ฉบับที่ ๑๖๘ เดือนตุลาคม ๒๕๕๙

การบูชามหาปูชนียาจารย์..บุคคลผู้ควรบูชา

DOU ความรู้สากล
เรื่อง : พระมหาวุฒิชัย วุฑฺฒิชโย ป.ธ.๙

การบูชามหาปูชนียาจารย์..บุคคลผู้ควรบูชา

การบูชามหาปูชนียาจารย์..บุคคลผู้ควรบูชา , DOU ความรู้สากล , อยู่ในบุญ , วารสาร , อยู่ในบุญตุลาคม , อานิสงส์แห่งบุญ , นิตยสาร , หนังสือธรรมะ , วัดพระธรรมกาย , พระมหาวุฒิชัย วุฑฺฒิชโย ป.ธ.๙

    การบูชา คือ การยกย่อง เชิดชู เลื่อมใสด้วยความบริสุทธิ์ใจ จริงใจ ไมเสแสร้งแกล้งทำ หมายถึง กิริยาอาการสุภาพที่เราแสดงต่อผู้ที่ควรบูชาทั้งต่อหน้าและลับหลัง การแสดงต่อหน้าเป็นการแสดงให้ท่านทราบว่า เรามีความเคารพและตระหนักในคุณธรรมความดีที่มีอยู่ในตัวของท่านอย่างจริงใจ การแสดงลับหลังเป็นการเตือนใจตัวเราเองให้ผูกใจไว้กับคุณธรรมอันสูงส่งของท่าน ก่อให้เกิดความรู้สึกอยากกระทำตาม ใจเราจะได้ยกสูงขึ้นเสมอ โดยไม่เลื่อนไหลไปในทางชั่วร้าย

   การบูชาเป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งสำหรับฝึกใจที่ยังหยาบกระด้างเพราะไม่อาจยอมรับคุณความดีของผู้อื่นให้ละเอียดอ่อนลง ผู้ที่ยังด้อยปัญญาอาจยังไม่เข้าใจในคุณธรรมความดีของผู้ที่ควรบูชานัก แต่หากเคยชินกับการบูชาแล้ว ในที่สุดย่อมสามารถเห็นถึงคุณธรรมความดีที่มีอยู่ในตัวของผู้ที่เราบูชาได้แจ่มชัดจนเกิดความเลื่อมใสกลายเป็นการบูชาอย่างแท้จริง อยากทำความดีตามท่านบ้าง

    บุคคลผู้ควรบูชา คือ บุคคลที่มีคุณงามความดีควรค่าแก่การระลึกนึกถึงและยึดถือเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติตาม ได้แก่ ผู้มีศีลสมาธิ และปัญญาสูงกว่าเรานั่นเอง ซึ่งประมวลสรุปได้ดังนี้

     ๑. พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นบัณฑิตผู้ประเสริฐสุดในโลก ทรงไว้ด้วยพระปัญญาธิคุณพระกรุณาธิคุณ พระบริสุทธิคุณ จัดเป็นบุคคลผู้ควรบูชาของพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย

   ๒. พระสงฆ์ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบก่อน แล้วจึงสอนให้ผู้อื่นประพฤติดีปฏิบัติชอบตามอย่างบ้าง จัดเป็นบุคคลผู้ควรบูชาของพุทธศาสนิกชน

     ๓. พระมหากษัตริย์ผู้ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม เป็นธรรมราชา จัดเป็นบุคคลผู้ควรแก่การบูชาของประชาชน

     ๔. บิดา มารดา และญาติผู้ใหญ่ที่มีความประพฤติดี เป็นบัณฑิต อยู่ในฐานะที่สูงเกินกว่าจะคบ จัดเป็นบุคคลผู้ควรแก่การบูชาหรือปูชนียบุคคลของบุตรหลาน

    ๕. ครูอาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถความประพฤติดี เป็นบัณฑิต อยู่ในฐานะที่สูงเกินกว่าศิษย์จะคบหา จัดเป็นบุคคลผู้ควรแก่การบูชาของศิษย์

  ๖. ผู้บังคับบัญชาที่มีความประพฤติดีตั้งอยู่ในธรรม จัดเป็นบุคคลผู้ควรแก่การบูชาของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา หรือบัณฑิตที่มีภาวะสูงเกินกว่าที่จะคบในฐานะผู้เสมอกันได้ล้วนจัดเป็นบุคคลผู้ควรแก่การบูชาทั้งสิ้น

    สิ่งที่เนื่องด้วยท่านเหล่านี้ก็จัดเป็นสิ่งที่ควรบูชาเช่นกัน เพราะเมื่อเราบูชาสิ่งเหล่านี้ก็ทำให้ระลึกนึกถึงคุณงามความดีของบุคคลที่สิ่งเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องด้วย เช่น

    ๑. สิ่งที่เนื่องด้วยพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เช่น พระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์ พระบรมสารีริกธาตุ สังเวชนียสถาน

     ๒. สิ่งที่เนื่องด้วยพระสงฆ์ เช่น พระธาตุ รูปพระสงฆ์สาวก

    ๓. รูปภาพของพระมหากษัตริย์ผู้ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม บิดามารดา ครูบาอาจารย์ ผู้บังคับบัญชา จัดเป็นสิ่งที่ควรบูชาทั้งสิ้น


     การบูชาในทางปฏิบัติมี ๒ ประเภท คือ

   ๑. อามิสบูชา คือ การบูชาด้วยสิ่งของ เช่น บุตรระลึกถึงคุณของบิดามารดา ศิษย์ระลึกถึงคุณของครูบาอาจารย์ จึงบูชาด้วยการนำทรัพย์สินเงินทอง ของใช้ ฯลฯ ไปมอบให้ เป็นต้น การบูชาพระรัตนตรัยด้วยดอกไม้ ธูปเทียน ก็จัดเป็นอามิสบูชาเช่นกัน

  ๒. ปฏิบัติบูชา คือ การบูชาด้วยการตั้งใจประพฤติปฏิบัติตามคำสอน ตามแบบอย่างที่ดีของท่าน เช่น พยายามกำจัดความโลภความโกรธ ความหลง ด้วยการให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา ตามคำสอนของท่านการปฏิบัติบูชานี้จัดเป็นการบูชาที่สูงสุด เพราะเป็นวิธีที่ทำให้กาย วาจา ใจ ของเราใสสะอาดเป็นบัณฑิตตามท่านได้โดยเร็ว

    พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เป็นบุคคลผู้ควรบูชาทั้งโดยฐานะ คือเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ทั้งความทุ่มเทในการศึกษาธรรมะและปฏิบัติธรรมอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน รวมทั้งข้อวัตรปฏิบัติและมโนปณิธานที่จะนำพาสรรพสัตว์ให้พ้นจากบ่วงมาร ท่านจึงได้รับการยกย่องจากศิษยานุศิษย์ผู้เคารพรักและศรัทธาในฐานะของ “มหาปูชนียาจารย์พระผู้ปราบมาร ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย”

   บางท่านอาจมีความเห็นว่า การยกย่องบูชามหาปูชนียาจารย์ของเหล่าศิษยานุศิษย์ดูจะสูงส่งและเกินความพอดีไป แต่แท้จริงแล้วการยกย่องบูชาหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญของเหล่าศิษยานุศิษย์ เกิดจากการตระหนักถึงคุณค่าของท่านในฐานะที่เป็นพระสาวกผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และทุ่มเททำหน้าที่เป็นทนายแก้ต่างให้พระพุทธศาสนาตลอดมา สมดังความตั้งใจของท่านในวันปรารภความเพียรเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อปฏิบัติธรรม และตั้งจิตอธิษฐานว่า “ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดข้าพระพุทธเจ้าทรงประทานธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้อย่างน้อยที่สุดแลง่ายที่สุด ที่พระองค์ได้ทรงรู้แล้วแก่ข้าพระพุทธเจ้า ถ้าข้าพระพุทธเจ้ารู้ธรรมของพระองค์แล้วเป็นโทษแก่ศาสนาของพระองค์ขอพระองค์อย่าทรงพระราชทานเลย ถ้าเป็นคุณแก่ศาสนาของพระองค์แล้ว ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานแก่ข้าพระองค์ ข้าพระองค์รับเป็นทนายศาสนาในศาสนาของพระองค์ไปจนตลอดชีวิต” และนับแต่วันที่ท่านรู้เห็นธรรมแล้ว ท่านก็ทำหน้าที่ดังความตั้งใจของท่านมาจนตลอดชีวิต

  การที่คณะศิษย์ตระหนักในคำสอนและคุณธรรมความดีแห่งการเป็นต้นแบบในการสร้างความดีตลอดชีวิตในพระพุทธศาสนาของหลวงปู่วัดปากน้ำนี้เอง จึงทำให้จิตใจถูกยกระดับให้สูงส่งขึ้น และมีแรงบันดาลใจในการดำเนินรอยตามเส้นทางการสร้างความดีที่ท่านเคยชี้แนะไว้ เช่น การสั่งสมบุญด้วยการทำอามิสบูชา อาทิ ถวายพวงมาลัย ดอกไม้ของหอม ทำบุญบูชาธรรมในนามของท่าน หรือการสั่งสมบุญด้วยการปฏิบัติบูชา โดยการตั้งใจนั่งสมาธิทุกวัน และทำให้พิเศษมากขึ้นในวันสำคัญต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับท่าน

    การบูชาเช่นนี้จัดว่าเป็นการบูชาบุคคลผู้ควรบูชา เป็นการผูกใจไวกับคุณธรรมความดีของผู้ควรบูชา ทำให้เราได้ยกระดับจิตใจขึ้นจนกระทั่งนำเอาคุณธรรมคำสอนของท่านมาประพฤติปฏิบัติได้จริง

การบูชาเช่นนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า “เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ” เป็นมงคลอันสูงสุด


 


วิชา GB 102 สูตรสำเร็จการพัฒนาตนเอง
รายละเอียดการเรียนประจำเทอม ๒/๒๕๕๙
ปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๙
สัมมนารายวิชาพุทธวิธีพัฒนานิสัย ๘-๙ ตุลาคม ๒๕๕๙
สัมมนารายวิชาความรู้พื้นฐานทางพระพุทธศาสนา ๑๖, ๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๙

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล