัน


    กิจกรรมในช่วงวันสงกรานต์ตามหลักการข้างต้น ท่านผู้ใหญ่ของแต่ละบ้านมักจะเตรียมงานกันอย่างรอบคอบ ซึ่งใช้เวลาไม่น้อยทีเดียวถ้ามีการเลี้ยงพระที่บ้านด้วย สิ่งที่ท่านต้องเตรียม      โดยทั่วไป ได้แก่


    ๑. เตรียมของใช้ในงาน เช่น โต๊ะหมู่บูชา ขันน้ำพานรอง ดอกไม้ของหอม ของใช้ในพิธีรดน้ำดำหัว รวมไปถึงถ้วยโถโอชามต่าง ๆ


    ๒. เตรียมสถานที่ ได้แก่สถานที่สำหรับพระสงฆ์ที่นิมนต์มารับบาตรหรือมาฉันภัตตาหารสถานที่สำหรับให้ลูกหลานมารดน้ำดำหัว มารดน้ำขอพรผู้ใหญ่ ตลอดจนที่สำหรับเลี้ยง  ข้าวปลาอาหาร สังสรรค์กันระหว่างพี่ ๆ น้อง ๆ เครือญาติที่เคารพนับถือ


    ๓. เตรียมคน ในการจัดงานจะต้องมีการหุงอาหารเลี้ยงคน แม่ครัวพ่อครัวตลอดจนกระทั่งคนล้างถ้วยล้างชาม คนปัดกวาดเช็ดถู จะต้องใช้ใครบ้างต้องรีบไปไหว้วาน ไปทาบทามเขาให้มา ช่วยเสียแต่เนิ่น ๆ เพราะวันอย่างนี้ใคร ๆ ก็อยากจัดงานสำหรับครอบครัวของตน ถ้าช้าไปก็จะ ไม่ได้คนที่เราหมายตาเอาไว้


    ๔. เตรียมกาย คือเตรียมเครื่องแต่งตัวให้เหมาะสม และควรเตรียมสุขภาพด้วยการไปหาหมอตรวจสุขภาพประจำปีเสียเลย


    ๕. เตรียมใจ คือทำใจว่าวันสงกรานต์คงมีลูกหลานมากราบขอขมา มากราบขอพร เราผู้ใหญ่ต้องเตรียมคำให้พรว่า ถ้าคนนั้นคนนี้มาจะให้พรเขาว่าอย่างไร


    เมื่อเตรียมพร้อมหมดทุกอย่างแล้วก็ลงมือทำงานได้ ส่วนมากปู่ย่า ตายาย ท่านจัดงานสงกรานต์กันอย่างนี้ สมัยปัจจุบันใครจะทำอย่างไรก็อย่าให้หลุดไปจากหลักการที่ผู้ใหญ่ท่านวางไว้ เมืองไทยจะได้ร่มเย็นเป็นสุข เป็นสยามเมืองยิ้มตลอดไป..   

 

 

 

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล