ตำรับยอดเลขา
เรื่อง : พระราชภาวนาจารย์ (หลวงพ่อทัตตชีโว)
ตำรับยอดเลขา
จากคัมภีร์ “จรรยาบ่าว”
วิธีฝึกผู้นำในยุค ร.ศ. ๑๓๑
ตอนที่ ๑๘
จรรยาข้อที่ ๓๒-๓๓
“ตำรับยอดเลขา” นำมาจากหนังสือ “จรรยาบ่าว” ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ ๗๕ ปีที่แล้ว โดยไม่ได้ระบุชื่อ ผู้เขียน เมื่อหลวงพ่อทัตตชีโวอ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว ท่านอยากให้ญาติโยมรู้เรื่องราวดี ๆ จึงเมตตานำมาเทศน์ให้ฟังเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๑ ต่อมาพิมพ์รวมเล่มและตั้งชื่อใหม่ว่า “ตำรับยอดเลขา” โดยลำดับเนื้อความตามต้นฉบับเดิม และคัดลอกของเก่าไว้ให้ดูด้วย เพื่อรักษาศัพท์บางคำไว้ และเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้เขียน
๓๒
อย่าประพฤติดังภาษิตว่า
“มั่งมีดีหอม ช่วยกันตอมกิน”
เมื่อเราได้ดีจากเจ้านายสนับสนุน
ก็ไม่ควรลืมพระคุณท่าน
แม้ท่านตกยากจนล้มละลาย
ก็ไม่นำความตกต่ำของท่าน
มาบดบังความดีที่ท่านทำไว้กับเรา
มิฉะนั้นเราจะกลายเป็นคนเนรคุณ
เสียชาติเกิดที่เป็นมนุษย์
๓๒. อย่าประพฤติดังภาษิตว่า “มั่งมีดีหอม ช่วยกันตอมกิน”
อีกประการหนึ่ง เราเป็นบ่าวเป็นข้าท่าน ควรจะคิดในข้อนี้ด้วย คือเจ้านายเรามีบุญวาศนาอยู่ เราก็ได้พึ่งบุญบารมี ได้รับความศุข และส่งเสิมแนะนำอุดหนุนให้เราได้รับเกียรติยศ และคุณประโยชน์ อันใดก็ดี ข้อนี้เราต้องคิดถึงพระเดชพระคุณเป็นอันมาก ครั้นเมื่อ ท่านตกยากเสื่อมยศเราก็ควรรฦกถึงคุณ บูชาคุณ อย่าละเลยให้เสื่อมเสียความกตัญญูไป จะสนองคุณท่านด้วยอาการอย่างไร ที่ควร ที่ชอบก็ต้องกระทำไป อย่าให้เป็นดังความว่า “มั่งมีดีหอม ช่วยกัน ตอมกิน ฉิบหายวายวอด เอาตัวรอดสิ้น” เช่นนี้ได้จึงจะเป็นที่ สรรเสริญของเทพยดาและมนุษย์ ซึ่งจะนับว่าเราบริสุทธิ์ประเสริฐ ในความกตัญญู
จรรยาข้อนี้อธิบายความได้ว่า เมื่อเราได้ดีเพราะการสนับสนุนของเจ้านาย ก็ไม่ควรลืมพระคุณท่าน ถึงแม้ท่านจะปลดเกษียณพ้นจากอำนาจหน้าที่ไปแล้ว หรือแม้ท่านจะตกต่ำจนถึงล้มละลายในภายหลัง ก็อย่านำเรื่องความตกต่ำในเรื่องส่วนตัวของท่านมาบดบังคุณความดีที่ท่านเคยทำไว้กับเรา มิฉะนั้นเราจะกลายเป็นคนเนรคุณ อกตัญญู ไม่รู้คุณคน
คนที่เนรคุณ ชาตินี้ใครเขาจะมาทำคุณกับเรา ฉะนั้นตั้งแต่โบราณจึงมีคำเปรียบเทียบที่ ค่อนข้างรุนแรงสำหรับคนที่เนรคุณว่า สุนัขมันยังรู้คุณน้ำข้าวน้ำแกงที่เราเลี้ยงมัน แต่คนที่เนรคุณผู้ที่เคยเลี้ยงดูให้การสนับสนุน โดยมาดูถูกเหยียบย่ำท่านภายหลัง โบราณท่านว่า คน ๆ นั้นเลว ยิ่งกว่าสุนัขเสียอีก
ดังนั้น เราเกิดมาเป็นคนในชาตินี้จึงอย่าให้ใครมาดูถูกได้ ใครที่ถูกตำหนิอย่างนี้นับว่า เสียชาติเกิด ถ้าไม่อยากให้ใครมาตำหนิได้ว่าเสียชาติที่เกิดมาเป็นคน ก็ต้องมีความกตัญญู
๓๓
อย่าประพฤติดังภาษิตว่า
“ปลาผุดเอาเบ็ดหย่อน”
อย่าเป็นคนที่คิดแต่จะได้จะเด่นจะดังให้รวดเร็ว
โดยไม่นึกถึงคุณธรรม
ไม่นึกถึงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีคุณ
คนที่เห็นแก่ได้โดยลืมผู้มีคุณ
เมื่อถูกใช้จนหมดประโยชน์
ย่อมถูกเขี่ยทิ้ง
กลายเป็นคนตกงานไร้ที่พึ่ง
เพราะคนเขารู้เช่นเห็นชาติแล้วว่า
“อกตัญญู”
๓๓. อย่าประพฤติดังภาษิตว่า “ปลาผุดเอาเบ็ดหย่อน”
อีกหย่างหนึ่ง นายก็ยังไม่ถึงล่มจมทรุดโทรมกระไรนัก เป็นแต่เพียงแต่ทรง ๆ อยู่ แต่ไม่ใคร่มีความสามารถและผาดโผนปราดเปรื่องเช่นนายเขาทั้งหลายในชั้นเดียวกัน ถ้าเป็นบ่าวที่ใจคอไม่หนักแน่น ก็คิดถอนหัวหานายใหม่ ที่มีความสามารถและผาดโผนต่อไปด้วยใจไม่ดี และไม่มีความหนักแน่นประดุจ “พรานเบ็ดเห็นปลาผุดที่ไหน ก็เที่ยวเอาเบ็ดหย่อน” ฤๅได้รับผลที่เพ่งหมายช้าไปหน่อย ก็มีจิตร์ร้อนรนกระสับกระส่ายคิดจะหานายใหม่เหมือนกัน
อาการเช่นนี้มักจะมีชุม เพราะปรารถนาจะดีเร็วเกินไป การที่ดีเร็วเกินไปนั้น ก็ไม่สู้หลักถานมั่นคงนัก การที่จะดีและชั่วย่อมจะเป็นได้ตามคราวตามสมัย ประเดี๋ยวเลยชั่วกว่าเก่าก็มีถมไป เช่นกับเราจะหาผลประโยชน์อันใดที่มีกำไรมากให้รวยเร็ว แต่ผลอันนั้นย่อมคลอนแคลน ไม่สู้หลักถานอันใด ผลที่ได้น้อยพอควร ผลอันนั้นย่อมมั่นคงหลักถานกว่าเช่นนี้เป็นธรรมดา
เพราะฉะนั้น เห็นว่าควรจะมีใจหนักแน่น และมีความพยายามอดทน เช่นคนโบราณกล่าวเปรียบไว้ว่า “ฝนทั่งเป็นเข็ม” จนได้ ตั้งวงษ์ตระกูลยืดยาวมาเช่นนั้นจึงจะควร และคนชั้นเก่าเขามีความพากเพียรมาก ตกทุกข์ได้ยาก ก็ไม่ใคร่จะทิ้งมูลนาย ล่มหัวจมท้ายมาด้วยตลอดบุตร์และนัดดา ความอุสาหะก็น่าชมเชย ถึงกับหัดเป็นเสมียนเขียนหนังสือด้วยใบพาย และถือหีบหมาก ถือร่มตามนาย เป็นต้น เขายังไม่ทอดทิ้ง สู้ทนทานเอาเป็นการเป็นงานดิบดีไปได้ก็มีเป็นอันมาก มีจนบัดนี้ก็มีด้วยความอุสาหะ ฉะนั้นเหตุใดเราก็เป็นคน ควรจะกระทำเช่นเขาได้เหมือนกัน
จรรยาข้อที่ ๓๓ นี้ต่อเนื่องกับข้อที่ ๓๒ คือนอกจากจะเป็นคนกตัญญูไม่ลืมพระคุณผู้ที่มีพระคุณ ยังต้องไม่เป็นคนใจรวนเรด้วย ไม่ใช่คิดแต่จะได้ จะเด่นดังให้รวดเร็วโดยไม่นึกถึงคุณธรรม ทำงานกับนายคนนี้ยังไม่เห็นวี่แววของความก้าวหน้า ก็คิดจะเปลี่ยนงานใหม่เสียแล้ว ไม่รู้จักอดทน
คนเรานั้น เมื่อทำดีต้องได้ดีอย่างแน่นอน แต่เมื่อบุญยังไม่ส่งผลก็ต้องรอเวลา เปรียบเสมือนผลไม้ที่ยังไม่สุก ถึงแม้จะไปเด็ดมาบ่มก็ไม่หวานสนิท สู้อดทนให้ถึงเวลาที่สมควรจะดีกว่า ฉะนั้นการเปลี่ยนงานบ่อย ๆ จึงไม่ใช่เรื่องที่ดี เพราะแสดงถึงความเป็นคนจับจด ใจรวนเร ไม่รู้จักอดทน ข้อนี้รวมผู้ที่เปลี่ยนสามีหรือเปลี่ยนภรรยาบ่อยด้วย
หลวงพ่อเคยมีเพื่อนหลายคนที่มีความสามารถในการทำงานมาก เรียนจบจากต่างประเทศมา ได้ศึกษาเทคโนโลยีของเขามา แต่เมื่อกลับมาถึงเมืองไทย ก็มีทีท่าว่าจะลืมนายคนเดิมซึ่งเป็น ผู้หาทุนให้ไปเรียน เพราะมีนายคนใหม่ที่เขาเสนอเงินเดือนสูงกว่า
คนประเภทนี้เมื่อไปอยู่ที่ใหม่และได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เขาเต็มที่จนเขาเข้าใจดีแล้ว อีกไม่นานเขาก็ปลดออก เพราะไม่มีประโยชน์อันใดแก่เขาอีก คราวนี้เมื่อตกงานก็หาที่พึ่งไม่ได้ เพราะคนเขารู้เช่นเห็นชาติแล้วว่า เป็นคนไม่มีความกตัญญูกตเวที เป็นคนไม่ซื่อตรง บุคคลเช่นนี้จะตกต่ำตลอดชีวิต
(อ่านต่อฉบับหน้า)