ฉบับที่ ๑๖๗ เดือนกันยายน ๒๕๕๙

พระพุทธศาสนาในสายตาชาวโลก

ข้อคิดรอบตัว
เรื่อง : พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ (สมชาย ฐานวุฑฺโฒ) จากรายการข้อคิดรอบตัว ออกอากาศทางช่อง DMC

พระพุทธศาสนาในสายตาชาวโลก

พระพุทธศาสนาในสายตาชาวโลก , พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ (สมชาย ฐานวุฑฺโฒ) , อยู่ในบุญ , วารสารอยู่ในบุญ , แม็กกาซีน , หนังสือธรรมะ , วัดพระธรรมกาย , คำสอนวัดพระธรรมกาย , อานิสงส์แห่งบุญ , ทบทวนบุญ , พระพุทธศาสนา

พระพุทธศาสนามีกี่นิกาย ?
          พระพุทธศาสนาแบ่งออกได้หลัก ๆ เป็น ๓ นิกาย คือ

    ๑. เถรวาท เป็นพระพุทธศาสนาแบบดั้งเดิมตั้งแต่สมัยพุทธกาล ถ้ามองในแง่หนึ่งอาจจะเป็นลักษณะอนุรักษ์นิยม เช่น พระวินัยของสงฆ์ ๒๒๗ ข้อ ในครั้งพุทธกาลบัญญัติไว้อย่างไร ก็คงรักษาอยู่จนถึงปัจจุบัน คำสอนในพระไตรปิฎกทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ก็รักษาไว้แบบเดิมจนถึงปัจจุบัน

       ๒. มหายาน เป็นสายที่เจริญทางอินเดียตอนเหนือ ข้ามไปจีน เกาหลี ญี่ปุ่น เวียดนาม เป็นต้น เอกลักษณ์ของมหายานเน้นการเป็นพระโพธิสัตว์ สร้างบารมีนำพาสรรพสัตว์ไปสู่ความพ้นทุกข์ให้ได้เป็นจำนวนมาก มีการแก้ไขข้อวัตรปฏิบัติให้ยืดหยุ่น จะได้สะดวกในการเผยแผ่พระธรรมไปในประเทศต่าง ๆ ซึ่งมีภูมิอากาศ ภูมิประเทศ และวัฒนธรรมแตกต่างกัน

     ๓. วัชรญาณ หรือ ตันตรญาณ บางที เรียกว่า มนตรญาณ นิกายนี้รุ่งเรืองที่ทิเบตมองโกเลีย จุดเด่นของวัชรญาณเน้นว่า ลามะองค์สำคัญ ๆ จะมีการกลับลงมาเกิดใหม่ ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Living Buddha คือ เป็นลามะองค์สำคัญที่บรรลุแล้วกลับชาติมาเกิด แต่ภาษาอังกฤษแปลว่าเป็น Living Buddha ไปเลย

     แล้วเวลาที่ทะไลลามะมรณภาพเขายังไม่ตั้งองค์ใหม่ แต่จะคอยสืบว่าท่านกลับชาติลงมาเกิดที่ไหน และต้องมีการสุ่ม เช่น มีความคุ้นเคยกับข้าวของเครื่องใช้ของทะไลลามะไหม และมีการสอบถามหลาย ๆ เรื่อง พอได้ตัวบุคคลที่ใช่แล้ว ก็จะแต่งตั้งให้เป็นทะไลลามะตั้งแต่ ๓-๔ ขวบ แล้วให้การศึกษา ฝึกอบรม เพื่อให้เติบโตขึ้นมาเป็นทะไลลามะ แล้วก็เป็นตลอดชีวิต เป็นตำแหน่งที่ไม่สามารถเปลี่ยนได้ เพราะถือว่าเป็นองค์อวตารขององค์เดิม นี้เป็นความเชื่อของชาวพุทธแบบวัชรญาณ

    นิกายนี้บางทีเรียก มนตรญาณ มีมนต์ที่สวดแล้วมีอานุภาพให้พระพุทธเจ้ามาช่วยได้ เป็นต้น เป็นนิกายที่ค่อนข้างจะลึกลับ คนจีนบางทีเรียกนิกายนี้ว่า มี่จง “จง” คือ ศาสนา “มี่” คือ ลึกลับ

     นิกายวัชรญาณมีศาสนิกไม่ค่อยมาก ที่มองโกเลียกับทิเบตรวมแล้วแค่ ๑๐ กว่าล้านคน แต่มีอิทธิพลในโลกไม่น้อย เป็นเพราะหลังจากเกิดความผันผวนทางการเมืองในทิเบตทะไลลามะก็พาพระลามะและชาวทิเบตอพยพไปอยู่ที่ธรรมศาลาในอินเดีย ซึ่งเป็นศูนย์อพยพใหญ่ของชาวทิเบต แล้วพระลามะก็กระจายไปทั้งโลก การกระจายไม่เหมือนพระไทยที่ไปสร้างวัดในต่างแดน เพราะว่าคนไทยไปสร้างวัดในต่างแดนส่วนใหญ่สร้างในชุมชนชาวไทยพระไทยไม่ต้องพูดภาษาอังกฤษ ญี่ปุ่น จีน ฯลฯเพราะคนมาวัดส่วนใหญ่เป็นคนไทย พระไทยไปสร้างวัดเพื่อรองรับคนไทยในต่างประเทศแต่ชาวทิเบตและมองโกเลียมีอยู่นิดเดียว ในแต่ละประเทศอาจจะมีแค่ ๒ คน ๕ คน วัดทิเบตไม่สามารถอยู่ได้ด้วยการสนับสนุนของชาวมองโกลหรือชาวทิเบต จำเป็นต้องเผยแผ่ศาสนาไปสู่คนท้องถิ่นให้ได้ ถ้าเผยแผ่ไม่ได้ก็อยู่ไม่ได้ ช่วงแรกพระลามะลำบากมาก ภาษาก็ไม่รู้เรื่อง เพราะออกมาแบบกะทันหัน ถูกบีบออกมาด้วยแรงกดทางการเมือง หนีตายมาแล้วกระจายไปทั่วทั้งโลก ถ้าเผยแผ่ไม่สำเร็จตายแน่ เลยกัดฟันสู้ สุดท้ายสู้ได้ ค่อย ๆ ศึกษาภาษาในท้องถิ่นนั้น ๆ แล้วก็เผยแผ่ ผลปรากฏว่า เวลาผ่านมา ๔๐-๕๐ ปี พระพุทธศาสนาแบบทิเบตกลายเป็นพระพุทธศาสนาที่ชาวโลกรู้จักมาก เรียกว่าในเสียมีดี ในดีมีเสีย นี้คือภาพรวมของพระพุทธศาสนา ๓ สายใหญ่ในโลกปัจจุบัน

 

แต่ละนิกายมีคำสอนหรือแก่นของพระพุทธศาสนาเหมือนกันไหม ?
     หัวใจอย่างแรกก็คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือทุกนิกายนับถือพระพุทธเจ้าเหมือนกันพระพุทธเจ้า คือศูนย์รวมชาวพุทธทุกนิกายชาวพุทธทั้งหมดล้วนแต่เป็นลูกพระพุทธเจ้าเหมือนกัน

      แล้วพระธรรมคำสอนของพระองค์ก็อยู่บนหลักอหิงสา คือไม่เบียดเบียนกัน ไม่ว่าพระพุทธศาสนานิกายไหนก็ไม่สนับสนุนให้เผยแผ่ศาสนาด้วยการเบียดเบียนทำร้ายเพื่อนมนุษย์ทั้งสิ้น เราไปเหมือนน้ำเย็น ๆ ใครพอใจจะนับถือก็นับถือ ไม่มีการบังคับ เพราะฉะนั้นพระพุทธศาสนาจึงไม่มีสงครามศาสนาเลยเพราะว่าเป็นเอกลักษณ์ขององค์พระศาสดาซึ่งไม่สนับสนุนความรุนแรง แล้วทุกคนต่างก็ตั้งใจปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น ให้พ้นจากกิเลสพ้นจากทุกข์ ถ้าพ้นแล้วจะอยู่ในสถานะเป็นพระอรหันต์ พระปัจเจกพุทธเจ้า หรือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขึ้นอยู่กับความพอใจของแต่ละคนแต่เป้าหมายปลายทางคือมุ่งสู่นิพพาน

 

อะไรเป็นสิ่งดึงดูดใจให้ชาวโลกสนใจพระพุทธศาสนา ?
     บางศาสนาเน้นเรื่องความเชื่อ ห้ามสงสัยแค่สงสัยบาปเลย แค่คิดว่าพระเจ้ามีจริงหรือเปล่า บาปแล้ว พระเจ้าสร้างโลกจริงไหม เหล่านี้ห้ามสงสัยทั้งหมด ถ้าสงสัยเมื่อไรก็บาป ต้องเชื่อ เลยเป็นสามัญสำนึกของชาวตะวันตกว่าศาสนาคือเรื่องของความเชื่อ ความศรัทธา แต่พระพุทธศาสนาไม่ใช่ พระพุทธเจ้าตรัสว่าอย่าเพิ่งเชื่อ ตรองให้ดี ปฏิบัติให้ดีก่อน รู้แจ้งเห็นจริงด้วยตัวเองแล้วค่อยเชื่อ

      คราวหนึ่งทรงแสดงพระธรรมเทศนาแสดงจบแล้วตรัสถามพระสารีบุตรว่าเชื่อไหมพระสารีบุตรตอบว่าขอคิดดูก่อน พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญว่าถูกต้อง นี้คือท่าทีของชาวพุทธคือต้องมีความเป็นเหตุเป็นผล แล้วเมื่อทุกคนปฏิบัติก็จะสามารถเข้าถึงความจริงที่พระพุทธเจ้าสอนได้ เพราะว่าคำสอนในศาสนาพุทธเป็นสัจธรรม นี้คือเอกลักษณ์ของพระพุทธศาสนา

      คนยุคปัจจุบันมีความรู้เยอะขึ้น ถูกฝึกให้คิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น พอคิดไปคิดมา คนตั้งพันกว่าล้านคนประกาศตนเป็นคนไม่มีศาสนา เพราะศาสนาเก่าของตัวเองบอกให้เชื่อ เขารับไม่ได้ ไม่มีเหตุไม่มีผล คนจำนวนมากเลยแสวงหาว่าศาสนาไหนจะเป็นที่พึ่งที่ระลึกให้แก่พวกเขาได้ และมาพบคำตอบในพระพุทธศาสนา ยิ่งคนมีความรู้มาก ฉลาดมากเก่งมาก มีความคิดเป็นระบบ จะบังเกิดความศรัทธาในพระพุทธศาสนามาก

      ลองดูความเห็นและความรู้สึกของบุคคลชั้นนำของโลกที่มีต่อพระพุทธศาสนากันบ้าง

    ๑. H.G. Wells นักเขียนนวนิยายวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ นักหนังสือพิมพ์นักประวัติศาสตร์ เขากล่าวว่า “พระพุทธศาสนากระทำไว้มากยิ่งกว่าอิทธิพลอื่นใดที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เพื่อความก้าวหน้าแห่งอารยธรรมของโลกและวัฒนธรรมที่แท้จริง” พูดง่าย ๆ ว่า ผลกระทบจากพระพุทธศาสนาแรงกว่าปรากฏการณ์ทุกเรื่องตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

   ๒. Max Muller เป็นศาสตราจารย์ทางด้านภาษาชาวเยอรมัน เขาทำพจนานุกรมทำหนังสือ ตำราภาษาสันสกฤต ภาษาโบราณเยอะมาก เรียกว่าถ้าหากเอ่ยชื่อนี้ในแวดวงนักวิชาการด้านภาษาของโลกรู้จักทุกคน แล้วต้องอาศัยหนังสือที่เขาทำมาเป็นร้อย ๆ ปีประกอบในการค้นคว้า เขาบอกว่า “ประมวลศีลธรรมของพระพุทธเจ้าสมบูรณ์มากที่สุดที่โลกเคยรู้จักมา” นี้คือความเห็นของคนที่เกิดมาในศาสนาอื่น แล้วเป็นผู้ที่มีปัญญาสูงมากศึกษามาอย่างเจนจบ

     ๓. ศาสตราจารย์ Carl G. Jung เป็นนักจิตวิทยาชาวสวิสที่มีชื่อเสียงดังก้องโลกกล่าวว่าในฐานะนักศึกษาศาสนาเปรียบเทียบตัวเองเกิดมาในศาสนาคริสต์ แต่พยายามศึกษาทุกศาสนาอย่างละเอียดลึกซึ้ง และอาจจะรู้จักพระพุทธศาสนาดีกว่าพวกเราชาวพุทธเสียอีก เขาบอกว่า “ข้าพเจ้าเชื่อว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สมบูรณ์มากที่สุดที่โลกเคยพบมา ปรัชญาของพระพุทธเจ้า ทฤษฎีวิวัฒนาการและกฎแห่งกรรม (ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว) ยิ่งใหญ่เหนือลัทธิอื่นอย่างห่างไกล”

    นอกจากนี้ยังมีคนดังระดับโลกหันมานับถือพระพุทธศาสนา เช่น Richard Gere เป็นดาราที่ได้รับรางวัลลูกโลกทองคำ ครั้งที่ ๖๐ ก็ศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง Steven Seagal นักแสดงฮอลลีวูด ผู้ผลิตภาพยนตร์ผู้กำกับภาพยนตร์ ผู้เขียนบท ก็หันมานับถือพระพุทธศาสนา แล้วลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังถึงขนาดลามะบางองค์บอกว่า Steven Seagal เป็นอดีตลามะองค์สำคัญกลับชาติมาเกิดนอกจากนี้ Roberto Baggio กองหน้าตัวหลักของอิตาลี ก่อนลงสนามเตะก็ต้องนั่งสมาธิครึ่งชั่วโมง เพื่อให้ใจนิ่ง จะได้ลงเตะแบบมีสมาธิ

 

อะไรทำให้คนต่างศาสนิกเชื่อมั่นในพระพุทธศาสนาขนาดนั้น ?
    อาตมาคิดว่าเป็นเพราะธาตุแท้ของความไม่เบียดเบียน ความสงบเย็น พอเขาศึกษาแล้วเขาสัมผัสได้ว่าเย็นจังเลย สบายใจ ไม่ถูกบังคับทุกอย่างเป็นแบบอิสระ คนทางยุโรป อเมริกาเขากลัวเรื่องการมาจูงใจให้เปลี่ยนศาสนาแต่พุทธศาสนาไปแบบเย็น ๆ สบาย ๆ สนใจก็มาศึกษาเอาตามสบาย เขาจึงมาด้วยความสบายใจ พอศึกษาแล้วเขาสัมผัสได้ถึงความสงบเย็น ลงมือปฏิบัติก็ได้ผลอีก ได้สวดมนต์นั่งสมาธิ ใจเป็นสุข สบายใจ สุขภาพแข็งแรงขึ้น

 ศาสนาพุทธเป็นศาสนาของความจริงปฏิบัติแล้วเข้าถึงได้จริง แล้วระหว่างการศึกษาทุกอย่างเป็นแบบธรรมชาติ ไม่มีการบีบบังคับให้ทุกคนตระหนักรู้ด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่เหมาะมากกับคนยุคใหม่ที่ชอบอิสระ มีความคิดความอ่าน มีแหล่งข้อมูลที่ศึกษาเยอะ ใครจะมาบังคับให้เชื่ออะไรอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ง่าย

 

การนั่งสมาธิของนักเตะระดับโลกคนหนึ่งมีส่วนให้ชาวโลกหันมาสนใจพระพุทธศาสนาด้วยหรือไม่ ?
    มีส่วน และเป็นส่วนสำคัญด้วย อย่างในอเมริกามีชาวอเมริกันนั่งสมาธิทุกวันเกิน ๑๐ ล้านคน แล้วเขาไม่ใช่ชาวพุทธโดยกำเนิด เขามาศึกษาเพราะสนใจ ไม่ต้องไปจ้ำจี้จ้ำไชให้เขานั่งเลย เขานั่งเอง แล้วตัวเลขเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉลี่ยประมาณ ๑๐ ปี เพิ่มหนึ่งเท่า คนสนใจสมาธิเกินครึ่งประเทศอเมริกาเข้าไปแล้วตอนนี้ คนที่นั่งทุกวัน ๑๐ ล้านคนที่เหลือก็นั่งบ้างนาน ๆ ที

   นี้ไม่ใช่เรื่องของคนกลุ่มเล็ก ๆ แต่เป็นเรื่องของชาวอเมริกันกระแสหลักไปแล้ว ถามว่าทำไมเขาถึงชอบนั่งสมาธิขนาดนี้ ก็เพราะว่าปฏิบัติแล้วได้ผล นั่งแล้วสบายใจ มีความสุขใจนิ่ง หลุดจากปัญหา จากความเครียด ชีวิตคนปัจจุบันยุ่งเหยิงมาก ข้อมูลก็ไหลทะลักท่วมตัวไปหมด ชีวิตเหมือนลอยไปกับกระแสกดดันต่าง ๆ มากมาย แต่พอได้ปฏิบัติธรรมก็เหมือนคนที่ลอยกลางน้ำมาเป็นปี ๆ ขึ้นเกาะได้สบายอกสบายใจ ความรู้สึกของเขาคล้าย ๆ อย่างนั้น เมื่อมาพบหลักปฏิบัติในพระพุทธศาสนา มาพบคำตอบในคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นั่งสมาธิแล้วมีความสุข มาศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้าที่เป็นเหตุเป็นผล เปี่ยมด้วยเมตตาธรรม ปราศจากความเบียดเบียนต่อบุคคลอื่น ทำให้เขาค่อย ๆ ยอมรับ แล้วศึกษาเพิ่มขึ้น ปฏิบัติเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ

   พระพุทธศาสนามีการเผยแผ่แบบสงบผู้เผยแผ่ก็มีบุคลิกไม่เหมือนศาสนาอื่น คือศาสนาอื่นจะพยายามดึงคนมาเป็นสมาชิกของเขา ให้ตัดทิ้งของเดิมให้หมด แต่พระพุทธเจ้าทรงเปิดกว้างตามความสมัครใจ ใครสนใจพระพุทธศาสนาไม่ต้องเปลี่ยนศาสนาก็ได้ มาศึกษาคำสอนแล้วเอาไปปฏิบัติ ให้มีเมตตาให้ทาน รักษาศีล อย่างน้อยศีล ๕ แล้วตั้งใจนั่งสมาธิทุกวัน ไม่ได้ต้องการบังคับว่า คุณต้องเปลี่ยนศาสนามาเป็นพุทธเท่านั้น ห้ามยุ่งกับศาสนาเดิม เปล่าเลย

  เอกลักษณ์ของพระพุทธศาสนาก็คือหลักธรรมปฏิบัติ ทำสมาธิ แล้วขณะเดียวกันพระธรรมคำสอนของ พระพุทธเจ้าก็โดนใจคนมาก เพราะเป็นเหตุเป็นผล ยิ่งคนฉลาดมากเท่าไรก็ยิ่งยอมรับคำสอนของพระพุทธเจ้ามากเท่านั้น

 

พระสงฆ์หรือฆราวาสผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนาควรทำตัวอย่างไร ?
     หลัก ๆ ต้องทำตัวเราให้เป็นต้นแบบอย่าไปฝากไว้กับผู้เผยแผ่ศาสนาอย่างเดียวพวกเราชาวพุทธทุกคนต้องเป็นต้นแบบด้วยคนศึกษาใหม่เขารู้ว่า เรามาจากประเทศไทยศูนย์กลางพระศาสนาของโลก เขาจะมองดูว่าบุคลิกชาวพุทธเป็นอย่างไร ถ้าเราคว้าแก้วเหล้าขึ้นมาดื่มอึ้ก ๆ ภาพลักษณ์ที่สวยงามก็พังทลายเพราะฉะนั้นเราต้องมีเมตตา แล้วดำเนินชีวิตด้วยทาน ศีล ภาวนา เอื้อเฟื้อต่อสรรพชีวิตทั้งปวง มีน้ำใจต่อกัน ตั้งใจรักษาศีลให้ดีไม่เบียดเบียนใคร แล้วตั้งใจสวดมนต์ภาวนาสม่ำเสมอทุกวัน เป็นต้นแบบของชาวพุทธที่ดีให้ชาวโลกได้เห็น ยิ่งเป็นผู้เผยแผ่ศาสนา ก็ยิ่งต้องทำให้เข้มข้นมากขึ้นไปอีก

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล