ฉบับที่ ๑๔๙ เดือนมีนาคม ๒๕๕๘

อานิสงส์ถวายความหอม

อานิสงส์แห่งบุญ
เรื่อง : พระมหาเสถียร สุวณฺณฐิโต ป.ธ.๙ / พระมหาวิริยะ ธมฺมสารี ป.ธ.๙ 
ภาพประกอบ : กองพุทธศิลป์

 


อานิสงส์ถวายความหอม 
มนาปทายี ลภเต มนาปํ   
ผู้ให้ของที่น่าพอใจ ย่อมได้ของที่น่าพอใจ (มนาปทายีสูตร)

 


    “ของหอม” ตรงกันข้ามกับ “ของเหม็น” ของหอมเป็นสุคันธารมณ์ที่ชื่นชอบ พออกพอใจ ชุ่มชื่นใจแก่คนทั่วไป ความสุนทรีย์ในกลิ่นหอม ช่วยทำให้อารมณ์ผ่อนคลาย ร่างกายจะก่อเกิดสารแห่งความสุขไปพร้อมกับความหอมที่จรุงใจ ด้วยพืชพรรณธรรมชาติที่สกัดออกมาเป็นของหอมอันทรงคุณค่า


    ในสมัยพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า มีกุลบุตรท่านหนึ่งเกิดในตระกูลใหญ่ในใจกลางกรุงพาราณสี ตระกูลนี้อุดมมั่งคั่งไปด้วยทรัพย์และธัญญาหาร พร้อมสมบัติรัตนชาติมากมาย ครั้นกุลบุตรนี้เจริญวัยบรรลุนิติภาวะแล้ว เขาก็มีโอกาสไปฟังธรรมจากพระศาสดาซึ่งกำลังแสดงธรรมแก่มหาชนจำนวนมาก


    พระธรรมเทศนาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสอนมีเนื้อความว่า “บุคคลจะมีโภคทรัพย์มากได้ก็เพราะให้ทาน จะเข้าถึงสุคติได้ก็เพราะรักษาศีล จะดับกิเลสได้ก็เพราะเจริญภาวนา”  


    มหาชนทั้งหลายในธรรมสถานแห่งนั้นได้ฟังพระธรรมเทศนาอันไพเราะทั้งเบื้องต้นท่ามกลางและเบื้องปลายแล้ว ต่างก็เกิดความแช่มชื่นใจ แม้ตัวเขาเองก็เลื่อมใสในพระพุทธ-องค์เช่นกัน จึงขอถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นสรณะตลอดชีวิต อีกทั้งยังตั้งใจมาสั่งสมบุญโดยการถวายมหาทานมิได้ขาด ถวายของหอม กลิ่นหอมข้ามชาติ


    ต่อมา เขามีโอกาสสร้างบุญพิเศษ คือ ได้นำของหอมธรรมชาติสกัดจากพืชธรรมชาติที่เรียกว่า จตุชาติคันธะ หรือ จตุชาติสุคันธะ ๔ อย่าง อันได้แก่  ๑. หญ้าฝรั่น ๒. น้ำมันจากไม้กฤษณา ๓. กำยาน (ยางหอมจากไม้) ๔. ดอกไม้ชนิดต่าง ๆ แล้วนำไปทาพื้นพระคันธกุฎีของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นประจำทุกเดือน เดือนละ ๗ ครั้ง จากนั้นเขาได้กราบทูลตั้งความปรารถนากับพระผู้มีพระภาคเจ้ว่า “ขอให้กลิ่นหอมอย่างดียิ่งจงบังเกิดแก่กายข้าพระองค์ในสถานที่ที่ข้าพระองค์ไปเกิดด้วยเถิดพระเจ้าข้า”


    พระผู้มีพระภาคเจ้ากัสสปะทรงตรัสพยากรณ์ถึงอานิสงส์ที่เขาจะได้รับว่า “ด้วยผลกรรมนี้ ไม่ว่าบุคคลผู้นี้จะไปบังเกิดในภพชาติใด ก็จะมีตัวหอมทุกชาติไป จะเป็นผู้เจริญด้วยกลิ่นแห่งคุณธรรม และจะเป็นผู้ไม่มีกิเลสอาสวะในที่สุด” 

 


    นอกจากนั้นเขายังได้สั่งสมบุญอื่น ๆ อีกมากมาย ครั้นละจากโลกก็ไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นเทพบุตรที่มีกลิ่นกายหอมฟุ้งจรุงใจไปทั่วชั้นสวรรค์ เมื่อหมดอายุขัยและจุติเคลื่อนจากสวรรค์นั้นแล้ว ชาติสุดท้ายก็ได้บังเกิดในตระกูลมั่งคั่งในนครสาวัตถี   


    ขณะที่อยู่ในครรภ์ มารดาของเขาก็มีกลิ่นกายหอมทั่วบ้าน และกลิ่นหอมนี้ยังหอมฟุ้งไปทั่วพระนครสาวัตถีทีเดียว และเมื่อคลอดจากครรภ์แล้ว ทั่วทั้งเมืองนั้นก็หอมฟุ้งอีกดุจดังนำของหอมทุกชนิดมารมให้อบอวลหอมติดไปทั้งเมือง   


    อีกทั้งขณะที่เขาเกิดนั้นเอง ปรากฏมีฝนดอกไม้มีกลิ่นทิพย์หอมหวนน่ารื่นรมย์ใจ ส่วนเรือนที่เกิดนั้น เหล่าเทวดาก็ได้นำธูปหอมและดอกไม้หอม พร้อมกับนำเครื่องหอมมาอบให้กลิ่นฟุ้งขจรขจาย ด้วยเหตุนั้นเอง มารดาบิดาจึงได้ตั้งชื่อเขาว่า จูฬสุคันธะ  


    เมื่อเขาเจริญเติบโตอยู่ในช่วงปฐมวัย พระบรมศาสดาของเราพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ ได้เสด็จมายังเมืองสาวัตถีเพื่อทรงรับถวาย
วัดพระเชตวันจากท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เมื่อจูฬสุคันธะเห็นพระบรมศาสดาและได้พบพุทธานุภาพแล้ว ก็มีใจเลื่อมใส ได้ทูลขอบวชกับพระองค์ จากนั้นก็ไปบำเพ็ญเพียร ไม่นานนักท่านก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา 

 


    เมื่อบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ท่านก็ย้อนระลึกถึงบุพกรรมในกาลก่อน แล้วนำอานิสงส์แห่งบุญนั้นมาเล่า ดังต่อไปนี้


    ๑. บุญนี้ทำให้ได้พบเจอแต่กลิ่นหอมฟุ้งตลบไปในที่ต่าง ๆ เช่น บนที่นอน เพราะว่ามีพวกเทวดามาโปรยผงหอมทิพย์และดอกไม้หอมทิพย์ นับตั้งแต่วันที่ท่านเกิดจนถึงวันที่ท่านปรินิพพาน


    ๒. ฝนมีกลิ่นหอมได้ตกลงมาขณะท่านออกบวช ขณะบรรลุเป็นพระอรหันต์ และเมื่อใกล้จะปรินิพพาน 


    ๓. มีกลิ่นกายหอมจนสามารถกลบกลิ่นหอมจากนานาธรรมชาติ ไม่ว่าไม้จันทน์ ดอกจำปา หรือดอกอุบลทำบ้านให้น่าอยู่


    สิ่งแรกที่ควรตระหนักในการทำบ้านให้น่าอยู่ น่าอาศัย ก็คือ ต้องขจัดสิ่งปฏิกูลทั้งกลิ่นและคราบออกไปจากบ้าน ทำให้สะอาด เป็นระเบียบ แล้วจึงนำกลิ่นที่ดีมาลงให้เกิดความหอมชื่นใจ อุปมาเหมือนคนทั่วไปมักจะอาบน้ำชำระล้างกลิ่นตัว เหงื่อไคล สิ่งสกปรกในร่างกายก่อน ถึงค่อยนำแป้งมาโรยหรือเอาน้ำหอมประพรมตัวต่อไป แล้วบ้านของเราก็จะกลายเป็นรมณียสถาน เป็นที่สำราญดึงดูดแขกให้หมั่นมาเยี่ยมเยือนบ่อย ๆ ทำวัดให้น่าเข้า


    หากชาวพุทธช่วยกันทำวัดให้เป็นสถานที่น่ารื่นรมย์ใจเหมือนบ้านของตนเองแล้ว ทุกคนก็อยากจะมาวัดบ่อย ๆ หน้าที่การทำวัดให้น่าเข้า น่าศรัทธา เป็นหน้าที่สำคัญของชาวพุทธทุกคน มิใช่เป็นหน้าที่ของพระภิกษุสามเณรเพียงอย่างเดียว  

 


    ความสะอาดเป็นสิ่งแรกที่ควรคำนึงถึง ต้องช่วยกันขจัดสิ่งปฏิกูลสกปรก เช่น กองขยะหรือแหล่งเพาะแมลงวัน มูลสุนัข ต้องขจัดออกไปให้หมด อีกทั้งโยมไม่ควรเอาสุนัขหรือแมวมาปล่อยทิ้งในวัดให้เป็นภาระของพระ บางวัดถึงขนาดติดป้ายประกาศว่า 


“วัดแห่งนี้พอแล้วแมวกับหมา 
โยมไม่ต้องจัดหามาถวาย 
สิ่งต้องการคือกรวดหินดินและทราย 
อิฐก็ได้ไม้ก็ดีสีก็เอา” 


อีกทั้งไม่ควรมีกลิ่นเน่าเหม็นในวัด เพราะถ้ามีแล้วก็จะทำให้วัดไม่น่ารื่นรมย์ใจ พลอยทำให้ผู้คนไม่อยากจะเข้าวัดเพื่อมาสั่งสมบุญอีกด้วย  


    จากนั้น หากต้องการเสริมบรรยากาศให้รื่นรมย์ยิ่งขึ้น ก็อาจจะหากลิ่นน้ำหอมระเหยสกัดจากธรรมชาติที่มีกลิ่นพอดีไม่ฉุนเกินไป มาเสริม หรืออาจจะไปรับบุญปลูกไม้หอมในวัด บูชาพระด้วยธูปเทียนหอม น้ำมันหอม ดอกไม้หอม เช่น ดอกบัวหรือดอกมะลิ เป็นต้น นอกจากเราจะได้บุญแล้ว ผู้ที่เข้ามาในบริเวณวัดก็จะรื่นรมย์ใจ ได้สัมผัสสุคันธารมณ์ที่จะทำให้จิตใจอยากสั่งสมบุญกุศล ทั้งทำทาน รักษาศีล หรือเจริญสมาธิภาวนาให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีกด้วย เมื่อวัดร่มรื่นร่มเย็นเป็นรมณียสถานที่เจริญใจ ก็จะทำให้ผู้คนอยากหลั่งไหลเข้าวัด มาสัมผัสกับความรื่นรมย์ของสิ่งแวดล้อมที่ชาวพุทธผู้มีศรัทธามั่นคงรังสรรค์ให้เกิดขึ้น และสัมผัสกับธรรมะอยู่เป็นนิจ นับเป็นการทำวัดให้เป็นวัดรุ่ง...รุ่งเรืองด้วยศรัทธา รุ่งเรืองด้วยศีลธรรม ปิดโอกาสขึ้นทะเบียนเป็นวัดร้างอีกต่อไป

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล