ฉบับที่ ๑๖๖ เดือนสิงหาคม ๒๕๕๙

หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๑๕)

บทความพิเศษ
เรื่อง : พระสุธรรมญาณวิเทศ วิ. (สุธรรม สุธมฺโม)
และคณะนักวิจัย DIRI

หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ
(ตอนที่ ๑๕)

    สืบเนื่องจากที่ผู้เขียนนำเสนอบทความ “การค้นพบหลักฐานธรรมกายจากเอกสารโบราณในประเทศไทย” ฉบับเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กล่าวคือ คณะนักวิจัยของสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) ได้ทำการสืบค้นศึกษาวิจัยจนพบ หลักฐานร่องรอยธรรมกาย จากหลักศิลาจารึก จารึกลานเงิน เอกสารตัวเขียนประเภทสมุดไทย คัมภีร์พุทธโบราณที่จารลงในใบลาน ซึ่งหลักฐานธรรมกายจากเอกสารโบราณเหล่านั้น ที่ถูกจารด้วยอักษรเขมรโบราณ อักษรขอมไทย อักษรธรรม และอื่น ๆ ทั้งที่เป็นภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต และภาษาไทย ซึ่งมีมากถึง ๑๔ ชิ้นแล้วนั้น ทางสถาบันวิจัยฯ (DIRI) ก็ยังคงสืบค้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้หลักฐานเพิ่มขึ้น เพราะขณะนี้ก็ได้พบหลักฐานธรรมกายจากแหล่งข้อมูลในต่างประเทศอีกหลายแห่งทีเดียว เช่น ในราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา เป็นต้น

ช่วงที่เดินทางไปกัมพูชา เพื่อสืบค้นหลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ ได้ไปกราบสักการะสมเด็จพระสังฆราชเทพวงศ์ ที่วัดอุณาโลม กรุงพนมเปญซึ่งสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศได้รับความเมตตาให้ใช้อาคารภายในวัดเป็นที่ทำการ
เพื่อเก็บรักษาอนุรักษ์คัมภีร์โบราณ

 

สมเด็จพระสังฆราชและคณะสงฆ์กัมพูชาร่วมบำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรม ถวายเป็นพระราชกุศล
แด่สมเด็จพระนโรดม สีหนุ ณ ลานหน้าพระราชวังหลวงและเมตตาให้ผู้เขียนกับคณะเข้าร่วมพิธีดังกล่าวนี้ด้วย

 

   ช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ผู้เขียนและคณะได้รับเชิญจาก ศาสตราจารย์เคทครอสบี (Prof. Kate Crosby) แห่งมหาวิทยาลัยคิงส์คอลเลจ ประเทศอังกฤษ ให้เข้าร่วมประชุมในช่วงวันที่ ๕-๘ กรกฎาคม ในหัวข้อเรื่อง “กรรมฐานแบบโบราณตามคติพุทธเถรวาท Conference on Traditional Theravada Meditation” ณ ห้องประชุมของสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ “École Française d’ Extrême - Orient, Siem Reap Cambodia” (EFEO) ซึ่งมีนักวิชาการพุทธศาสนาจากนานาชาติ อาทิ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย เมียนมา ศรีลังกา ไทย สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ ฝรั่งเศส เม็กซิโก และราชอาณาจักรกัมพูชา

บรรยากาศที่อบอุ่นในการประชุมทางวิชาการเรื่องกรรมฐานแบบโบราณตามคติพุทธเถรวาท

    บรรยากาศจากการประชุมและร่วมกันอภิปราย (Workshop) แลกเปลี่ยนผลงานซึ่งกันและกันในครั้งนี้ ทำให้ทราบว่า วงการศึกษากรรมฐานแบบโบราณทางวิชาการเช่นนี้ยังไม่กว้างขวาง ซึ่งถือได้ว่า นักวิชาการกลุ่มนี้เป็นเสมือนผู้ร่วมกันยกระดับบุกเบิก (Pioneering) เพราะสิ่งที่นักวิชาการทุกท่านวิพากษ์กันเกี่ยวกับประเด็นนี้ก็คือ ในอาณาบริเวณแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ นับแต่โบราณกาล มา องค์ความรู้เรื่องกรรมฐานแบบโบราณถือเป็นองค์ความรู้หลัก เป็นองค์ความรู้ที่มีคุณค่าซ่อนอยู่มากมาย จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนควรร่วมมือกันศึกษา วิจัย ค้นคว้าและอนุรักษ์เอกสารโบราณ ซึ่งรวบรวมองค์ความรู้เหล่านี้ไว้ ไม่ว่าจะมาจากแหล่งใดก็ตาม เพราะเรื่องของกรรมฐานแบบโบราณเป็นเรื่องที่น่าศึกษาและควรเผยแผ่ เพื่อประโยชน์สุขแก่ชาวโลกที่น้อมนำมาปฏิบัติดังนั้นผู้เขียนจึงเล็งเห็นว่า นี้เป็นโอกาสดีของสถาบันวิจัยฯ (DIRI) ที่จะวางรากฐาน และสร้างความเข้าใจเรื่อง “ธรรมกาย” ในทางวิชาการอย่างเป็นรูปธรรมให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

    เมื่อผู้เขียนศึกษารายชื่อและผลงานของนักวิชาการที่มาร่วมประชุมและร่วมทำ Workshop ครั้งนี้ เห็นชัดว่า ทุกท่านล้วนมีผลงานเป็นนักวิชาการระดับแนวหน้าของโลกผู้เขียนและคณะจึงไม่มีความเห็นอื่นใด นอกจากตอบรับคำเชิญของท่าน ศาสตราจารย์เคทครอสบี ด้วยความยินดีและเต็มใจ แม้มีภารกิจมากในช่วงนี้ก็ตาม

    เริ่มการประชุมตั้งแต่วันแรกก็มีเนื้อหาเข้มข้น โดยมีการนำเสนอจากแหล่งข้อมูลปฐมภูมิ (Primary Source) เช่น ศาสตราจารย์โอลิวีเยร์ เดอ บานอน ชาวฝรั่งเศส ผู้อำนวยการสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ (EFEO) สาขากัมพูชา ผู้มีความเชี่ยวชาญเรื่องคัมภีร์ใบลานในกัมพูชามากว่า ๑๐ ปี พร้อมคณะผู้เชี่ยวชาญในท้องถิ่นอีก ๒ ท่าน คือ คุณสุเพียบ (สุภาพ) และ คุณเลียง ก๊กอาน ที่ทำการสาธิตรูปแบบการปฏิบัติกรรมฐานแบบโบราณในกัมพูชาซึ่งทำให้ที่ประชุมรับทราบอย่างชัดเจน

ศาสตราจารย์บาส เทอร์วิล กำลังบรรยายเรื่อง “การปฏิบัติตามพุทธวิธีมุ่งสู่พระนิพพาน”
โดยนำข้อมูลมาจากสมุดภาพโบราณ “ไตรภูมิพระร่วง”

   ศาสตราจารย์บาส เทอร์วิล ชาวดัตช์เป็นศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยฮัมบูร์ก แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี แม้เกษียณแล้วปัจจุบันท่านยังคงผลิตผลงานพุทธศาสนาทั้งด้านวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะของชาติไทยและลาวอย่างต่อเนื่อง ในที่ประชุมนี้ท่านนำเสนอ “การปฏิบัติตามพุทธวิธีมุ่งสู่พระนิพพาน” โดยนำข้อมูลมาจากสมุดภาพโบราณ “ไตรภูมิพระร่วง” และมี ดร.แอนดรู สกิลตัน กับ ดร.พิบูลย์ ชุมพล-ไพ-ศาล นำเสนอผลงานการปฏิบัติกรรมฐานแบบโบราณของ ไทย ซึ่งเป็นแบบของ สมเด็จพระสังฆราชสุก
(ไก่เถื่อน) วัดราชสิทธาราม และมีบางส่วนที่สืบทอดมาจากวัดประดู่ทรงธรรม (วัดประดู่โรงธรรม) สมัยอยุธยา ที่ใช้เป็นหลักวิเคราะห์เรื่องกรรมฐานแบบโบราณ รวมถึงการนำเสนอกรรมฐานแบบโบราณของศรีลังกา เมียนมา ลาว และล้านนา เป็นต้น

พระสุธรรมญาณวิเทศ วิ. นำเสนอผลวิจัยเรื่อง “การค้นพบหลักฐานธรรมกายในเอกสารโบราณของประเทศไทย”

    เมื่อถึงกำหนดเวลาที่ผู้เขียนในนามสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) และคณะจะได้นำเสนอผลงานจากการที่ได้สืบค้นหลักฐานธรรมกายจากเอกสารโบราณ ที่เกี่ยวกับกรรมฐานแบบโบราณในประเทศไทย จึงได้นำเนื้อหาข้อมูลที่ผู้เขียนเคยบรรยายในการจัดเสวนา “ถาม-ตอบเรื่องธรรมกาย ครั้งที่ ๓” ณ ห้องประชุมอาคาร ๑๐๐ ปี คุณยายอาจารย์ฯ มาใช้ ซึ่งครั้งนี้ก็ใช้เนื้อหาเดิมที่เป็นภาษาไทยแต่ปรับเปลี่ยนการนำเสนอเนื้อหาเป็นภาษาอังกฤษ

.

ภาพศิลาจารึกพระธรรมกายวัดเสือ จังหวัดพิษณุโลก

   ผู้เขียนและคณะต่างปีติที่ได้ทำหน้าที่นำเสนอความจริงให้ปรากฏ จากผลวิจัยของสถาบันฯ (DIRI) ที่พบ หลักฐาน "ธรรมกาย" ในเอกสารโบราณครบทุกประเภท คือ ทั้งที่พบในศิลาจารึก คัมภีร์ใบลาน หนังสือพับสารวมทั้งจารึกลานเงิน ซึ่งมีหลักฐานคำว่า “ธรรมกาย” ปรากฏอยู่อย่างชัดเจน และมีอยู่จริงทั้งฝ่ายพุทธเถรวาทและมหายานในประเทศไทยมาตั้งแต่ครั้งโบราณ และเห็นได้ว่า “ธรรมกาย” เป็นที่รู้จักเเละได้รับการอุปถัมภ์จากชนชั้นสูงมาไม่ต่ำกว่า ๖๐๐ ปี และนักวิจัยของสถาบันฯ (DIRI) อีกท่านหนึ่งคือ ดร.กิจชัย เอื้อเกษม ก็นำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง กรรมฐานโบราณจากศิลาจารึกยุคสุโขทัย และหนังสือสิ่งพิมพ์โบราณ โดยเนื้อหาที่กล่าวถึงการปฏิบัติสมาธิภาวนาเหล่านั้นสามารถเชื่อมโยงไปถึง “ธรรมกาย” อันเป็นที่พึ่งสูงสุดได้เช่นกัน

คุณสุเพียบ ผู้เชี่ยวชาญอักษรเขมรโบราณ กำลังสาธิตการสวดคาถาพระธรรมกายที่มีในกัมพูชา
ซึ่งคุณสุเพียบและคุณเลียง ก๊กอาน ได้ให้ความช่วยเหลือแก่สถาบันฯ (DIRI) ในการสืบค้นหลักฐานธรรมกายในกัมพูชา

    เมื่อนำเสนอบทความพร้อมภาพประกอบเอกสารโบราณเสร็จสิ้นลง มีผลทำให้นักวิชาการที่มาร่วมประชุมต่างให้การยอมรับว่า “ธรรมกาย” นั้นมีจริง และต่างเสนอกันว่าเรื่องนี้ควรที่จะสืบค้นและศึกษาอย่างต่อเนื่องเพราะหลักฐานจากเอกสารโบราณที่นำเสนอต่อที่ประชุมนั้น โดยเฉพาะศิลาจารึกก็มีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑ เเละผู้เขียนยังแจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า ทางสถาบันฯ (DIRI) ยังได้ทำการสำรวจแหล่งข้อมูลเพื่อสืบค้นหลักฐานธรรมกาย ในเขตพุทธโบราณของประเทศอื่น ๆ ด้วย เช่น ศรีลังกา เวียดนามและกัมพูชา เป็นต้น และเพื่อสร้างความเชื่อถือให้มากและหนักแน่นยิ่งขึ้น จึงเชิญคุณสุเพียบให้มาสาธิตการสวดคาถาพระธรรมกาย ตามที่มีปรากฏอยู่ในคัมภีร์ธมฺมกายาทิ เพื่อให้กลุ่มนักวิชาการในที่ประชุมได้เห็นประจักษ์ด้วยตนเอง และเห็นจริงว่า “ธรรมกาย” เป็นที่รู้จักในกรรมฐานแบบโบราณตามพุทธเถรวาท ในหลายแห่งตามที่ผู้เขียนกล่าวไว้

   จากการประชุมทางวิชาการร่วมกันในครั้งนี้ มีผลที่ดีเกิดขึ้นนอกเหนือจากการเปิดตัวสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) ให้เป็นที่รู้จักในวงวิชาการด้านการอนุรักษ์คัมภีร์โบราณเพิ่มมากขึ้น คือทำให้สถาบันฯ (DIRI) มีโอกาสแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงลึกเรื่อง หลักฐานธรรมกายในเอกสารโบราณร่วมกับนักวิชาการตะวันตก เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งเป็นโอกาสที่เกิดขึ้นได้ยากยิ่ง

   พอสรุปได้ว่า การที่ สถาบันฯ DIRI ได้นำเสนอผลงานวิจัยต่อที่ประชุม ๒ ชิ้น นั้นนับว่าเป็นการเริ่มวางรากฐานในวงวิชาการ เพื่อให้เกิดการยอมรับว่า คำว่า “ธรรมกาย” นี้มีอยู่จริง และให้ยอมรับว่ามีธรรมเนียมปฏิบัติที่มุ่งการบรรลุถึงธรรมกายและเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุด ซึ่งทางสถาบันฯ (DIRI) เชื่อว่าในภาวะปัจจุบันคงมีผลได้ในระดับหนึ่ง แต่จะต้องตระหนักและถือเป็นพันธกิจที่สำคัญในการมุ่งมั่นเกาะติดแวดวงวิชาการเพื่อทำความจริงให้ปรากฏแก่ชาวโลกสืบไป


ข้อสังเกต

  เมื่อผู้เขียนเดินทางกลับมาจากการสัมมนาทางวิชาการครั้งนี้แล้ว รู้สึกปลื้มปีติใจที่ได้เห็น วารสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับวันที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ มีบทความทางวิชาการเรื่อง “พระจอมเกล้า” กับ “พระธรรมกาย” ในจิตรกรรมวัดปทุมวนาราม ซึ่งมีเนื้อหาอ้างอิงผลงานวิจัยของผู้เขียนเมื่อครั้งยังดำรงสมณศักดิ์ ที่ พระครูปลัดนายกวรวัฒน์(สุธรรม สุธมฺโม) จาก “คัมภีร์ธมฺมกายาทิ ฉบับเทพชุมนุม” และผลงานฉบับวิชาการที่เรียบเรียงโดย ดร.ชนิดา จันทราศรีไศล บ.ศ.๙ จากหนังสือ หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ
(ถ้าสนใจโปรดติดตามรายละเอียดได้จากวารสารตามภาพปกนี้)


 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล