ฉบับที่ 37 พฤศจิกายน ปี 2548

อานิสงส์การสร้างพระพุทธรูป " บูชาด้วยฉัตรทอง

Untitled Document

 



             การสักการบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยจิตที่เลื่อมใส บูชาด้วยวัตถุที่ประณีตสวยงามทรงคุณค่า อันนำมาซึ่งความเลื่อมใสแห่งใจ เพราะการบูชาแต่ละครั้งนั้น เป็นการออกแบบชีวิตในอนาคต จะให้มีความสุขความสำเร็จอย่างไร เราออกแบบของเราเองได้


             พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเป็นผู้ตรัสรู้ธรรม ทั้งปวงด้วยพระองค์เองโดยชอบ คือถูกต้องทุกอย่าง ทรงรู้เหตุแห่งความเจริญ ทั้งในโลกนี้ โลกหน้า และความเจริญอย่างยิ่ง คือการบรรลุธรรม เข้าสู่พระนิพพาน ทรงเป็นบรมครูของทั้งเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย สอนทั้งมนุษย์ สอนทั้งเทวดา สอนได้แม้กระทั่งพรหมในพรหมโลก อย่างที่ไม่มีมนุษย์คนใดทำได้


             พระองค์จึงควรได้รับ การสักการบูชาอย่างสูงสุด เพราะการบูชาบุคคลผู้ควรบูชา เป็นเหตุนำความสุขความเจริญมาให้ ดังเรื่องจริงในอดีต อันเป็นประวัติการสร้างบารมี ของพระเถรีนามว่า " อภิรูปนันทา" (ชื่อของท่านคือ นันทา ส่วนคำว่า อภิรูปะ แปลว่า มีรูปงามยิ่ง) เพราะท่านมีรูปงามจริงๆ จึงมีคำกล่าวให้ต่างจากนันทาองค์อื่นๆ


             ประวัติของพระนางเริ่มต้นขึ้น ในสมัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี ย้อนอดีตไปในกัปที่ ๙๑ จากภัทรกัปนี้ ในครั้งนั้น พระนางเกิดเป็นธิดาในตระกูลใหญ่ ที่มีฐานะมั่งคั่ง ในพระนครพันธุมดี เป็นหญิงสาวที่มีรูปสมบัติงดงาม น่าดูน่าชม


             วันหนึ่ง ได้เข้าเฝ้า พระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมกับมหาชน ครั้นฟังธรรมจากพระพุทธองค์แล้ว ก็เกิดความ เลื่อมใสได้ขอถึงพระองค์ ว่าเป็นสรณะ จากวันนั้นมา นางก็ตั้งมั่นอยู่ในศีล ได้รักษาศีล ๕ ทำให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ไม่ให้ด่างพร้อยเรื่อยมา



             เมื่อพระวิปัสสีบรมศาสดา เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว มหาชนได้พากันสร้างพระสถูปเจดีย์ เพื่อบรรจุพระบรมธาตุ ส่วนนางได้ให้ช่างทำฉัตรทอง แล้วให้ยกขึ้น บูชา ประดิษฐานไว้เบื้องบนพระสถูปเจดีย์นั้น


             ด้วยอานิสงส์ที่นางรักษาศีลจนตลอดชีวิต และอานุภาพบุญที่บูชาด้วยฉัตรทอง ที่สวยงามทรงคุณค่า เมื่อละร่างมนุษย์แล้ว ได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นเทพธิดาที่มีรูปงาม เกินกว่าเทพธิดาทั้งหมด ด้วยฐานะ ๑๐ ประการ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อันเป็นทิพย์ และอายุ ผิวพรรณ ความสุข ยศ และความเป็นใหญ่อันเป็นทิพย์


             ท่องเที่ยวเสวยทิพยสมบัติ และมนุษย์สมบัติ ตลอดกาลยาวนาน ด้วยอานิสงส์ ที่รักษาศีล และอานุภาพบุญที่บูชาพระเจดีย์ ด้วยฉัตรทองนั้น จะไปเกิดในภพใดก็เกิด ในตระกูลสูงมีรูปร่างสวยงาม กระทั่งครั้งสมัยพุทธกาล ได้มาเกิดเป็นธิดา ของศากยราช นามว่า "เขมกะ" ในกรุงกบิลพัสดุ์ เธอมีชื่อว่า "นันทา" ปวงชนชาวพระนคร พากันยกย่องชื่นชมว่า พระนางทรงมีความงาม น่าดูน่าชม ทั้งผิวพรรณ ก็ผ่องใส จึงเพิ่มคำนำหน้าชื่อว่า อภิรูปนันทา (พระนางนันทาผู้มีรูปงามยิ่ง)



             เพราะความสวยของพระนาง ทำให้เจ้าศากยะหนุ่มทั้งหลาย ก่อการทะเลาะวิวาทแย่งชิงกัน พระบิดาของพระนางคิดว่า พวกศากยราช อย่าได้ถึงความพินาศ เพราะความสวยของนางเลย จึงตัดสินให้พระนางบวช เป็นภิกษุณี เมื่อบวชแล้วก็ไม่ยินดี ที่จะเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อฟังธรรม เพราะพระองค์ตรัส ให้เห็นความไม่งาม ของร่างกาย ซึ่งใครๆ ก็ชมว่าพระนางสวยงามยิ่งนัก


             แต่พระบรมศาสดาก็ทรง ใช้อุบายให้อภิรูปนันทา ภิกษุณีเข้าเฝ้าจนได้ แต่ท่านก็ยังคงนั่งแอบอยู่ข้างหลัง ไม่อยากให้พระบรมศาสดา ทรงมองเห็น วันนั้น พระบรมศาสดาทรง แสดงธรรมเจาะจง เฉพาะพระนาง ทรงเนรมิตสาวสวยดังเทพธิดา ยืนถวายงานพัดให้พระองค์ เมื่อพระนางเห็น ก็มีความรู้สึก ว่าตนเองเหมือนกา ต่อหน้านางพญาหงส์ทอง


             พระบรมศาสดาทรงแสดงรูปเนรมิต นั้นให้แก่ชราขึ้น ทำให้เป็นคนป่วยดิ้นทุรนทุราย ทำให้ตายแล้วค่อยๆ ขึ้นอึดเน่า น้ำเหลืองไหลเยิ้ม มีหมู่หนอนชอนไชไปทั่วร่าง พร้อมกับทรงแสดงธรรม ให้เห็นความไม่เที่ยงของร่างกายไปตามลำดับว่า " ดูก่อนนันทา เธอจงดูร่างกายที่ทุรนทุราย ไม่สะอาด มีของสกปรกไหลเข้าไหลออกอยู่ ที่พวกคนพาลต้องการนัก"


             "เธอจงทำจิตให้เป็นสมาธิ ให้มีอารมณ์เดียวตั้งมั่นว่าไม่งาม รูปของหญิงนี้เป็นเช่นไร รูปกายของเธอก็เช่นนั้น รูปกายของเธอเป็นเช่นไร รูปของหญิงนี้ก็เช่นนั้น" พระนางปล่อยใจไปตามพระธรรมเทศนา เห็นความไม่เที่ยง ของร่างกายทั้งภายนอกภายใน เกิดความเบื่อหน่าย ในสังขารทั้งปวง ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์เถรี ในทันทีนั้นเอง


             เราจะเห็นว่า พระนางอภิรูปนันทาประสบความสุข ความสำเร็จในชีวิต ก็เพราะบุญที่ทำไว้ในอดีต เพราะฉะนั้น ชีวิตในอนาคตของเรา จะให้เป็นเช่นไร อยู่ที่บุญในปัจจุบันของเราเอง ดังนั้นเมื่อบุญใหญ่มาถึง จึงไม่ควรให้ผ่านไปเปล่า ขอเรียนเชิญทุกท่านมาร่วม สร้างพระธรรมกายประจำตัว ที่วัดพระธรรมกายโดยพร้อมเพรียงกัน

 


www.kalyanamitra.org

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล