ฉบับที่ ๑๖๔ เดือนมิถุนายน ๒๕๕๙

หลับตาและหยุดใจ.. สันติภาพที่แท้จริงอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

สร้างโลกแก้ว
เรื่อง : ทีมงาน Peace Revolution

หลับตาและหยุดใจ..
สันติภาพที่แท้จริงอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม


Peace Revolution  หลับตาและหยุดใจ.. สันติภาพที่แท้จริงอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

     เหตุวางระเบิดโดยกลุ่มก่อการร้ายที่ประเทศตุรกีและเบลเยียมที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานมานี้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากคงทำให้หลายคนรู้สึกสะเทือนใจและเกิดคำถามขึ้นมาในใจว่า “โอ้...เกิดอะไรขึ้นกับโลกเราหนอ” เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าภายในใจของชาวโลกยังขาดสันติสุขอยู่สันติภาพจึงเป็นสิ่งที่มีค่ามหาศาลสำหรับมวลมนุษยชาติ เราทุกคนอยากมีชีวิตที่มีความสุขและปรารถนาให้ทุกคนบนโลกอยู่ร่วมกันอย่างสันติ แต่จะมีสักกี่คนที่ลงมือปฏิบัติเพื่อสร้างสันติภาพที่แท้จริงให้เกิดขึ้นบนโลก

     มีคนกลุ่มหนึ่งยึดมั่นในหลักการที่ว่า  “สันติภาพภายนอกเริ่มจากสันติสุขภายใน” พวกเขาใช้หลักการนี้ดำเนินงานเพื่อสร้างสันติภาพโลก และงานนี้ก็กำลังขยายออกไปอย่างไม่หยุดยั้ง คอลัมน์นี้ผู้เขียนจึงขอเล่าถึงเรื่องราวการทำหน้าที่ของพีซอาร์คิเทคหรือครูสอนสมาธิชาวต่างประเทศ ๒ คน ที่ผ่านการอบรมจากโครงการพีซเรฟโวลูชัน เพื่อนำความรู้เรื่องวิธีการเข้าถึงความสุขภายในไปบอกต่อให้ชาวโลกรับรู้ คนแรกมีชื่อว่า เดนนิส โอเดนนี เป็นชาวเคนยา ส่วนอีกคนชื่อ มาร์โค เบอร์มูเดซ เป็นชาวโคลัมเบีย
 

Peace Revolution  หลับตาและหยุดใจ.. สันติภาพที่แท้จริงอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

     เดนนิส เป็นหนุ่มชาวเคนยาที่รักในการท่องเที่ยว เขาทราบข่าวการจัดอบรมเกี่ยวกับสมาธิของพีซเรฟโวลูชันที่กำลังจะมีขึ้นในเคนยาในขณะนั้น เขาตัดสินใจเข้าร่วมด้วยความตื่นเต้นและได้พบกับประสบการณ์ที่เปลี่ยนชีวิตเขาไปตลอด เขาได้ฝึกสมาธิตามโปรแกรมออนไลน์ในเว็บไซต์ไปจนกระทั่งถึงประมาณวันที่ ๑๐ ของโปรแกรม ก็เริ่มมีผลการปฏิบัติธรรมที่ดี ได้สัมผัสความสงบในระดับลึกและความสบายทั้งกายและใจ เขาสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงในตัวเองว่าใจเย็นขึ้นและความเครียดน้อยลง รู้สึกว่าตัวเองมีสติอยู่กับปัจจุบันมากขึ้น และเมื่อได้เข้าร่วมอบรมสมาธิที่เคนยาในครั้งนั้น เขาก็ตกหลุมรักพีซเรฟโวลูชันและมาเป็นอาสาสมัครช่วยงานพีซเรฟโวลูชันในเวลาต่อมา

   เดนนิสเดินทางไปสอนสมาธิในหลายประเทศในทวีปแอฟริกา เช่น มาลาวี นามิเบีย รวันดา แซมเบีย ซิมบับเว ซูดานใต้ อูกานดา แทนซาเนีย เป็นต้น ทุกที่ที่เดนนิสเหยียบย่างเข้าไป เขาได้นำเอาเมล็ดพันธุ์แห่งสันติภาพไปปลูกไว้ในใจของผู้คนในประเทศเหล่านั้นเดนนิสเล่าถึงประสบการณ์อันน่าประทับใจจากการจัดกิจกรรม Mini-PIPO (การจัดสอนสมาธิหลาย ๆ รอบให้แก่คนกลุ่มใหม่ ๆ ในประเทศใหม่ ๆ) ในระหว่างวันที่ ๒๑-๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ที่ประเทศซูดานใต้ไว้ว่า...

       จุดเริ่มต้นของกิจกรรม Mini-PIPO มาจากการที่เดนนิสได้รู้จักชาวซูดานใต้คนหนึ่งชื่อเซเลสทีโน มาหลวก ในงานวันส่งเสริมสันติภาพนานาชาติ (International Day of Peace) เขาสนใจอยากให้เดนนิสมาช่วยสอน
นั่งสมาธิที่เมืองจูบา เมืองหลวงของประเทศซูดานใต้ โดยเขาอาสาจะคอยดูแลประสานงานต่าง ๆ ให้ ต่อมาในเดือนมกราคมปีที่แล้วเซเลสทีโนก็ฝากให้พี่ชายซึ่งเป็นทหารในซูดานใต้และเพื่อนของเขาช่วยประสานงานกับมหาวิทยาลัย และคอยดูแลเดนนิสในระหว่างที่เดนนิสไปจัดกิจกรรม Mini-PIPO

      กิจกรรม Mini-PIPO ในครั้งนี้จัดขึ้นในเมืองจูบา ในสภาวการณ์ที่ไม่สงบ ทางรัฐบาลไม่อนุญาตให้มีการรวมตัวของคนจำนวนมากแต่เดนนิสและทีมงานสามารถจัดสอนสมาธิทั้งหมด ๕ รอบ โดยมีผู้เข้าร่วมถึง ๑๕๑ คนทั้ง ๕ รอบจัดในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้แก่ มหาวิทยาลัยจูบา มหาวิทยาลัยคาทอลิกแห่งซูดานใต้ มหาวิทยาลัยคริสเตียนแห่งซูดานใต้และวิทยาลัยเซนต์แมรีคอลเลจ ผู้เข้าร่วมเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเหล่านั้น หลายคนไม่เคยนั่งสมาธิมาก่อน และเมื่อได้ลองนั่งสมาธิก็รู้สึกชอบและถามว่าจะเข้าร่วมโครงการพีซเรฟโวลูชันได้อย่างไร เพื่อจะได้ฝึกสมาธิให้สม่ำเสมอ หลายคนชอบเทคนิคการมีสติเฝ้าดูลมหายใจ และการนึกนิมิตเพื่อเป็นที่ยึดที่เกาะของใจ ผู้หญิงคนหนึ่งกล่าวหลังจากนั่งสมาธิว่า เธอรู้สึกเหมือนอยู่คนเดียวอย่างสงบสุข และมีความหวังว่า วันพรุ่งนี้จะดีขึ้นกว่าเดิม ปัญหาที่ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่พูดถึงหากจะไปฝึกสมาธิกับเว็บไซต์ของพีซเรฟโวลูชันก็คือ เรื่องการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต เพราะบริการอินเทอร์เน็ตในซูดานใต้ยังไม่ค่อยดีพวกเขาจึงอยากได้บทนำนั่งสมาธิแบบออฟไลน์ที่ใช้กับโทรศัพท์มือถือหรือเป็นแผ่นซีดีก็ได้

     มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่ร่วมจัดกิจกรรมในครั้งนี้ค่อนข้างเปิดรับเรื่องการฝึกสมาธิและมองว่าสมาธิเป็นแนวทางในการบำบัดรักษา ไม่ใช่เรื่องทางศาสนา และจะดำเนินการให้มีการจัดตั้งชมรมส่งเสริมสันติภาพขึ้นในมหาวิทยาลัย เพื่อให้นักศึกษาได้มารวมกลุ่มกันเพื่อนั่งสมาธิได้ด้วย ผู้บริหารมหาวิทยาลัยคาทอลิก มหาวิทยาลัยคริสเตียน และวิทยาลัยเซนต์แมรีคอลเลจ ต่างอยากให้นักศึกษาในมหาวิทยาลัยเข้าร่วมอบรมสมาธิที่ประเทศไทยเพื่อเป็นพีซเอเจนต์ และถือว่าเป็นตัวแทนของสถาบันในเวทีโลกด้วย นอกจากนี้เดนนิสยังได้รู้จักและสร้างสัมพันธ์กับตัวแทนจากองค์กรเพื่อการพัฒนาเยาวชนในซูดานใต้ ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานด้านการจัดอบรมเพื่อสร้างความรักชาติและรักสันติภาพให้แก่เยาวชนในซูดานใต้

       ปัญหาที่พบในการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ก็คือ ค่าครองชีพในเมืองจูบาค่อนข้างสูง และสถานที่ในการจัดอบรมยังไม่พร้อม บางรอบต้องไปนั่งสมาธิกันในที่เปิดโล่ง ไม่มีกำแพงและไม่มีอุปกรณ์ในการฉายสื่อ ทำให้เดนนิสต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าหลายอย่าง เขากล่าวว่า “ผมมีความรู้สึกจากส่วนลึกภายในว่าอยากอุทิศตนเพื่อแผ่ขยายความสุขภายในให้เป็นที่รู้จักแก่คนหนุ่มสาวในแอฟริกา ณ วันนี้ผมกำลังทำงานกับพีซเรฟโวลูชันและองค์กรท้องถิ่นเพื่อทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นจริง ผมเดินทางไปทั่วแอฟริกา และจะเดินทางต่อไปเพื่อทำภารกิจในการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนให้เกิดขึ้นในแอฟริกาและโลกใบนี้ สุดท้ายผมขอบคุณพีซเรฟโวลูชัน ที่ทำให้ผมได้รู้ว่า ตัวผมเกิดมาทำไม”


Peace Revolution  หลับตาและหยุดใจ.. สันติภาพที่แท้จริงอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

       พีซอาร์คิเทคอีกท่านหนึ่งที่ทำงานเพื่อสรรค์สร้างสันติภาพกับพีซเรฟโวลูชันมานานและเป็นคนสำคัญที่ทำให้พีซเรฟโวลูชันเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในทวีปอเมริกาใต้ คือมาร์โค เบอร์มูเดซ เขาคือหนุ่มชาวโคลัมเบียรู้จักโครงการพีซเรฟโวลูชันเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๔ ผ่านทางโปรแกรมฝึกสมาธิออนไลน์ ตอนนั้นเขาไม่รู้อะไรเกี่ยวกับสมาธิ แต่ก็มีความสงสัยใคร่รู้ จนฝึกนั่งสมาธิไปได้สักระยะหนึ่งเขาก็เริ่มรู้สึกได้ถึงความเปลี่ยนแปลงภายในตัว เขากล่าวว่า “การฝึกสมาธิอย่างสม่ำเสมอทำให้มุมมองต่อสิ่งต่าง ๆ ของผมเปลี่ยนไป รู้สึกเหมือนตัวเองตื่นจากความฝันอันยาวนานอารมณ์ดี มีความสุขมากขึ้น ต่อมาจึงมาเข้าร่วมโครงการอบรมสมาธิระยะยาวที่ประเทศไทยจนได้เป็นพีซอาร์คิเทค”


Peace Revolution  หลับตาและหยุดใจ.. สันติภาพที่แท้จริงอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

     จากวันนั้นถึงวันนี้ มาร์โคสอนสมาธิให้ผู้คนมาแล้วกว่า ๑,๕๐๐ คน ใน ๑๘ ประเทศ เช่น โคลัมเบีย เปรู ฮอนดูรัส ดอมินีกา ฯลฯ นำนั่งสมาธิทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์มากว่า ๑๐๐ รอบ ทั้งที่เป็นภาษาสเปนและภาษาอังกฤษ และในระหว่างวันที่ ๑๑-๑๔ กุมภาพันธ์ มาร์โคและทีมงานเดินทางไปจัดอบรมนั่งสมาธิเป็นครั้งแรกที่ประเทศปานามากิจกรรม Mini-PIPO ครั้งนี้จัดขึ้นที่เมืองหลวงคือกรุงปานามาซิตี จัดทั้งหมด ๔ รอบ มีผู้เข้าร่วมรวม ๒๒๔ คน โดยเอนริเก เปเราตา ผู้ประสานงานโครงการของพีซเรฟโวลูชันประจำภาคพื้นอเมริกากลางและทะเลแคริบเบียน เป็นคนแนะนำให้มาร์โครู้จักกับอาสาสมัครชาวปานามาที่มาช่วยประสานงานในการจัดกิจกรรมครั้งนี้จนสำเร็จด้วยดี โดยจัดร่วมกับองค์กรท้องถิ่นหลายองค์กร เช่น มูลนิธิ Ciudad Del Saber (City of Knowledge), มูลนิธิ Fundaci?n Entre Todos, โครงการ Meditaci?n Para Todos (Meditation for All) ทำให้มีชาวท้องถิ่นในปานามาจำนวนมากพากันมาเข้าร่วมการอบรมสมาธิที่จัดขึ้น แสดงให้เห็นว่าชาวปานามาให้ความสนใจและเปิดใจที่จะเรียนรู้เรื่องราวที่พีซเรฟโวลูชันหยิบยื่นให้


Peace Revolution  หลับตาและหยุดใจ.. สันติภาพที่แท้จริงอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

     มาร์โคเล่าว่ารอบแรกจัดร่วมกับศูนย์ฝึกโยคะและจำหน่ายสินค้า ชื่อ Transcendence ซึ่งตั้งอยู่ในย่านธุรกิจใจกลางกรุงปานามาซิตีมีผู้เข้าร่วมทั้งหมด ๓๘ คน พวกเขาสนใจและเปิดใจที่จะเรียนรู้ มาร์โคสอนให้พวกเขารู้วิธีพื้นฐานในการนั่งสมาธิ โดยไม่ได้ลงลึกในเนื้อหาเรื่องใดเป็นพิเศษ หลายคนบอกว่าขณะนั่งสมาธิรู้สึกเหมือนตัวเองหมุนเป็นวงกลมรอบนี้จึงเป็นรอบหนึ่งที่มาร์โคค่อนข้างพึงพอใจ

       ส่วนรอบที่มีคนเข้าร่วมอบรมมากที่สุดชนิดเกินคาดหมาย คือ รอบที่จัดที่มูลนิธิ Ciudad Del Saber ซึ่งเปิดให้ทุกคนที่สนใจเข้าฟังได้หมด โดยห้องประชุมเตรียมไว้รองรับผู้เข้าร่วมประมาณ ๘๐ คน แต่กลับมีคนเดินเข้าห้องมาเรื่อย ๆ เพื่อร่วมกิจกรรมจนเกินกว่าจำนวนที่นั่งที่เตรียมไว้ ทำให้น่าเสียดายที่มีประมาณ ๒๐ คน ไม่สามารถเข้าร่วมอบรมครั้งนั้นได้ ผู้เข้าร่วมอบรมมีความสนใจการนั่งสมาธิ มาก ในช่วงที่มาร์โคเปิดโอกาสให้ถามจึงมีคำถามมากมาย เพื่อคลายความสงสัยใคร่รู้เกี่ยวกับการฝึกสมาธิ


Peace Revolution  หลับตาและหยุดใจ.. สันติภาพที่แท้จริงอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

      ถือได้ว่ามาร์โคทำหน้าที่ได้ยอดเยี่ยมในฐานะครูสอนสมาธิและผู้จัดงาน ซึ่งดูได้จากความเห็นสะท้อนจากผู้เข้าร่วมหลายคน ซึ่งสมัครเพื่อรับข่าวสารหากมีการจัดอบรมสมาธิเช่นนี้ในประเทศปานามาอีกในอนาคตการมาเยือนปานามาของทีมงานพีซเรฟโวลูชันในครั้งนี้ ทำให้ได้สร้างเครือข่ายความสัมพันธ์กับองค์กรท้องถิ่นที่สนใจสนับสนุนงานสร้างสรรค์สันติภาพของพีซเรฟโวลูชันในอนาคต ซึ่งองค์กรท้องถิ่นเหล่านี้จะได้สร้างแรงบันดาลใจ และกระตุ้นให้ชาวปานามานั่งสมาธิอย่างสม่ำเสมอต่อไป และสร้างวัฒนธรรมแห่งสันติสุขภายใน อันจะนำไปสู่การพัฒนาของสังคมและความเป็นสุขของประชาชนชาวปานามา

      “ผมเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงทางสังคมจะเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริงต้องเริ่มจากการเปลี่ยนที่ใจคน และสมาธินี้แหละเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังที่สุดที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงสภาพใจคนได้” มาร์โคกล่าว

    จากเรื่องราวของพีซอาร์คิเทคทั้งสองเราสามารถกล่าวได้ว่า  การดำเนินงานเผยแผ่ความรู้เรื่องสันติสุขภายในของพีซเรฟโวลูชันกำลังก้าวไปอย่างงดงาม ทำให้ชาวโลกได้สัมผัสประสบการณ์แห่งความสุขที่เกิดจากการทำใจให้หยุดนิ่ง อันเป็นหนทางที่ง่ายที่สุดที่จะยุติความขัดแย้งอันเกิดจากความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา และเผ่าพันธุ์ หากทุกคนบนโลกฝึกสมาธิอย่างสม่ำเสมอ สันติสุขอันไพบูลย์ที่ทุกคนใฝ่ฝันก็จะเป็นจริงได้อย่างแน่นอน

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล