ฉบับที่ ๑๕๐ เดือนเมษายน ๒๕๕๘

ตำรับยอดเลขา จากคัมภีร์ “จรรยาบ่าว” วิธีฝึกผู้นำในยุค ร.ศ. ๑๓๑ ตอนที่ ๑๖ จรรยาข้อที่ ๒๙

ตำรับยอดเลขา
เรื่อง : พระราชภาวนาจารย์ (หลวงพ่อทัตตชีโว)

 

ตำรับยอดเลขา
จากคัมภีร์ “จรรยาบ่าว” 
วิธีฝึกผู้นำในยุค ร.ศ. ๑๓๑

 


ตอนที่ ๑๖
จรรยาข้อที่ ๒๙

 

“ตำรับยอดเลขา” นำมาจากหนังสือ “จรรยาบ่าว” ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ ๗๕ ปีที่แล้ว โดยไม่ได้ระบุชื่อ    ผู้เขียน เมื่อหลวงพ่อทัตตชีโวอ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว ท่านอยากให้ญาติโยมรู้เรื่องราวดี ๆ จึงเมตตานำมาเทศน์ให้ฟังเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๑ ต่อมาพิมพ์รวมเล่มและตั้งชื่อใหม่ว่า “ตำรับยอดเลขา”       โดยลำดับเนื้อความตามต้นฉบับเดิม และคัดลอกของเก่าไว้ให้ดูด้วย เพื่อรักษาศัพท์บางคำไว้ และเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้เขียน

 

๒๙
อย่าหน้าไหว้หลังหลอก

 

คนที่หน้าไหว้หลังหลอก
ทำดีเอาหน้า ลับหลังนินทา
นอกจากจะกลายเป็นคนขาดความกตัญญู
ไม่รู้คุณท่านแล้ว
ยังเป็นคนเกียจคร้านการงาน
ซึ่งจัดเป็นอบายมุข ชีวิตย่อมมีแต่ความตกต่ำ
ไม่มีใครอยากคบหาสมาคมด้วย

 

๒๙. อย่าหน้าไหว้หลังหลอก

 

    การหาความชอบความดีต่อนาย มักจะเป็น ๒ นัย นัยหนึ่งหาความดีความชอบแต่ต่อหน้า “ผักชีโรยหน้า” เมื่อลับหลังแล้วก็เผินเหินห่าง ฤๅไม่เอาการทีเดียวเช่นนี้ก็มีเป็นอันมาก คนเช่นนี้ดีก็ไม่ยืดยาว ใช่ว่านายเขาจะไม่รู้ความประพฤติเมื่อไร เขาย่อมจะสังเกตสังการู้นิสัยได้ดี ไม่เร็วก็ช้าเป็นแน่แท้


    คนที่ประพฤติเช่นนั้น เห็นจะคิดว่าทำบุญคุณภายหลัง จะไม่มีผลอะไร เหนื่อยยากลำบากเปล่าไม่ต้องการ จะไม่ได้คิดเลยว่า ถึงไม่เห็นก็คงรู้นั้นไม่


    แท้จริงประพฤติเช่นนั้น ขาดความกตัญญูเสียชั้นหนึ่งแล้ว ซ้ำขาดความอุสาหะในการจงรักภักดีด้วย คือจะอุปมัยให้เห็นง่าย ๆ ว่า เราทำบุญกับพระนั้น เราคิดเอาหน้าเอาตาแก่พระองค์นั้นอย่างเดียวฤๅ ก็หาเช่นนั้นไม่ เราก็ย่อมหมายผลภายหน้า ปรารถนาสวรรค์นิพพานสุคติกาลต่าง ๆ ล้วนแต่หวังความที่ชอบตามอธิษฐานไม่ใช่หรือ เพราะฉะนั้น ควรเราจะปฏิบัติหาความดีความชอบทั้งต่อหน้าแลลับหลัง โดยความสม่ำเสมออันยืดยาว จึงจะเป็นการดีไม่มีที่ติ

 

    จุดมุ่งหมายของจรรยาข้อนี้มีอยู่ ๒ เรื่องใหญ่ ๆ คือ ต้องการให้เรา


    ๑. เป็นคนเสมอต้นเสมอปลาย


    ๒. ยินดีปิดทองหลังพระ


    ข้อ ๑ เป็นคนเสมอต้นเสมอปลาย คือ ต่อหน้าปฏิบัติเช่นไร ลับหลังก็ต้องปฏิบัติเช่นนั้น ไม่ใช่เป็นประเภทหน้าไหว้หลังหลอกหรือผักชีโรยหน้า


    หลวงพ่อภูมิใจในตัวเองว่า ตั้งแต่เล็กจนโตไม่มีนิสัยที่ทำอะไรแบบผักชีโรยหน้า ทำอะไรแล้วทำจริงและต้องทำให้ดีด้วย


    ข้อ ๒ ยินดีปิดทองหลังพระ คือ แม้ลับหลังนาย เราทำสิ่งใดลงไปถึงคนอื่นจะไม่รู้ ไม่เข้าใจ แต่เมื่อเป็นความดีก็ต้องทุ่มทำอย่างเต็มที่ ใครเขาจะติชมอย่างไรก็ไม่กังวล เพราะเมื่อเราทำ      ความดี ทำในสิ่งที่เป็นบุญกุศลแล้ว บุญกุศลนั้นย่อมเกิดขึ้นในใจของเรา ใครจะรู้หรือไม่ แต่ใจของเราเองย่อมเป็นสุข นี้เป็นผลดีเบื้องต้นแห่งการทำความดี


    กรณีนี้ ปู่ย่าตายายของเราเรียกกันว่า “ปิดทองหลังพระ”


    หากผู้ใดปฏิบัติตนให้เป็นคนเสมอต้นเสมอปลาย ต่อหน้าอย่างไรลับหลังก็อย่างนั้น และมั่นใจในการทำความดี ยินดีที่จะปิดทองหลังพระ บุคคลประเภทนี้จะหนักแน่นมั่นคงเหมือนขุนเขา ใครจะติชมนินทาว่าร้ายอย่างไร จิตใจไม่หวั่นไหว แม้อยู่ท่ามกลางภัยพิบัติหรืออยู่ท่ามกลางศัตรูก็ไม่หวั่นเกรงภัยใด ๆ ทั้งสิ้น


    บุคคลประเภทนี้ หากได้ดีก็จะไม่ลืมตัว เพราะทราบดีถึงเป้าหมายของการทำงานนั้น ๆ ว่าเพื่อเป็นการสร้างความดี สร้างบุญกุศล เขาจะมีแต่ความเจริญก้าวหน้า ไม่มีถอยหลัง


    แต่หากบุคคลใดกระทำตัวเป็นคนหน้าไหว้หลังหลอก แสดงว่าเขาขาดคุณธรรม ๒ ประการ คือ


    ๑. ขาดความกตัญญูรู้คุณ


    ๒. ขาดความวิริยะ อุตสาหะ


    บุคคลเช่นนี้ไม่ควรคบหาด้วย หลวงพ่อเคยมีเพื่อนบางคนที่แม้แต่งานของพ่อแม่เขา เขายังหน้าไหว้หลังหลอกได้ เพื่อนประเภทนี้ไม่ควรคบ เพราะคนเราต่อหน้าเช่นใด ลับหลังก็ควรเป็น    เช่นนั้น


    ในพระไตรปิฎก หมวดวินัยปิฎก มหาวรรค มหาขันธกะ ได้กล่าวถึงพระสารีบุตรว่า เมื่อได้บรรลุธรรมขั้นแรก ได้เป็นพระโสดาบัน เพราะได้ฟังเทศน์จากพระอัสสชิ ซึ่งเป็นพระปัญจวัคคีย์ องค์สุดท้าย พระอัสสชิเทศน์สั้น ๆ ว่า


    “ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น”


    เพียงพระอัสสชิเทศน์สั้น ๆ เท่านี้ พระสารีบุตรก็เข้าถึงธรรมกายพระโสดา บรรลุเป็น  พระโสดาบัน


    ตั้งแต่นั้นมา ก่อนเข้านอนทุกคืน พระสารีบุตรจะต้องนั่งเข้าที่ตรวจดูก่อนว่า ขณะนี้พระอัสสชิ อยู่ที่ใด เมื่อทราบแล้ว ท่านจึงจำวัดโดยนอนหันศีรษะไปทางพระอัสสชิเสมอ จะไม่ยอมหันเท้าไปทางทิศที่พระอัสสชิอยู่เป็นอันขาด ไม่ว่าพระอัสสชิจะทราบหรือไม่ก็ตาม ท่านจะให้ความเคารพบูชาพระอัสสชิโดยตลอดทั้งต่อหน้าและลับหลัง


    ฉะนั้น บุคคลที่หน้าไหว้หลังหลอก นอกจากจะกลายเป็นคนขาดความกตัญญูไม่รู้คุณท่าน    ยังจะกลายเป็นคนที่หย่อนในความเพียรอีกด้วย ใครที่เป็นเช่นนี้ก็ขอให้แก้ไขปรับปรุงตัวเองเสีย 


         
(อ่านต่อฉบับหน้า)

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล