ฉบับที่ ๑๙๐ เดือนตุลาคม ๒๕๖๑

ย้อนอดีตท่องประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ตอนที่ ๑๐ : ๖ สำนักใหญ่...ในสมัยพุทธกาล

อ่านอดีต ขีดอนาคต
เรื่อง : พระมหาพงศ์ศักดิ์ ฐานิโย, ดร.

ย้อนอดีต...ท่องประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา

ตอนที่ ๑๐ : ๖ สำนักใหญ่...ในสมัยพุทธกาล

        เมื่อกล่าวถึง “๖ สำนักใหญ่” สำหรับแฟนนิยายกำลังภายในอย่าง “มังกรหยก” คงจะนึกถึงสำนักเส้าหลิน (Shaolin 少林) บู๊ตึ๊ง (Wudang 武当) หรือง่อไบ๊ (Emei 峨嵋) เหล่านี้เป็นต้น แต่หากกล่าวถึง ๖ สำนักใหญ่ที่ปรากฏร่วมสมัยกับพระพุทธศาสนาแล้ว คงหลีกเลี่ยงที่จะกล่าวถึง “ลัทธิของครูทั้ง ๖” ไปไม่ได้

       ใน “สามัญญผลสูตร” ทั้งฝ่ายบาลี (Sāmaññaphala-sutta) และสันสกฤต (Śrāmaṇyaphala-sūtra 沙門果經) ต่างได้กล่าวถึงแนวความคิดของครูทั้ง ๖ เอาไว้อย่างน่าสนใจ เรามาดูกันว่า “ครูทั้ง ๖” นี้มีใครกันบ้าง และมีแนวคิดอย่างไรกันบ้าง

        ๑. ปูรณกัสสปะ (Pūraṇa Kassapa) มีความเห็นว่า วิญญาณเป็นสิ่งเที่ยงแท้ถาวร ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่เชื่อทั้งเหตุและผลของการกระทำ กล่าวคือ ไม่เชื่อบุญ บาป และกฎแห่งกรรมนั่นเอง

        ๒. มักขลิโคศาล (Makkhali Gosāla) มีความเห็นว่า วิญญาณเป็นสิ่งเที่ยงแท้ถาวร ไม่มีการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่ดีและไม่ดีในชีวิตล้วนเกิดขึ้นเพราะโชคว่าดีหรือร้าย และเมื่อเวียนเกิดเวียนตายไปเรื่อย ๆ ก็จะบริสุทธิ์ได้เอง

        ๓. อชิตเกสกัมพล (Ajita Kesakambala) มีความเห็นตรงกันข้ามกับ “สัมมาทิฐิ ๑๐ ประการ” กล่าวคือ ทานไม่มีผล การบูชาไม่มีผล โลกนี้โลกหน้าไม่มี เป็นต้น และสัตว์ทั้งหลายสิ้นสุดลงที่ความตายในชาตินี้ ไม่มีสิ่งใดเหลือ

       ๔. ปกุธกัจจายนะ (Pakudha Kaccāyana) มีความเห็นว่า สภาวะทั้ง ๗ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ สุข ทุกข์ และชีวะ เป็นสิ่งไม่หวั่นไหว เที่ยงแท้ นิรันดร์ ไม่ขึ้นกับการกระทำใด ๆ ทั้งดีและชั่ว

       ๕. นิครนถนาฏบุตร (Nigaṇṭha Nātaputta) มีความเห็นว่า ความจริงมิได้มีเพียงหนึ่ง ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ การเปลื้องผ้าและทรมานตน รวมถึงข้อปฏิบัติในเรื่อง “อหิงสา” (ความไม่เบียดเบียน) เป็นหนทางหลุดพ้น

       ๖. สัญชัยเวลัฏฐบุตร (Sañjaya Belaṭṭḥaputta) มีความเห็นว่า ไม่มีความจริงอันเป็นสัจจะมุ่งการกล่าวถึงสิ่งที่ไม่ควรพยากรณ์ ได้แก่ โลกเที่ยงหรือไม่เที่ยง และกล่าวซัดส่ายไปมา เช่น อย่างนี้ก็มิใช่ อย่างนั้นก็มิใช่ อย่างอื่นก็มิใช่ เป็นต้น

      จะเห็นได้ว่าแนวคิดของ “ครูทั้ง ๖” แม้จะปฏิเสธแนวคิดพระเวทของ “พราหมณ์” แต่ก็มีแนวคิดไปในทางที่เห็นว่าวิญญาณเที่ยง อีกทั้งปฏิเสธเรื่องบุญบาปและกฎแห่งกรรม ต่างกันตรงที่ “วิธีการอธิบาย” เพื่อให้เข้าใจในแนวคิดเหล่านี้เท่านั้นที่อาจแตกต่างกัน จะมีก็เพียงแต่ “นิครนถนาฏบุตร” เท่านั้น ที่ยังพอมีแนวคิดเรื่องกรรมเก่ากรรมใหม่และทางปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น แล้วพระพุทธศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าจะรับมือกับแนวคิดของ “สมณะ” และ “พราหมณ์” เหล่านี้อย่างไร

 

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล