ฉบับที่ ๑๖๐ เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๙

ทำอย่างไรจึงจะใช้เวลา ๒๔ ชั่วโมง ในแต่ละวันได้คุ้มค่ากับการเกิดมาเป็นมนุษย์ ได้พบกับพระพุทธศาสนา?

หลวงพ่อตอบปัญหา
เรื่อง : พระราชภาวนาจารย์ (หลวงพ่อทัตตชีโว)

 

ทำอย่างไรจึงจะใช้เวลา ๒๔ ชั่วโมง
ในแต่ละวันได้คุ้มค่ากับการเกิดมาเป็นมนุษย์
ได้พบกับพระพุทธศาสนา?

ทำอย่างไรจึงจะใช้เวลา ๒๔ ชั่วโมง ในแต่ละวันได้คุ้มค่ากับการเกิดมาเป็นมนุษย์ ได้พบกับพระพุทธศาสนา?

ANSWER คำตอบ

 

        มนุษย์เราได้เวลาชีวิตในแต่ละนาทีมาฟรี ๆ ก็เลยไม่ค่อยได้นึกถึงคุณค่าของเวลาที่เสียไปอย่างเปล่าประโยชน์ ทำให้ทุกคนมีเวลาหนึ่งวันเท่ากัน แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะใช้เวลาได้คุ้มค่า คนที่จะใช้เวลาได้ถูกต้องและคุ้มค่าคือคนที่มีปัญญา ถ้าคนไม่มีปัญญาใช้เวลาได้ไม่คุ้มค่า

          ในการใช้เวลาจำเป็นจะต้องพิจารณาให้ดี เพราะว่าเวลามีความยุติธรรมในตัว คือ ทุกคนมีเวลาเท่ากัน คนละ ๒๔ ชั่วโมงต่อวัน ขอทานก็ได้มาวันละ ๒๔ ชั่วโมง เศรษฐีก็ได้มา ๒๔ ชั่วโมง กษัตริย์ก็ได้มา ๒๔ ชั่วโมงคนขยัน คนขี้เกียจ ก็ได้มา ๒๔ ชั่วโมงเท่ากันและแน่นอนว่าคนฉลาดกับคนโง่ก็ได้เวลามา ๒๔ ชั่วโมง เท่ากัน

         เมื่อแต่ละคนได้เวลา ๑ วันมาเท่ากันก็ต้องใช้มัน ถ้าไม่ใช้เวลาก็จะผ่านไป และเมื่อผ่านไปแล้วก็เรียกกลับมาไม่ได้ แต่ทว่าเวลาที่เราได้มาฟรี ๆ เมื่อผ่านไปแล้ว มันไม่ได้ผ่านไปเปล่า ๆ มันเอาโอกาสไปจากเราด้วยเมื่อโอกาสผ่านไปแล้วก็เรียกกลับคืนไม่ได้เช่นกัน

          เมื่ออายุยังน้อย โอกาสของเราก็คือการเล่าเรียนศึกษา ถ้าไม่เรียนเมื่อโอกาสผ่านไปแล้ว อายุก็มากแล้ว จะมาหัดอ่านก.ไก่  ข.ไข่ก็คงไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เพราะหูก็ตึง สายตาก็มัว สมองก็ไม่ว่องไว เคลื่อนไหวก็เชื่องช้าลงแตกต่างจากตอนที่เป็นเด็ก ที่เรียนรู้ได้ไวกว่ามาก

         เวลาเมื่อผ่านไปแล้ว ก็ผ่านแล้วผ่านเลยโอกาสก็เช่นกัน จะใช้หรือไม่ใช้ ก็ผ่านแล้วผ่านเลยไปด้วยเช่นกัน ขณะที่โอกาสผ่านคนขยันคนฉลาด เขาก็จะเปลี่ยนโอกาสให้กลายเป็นความสำเร็จขึ้นมาได้ แต่ถ้าโอกาสผ่านคนโง่คนขี้เกียจ นอกจากไม่ได้อะไรเป็นความสำเร็จในชีวิตแล้ว ยังนำปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตมาด้วยที่สำคัญ เวลาที่ผ่านไปนั้น ไม่ว่าเราจะใช้หรือไม่ใช้ นอกจากนำความแก่ชรามาให้ด้วยแล้วสุดท้ายก็นำความตายมาให้ด้วย เราจึงต้องบริหารเวลาให้ดี ถ้าบริหารเวลาไม่ดีชีวิตเราจะมีแต่ความยุ่งยากทั้งในปัจจุบันและอนาคตชีวิตที่เกิดมานั้นเกิดมาพร้อมกับความทุกข์นานัปการ เป้าหมายของชีวิตที่แท้จริงคือการหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง ถ้ายังไม่หลุดพ้นจากทุกข์ เราก็ต้องเกิดอีก ชีวิตก็ต้องดำเนินต่อไปอีกวนเวียนเป็นวัฏจักรรอบแล้วรอบเล่า

         จุดมุ่งหมายของการบริหารเวลาในชีวิตที่แท้จริงนั้น ต้องนำมาใช้เพื่อการแก้ไขทุกข์เพื่อฝึกตนให้หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงให้ได้ในภพชาติสุดท้ายตามแบบอย่างพระบรมศาสดา

        เมื่อเวลาในชีวิตเราใช้เพื่อการดับทุกข์แก้ไขทุกข์ในชีวิต เราจึงต้องมองให้ออกว่าภาพรวมของทุกข์ในชีวิตมนุษย์ครอบคลุมถึงอะไรบ้าง  

ทุกข์ของมนุษย์แบ่งเป็น ๔ กลุ่มใหญ่ คือ

       ๑. ทุกข์จากสรีระร่างกาย ได้แก่ ความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหายการปวดอุจจาระ การปวดปัสสาวะ

      เนื่องมาจากกายมนุษย์ประกอบขึ้นจากธาตุที่ไม่บริสุทธิ์ทั้ง ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ       ธาตุลม และธาตุไฟ เมื่อไม่บริสุทธิ์จึงมีการเสื่อมสลายได้ ในขณะที่เสื่อมสลายก็จะแสดงอาการทุกข์ในสรีระร่างกายออกมาเป็นความร้อน ความหนาว ความหิว ความกระหาย การขับถ่ายอุจจาระปัสสาวะ ซึ่งการจะระงับทุกข์ในสรีระได้ เราจะต้องเติมธาตุ ๔ ให้แก่ร่างกายเพื่อสร้างประกอบธาตุใหม่ขึ้นมาทดแทนธาตุเก่าที่สลายไป มนุษย์จึงต้องทำการงานต่าง ๆ เพื่อหาธาตุ ๔ มาบำบัดทุกข์และบำรุงสุขให้แก่ร่างกาย ทุกข์นี้จึงจะสงบระงับได้


       ๒. ทุกข์จากการอยู่ร่วมกัน ได้แก่ การกระทบกระทั่ง เพราะความไม่สำรวมกาย และความไม่สำรวมวาจา

      ชีวิตมนุษย์อยู่ได้ด้วยปัจจัย ๔ หล่อเลี้ยงชีวิต ปัจจัย ๔ จึงเป็นสิ่งที่มนุษย์ขาดไม่ได้ เพราะร่างกายมนุษย์จะได้รับธาตุ ๔ก็จากการบริโภคใช้สอยปัจจัย ๔ ซึ่งได้แก่ ที่อยู่อาศัย อาหาร เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรคนี้เอง

        แต่เนื่องจากลำพังความสามารถของมนุษย์เพียงคนเดียวนั้น ย่อมไม่เพียงพอต่อการแสวงหาหรือการผลิตปัจจัย ๔ มาได้อย่างครบถ้วน มนุษย์จึงจำเป็นต้องพึ่งพากันและกันในการแสวงหาปัจจัย ๔ การอยู่ร่วมกันเป็นสังคมจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับมนุษย์

        เมื่อมนุษย์อยู่ร่วมกันเป็นสังคม แต่ขาดความสำรวมระวังกายวาจาให้ดี เช่น โกหกหลอกลวง ตบตีแย่งชิง ทำร้ายร่างกาย เป็นต้นก็จะก่อการกระทบกระทั่งระหว่างเพื่อนมนุษย์ขึ้นมา แล้วก็ลุกลามเป็นคดีอาชญากรรมบ้างคดีโจรกรรมบ้าง คดีล่วงละเมิดทางเพศบ้างคดีหมิ่นประมาทบ้าง ผลก็คือความไม่เป็นสุขความทุกข์กายทุกข์ใจที่เกิดจากการอยู่ร่วมกัน
 

        ๓. ทุกข์จากการประกอบอาชีพ ได้แก่ทุกข์จากการทำมาหากิน การทำมาค้าขาย เพื่อแสวงหาเงินทองมาแลกเปลี่ยนเป็นปัจจัย ๔ สำหรับหล่อเลี้ยงชีวิต

    เนื่องจากโลกนี้มีความสลับซับซ้อน กายมนุษย์เป็นทุกข์เพราะขาดธาตุ ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ แต่กลับไม่สามารถเติมธาตุ ๔ ให้แก่ร่างกายโดยตรงได้ ต้องแปรรูป วัตถุดิบต่าง ๆ ให้อยู่ในลักษณะของปัจจัย ๔ ที่เหมาะแก่การบริโภคของมนุษย์ ร่างกายจึงจะรับธาตุ ๔ เข้าไปได้

     ยกตัวอย่างเช่น ถ้ารู้สึกหนาวเกินไป เราก็ไม่สามารถหยิบไฟในเตากลืนลงท้องเข้าไปโดยตรงได้ ต้องใช้การสวมเสื้อให้หนา ห่มผ้าให้อุ่น กินอาหารอุ่น ๆ ดื่มน้ำอุ่น ๆ เป็นการเติมธาตุไฟให้ร่างกาย ร่างกายจึงจะรู้สึกอบอุ่นคลายหนาว เป็นต้น

       กระบวนการผลิตปัจจัย ๔ ให้เหมาะสมแก่การเติมธาตุ ๔ ให้แก่ร่างกายนี้เอง ได้ก่อให้เกิดการงานต่าง ๆ ขึ้นมามากมาย ซึ่งกว่าจะผลิตได้แต่ละอย่างก็ต้องใช้แรงงาน เงินทุนเครื่องจักร และการบริหารจัดการต่าง ๆ จึงจะได้ปัจจัย ๔ ที่เหมาะแก่การบริโภคของมนุษย์

      แต่เนื่องจากการทำงานผลิตปัจจัย ๔ ให้ครบถ้วนทั้งหมดตามลำพังเป็นเรื่องทำได้ยากใครถนัดผลิตปัจจัย ๔ ประเภทใด ก็ผลิตออกมาแบ่งปันกันบ้าง แลกเปลี่ยนกันบ้างค้าขายกันบ้าง จากเดิมที่เป็นอาชีพในครัวเรือนก็กลายเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ขึ้นมา

       ต่อมาเพื่อให้สะดวกกับการแลกเปลี่ยนสินค้ากันล่วงหน้า ก็มีการตั้งระบบเงินตราซึ่งเป็นของสมมุติขึ้นมาให้มีมูลค่าเท่านั้นเท่านี้เพื่อไว้ใช้แลกเปลี่ยนเป็นปัจจัย ๔ กลับมาบริโภค เพื่อเติมธาตุ ๔ มาระงับทุกข์ให้แก่ร่างกาย

       ดังนั้น กว่าจะได้ปัจจัย ๔ มาหล่อเลี้ยงชีวิตในแต่ละวันอย่างครบถ้วน มนุษย์จึงต้องเหน็ดเหนื่อยเป็นอันมาก ต้องดิ้นรนหางานดิ้นรนทำมาหากิน เพื่อให้ได้เงินมาซื้อหาปัจจัย ๔ ให้พอเพียงในแต่ละวันนั่นเอง


๔.ทุกข์จากกิเลสที่อยู่ในใจบีบคั้นมนุษย์ให้ทำกรรม

      เนื่องจากการงานต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการหาทางแก้ไขทุกข์ทั้ง ๓ ประการข้างต้นนั้น มนุษย์ได้ทำไปในลักษณะลองผิดลองถูกมาเรื่อย ๆบางครั้งก็ได้ผล แต่บางครั้งก็ไม่ได้ผล ปัญหาที่ตามมาก็คือ เมื่อแก้ไขทุกข์เหล่านั้นในทางที่ผิด นอกจากทุกข์ไม่ลดลงแล้ว ยังกลับเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

       แต่ที่แย่ยิ่งกว่านั้น นอกจากได้ทุกข์เพิ่มขึ้นแล้ว มนุษย์กลับยังได้บาปเพิ่มขึ้น และลดบุญเก่าที่ตนสั่งสมมาอีกด้วย เพราะกิเลสที่สิงอยู่ในใจมนุษย์ ๓ ประการ คือ โลภะ โทสะ และโมหะนั้น กำเนิดขึ้นจากรากเหง้าของมันคือ ความไม่รู้จริงถึงเหตุแห่งทุกข์นั้น ๆ ซึ่งมีศัพท์เรียกว่า อวิชชา

       เมื่อแก้ปัญหาไปโดยอวิชชา คือ ไม่รู้ว่าตนเองทำผิดหรือทำถูก ความโลภก็กำเริบ เกิดอาการอยากจะได้ในส่วนของคนอื่นเขาด้วยจากนั้นก็สรรหาวิธีการต่าง ๆ เพื่อจะเบียดเบียนให้ได้ทรัพย์นั้นมา ทำให้เกิดทุกข์เพราะการเบียดเบียนเพื่อนมนุษย์ไม่รู้จบ

        ครั้นอยากได้แต่ไม่อาจได้สมใจก็เป็นทุกข์เกิดโทสะบันดาลให้ขุ่นใจ เมื่อตนเองไม่ได้คนอื่นก็ต้องไม่ได้ ความคิดทำลายล้างเพื่อนมนุษย์ให้สิ้นซากด้วยวิธีการต่าง ๆ ก็เกิดขึ้นตามมา กลายเป็นความเดือดร้อนเป็นทุกข์ของมนุษย์ไม่จบสิ้น

        การที่มนุษย์จะอยู่รอดร่วมกันได้ ก็จะต้องแก้ไขทุกข์ทั้ง ๔ ประการไปด้วยกัน จะขาดไปประการหนึง่ ไม่ได้ ถ้าคิดจะแกไข้เฉพาะทุกข์ ๓ ประการแรก แต่มองข้ามทุกข์จากกิเลสไปก็จะมีผลร้าย คือ ทุกข์ไม่มีวันหมดสิ้น มีแต่จะเพิ่มมากขึ้นไป ชีวิตจะหมดไปแต่กับเรื่องทุกข์ ไม่มีโอกาสได้พบสุข

     การจะได้พบความสุขนั้น พระบรมศาสดาตรัสว่ามีทางเดียว คือ นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ       แปลว่า สุขอื่นนอกจากความสงบจากการทำใจให้หยุดนิ่งไม่มี การทำงานเพื่อแก้ทุกข์อื่น ๆ และแก้ทุกข์จากกิเลสไปด้วย จึงจะมีผลดีที่แท้จริง คือ ทุกข์ต่าง ๆ จะบรรเทาลดน้อยถอยลง และมีโอกาสหมดทุกข์ พ้นทุกข์ได้ด้วย

     การจะแก้ทุกข์จากกิเลสได้นั้นมีทางเดียวก็คือ การฝึกใจจนชนะใจตนเอง คำว่า “ชนะใจตนเอง” คือ เอาชนะกิเลสที่ควบคุมสั่งใจเราได้

      เราเริ่มต้นฝึกใจให้ชนะกิเลสได้ด้วยการศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรม และการสร้างบุญซึ่งเรียกรวม ๆ ว่า การบำเพ็ญเพียร การบำเพ็ญเพียรฝึกใจต้องอาศัยสติเป็นพี่เลี้ยงประคองใจไปจนกว่าใจจะหยุดนิ่งเป็นสมาธิ อาศัยความเพียรฝึกไม่ลดละจนกว่าจะประสบผลสำเร็จ

       ใจที่เป็นสมาธิ เป็นใจที่พร้อมจะเข้าถึงธรรม พร้อมจะบรรลุธรรมไปตามแนวทางที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และกำจัดทุกข์ทั้งปวงได้สิ้นเชื้อไม่เหลือเศษ

        ด้วยเหตุนี้ การแก้ไขทุกข์ทั้ง ๔ ประการไปพร้อม ๆ กันนี้ มนุษย์จะต้องหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อสาวให้ไปรู้ถึงต้นเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์นั้น ๆ ทั้งต้องมีความช่างสังเกตในเรื่องเหล่านี้ และต้องมีความพยายามที่จะห้ามใจไม่ให้ปฏิบัติผิดพลาดต่อเรื่องเหล่านี้อีก ทุกข์ที่มีอยู่แล้วจึงจะลดลง ทุกข์ใหม่ก็จะไม่เพิ่มขึ้น

       การงานต่าง ๆ เหล่า นี้ต้องใช้เวลาทั้งนั้นหากเรามองออกว่า เรากำลังแก้ทุกข์ทั้ง ๔ อยู่และแบ่งเวลาที่มีในแต่ละวันให้กับการแก้ทุกข์เหล่านี้อย่างเหมาะสม ชีวิตของเราก็จะได้ประโยชน์เต็มที่สมกับเวลาที่มีอยู่ ๒๔ ชั่วโมงในแต่ละวัน เพราะวันนี้เรามีลมหายใจ มีชีวิตมีเวลาอยู่ แต่วันพรุ่งนี้เราจะมีเวลาอยู่หรือไม่ก็ยังไม่ทราบ

     ดังนั้น จุดประสงค์ของการบริหารเวลาชีวิตแต่ละวันนั้น จึงอยู่ที่การจัดสรรเวลาเพื่อแก้ไขทุกข์ทั้ง ๔ ประการ โดยแบ่งเป็น 
๑) เวลาเพื่อแก้ไขทุกข์จากสรีระ 
๒) เวลาเพื่อแก้ไขทุกข์จากการอยู่ร่วมกัน 
๓) เวลาเพื่อแก้ไขทุกข์จากการประกอบอาชีพ 
๔) เวลาเพื่อแก้ไขทุกข์จากกิเลส จึงจะทำให้เวลาตลอด ๒๔ ชั่วโมงใน ๑ วันของเรา เกิดประโยชน์เต็มที่สมกับการที่ได้โอกาสเกิดมาเป็นมนุษย์ ได้พบกับพระพุทธศาสนาซึ่งบังเกิดขึ้นในวัฏสงสารได้ยากแสนยากนั่นเอง

 

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล