ฉบับที่ 45 กรกฏาคม ปี 2549

เปลี่ยนขยะให้เป็นปุ๋ย

โดย : จิรวัฒน์ ภู่เพียงใจ

 

 

           ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีประชากรประมาณ ๖ ล้านคน เมืองใหญ่ๆ ที่มีผู้คนอยู่กันอย่างหนาแน่นอย่างนี้ ปัญหาที่หนีไม่พ้นก็คือเรื่องมลภาวะ หรือสภาพแวดล้อมเป็นพิษ

              เรื่องอื่นยังไม่ต้องพูดถึง เพียงแค่เรื่องขยะอย่างเดียว ก็เป็นปัญหาหนักอกเกินพอแล้วสำหรับท่านผู้ว่าฯ และชาวพาราทั้งหลาย

              คิดดูสิว่าคน ๖ ล้านคน ทิ้งขยะกันวันละ ๕,๐๐๐ ตัน ในขณะที่ กทม. มีรถขนไปทิ้งได้วันละไม่เกิน ๔,๐๐๐ ตัน ส่วนที่เหลือก็คงหมักหมมส่งกลิ่นกระจาย กลายเป็นมลภาวะของแต่ละชุมชนไป

              ความจริงขยะมูลฝอยที่ผู้คนเขาเททิ้ง และรังเกียจกันหนักหนานี้ก็ยังพอมีประโยชน์อยู่บ้าง คือนอกจากจะเป็นขุมทรัพย์ของคนยากจนที่ดำรงตนอยู่ได้ด้วยการคุ้ยหาของ จากกองขยะเอาไปขายแล้ว ทางกทม. เอง ก็ยังมีโรงงานสำหรับแปรสภาพให้ขยะที่สกปรกน่ารังเกียจ เปลี่ยนมาเป็นปุ๋ยซึ่งเป็นของมีประโยชน์ได้

 


  อย่างนี้เรียกว่าเป็นการ "ฉลาดทำ" คือ รู้จักแปรสภาพของที่ไร้ค่าไม่มีประโยชน์ ให้กลายมาเป็นของดีมีประโยชน์ได้

                      
           ขอให้หยุดคิดพิจารณาทบทวน กันสักนิดก็จะพบว่าชีวิตคนเราทุกวันนี้ ตั้งแต่ตื่นเช้าจรด เข้านอน เราต้องเผชิญกับเรื่องราวต่างๆ มากมาย ซึ่งมีทั้งถูกใจและไม่ถูกใจ

           วันใดมีเรื่องถูกใจมากก็จะทำให้เรา มีอารมณ์เบิกบานแจ่มใส หากวันใดเจอแต่เรื่องที่ไม่ถูกใจ ก็จะพลอยทำให้อารมณ์เสีย จะทำอะไรก็ดูขัดข้องไปเสียทุกเรื่อง ราวกับว่ารอบๆ ตัวเรามีแต่ขยะรกรุงรังขวางหูขวางตาไปเสียทั้งหมด

            วิธีแก้ปัญหาเหล่านี้ ขั้นแรกเราต้องทำใจให้ยอมรับ "เจ้าขยะ" นี้ให้ได้เสียก่อน เพื่อที่จะสามารถเผชิญหน้ากับมันได้ ขั้นต่อมาก็พยายามใช้สติปัญญาและความอดทนไตร่ตรองหาทางออกที่ดี ที่สุด เพื่อคลี่คลายสภาพอันอึดอัดขัดข้องใจโดย ใช้กุศโลบายพลิกสถานการณ์ให้กลับมาเป็นประโยชน์แก่ตัวเราให้ได้

                หลักการง่ายๆ และดีที่สุดสำหรับการขจัดขยะหรืออารมณ์เสียออกจากใจ ก็คือ วิธีการมองโลกในแง่ดีเข้าไว้

              มีตัวอย่างน่าสนใจที่ พ.อ.ปิ่น มุทุกันต์ อดีตอธิบดีกรมการศาสนา ได้เขียนไว้ว่า คราวหนึ่ง ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ท่านได้ไปพักอยู่ที่ อุดร ซึ่งที่นั่นมีพระเถระรูปหนึ่ง คือ ท่านเจ้าคุณธรรมานุยุต วัดมัชฌิมาวาส ผู้ที่ชาวเมืองถวายฉายาท่านว่า "หลวงพ่อดี" เพราะท่านมีปกติมอง แง่ดีของสิ่งต่างๆ และพูดว่า "ดีนอ" เสมอๆ คราวหนึ่งหลวงพ่อดี ท่านนี้ได้ไปที่สถานีรถไฟอุดร เพื่อจะเดินทางไปขอนแก่น ซึ่ง พ.อ.ปิ่น มุทุกันต์ ได้ร่วมขบวนไปส่งท่านที่สถานีรถไฟด้วย

                 พอไปถึงสถานีรถไฟ คนที่ท่านส่งล่วงหน้าให้ไปซื้อตั๋วไว้ก่อน ก็เข้ามารายงานว่า ตั๋วเที่ยวนี้หมดเสียแล้ว ไปไม่ได้

                 หลวงพ่อท่านก็บอกว่า "ดี" แล้วก็หัวเราะ พ.อ.ปิ่นถามว่า "ดียังไงครับหลวงพ่อ" ท่านก็บอกว่า " ดีที่จะได้นอนวัดเราคืนนี้"

              แต่พอกำลังเตรียมตัวจะยกกระเป๋า กลับวัดก็มีคนมาบอกว่า เขาไปพูดกับนายสถานีเอง ไปได้แน่ หลวงพ่อก็พูดว่า "ดีนอ" แล้วก็นั่งรอ พระอีกรูปหนึ่งจึงได้ถามท่านว่า "ดียังไงหลวงพ่อ" ท่านก็บอกว่า "ดีที่คืนนี้จะได้ไปนอนที่ขอนแก่น"

          สักครู่ใหญ่ๆ คนที่ได้อาสาไปหาที่นั่งให้ หลวงพ่อ ก็วิ่งมาบอกว่าคนขึ้นไปแน่นหมดแล้ว ไม่มีแม้แต่ที่จะยืน หลวงพ่อไปไม่ได้แน่ ท่านบอกว่า "ดีนอ" แล้วก็หัวเราะ พ.อ.ปิ่น จึงได้ถามท่านอีกว่า "ดียังไงครับหลวงพ่อ" ท่านก็ตอบว่า "ดีที่คืนนี้ไม่ต้องไปนอนที่ขอนแก่น"

                 อย่างนี้เรียกว่าเป็นการ "ฉลาดคิด" คือรู้จักทำใจปรับสภาพให้เข้ากับสถานการณ์ได้ทุกรูปแบบ ซึ่งถ้าเรารู้จักนำเอาคาถา "ดีนอ" ของหลวงพ่อดีนี้มาใช้กับชีวิตประจำวันได้แล้ว รับรองว่าจะมีชีวิตที่สดใสและอายุยืนขึ้นอีกเยอะ


                 นักประพันธ์ผู้ยิ่งใหญ่ วิลเลียม โบลิโธ มีคำกล่าวที่น่าฟังไว้ตอนหนึ่งว่า "สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตของมนุษย์ ไม่ใช่เพิ่มทุนให้สูงขึ้นจากผลกำไร เพราะการทำเช่นนี้คนโง่ทุกคนก็สามารถทำได้ แต่การทำให้เกิดกำไรจากการขาดทุนนั่นสิเป็นสิ่งสำคัญและทำได้ยาก ซึ่งผู้มีภูมิปัญญาเท่านั้น จึงจะสามารถทำได้"

                      

 

  นี่คือ สิ่งที่แสดงถึงลักษณะอันแตกต่าง ระหว่างคนที่มีสติปัญญากับคนโง่

             ถ้าหากเราสามารถเปลี่ยนเรื่องร้าย ให้กลายเป็นดีได้ในทันที ก็ถือว่าเป็นวิธีการอันชาญฉลาด โดยเฉพาะในเหตุการณ์ที่คับขันมากๆ ก็จำเป็นต้องอาศัยความสงบเยือกเย็น และปฏิภาณเฉพาะตัวเข้าแก้ไขสถานการณ์นั้นๆ

              ตัวอย่างเช่น เมื่อคราวที่องค์สมเด็จ พระนเรศวรมหาราชของชาวไทย ในขณะที่ทรงพลาดท่าพลัดหลงเข้าไป ตกอยู่ท่ามกลางวงล้อมของเหล่าอริราชศัตรู ก็ทรงอาศัยปฏิภาณอัน เฉียบแหลม พลิกสถานการณ์อันเลวร้าย ให้กลายเป็นประโยชน์ ด้วยการตรัสวาจา ท้าทายพระมหาอุปราชาว่า

              " เจ้าพี่จะยืนช้างอยู่ในร่มไม้ทำไม เชิญเสด็จมาทำยุทธหัตถีกันให้เป็นเกียรติยศเถิด กษัตริย์ภายหน้าที่จะชนช้างได้อย่างเราจะไม่มีแล้ว"

              นี่คือการ "ฉลาดพูด" คือรู้จักใช้วาจาพลิกสถานการณ์ที่เป็นรอง ให้กลายมาเป็นต่อได้อย่างน่าอัศจรรย์
สิ่งสำคัญที่สุดก็คือการทำยุทธหัตถีครั้งนั้น ไม่เพียงแต่จะช่วยพลิกสถานการณ์ที่เลวร้าย ขององค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้เท่านั้น แต่ยังเป็นการพลิกประวัติศาสตร์ของชาติไทยอีกด้วย

               ผู้ใดที่รู้จัก ฉลาดทำ-ฉลาดคิด-ฉลาดพูด อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งหมดก็ตาม ในทาง พุทธศาสนาถือว่าเขาเหล่านี้เป็น "ผู้มีศิลปะ"

               เพราะผู้มีศิลปะนั้นย่อมสามารถเปลี่ยนขยะให้เป็นปุ๋ยได้ทุกโอกาสนั่นเอง

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล