ฉบับที่ ๑๖๓ เดือนพฤษภาคม ๒๕๕๙

โครงการอบรมธรรมทายาทในภาคฤดูร้อน ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๙

ผ้าเหลืองห่มดอย
เรื่อง : สิงห์ดอย

กองพันผ้าเหลืองห่มดอย วัดดงดินแดง
ตำบลม่อนจอง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่

    โครงการบวช ๑,๐๐๐ รูป ฟื้นฟูพระพุทธศาสนาบนยอดดอย เป็นหนึ่งในโครงการบรรพชาสามเณรทั่วไทยล้านรูป ที่เกิดจากการทุ่มเทแรงกายแรงใจชนิดอุทิศชีวิตของทีมงานพุทธบุตรแห่งวัดดงดินแดง ตำบลม่อนจองอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ โดยการสนับสนุนของพระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย)
 

บวชเพื่อฟื้นฟูพระพุทธศาสนา

     คำว่า “ฟื้นฟูพระพุทธศาสนา” ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ ไม่ใช่ถ้อยคำธรรมดา และคำว่า “ฟื้นฟูพระพุทธศาสนา” ไม่ใช่เรื่องราวของการฟื้นฟูความเชื่อ แต่เป็นเรื่องของการให้โอกาสให้ชีวิตใหม่ ให้ทางเดินที่ถูกต้อง นำความสงบสุขและความร่มเย็นมาสู่สังคม เพราะคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นคำสั่งสอนเดียวที่จะสามารถนำผู้คนคืนสู่สันติสุขอันแท้จริงได้อย่างยั่งยืนในระดับที่หลุดพ้นชั่วนิจนิรันดร์
 

บวชเพื่อฟื้นฟูพระพุทธศาสนา

     คำว่า “ฟื้นฟูพระพุทธศาสนา” ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ ไม่ใช่ถ้อยคำธรรมดา และคำว่า “ฟื้นฟูพระพุทธศาสนา” ไม่ใช่เรื่องราวของการฟื้นฟูความเชื่อ แต่เป็นเรื่องของการให้โอกาสให้ชีวิตใหม่ ให้ทางเดินที่ถูกต้อง นำความสงบสุขและความร่มเย็นมาสู่สังคม เพราะคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นคำสั่งสอนเดียวที่จะสามารถนำผู้คนคืนสู่สันติสุขอันแท้จริงได้อย่างยั่งยืนในระดับที่หลุดพ้นชั่วนิจนิรันดร์
 

ทุกหมู่บ้านพร้อมใจให้ลูกหลานบวชฟื้นฟูพระพุทธศาสนา

     การบวชของสามเณรกองพันผ้าเหลืองห่มดอยในครั้งนี้ นับว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เพราะมีการทำพิธีตัดปอยผมและส่งมอบตัวเพื่อไปบวชที่วัดดงดินแดง โดยมีศูนย์รวมจากดอยต่าง ๆ เช่น ฝั่งดอยบ้านเลอตอ เขตติดต่ออำเภอแม่ระมาด จังหวัดตากฝั่งดอยบ้านแม่หลองหลวง เขตตำบลสบโขง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ จึงทำให้กิจกรรมการบวชใกล้ชิดกับมวลชนในพื้นที่อย่างอบอุ่น
 

ตัดปอยผม ตัดขาดจากโลกลอยวิปโยคไปกับสายน้ำ

     เมื่อเด็ก ๆ ได้ทำพิธีตัดปอยผมจากฝั่งดอยต่าง ๆ ในหมู่บ้านของตนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ถูกส่งตัวไปยังวัดดงดินแดง เพื่อทำพิธีปลงผมท่ามกลางลำน้ำแม่ตื่น ซึ่งถือเป็นการปลูกฝังและฟื้นฟูภาพประวัติศาสตร์ดั้งเดิมให้กลับคืนมา ดังเช่นเมื่อครั้งที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงตัดสินใจออกผนวชแสวงหาทางหลุดพ้นพระองค์ทรงเลือกที่จะตัดพระเมาลี (มวยผม) ที่ริมฝั่งแม่น้ำอโนมา แม้แต่ชฎิล ๓ พี่น้องเจ้าลัทธิบูชาไฟ เมื่อได้ฟังธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจนเข้าใจถ่องแท้ในพระสัทธรรมแล้ว ก็ทิ้งความเป็นมิจฉาทิฐิ ทิ้งเครื่องบูชาไฟและบริขารทั้งหลายลงสู่แม่น้ำเนรัญชรา

 พิธีตัดปอยผมและปลงผมในครั้งนี้ทำให้ชาวดอยจำนวนไม่น้อยเปลี่ยนจากความเชื่ออื่นมานับถือพระพุทธศาสนาและตัดสินใจออกบวช ดังนั้นการได้ตัดปอยผมและปลงผมท่ามกลางสายน้ำจึงเป็นเสมือนดั่งพิธีกรรมที่ลบล้างความเชื่อเดิมหันมาสู่พระรัตนตรัยและฝากเส้นผมทุกเส้นไว้ในความดูแลของแม่น้ำลำธาร และนับจากนี้จะใช้ชีวิตสมณะทำหน้าที่เป็นเนื้อนาบุญ เป็นต้นธารแห่งสันติสุขแก่ผู้คนทั้งหลายสืบต่อไป
 

บิณฑบาตฟื้นฟูวิถีพุทธ

    การทำบุญตักบาตรถือเป็นพุทธประเพณีของชาวพุทธมาเนิ่นนาน สิ่งนี้เองที่รักษาพระพุทธศาสนาให้มั่นคงอยู่ได้ หากพระพุทธศาสนาขาดการทำบุญตักบาตร เมื่อนั้นย่อมถึงกาลสูญสลาย เพราะพระภิกษุ-สามเณรจะไม่สามารถดำรงชีพอยู่ได้ ท่านจำเป็นต้องอาศัยการบิณฑบาตหล่อเลี้ยงสังขาร แต่ถึงกระนั้นในยุคปัจจุบันแม้ชาวพุทธยังคงปรารถนาที่จะตักบาตรพระ แต่ก็ไม่ค่อยมีพระมาบิณฑบาตเนื่องจากจำนวนพระภิกษุ-สามเณรค่อย ๆ น้อยลงไปเรื่อย ๆ วัดหลายแห่งเหลือเพียงศาลาร้าง การบวชในครั้งนี้จึงเป็นโอกาสพิเศษที่คนทั้งเมืองจะได้ทำบุญตักบาตรพระเณรครั้งละหลายร้อยรูป ซึ่งถือเป็นการฟื้นฟูวิถีพุทธให้คืนกลับมาอีกครั้ง
 

ก่อพระเจดีย์ทรายถวายเป็นพุทธบูชา

    พระภิกษุ-สามเณรพากันทำกิจกรรมบุญเนรมิตผืนทราย สายน้ำ ให้เป็นทะเลแห่งพระเจดีย์ถวายเป็นพุทธบูชา บูชาพระบรมสารีริกธาตุ ปลูกฝังพระพุทธศาสนาให้แก่สามเณรน้อยด้วยผืนทรายที่ดารดาษในแม่น้ำและปลุกจิตสำนึกในความรัก ความแนบแน่นในพระพุทธศาสนา ปลุกค่ำคืนให้สว่างไสวด้วยดวงเทียนเหนือยอดพระเจดีย์ทราย แสงเทียนที่วูบไหวในสายน้ำ ปลุกแสงแห่งศรัทธาให้เจิดจ้าในใจของผู้คน เกิดก่อแรงบันดาลใจให้สืบต่อเป็นพุทธประเพณีไปตราบชั่วลูกชั่วหลาน
 

ธุดงค์ธรรมยาตรานำผ้าเหลืองห่มดอย

   กิจกรรมที่ถือเป็นของขวัญอันเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตก่อนเทศกาลปีใหม่ของชาวดอยสูง คือ การธุดงค์ธรรมยาตรานำผ้าเหลืองห่มดอย โดยแถวสามเณรน้อยหลายร้อยรูปได้ก้าวเท้ายาตราผ่านหมู่บ้านต่าง ๆ ทั้งในเขตเมืองและในพื้นที่บนดอย เมื่อยาตราไปที่ใดก็มีสาธุชนมาให้การต้อนรับ ถวายน้ำปานะครั้นพอรุ่งเช้าก็แบ่งสายบิณฑบาตไปในหมู่บ้านต่าง ๆ การบวชของสามเณรกองพันแห่งยอดดอยในรอบนี้ นอกจากจะได้เดินบิณฑบาตหมู่บ้านในเมืองกว่า ๘ หมู่บ้านแล้ว ยังได้เดินบิณฑบาตบนดอยอีกถึง ๕ หมู่บ้าน เป็นปรากฏการณ์แห่งการฟื้นฟูพระพุทธศาสนา      ที่นำทั้งความตื่นเต้นและตื้นตันใจมาให้แก่ชาวพุทธบนยอดดอยสูง เพราะไม่คาดคิดว่าในชีวิตจะได้ทำบุญตักบาตรพระภิกษุ-สามเณรมากมายขนาดนี้
 

ฟื้นฟูวัดร้าง สร้างพุทธสามัคคี
    นอกจากนี้ ผลจากการเดินธุดงค์ยังสร้างขวัญกำลังใจอันยิ่งใหญ่แก่ชาวพุทธที่เหินห่างพระมานาน ให้มีกิจกรรมร่วมกันเป็นพุทธสามัคคี เช่น การธุดงค์ครั้งนี้ คณะพระภิกษุ-สามเณรพร้อมกับกำลังชาวบ้านได้ช่วยกันฟื้นฟูวัด โดยพากันช่วยพัฒนาวัดให้สะอาด รวบรวมกรรมการหมู่บ้านมากั้นแนวเขตวัดให้เป็นหลักฐานอย่างชัดเจน ป้องกันการรุกพื้นที่จากผู้ไม่รู้ทั้งหลาย ถือเป็นนิมิตหมายแห่งความรุ่งเรืองขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

 

โปรยดอกไม้พระเจดีย์โบราณสานต่อปณิธานปู่ย่า ตายาย
     ชาวพุทธบนดอยล้วนมีความเคารพรักในพระเจดีย์เป็นอย่างยิ่ง การธุดงค์ในครั้งนี้พระภิกษุ-สามเณรยังได้พาชาวบ้านมาทำกิจกรรมโปรยดอกไม้ ณ พระเจดีย์โบราณบ้านแม่หลองหลวง ซึ่งเป็นพระเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์คู่ยอดดอยแห่งนี้ กลีบดอกดาวรวยนับหมื่นดอกได้รับการหว่านโปรยจากมือน้อย ๆ ของสามเณรทำให้พระเจดีย์ดินโบราณธรรมดาดูอร่ามเจิดจ้าราวกับพระเจดีย์ทองคำ นอกจากเป็นกุศลตอกย้ำสู่จิตสำนึกแล้ว กิจกรรมนี้ก็จะได้รับการสืบสานเป็นพุทธประเพณีของชาวพุทธบนยอดดอยไปตราบนานเท่านาน เป็นการสานต่อปณิธานปู่ย่า ตายาย เพราะว่าในอดีตบรรพชนทั้งหลายต่างก็ทำการสักการะพระเจดีย์ด้วยกลีบดอกไม้นานาพรรณเช่นนี้มาเนิ่นนาน

   การบวชรุ่นกองพันผ้าเหลืองห่มดอยวัดดงดินแดงในครั้งนี้ ถือเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญในการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาแก่ชาวพุทธบนยอดดอยอย่างยั่งยืน และนับจากนี้การบวชจะขยายผลนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตตามวิถีพุทธแก่ผู้ยากไร้บนดอยสูงในด้านต่าง ๆ สืบต่อไป ซึ่งนับเป็นคุณูปการอันยิ่งใหญ่ในการนำความสงบและสันติสุขมาสู่ชาวดอยอย่างแท้จริง
 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล