ฉบับที่ 123 มกราคม ปี2556

คอลัมน์ท้ายเล่มเปิดบริการแล้วครับ!

เรื่อง : โค้ก (เจ้าเก่า)

 

 

คอลัมน์ท้ายเล่มเปิดบริการแล้วครับ!
ขออภัยที่ปิดปรับปรุงร้านนาน ๑ ปี
เปิดมาคราวนี้มีการขยายร้านเพิ่ม (ชั่วคราว)
เป็นโซนอาหารตามสั่ง - พิเศษ
พิเศษ ตรงที่ลูกค้าไม่ได้สั่ง
เป็นการทดลองให้พ่อครัวสั่ง+ปรุง+นำเสนอเอง
เป็นอีกหนึ่งทางเลือก เชิญลองชิมกันครับ
กับคอลัมน์ ท้ายเล่ม  พิเศษ
และขอบพระคุณสำหรับผู้ที่ถามหา
คอลัมน์ ท้ายเล่ม ที่ผ่านมาตลอด ๓ ปี
ตอนนี้กำลังดำเนินการรวมเล่มครับ
ความคืบหน้าจะแจ้งให้ทราบในโอกาสต่อไป
สวัสดีปีใหม่ครับ!
...............................

ข้ออ้าง

หลังจากหายไป ๑ วันเต็ม ๆ

                  ก็เริ่มกลับมาให้ท่านเห็นหน้าอีกครั้ง!

                  ท่านจำไม่ผิดหรอกครับ 
                  คอลัมน์ท้ายเล่ม หายหน้าไป ๑ ปี
                  ไม่ใช่ ๑ วัน
                  แต่ผมก็ยังขอยืนยันว่า หายไป ๑ วันจริง ๆ
                  ไม่ใช่ ๑ ปี
                  เพราะหลังจากท้องเสียจนต้องหายไป ๑ วันเต็ม ๆ
                  ก็กลับมาให้ "ท่าน" เห็นหน้าอีกครั้ง
                  "ท่าน" ในที่นี้หมายถึง "หลวงพ่อ" ครับ
                  "หายดีแล้วหรือ?"
                  "ดีแล้วครับ"
                  หลวงพ่อซักถามเพิ่มเติมนิดหน่อย
                  จากนั้นท่านก็พูดให้สติมาประโยคหนึ่ง

                  - ความเดิมจากตอนที่แล้ว
                  กลับมาให้ "ท่าน" เห็นหน้าอีกครั้ง หลังจากหายไป ๑ ปีเต็ม ๆ
                  "ท่าน" ในที่นี้หมายถึงผู้อ่านทุกท่านแล้วนะครับ
                  กลับมาผมมีถ่านไฟฉายก้อนหนึ่งติดมาเป็นของฝาก
                  เป็นถ่านไฟฉายยี่ห้อ "ข้ออ้าง"
                  ถ่านก้อนนี้มีไว้ใช้สำหรับการเอาตัวรอด!
                  ตอนที่ได้มามีคำแนะนำว่า ต้องรู้จักใช้ให้เป็น
                  ถ่านยี่ห้อข้ออ้างนี้มี ๒ ขั้ว
                  ขั้ว "บวกบวก" กับขั้ว "ไม่บวก"
                  ข้ออ้างขั้วบวกบวก คือเหตุผลดี ๆ
                  อ้างขั้วนี้แล้วเกิดประโยชน์ อ้างแล้วไปถึงจุดหมาย
                  ส่วนขั้วไม่บวก คือเหตุผลที่อ้างแล้วฟังดูดี
                  อ้างขั้วนี้แล้วรอดได้เฉพาะหน้า
                  แต่ว่า แขน ขา ไม่ได้รอดตามไปด้วย
                  หรือบางทีรอดเฉพาะ "ตัว" แต่ว่า "หัว" ไม่รอด
                  ถ้าจะให้รอดได้หมดทั้งตัว
                  ต้องรู้จักใช้ขั้วให้ถูกและใช้ให้เป็นตามที่คำแนะนำบอกไว้ครับ!

                  หลังจากที่หลวงพ่อท่านพูดให้สติว่า ยังแข็งแรงอยู่ รีบหาเวลานั่งหลับตานะ
          เดี๋ยวพออายุเยอะแล้ว สังขารจะไม่ไหวเหมือนอย่างหลวงพ่อ
                  ก็เป็นคำที่ได้ยินท่านเตือนอยู่บ่อย ๆ
                  เตือนทุก ๆ คนที่ท่านเจอว่า อย่าประมาทกับชีวิต
                  ถ้าคิดหาเหตุผลมาอ้างกับท่านเพื่อให้รอดตัวนั้นหาไม่ยาก
                  แต่ผลเสียจะเกิดขึ้นกับใคร
                  เมื่อถึงเวลาที่เราต้องอยู่บนเตียงผู้ป่วย
                  ถึงเวลาที่สังขารมันไม่ไหว
                  เวลานั้นแม้จะมีเหตุผลมาอ้างกับตัวเอง
                  ต่อให้มีเหตุผลดีแค่ไหน มันไม่เกิดประโยชน์อะไรขึ้นมา
                  เพราะข้ออ้างขั้วไม่บวกพวกนี้
                  พาตัวไปไม่รอด!

                  มีคนสงสัย หลวงพ่อท่านมีข้ออ้างบ้างไหม?
                  ตอบได้เลยครับว่า มี!
                  ช่วงหน้าฝนที่ฝนตกทุกเย็น เมื่อถึงเวลาเข้าสอนโรงเรียนอนุบาลฯ
                  ท่านเริ่มรู้สึกจะไม่ค่อยสบายและจะเป็นไข้
                  "วันนี้เข้าสอนไหวไหมครับ?"
                  "ลองเข้าไปสอนดูก่อนแล้วกัน ถ้าไม่ไหวก็ค่อยกลับไปพัก"
                  ขณะที่สอนเราได้ยินคำพูดเหล่านี้จนคุ้นหู
                  "ได้ยินกันชัดไหม วันนี้หลวงพ่อไม่ค่อยมีเสียง ต้องเปิดเพลงเยอะหน่อย เอาเพลงช่วย"
                 " ลมขึ้น เดี๋ยวก่อน ขอหัวเราะไล่ลมก่อน "
                  แล้วท่านก็หัวเราะขำ ๆ อาการป่วยที่เริ่มทำท่างอแง "หัวเราะขำส่วนตัวนะ ไม่เกี่ยวกับใคร!"
                  จากแค่ลองเข้าไปสอนดูก่อน ถ้าไม่ไหวก็ค่อยกลับ
                  สอน ๆ ไป ท่านก็สอนไม่ไหวจริง ๆ
                  ไม่ "ไหวหวั่น" ครับ!
                  ฝืนสอนจนจบได้ตามปกติเหมือนทุกวัน
                  ข้ออ้างออกอากาศเหล่านี้เป็นขั้วบวกบวก
                  อ้างแล้วไม่เสียหาย ยังทำให้งานเดินหน้าต่อไปได้
                  ไม่ว่าอุปสรรคใด ๆ จะเกิดขึ้นก็ตาม
                  เหตุผลที่จะนำมาอ้างใช้สู้กับอุปสรรค
                  เพื่อให้ประสบ "ความสำเร็จ" และไปให้ "ถึงจุดหมาย"
                  อยู่ที่ขั้ว "บวกบวก" เท่านั้น

                  คำพูดของตลกท่านหนึ่งที่ว่า "ความทุกข์ของเรา ไม่มีสิทธิ์ก้าวก่ายเสียงหัวเราะของผู้ชม"
                  แต่ความหมายกลับกินใจไม่ได้ตลกเลย เพราะไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม
         เมื่อถึงเวลาที่ต้องขึ้นเวที ทุกอย่างที่ค้างอยู่ในใจต้องวางไว้ข้างล่างก่อน แล้วขึ้นไปทำหน้าที่ให้ดีที่สุด
                  ครั้งหนึ่ง แอนนา ชวนชื่น เล่าว่า พ่อของเขาประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต
                  แต่เขาต้องขึ้นไปแสดง
                  เขาต้องรีบสลัดความทุกข์โศกทิ้งทันที เขาต้องทำให้ได้
                  แล้วเขาก็เดินขึ้นเวทีทั้งที่น้ำตายังไม่ทันแห้ง
                  แล้วเขาก็ทำได้สำเร็จ ที่หน้าเวทีหัวเราะกันลั่น
                  เมื่อจบการแสดงเขาเดินลงจากเวที น้ำตาอาบแก้มเหมือนเดิม
                  "ความทุกข์ของเรา ไม่มีสิทธิ์ก้าวก่ายเสียงหัวเราะของผู้ชม"
                  เป็นคาถาตอกย้ำให้เดินหน้าสู้ต่อไป
                  หรืออย่างวันที่ DMC ไม่มีคำว่า LIVE ขึ้นมุมบนซ้ายมือ
                  เราเข้าใจตรงกันว่าคุณครูไม่ใหญ่ท่านไม่สบาย ลงสอนไม่ไหว
                  ในความคิด เราคิดกันว่า ดีเหมือนกันท่านจะได้พัก
                  ก็เป็นวันที่ท่านได้พักจริง ๆ
                  พักอย่างหนึ่ง
                  แต่ท่านก็ไปทำอีกอย่างหนึ่ง
                  ทำในสิ่งที่ยังพอทำต่อไปได้
                  ในเมื่อไม่สบายลงสอนในโรงเรียนไม่ได้
                  แต่ยังไหวที่จะไปสอนและคุมธรรมะ
                  เพราะไม่ว่าอุปสรรคใด ๆ ก็ไม่มีสิทธิ์มาก้าวก่ายให้ท่านหยุดทำหน้าที่
                  เช่นกันกับเราที่ไม่มีเหตุผลใด ๆ จะใช้อ้างให้เราย่อหย่อนสร้างบารมี
                  "ยังแข็งแรงอยู่ อย่าลืมหาเวลานั่งหลับตาบ้างนะ"
                  ใช่ครับ! ไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่จะใช้เป็นข้ออ้างให้เราขี้เกียจทำหยุดทำนิ่ง
         และละเลยตักตวงความสุขจากการนั่งสมาธิ
                  เพราะไม่มีความทุกข์ใด ๆ มีสิทธิ์เข้ามาก้าวก่ายโลกภายในของเราได้
                  ถ้าเราไม่อนุญาต!

                  "ความทุกข์" คือสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ 
                  "ปัญหา" และ "อุปสรรค" เมื่อประสบแล้วเราก็ต้องแก้
                  การแก้ปัญหาก็ควรแก้ให้ถูก
                  อย่าเอา "ยาก" ไปแก้ "ยาก"
                  เพราะมันจะเป็นการสร้างปัญหาเพิ่ม
                  ต้องเอา "ง่าย" ไปแก้ "ง่าย"
                  มันถึงจะแก้ปัญหาได้จริง ๆ
                  มีคนบอกว่า น้ำตาคนเราประกอบด้วย น้ำ ๑ % ที่เหลือคือ "ความรู้สึก" ล้วน ๆ
                  ดังนั้น เสียงร้องไห้ของคนเรา ก็ประกอบด้วย "ลม" ที่ทำให้เกิดเสียงแค่ ๑ %
                  ส่วนที่เหลือคือ "ความรู้สึก" ล้วน ๆ เช่นกัน
                  ความรู้สึกทุกข์ที่เกิดขึ้นจาก "ใจ"
                  หลวงพ่อบอกว่าในเมื่อปัญหาส่วนใหญ่มันเกิดขึ้นที่ "ใจ"
                  เราก็ต้องแก้ที่ "ใจ"
                  โดยธรรมชาติของ "ใจ" นั้น "เรียบง่าย" และ "ผ่อนคลาย"
                  เราก็ต้องใช้วิธีที่ "เรียบง่าย" และ "ผ่อนคลาย" ในการแก้
                  ปีใหม่นี้ ไม่ว่าปัญหาและอุปสรรคอะไรจะดักรอเราอยู่
                  ลองนำใจเข้าไปต่อกับขั้วบวกบวก เพื่อเติมความเชื่อมั่นว่า
                  เราจะแก้ไขและจะต้องผ่านพ้นไปได้
                  ขอส่ง ส.ค.ส. เป็นกำลังใจให้ซึ่งกันและกันนะครับ
                  ส.ค.ส.
                  สู้! ครับ สู้!
                  .............................

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล