ฉบับที่ 129 กรกฏาคม ปี2556

น้ำในขัน

คอลัมน์ท้ายเล่ม

เรื่อง : โค้ก อลงกรณ์

 

น้ำในขัน
 

น้ำในขัน

 

เมื่อสิบกว่าปีก่อนการดูแลทำความสะอาดห้องน้ำของหลวงพ่อเป็นบุญหลักของผม 

    พอช่วงเย็นจะเตรียมน้ำสำหรับใช้สรง เตรียมสบง อังสะไว้ให้ท่านเปลี่ยน เตรียมสิ่งที่จำเป็นที่หลวงพ่อต้องใช้ทั้งหมดให้พร้อมใช้งาน จากนั้นก็ดูแลความสะอาดเรียบร้อยโดยเฉพาะพื้นห้องน้ำและบริเวณอ่างล้างหน้าที่ต้องเช็ดให้แห้ง

    แรกเริ่มที่รับบุญผมเห็นขันพลาสติกวางอยู่ในอ่าง มีน้ำอยู่ครึ่งขัน เข้าใจว่าคงเป็นน้ำที่หลวงพ่อท่านใช้ล้างมือแล้ว ผมจึงเทน้ำในขันทิ้ง เช็ดขันให้สะอาดแล้วคว่ำขันวางไว้ที่ขอบอ่างล้างหน้า หลวงพ่อเข้าห้องน้ำมาจะได้พร้อมหยิบใช้งาน ทำอย่างนี้เป็นประจำ  ทุกวัน

    วันหนึ่งได้ยินเสียงหลวงพ่อท่านรำพึงขึ้นมาว่า ใครชอบเทน้ำของหลวงพ่อทิ้ง! 

    ทั้ง ๆ ที่ท่านก็ทราบดีว่าใครเป็นคนรับบุญห้องน้ำ ไม่ยากเลยที่จะเรียกมาแล้วบอกว่าอย่าเทน้ำในขันทิ้ง ท่านกลับแค่รำพึงให้ได้ยิน 

    หลังจากนั้นผมจึงแค่เช็ดอ่างให้แห้ง แล้ววางขันที่มีน้ำอยู่ครึ่งขันไว้ในอ่าง     ตามเดิม โดยไม่กล้าถามว่า หลวงพ่อรองน้ำใส่ขันไว้ทำไม? 

    เพื่อไม่ให้ท่านต้องเหนื่อยจ้ำจี้จ้ำไชสอนทุกเรื่อง บางทีเราก็ต้องรู้จักคิดหาเหตุผลด้วยตัวเอง 

    ขัน ภาชนะพลาสติกสีเหลืองที่หลวงพ่อท่านใช้อยู่นี้ ผมเห็นตั้งแต่วันแรกที่เข้ามารับบุญ ไม่ทราบชัดว่าขันเข้ามาปฏิบัติหน้าที่รับน้ำจากก๊อกเพื่อให้หลวงพ่อได้ใช้ล้างหน้า แปรงฟัน ปลงผม ล้างมือ และใช้งานตั้งแต่เมื่อไร แต่ถ้านับตามอายุการเข้ามาทำหน้าที่ ขันใบนี้ก็ต้องเป็นรุ่นพี่ที่น่าเคารพในความซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ เพราะผ่านไปเกือบจะยี่สิบปี ขันใบนี้ไม่มีลาป่วย ลากิจ ยังคงทำหน้าที่เช่นเดิมต่อไปทุกวัน

ครั้งแรกเมื่อต้องออกเดินทางขึ้นเครื่องบินติดตามหลวงพ่อไปภาคใต้ ผมมีหน้าที่รับผิดชอบ ในการเตรียมของใช้ของหลวงพ่อ 

    สัญชาติญาณในตัวบอกว่า ผมควรเลือกเฉพาะของที่จำเป็น ๆ ติดตัวไปเท่านั้น  สัมภาระที่หอบหิ้วต้องไม่กีดขวางความคล่องตัวในการเดินทาง ส่วนของใช้ส่วนตัวของผมอาจขาดหายไปบ้างไม่เป็นไร อาจไม่คิดอะไรก็ได้ถ้าต้องใส่เสื้อผ้าซ้ำสองสามวัน แต่จะ  ไม่ให้รู้สึกอะไรไม่ได้เลย ถ้าบกพร่องในการเตรียมของใช้ของหลวงพ่อ
    ถ้านับจำนวนแล้วของใช้ของหลวงพ่อที่จำเป็นจริง ๆ มีเพียงไม่กี่อย่าง นอกนั้นคือของที่เตรียมไว้เผื่อทั้งสิ้น จากคติที่ว่า มีเผื่อไว้แล้วไม่ได้ใช้ ย่อมดีกว่าพอจะใช้แล้วไม่มี  จากคติที่คิดเผื่อไว้นี่เองคือต้นเหตุแห่งความยุ่งยากที่ทยอยตามมา ยากในการตัดสินและลำบากใจอย่างยิ่งว่าอะไรควรจะไม่เอาไปบ้าง พอเอาเข้าจริง ๆ แล้ว ทุกสิ่งล้วนเข้ารอบคัดเลือกน่าเอาไปเผื่อไว้ทั้งสิ้น 

    ชีวิตก็ทำนองนี้เช่นกัน สาเหตุหนึ่งของความทุกข์เกิดจากการคิดเผื่อไว้สำหรับในอนาคต คิดเผื่อเยอะไปจนทำให้เรื่องที่จำเป็นสำหรับชีวิตจริง ๆ นั้นถูกบดบัง ความสุขเรียบง่ายที่อยู่ใกล้ตัวก็มองไม่เห็น ในที่สุดทุกเรื่องที่คิดเผื่อไว้ก็กลายเป็นกำแพงสูง ปิดทุกประตูไม่เปิดให้ความสุขได้เข้ามาเยือน

    ของที่ผ่านรอบการคัดเลือก เมื่อนำใส่ลงในย่ามและกระเป๋าแล้ว สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงคือ เราสามารถถือขึ้นเครื่องไปด้วยได้และไหวไหม เพราะการนำสัมภาระไปโหลดเข้าใต้ท้องเครื่องบิน แล้วต้องให้หลวงพ่อเสียเวลารอเรารับกระเป๋าเมื่อถึงที่หมายนั้นไม่สมควรอย่างยิ่ง ดังนั้นไม่ว่าย่ามและกระเป๋าจะใบใหญ่สามารถจุข้าวของได้มากขนาดไหนก็ตาม สุดท้ายของที่บรรจุลงไปได้เต็มที่ที่สุด ก็เพียงแค่ที่เราสามารถหอบหิ้วไว้กับตัวได้สะดวกเท่านั้น 

    การตรวจเช็กสัมภาระเพื่อเดินทางขึ้นเครื่องก็เป็นอีกขั้นตอนที่ชวนให้วิตกกังวลพอ ๆ กับการเตรียมของเดินทางครบหรือไม่ครบ ผมอยากให้เจ้าหน้าที่ตรวจเช็กจากหน้าจอเอกซเรย์แล้วทราบชัดเลยว่าในย่ามและกระเป๋ามีอะไรบ้าง ผมไม่อยากให้มีการตรวจเช็กเพื่อความปลอดภัยโดยขอร้องให้ผมต้องเปิดกระเป๋า เพราะถ้าขืนต้องทำเช่นนั้น     คงไม่ใช่เฉพาะเจ้าหน้าที่เท่านั้นที่สงสัย ทั้งหลวงพ่อและคณะที่เดินทางก็คงสงสัยเช่นกัน  ว่าผมเอาอะไรใส่ย่ามและใส่กระเป๋ามาด้วย 
    
สมัยที่หลวงพ่อเริ่มบุกเบิกสถานที่ปฏิบัติธรรมมุกตะวัน การเดินทางค่อนข้างสมบุกสมบัน ลงจากรถมาขึ้นเครื่องบิน จากเครื่องบินก็มาลงเรือ ฝ่าคลื่นลมและฝนเพื่อที่จะมาขึ้นเขาลุยเข้าไปในป่าบนเกาะ แต่นั่นเป็นเรื่องที่ทั้งสนุก ตื่นตาตื่นใจโดยเฉพาะผู้ติดตามอย่างผมที่ได้มีโอกาสมาสัมผัสทะเล

    เมื่อหลวงพ่อสิ้นภารกิจกลับถึงที่พัก ของใช้ประจำที่หอบหิ้วมาด้วยก็พร้อมทำหน้าที่ ซึ่งการหอบหิ้วแม้จะพะรุงพะรังแต่ก็เป็นวิธีที่ผมจัดการได้ง่ายและสะดวกกว่าการต้องให้หลวงพ่อที่อายุมากขึ้นเรื่อย ๆ มาปรับตัวให้เข้ากับทุกสิ่งทุกอย่างที่ต่างไปจากเดิม 

    ดังนั้น ช่วงที่ตรวจสัมภาระก่อนขึ้นเครื่อง ถ้าเจ้าหน้าที่สงสัยถึงกับต้องให้ผมเปิดกระเป๋า พวกเขาคงต้องฉงนใจกันไม่น้อยว่าผมจะต้องหอบเอาทั้งถังน้ำและขันขึ้นเครื่องมาด้วยทำไม ถ้าบอกไปใครเชื่อบ้างว่า เหล่านี้ไม่ใช่ของเผื่อใช้ ทั้งหมดคือของจำเป็นต่อการปฏิบัติหน้าที่ของผมทั้งสิ้น 

    ผมยังนึกไม่ออกเลยว่าถ้าผมไม่ยอมหอบหิ้วของใช้เหล่านี้ขึ้นเครื่องมาด้วยจะเป็นอย่างไร ต้องวิ่งหาซื้อใหม่บนเกาะที่ไม่เคยมา คงหาซื้อไม่ได้ง่าย ๆ จะดัดแปลงของในพื้นที่ก็ไม่แน่ใจว่าจะทำได้ดี วิธีที่เข้าท่าก็ทำอย่างที่ตัดสินใจทำนี้เข้าท่าที่สุดแล้ว หอบหิ้วทั้งหมดขึ้นเครื่องมาจากวัด เพราะถ้าไม่เอาขึ้นเครื่องมาหรือลืมอย่างหนึ่งอย่างใด      การเห็นทะเลครั้งนี้คงสุขใจไม่เต็มที่ เพราะหน้าที่ของเรานั้นบกพร่อง

    บางทียังนึกสงสัยตัวเอง ทำไมเราไม่หาขันใบใหม่ให้หลวงพ่อท่านใช้ เพราะต้องการประหยัดกับแค่ขันพลาสติกใบละไม่กี่สตางค์ หรือเพราะความที่ท่านคุ้นเคยและผูกพันกับขันใบนี้จนทำให้ไม่สบายใจถ้าต้องเปลี่ยนใบใหม่ให้ท่าน หรือเพราะอะไร  

    คงไม่มีเหตุผลใดที่มีน้ำหนักพอจะมาใช้อ้างได้ในเรื่องนี้เท่ากับอัธยาศัยการใช้ของให้คุ้มค่าที่ได้รับมรดกมาจากคุณยาย

    ขวดน้ำเก่า ตะกร้าที่เขาไม่ใช้แล้ว เก้าอี้นั่งก้นขาดที่ถูกทิ้ง เตียงเก่า ๆ ที่ไม่มีใครอยากได้ แต่กลายเป็นสิ่งที่คุณยายพอใจและเต็มใจนำกลับมาใช้ เพราะเห็นคุณค่า ท่านนำมาเช็ดล้างทำความสะอาด ซ่อมแซมให้ใช้งานได้ จนของไร้ค่าเหล่านี้กลายเป็นของที่มีเสน่ห์ นับประสาอะไรกับข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวของท่านที่จะต้องเปลี่ยนใหม่  ในเมื่อเป็นของที่ใช้อยู่ประจำและยังใช้ได้ดีอยู่ 

    ของแต่ละชิ้นที่คุณยายท่านใช้ ท่านใช้ของอะไรท่านก็จะใช้สิ่งนั้นไปเรื่อย ๆ    แม้จะมีของใหม่ที่ได้รับมา ท่านก็ไม่เปลี่ยนใหม่ แต่จะนำไปทำบุญหรือส่งให้ผู้ที่จำเป็นต้องใช้ได้ใช้ต่อไป ท่านยังคงพอใจใช้ของที่เคยใช้อยู่ต่อไปเรื่อย ๆ เช่นนี้ เหมือนเดิม

    ขันพลาสติกที่คุณยายท่านใช้ตักน้ำ ไม่สามารถระบุชัดได้ว่า ท่านใช้มายาวนาน กี่ปีถึงค่อยเปลี่ยนใบใหม่ ทราบจากพี่อุปัฏฐากดูแลคุณยายว่า ท่านจะใช้จนพังหรือใช้จนไม่สามารถใช้งานได้อีกต่อไป ท่านจึงยอมที่จะเปลี่ยน 

    การประหยัดและรู้จักใช้ของให้คุ้มค่านั้นคือสิ่งที่เราได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก ๆ แต่การพอใจและรักที่จะใช้ในสิ่งที่เรามีอยู่คือสิ่งที่เราได้รับรู้จากครูบาอาจารย์ของเราโดยตรง

    ดังนั้น ในวันที่ไฟฟ้าดับ เครื่องปั๊มน้ำใช้ไม่ได้ ทำให้น้ำไม่ไหล อย่างน้อย    หลวงพ่อท่านก็ยังพอจะมีน้ำที่รองเก็บไว้ในขันให้ใช้ นี่คือเหตุผลที่ทำไมท่านต้องรำพึง

 ไม่ให้ทิ้งน้ำในขัน แต่น้ำเพียงแค่ครึ่งขันท่านจะใช้ทำอะไรได้บ้างนั้น ไม่ได้สร้างความอึดอัดใจให้กับท่าน แต่ถ้าครึ่งขันสำหรับเรานั้นลำบากไหม ถ้ามีน้ำให้เราใช้เพียงแค่นี้

ผมมีขันใช้อยู่ใบหนึ่ง ใช้มาสี่สิบกว่าปีจนถึงบัดนี้ก็ยังใช้อยู่ เคยทำตกบ่อยจนบุบบู้บี้      มีหลายครั้งที่ใช้งานหนักไม่บันยะบันยัง และมีบางช่วงที่ใช้ทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ ไม่รู้จักถนอมเพื่อจะได้มีใช้นาน ๆ แม้คุณภาพขันใบนี้ค่อย ๆ ลดลงและใช้ได้ไม่ดีเหมือนก่อน แต่กลับมีคุณค่าทางใจกับผมอย่างยิ่ง ต่อให้อยู่ในสภาพยับเยินอย่างไร ผมก็ยังรักและพอใจ      ที่จะใช้โดยยังไม่คิดจะเปลี่ยนใบใหม่ ด้วยเหตุที่ว่าในชีวิตผมมีขันใบนี้เพียงใบเดียว

    เริ่มแรกที่ได้รับขันใบนี้มาพร้อมกับน้ำเต็มขัน พอนานวันเข้าเพิ่งเห็นว่าเหลือน้ำอยู่ไม่ถึงครึ่งขัน ชักเริ่มใจหาย ถ้าน้ำหมดขันจะทำอย่างไร  

    จะเลือกพอใจในสิ่งที่เหลืออยู่หรือจะเศร้าใจในสิ่งที่สูญเสีย จะเลือกมองในสิ่งที่เรามีหรือจะมองหาในสิ่งที่เราขาด ผมมองเห็นว่าน้ำในขันที่เหลือคือเวลาในชีวิตที่เรา   ยังมีอยู่  คงต้องเริ่มคิดแล้วว่าจะใช้น้ำในขันนี้อย่างไร แต่ที่แน่ ๆ ผมคงไม่คว่ำขันเทน้ำทิ้งเพราะความไม่รู้เหมือนที่ผ่านมา

................................

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล