ฉบับที่ ๑๔๓ เดือนกันยายน ๒๕๕๗

ศีลข้อ ๒ (ตอนที่ ๑)

ศีลข้อ ๒
เรื่อง : พระราชภาวนาจารย์ (หลวงพ่อทัตตชีโว)

 

 

ศีลข้อ ๒  (ตอนที่ ๑)

สภาพเศรษฐกิจ-นิสัยชาวโลก ๑๐, อานุภาพการรักษาศีล, หัวใจเศรษฐี

 

บรรยายโดย พระราชภาวนาจารย์ รองเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย 
แด่ พระวิทยากรโครงการหมู่บ้านรักษาศีล ๕ 
วันเสาร์ที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ เวลา ๑๔.๓๐-๑๖.๐๐ น. 
ณ ศาลาสตมานุสรณ์ (ศาลาทรงไทย) วัดปากนํ้า เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร

 

     ขออนุโมทนาบุญกับท่านวิทยากรทุกรูปที่ตั้งใจจะนำศีล ๕ ไปปลูกฝังให้มั่นคงทุกหมู่บ้านทั่วประเทศไทย ขอให้ได้บุญเยอะ ๆ นะครับ เรื่องที่รับอาราธนามาบรรยายวันนี้ก็คือ เรื่องศีลข้อ ๒ แต่ถ้าจะพูดเฉพาะศีลข้อ ๒ บางทีเรื่องต่อเนื่องระหว่างศีลข้อ ๒ กับศีลข้ออื่นจะตกหายไปไม่เพียงพอกับการเตรียมตัวเปิดประเทศเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนกัน ก็จำเป็นต้องกล่าวพาดพิงไปถึงศีลข้ออื่นด้วย 

 

 

สภาพเศรษฐกิจ-นิสัยชาวโลก ๑๐    


    ศีลข้อ ๒ การไม่ลักทรัพย์ เป็นเรื่องของเศรษฐกิจ จึงขอโอกาสให้ภาพรวมสภาพเศรษฐกิจ-นิสัยชาวโลก ๑๐ ซึ่งปรากฏในกามโภคีสูตร อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ในพระสูตรนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแบ่งประเภทบุคคล โดยยึดหลักเศรษฐกิจกับจิตใจไว้เป็นกลุ่มตามวิธีหาทรัพย์และเป็นประเภทตามการกิน-ใช้ การเลี้ยงดูตนและครอบครัว การแบ่งปันช่วยเหลือสังคม การแบ่งปันทำบุญ และความมีปัญญา 


    จากหลักการดังกล่าวจึง แบ่งบุคคลออกได้เป็น ๓ กลุ่ม ๑๐ ประเภท ดังนี้ 
    
    กลุ่มที่ ๑ หาทรัพย์โดยไม่ชอบธรรม บุคคลกลุ่มนี้อาจหาทรัพย์ด้วยวิธีการทั้งผิดกฎหมายและผิดหลักศีลธรรม หรือถูกกฎหมายแต่ผิดศีลธรรม  ที่แน่ ๆ คือ ผิดศีลธรรม คือ ไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของใคร ถ้าฆ่าได้เป็นฆ่า อาจฆ่าคนหรือฆ่าสัตว์ก็ตาม โกงได้เป็นโกง ปล้นได้เป็นปล้น เป็นพวกมิจฉาอาชีวะ คนกลุ่มนี้แบ่งได้เป็น ๓ ประเภท คือ

    
    ประเภทที่ ๑ การกิน-ใช้อดอยาก ไม่ปัน ไม่ทำบุญ ไม่มีปัญญาทางธรรม คนประเภทนี้หาทรัพย์มาได้แล้ว ไม่ว่าจะด้วยการฆ่า (สัตว์-คน) ปล้น โกง เปิดบ่อน-ซ่อง ฯลฯ ก็ตามที เนื่องจากได้ทรัพย์มาด้วยความลำบาก เพราะฉะนั้นจึงกินใช้ในครอบครัวอย่างอด ๆ อยาก ๆ เรื่องจะแบ่งปันให้พวกพ้องและสังคมไม่ต้องพูดถึง จะทำบุญทำทานไหม ชาติหน้าค่อยคุยกับคนกลุ่มนี้ ปัญญาคิดออกจากกามก็ยิ่งไม่มี 
    


    ประเภทที่ ๒ การกิน-ใช้อิ่มหนำ ไม่ปัน ไม่ทำบุญ ไม่มีปัญญา คนประเภทนี้แม้ได้ทรัพย์ด้วยความทุจริต ก็ใช้ทรัพย์บำรุงตนและครอบครัวให้เป็นสุข แต่ที่จะคิดแบ่งปันช่วยเหลือผู้อื่น แบ่งทำบุญ แบ่งใช้ทรัพย์ฝึกตนให้มีปัญญาทางธรรมนั้น คนประเภทนี้ไม่คิดทำ 
    


    ประเภทที่ ๓ การกิน-ใช้อิ่มหนำ ให้ปัน ทำบุญ ไม่มีปัญญา คนประเภทนี้พัฒนาขึ้นมาอีก คือ กินใช้เลี้ยงดูตนและครอบครัวอิ่มหนำสำราญ ให้ปันพวกพ้องและสังคม ทำบุญ แต่ว่ายังโกง
ยังคอร์รัปชั่น จะให้เลิกยังเสียดาย แต่ถ้าให้กําลังใจก็มีสิทธิ์พัฒนา  
     


    กลุ่มที่ ๒ หาทรัพย์โดยชอบ-ไม่ชอบธรรม บุคคลพวกนี้เป็นพวกอยากจะดี แต่แพ้ใจตัวเอง ไม่อยากหาทรัพย์ผิดกฎหมาย ผิดศีลธรรม แต่เมื่อมีโอกาสก็ทำ เป็นประเภทบุญปนบาป ดีบ้างไม่ดีบ้าง ไม่ถึงกับร้ายกาจนัก คนกลุ่มนี้แบ่งได้เป็น ๓ ประเภท คือ 


    ประเภทที่ ๔ การกิน-ใช้อดอยาก ไม่ปัน ไม่ทำบุญ ไม่มีปัญญา ได้ทรัพย์แล้วไม่กินใช้ให้อิ่มหนำ อยู่อย่างอด ๆ อยาก ๆ ไม่ปันช่วยเหลือพวกพ้อง ไม่ทำบุญ และไม่มีปัญญาทางธรรม 


    ประเภทที่ ๕ การกิน-ใช้อิ่มหนำ ไม่ปัน ไม่ทำบุญ ไม่มีปัญญา ได้ทรัพย์แล้วกินใช้บำรุงตนและครอบครัว แต่ไม่แบ่งปันให้ใคร ไม่คิดทำบุญ และไม่มีปัญญาทางธรรม 


    ประเภทที่ ๖ การกิน-ใช้อิ่มหนำ ให้ปัน ทำบุญ ไม่มีปัญญา ได้ทรัพย์แล้วก็กินใช้บำรุงตนและครอบครัว แบ่งปันให้พวกพ้อง ทำบุญ แต่ยังไม่มีปัญญาออกจากกาม 


     
    กลุ่มที่ ๓ หาทรัพย์โดยชอบธรรม บุคคลกลุ่มนี้หาทรัพย์โดยไม่ยอมละเมิดศีล ละเมิดธรรม ถึงจะถูกกฎหมาย แต่หากผิดศีล ผิดธรรม ไม่ยอมทำเป็นอันขาด ในกลุ่มนี้แบ่งได้เป็น ๔ ประเภท คือ 


    ประเภทที่ ๗  การกิน-ใช้อดอยาก ไม่ปัน ไม่ทำบุญ ไม่มีปัญญา แม้ได้ทรัพย์ด้วยสุจริต แต่ก็กินใช้อย่างอด ๆ อยาก ๆ ทั้งไม่แบ่งปัน ไม่ทำบุญ จึงไม่มีปัญญา 


    ประเภทที่ ๘ การกิน-ใช้อิ่มหนำ ไม่ปัน ไม่ทำบุญ ไม่มีปัญญา พวกนี้ใช้ทรัพย์บำรุงตนและครอบครัว แต่ไม่แบ่งปันใคร ไม่ทำบุญ ปัญญาจึงไม่ค่อยมี 


    ประเภทที่ ๙  การกิน-ใช้อิ่มหนำ ให้ปัน ทำบุญ ไม่มีปัญญา พวกนี้กิน-ใช้อิ่มหนำ แบ่งปันช่วยเหลือสังคม ทำบุญ แต่ยังไม่คิดออกจากกาม 


    ประเภทที่ ๑๐ การกิน-ใช้อิ่มหนำ ให้ปัน ทำบุญ มีปัญญา เป็นกลุ่มพิเศษ คือ หาทรัพย์โดยชอบธรรม แล้วใช้ทรัพย์กินอิ่มหนำสำราญ ให้ปันด้วย ทำบุญด้วย ทั้งยังมีปัญญาที่จะออกจากกามด้วย บุคคลประเภทนี้เฉกเช่นท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีหรือท่านมหาอุบาสิกาวิสาขา เป็นต้น อานุภาพการรักษาศีล

 

อานุภาพการรักษาศีล    


    ทำไมพระจะต้องรู้เรื่องสภาพเศรษฐกิจ-นิสัยชาวโลก ๑๐ ก็เพราะพระจะต้องไปปลุกคนเหล่านี้ให้รักษาศีล ๕ และกลุ่มคน ๑๐ ประเภทนี้ก็มีอยู่ทุกยุคทุกสมัย รวมทั้งในสมัยของพวกเราซึ่งเป็นยุคประชาธิปไตย มีการเลือกตั้งไม่ว่าระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ประเทศชาติ 


    คนกลุ่มที่ ๑ ประเภทที่ ๓ คือ หาทรัพย์ไม่ชอบธรรม กินใช้สุขสำราญ แบ่งปันสังคม ทำบุญ แต่ไม่มีปัญญา คนเหล่านี้จะมีโอกาสได้รับเลือกตั้งเข้ามาค่อนข้างมาก 


    คนกลุ่มที่ ๒ ประเภทที่ ๖ คือ หาทรัพย์ชอบ-ไม่ชอบธรรม กินใช้สุขสำราญ ช่วยเหลือสังคม ทำบุญตามโอกาส แต่ไม่มีปัญญาคิดออกจากกาม คนกลุ่มนี้มีโอกาสได้รับเลือกตั้ง แต่น้อยลง 


    คนกลุ่มที่ ๓ ประเภทที่ ๗-๘-๙-๑๐ ยิ่งไม่ต้องพูดถึง โอกาสได้รับเลือกตั้งน้อยมาก

 

อานุภาพการรักษาศีลข้อ ๒ : ไม่ลักทรัพย์


ยกระดับเศรษฐกิจ-จิตใจ

 

ตนเอง
ครอบครัว 
ชุมชน
สังคม

 

จิตใจไร้กังวล
ประชาชนร่ำรวย

 

     จึงเป็นหน้าที่ของพระ ชาวพุทธ และหน่วยงานทุกภาคส่วนต้องระดมความร่วมมือ ช่วยกันปลูกฝังศีล ๕ ให้คนกลุ่มที่ ๑ ประเภทที่ ๓ รักษาศีลมากยิ่งขึ้น จะได้ยกระดับมาอยู่กลุ่มที่ ๒ ส่วนประเภท ๑ และ ๒ นั้นคงยากที่จะรักษาศีล พระคุณเจ้าทั้งหลายในขั้นต้นก็อย่าไปยุ่งกับพวกเขา ต้องรอไว้ก่อน เดี๋ยวความเดือดร้อนจะมาถึงท่านและวัดของท่าน ส่วนคนกลุ่มที่ ๒ ทั้ง ๓ ประเภท มีโอกาสรักษาศีล ๕ ได้ แต่ต้องทุ่มเทเคี่ยวเข็ญ ยิ่งได้คนกลุ่มที่ ๓ ไม่ว่าประเภทใดโอกาสที่บุคคลเหล่านี้จะรักษาศีล ๕ มีมากขึ้น หากพระทั้งแผ่นดินลุกขึ้นมาช่วยกันปลูกฝังศีล ๕ แก่ประชาชน คนกลุ่มที่ ๓ ประเภทที่ ๘-๙ ถ้าพอมีสิทธิ์ได้รับเลือกตั้งบ้าง บ้านเมืองก็คงสงบสุขไม่น้อย เพราะฉะนั้นถ้าอยากเห็นบ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง พระทั้งแผ่นดินต้องลุกขึ้นมาช่วยกัน และก็โชคดีที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ ดำริให้มีโครงการนี้ขึ้นมา ก็ถือว่าเป็นโอกาสดีที่พวกเราซึ่งเป็นกำลังของพระพุทธศาสนาจะได้ใช้เรี่ยวแรงสติปัญญาสร้างบุญบารมีกันได้เต็มที่ คือ มาช่วยกันยกระดับทั้งเศรษฐกิจและจิตใจให้แก่คนไทยทั้งแผ่นดิน ด้วยการปลูกฝังให้รักษาศีล ๕ กันทั้งหมู่บ้าน 


    
    การรักษาศีลข้อ ๒ มีอานุภาพในการยกระดับเศรษฐกิจกับจิตใจ โดยยกที่ตัวของเขาก่อน แล้วก็มาที่ครอบครัว คือหัวหน้าครอบครัว จากนั้นให้เขายกระดับครอบครัวของเขา แล้วจึงช่วยกันยกระดับชุมชนของเขา สังคมและประเทศชาติจึงจะเต็มไปด้วยคนรักษาศีล ๕     


    พระคุณเจ้าควรชี้ให้ประชาชนเห็นอานุภาพการรักษาศีลข้อ ๒ ว่าทำให้ประชาชนรํ่ารวย จิตใจไร้กังวล รักษาศีลแล้วทำมาหากินยิ่งรวย คนก็อยากรักษา แต่ถ้ารักษาศีลแล้วจนลง ใครๆ ก็ไม่อยากรักษา 

 

"มาช่วยกันยกระดับทั้งเศรษฐกิจและจิตใจให้แก่คนไทยทั้งแผ่นดิน

ด้วยการปลูกฝังให้รักษาศีล ๕ กันทั้งหมู่บ้าน"


                                 
หัวใจเศรษฐี : ศีลข้อ ๒ 
   

    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในทีฆชาณุสูตร “หัวใจเศรษฐี” เป็นพระสูตรที่ว่าด้วยความเป็นเศรษฐี คือ ตั้งเนื้อตั้งตัวได้ เป็นเศรษฐี ร่ำรวย มีสุข ละโลกก็ไปสวรรค์ พระองค์ทรงให้หลักมา ๔ ข้อ คือ 


            อุ  - อุฏฐานสัมปทา หาทรัพย์เป็น 
            อา - อารักขสัมปทา เก็บทรัพย์เป็น 
            ก  - กัลยาณมิตตตา คบมิตรเป็น 
            ส  - สมชีวิตา ใช้ทรัพย์เป็น 

 

หัวใจเศรษฐี

 

เศรษฐกิจ
อุ  - อุฏฐานสัมปทา หาทรัพย์เป็น
อา - อารักขสัมปทา เก็บทรัพย์เป็น
ก  - กัลยาณมิตตตา คบมิตรเป็น
ส  - สมชีวิตา ใช้ทรัพย์เป็น

 

จิตใจ
ศ  -     สัทธาสัมปทา
ศี  -     สีลสัมปทา  
จา -  จาคสัมปทา
ป  -     ปัญญาสัมปทา


    นั่นคือ ใครจะเป็นเศรษฐี มีสุข ไปสวรรค์ได้ จะต้องรักษาศีลด้วย แล้วก็หาทรัพย์เป็นด้วย คือ หาทรัพย์โดยไม่เสียศีล ประกอบแต่อาชีพสุจริต เมื่อหาทรัพย์เป็นแล้วก็ต้องเก็บทรัพย์ให้เป็น ต้องเลือกคบคนเป็น สร้างคนดีเป็น สร้างเครือข่ายคนดีให้เป็น และใช้ทรัพย์ให้เป็น การประพฤติปฏิบัติดังกล่าว เรียกย่อ ๆ ว่า อุ อา ก ส พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นประโยชน์ในชาตินี้ คือ ตังเนื้อตั้งตัวเป็นเศรษฐีได้ แล้วพระองค์ก็ประทานประโยชน์ในชาติหน้า คือ ให้มี ศรัทธา ศีล จาคะ และปัญญา จิตใจจะได้ผ่องใส ไร้กังวล ละโลกจะได้ไปสุคติ เพราะฉะนั้นจะให้รักษาศีลได้บริบูรณ์ ก็ต้องสอนให้หาทรัพย์เป็น เก็บทรัพย์เป็น สร้างเครือข่ายคนดีเป็น และใช้ทรัพย์เป็น เพื่อไม่ให้ยากจนและกลับไปหาทรัพย์แบบไม่ชอบธรรมตามความคุ้นเดิมอีก ซึ่งทำให้รักษาศีลไว้ไม่ได้.. 

 


                                                (อ่านต่อฉบับหน้า) 


 

 

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล