ฉบับที่ ๑๘๘ เดือนสิงหาคม ๒๕๖๑

หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๓๗)

บทความพิเศษ
เรื่อง : นวธรรมและคณะนักวิจัย DIRI

 

หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ
(ตอนที่ ๓๗)

สมาธิ : ทางรอดวิกฤตติดถ้ำ

    ในช่วงหลายสัปดาห์มานี้ข่าวคราวเกี่ยวกับการเข้าช่วยเหลือนักฟุตบอลเยาวชนและโค้ชของทีมฟุตบอล “หมูป่าอะคาเดมี” ที่ติดอยู่ใน “ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน” จ. เชียงรายนั้นได้กลายเป็นข่าวที่โด่งดังไปทั่วโลก มีสำนักข่าวระดับโลกจำนวนมาก เช่น CNN, The Australian, Vox, ABC News, BBC News, The Guardian หรือหนังสือพิมพ์ชื่อดังของประเทศเยอรมนีอย่าง Bild และอีกหลายสำนัก รวมทั้งสื่อมวลชนกว่า ๑,๓๐๐ คน ได้เข้ามาร่วมนำเสนอปรากฏการณ์มหัศจรรย์อันเกิดจากสมาธิในพระพุทธศาสนาในครั้งนี้กันอย่างตื่นตาตื่นใจ ซึ่งนอกจากก่อให้เกิดปรากฏการณ์เรื่อง “ความสามัคคีระดับโลก” เกิดความร่วมแรงร่วมใจกันในการเข้าช่วยเหลือเด็ก ๆ อย่างเต็มที่เต็มความสามารถแล้ว ยังได้ก่อให้เกิดกระแสความสนใจเกี่ยวกับสมาธิและการปฏิบัติธรรมเพิ่มขึ้นอย่างกว้างขวางทั่วโลก


ภาพข่าวจากสำนักข่าวทั่วโลกที่นำเสนอเรื่องการนั่งสมาธิ
ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการรอดชีวิตของทีมหมูป่า


        โดยที่จุดเริ่มต้นความสนใจนั้นเกิดจากการที่นายเอกพล จันทะวงษ์ “โค้ชเอก” ครูฝึกของทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี ซึ่งติดอยู่ในถ้ำหลวงพร้อมกับเด็ก ๆ นานถึง ๑๐ วัน แต่ก็สามารถประคับประคองดูแลเด็ก ๆ ทั้ง ๑๒ คนให้ปลอดภัย มีชีวิตรอดอยู่ได้ ด้วยการใช้หลักของความเอาใจใส่ ความอดทนความเสียสละ และการนำความรู้จากการทำ “สมาธิ” มาใช้ช่วยชีวิตของเด็ก ๆ ได้อย่างมหัศจรรย์ โดยฝึกให้เด็กนั่งสมาธิ เคลื่อนไหวให้น้อยลง เพื่อใช้พลังงานในร่างกายให้น้อยที่สุด และเมื่อเด็ก ๆ กระหายน้ำ โค้ชเอกก็สอนให้เด็ก ๆ ดื่มน้ำที่หยดลงมาจากหินงอกหินย้อยแทนการดื่มน้ำที่ท่วมอยู่ในบริเวณพื้นถ้ำ เพื่อต่อสู้กับความหิวและสร้างพลังใจให้ตนเอง ซึ่งนับว่าสิ่งที่โค้ชเอกสอนให้กับเด็ก ๆ นั้น ได้ผลอย่างดียิ่ง และสร้างความอัศจรรย์ใจแก่ชาวโลกในเวลาต่อมา ทั้งนี้เทคนิคที่แสนพิเศษนี้ เป็นเทคนิคที่โค้ชเอกเคยศึกษาเรียนรู้มาตลอด ๘ พรรษาของการบวชเป็นสามเณรและพระภิกษุในพระพุทธศาสนา (ซึ่งแม้แต่ อ.อดัม แบรดชอว์อาจารย์สอนภาษาอังกฤษชื่อดังยังกล่าวถึงเหตุการณ์นี้ด้วยความแปลกใจ ที่เด็ก ๆ ในทีมหมูป่าอะคาเดมีทุกคนต่างอยู่ในอาการสงบนิ่งไม่ตื่นตระหนกเมื่อเจอนักดำน้ำชาวอังกฤษที่ได้ไปพบเป็นกลุ่มแรก ทั้ง ๆ ที่เด็กต่างติดอยู่ในถ้ำมานานถึง ๑๐ วันแล้ว) ก็ยิ่งทำให้วงการวิทยาศาสตร์และการปฏิบัติสมาธิต่างตื่นตัว และหันกลับมาทบทวนการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับคุณค่าของสมาธิกันอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี1 ซึ่งด้วยกระแสความตื่นตัวนี้ได้ทำให้หลาย ๆ โรงเรียนในสหรัฐอเมริกาต่างนำคุณค่าของสมาธิมาประยุกต์เข้ากับการสอนเด็ก ๆ ด้วย


ภาพครูบาบุญชุ่มกำลังทำ “มุทราสรณคมน์”
(ภาพจาก Facebook : We Are Tai)


ทีมหมูป่าอะคาเดมีแม่สาย
ทีมฟุตบอลเยาวชน จ.เชียงราย

(source : https://web.facebook.com/eakatol)


โค้ชเอกในขณะที่บวชเป็นพระภิกษุ
(source : https://web.facebook.com/eakatol)


     ไม่เพียงแต่เท่านั้น แม้แต่กรณีของท่านครูบาบุญชุ่ม พระเกจิอาจารย์ชื่อดังจากรัฐฉาน ประเทศเมียนมา บุคคลสำคัญอีกท่านหนึ่งที่มีส่วนในการช่วยเหลือน้อง ๆเยาวชนกลุ่มนี้ ตัวท่านเองก็มีประวัติของการเป็นพระอาจารย์ที่เคยปฏิบัติธรรมอยู่ในสาย “โบราณกรรมฐาน” สายปฏิบัติแบบเร้นลับที่สืบทอดกันมานับพันปี ดังที่ในทางวิชาการเรียกว่า “Esoteric Southern Buddhism” หรืออีกชื่อหนึ่ง คือ Tantric Theravada ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากท่านพระอุปคุต พระผู้ปราบมารในยุคสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช โดยเฉพาะการทำ “มุทราสรณคมน์” ที่ท่านครูบาบุญชุ่มได้เคยปฏิบัติสืบมาเป็นเวลานาน


ภาพการทำสัญลักษณ์หรือ "มุทรา" จากคัมภีร์พุทธโบราณ (Pelliot Chinois 3835)
ที่ค้นพบที่ถ้ำตุนหวง มีอายุราวพันปี


     ทั้งนี้ องค์ความรู้ในเรื่องโบราณกรรมฐานดังกล่าวนั้น มีปรากฏมาเป็นเวลานานนับพันปีแล้วในดินแดนตะวันออกหรือเอเชียอาคเนย์ ตัวอย่างเช่น ในการค้นพบคัมภีร์โบราณในถ้ำตุนหวงที่ประเทศจีน ก็มีชุดความรู้ที่ช่วยยืนยันความเก่าแก่ของท่าทางการทำ “มุทราสรณคมน์” (แบบเดียวกับที่ท่านครูบาบุญชุ่มปฏิบัติ) ได้เป็นอย่างดี ซึ่งโดยความหมายของการทำ “มุทราสรณคมน์” ดังกล่าวนี้ มีความลึกซึ้งเป็นอย่างมาก เพราะโดยความหมายแล้วก็คือ “การขอให้พระไตรสรณคมน์นั้นช่วยปกปักรักษาภยันตรายและความหวาดกลัวต่าง ๆ” ซึ่งนับว่าสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ณ ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนเป็นอย่างดี

        อนึ่ง สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งเกี่ยวกับการประกอบพิธีกรรมบางอย่างของท่านครูบาบุญชุ่มนั้น มีคำถามเกิดขึ้นว่าเป็นพิธีกรรมในพระพุทธศาสนาหรือไม่ ซึ่งข้อเท็จจริงก็คือ จากการศึกษาของนักวิชาการทางพระพุทธศาสนา รวมทั้งนักวิจัยของสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) เอง ได้พบว่าลักษณะของพิธีกรรมบางอย่าง เช่นการเป่าสังข์ การเดาะกลอง การสวดมนต์ตลอดจนการทำมือแบบมุทรานั้น มีความคล้ายคลึงกับวิธีปฏิบัติของพระภิกษุทิเบตเป็นอย่างมาก ทั้งนี้เนื่องมาจากวิธีปฏิบัติเหล่านี้ได้รับการพัฒนามาจากวิธีของท่านพระอุปคุตผู้เป็นปฐมาจารย์ผู้ให้กำเนิดนิกายสรวาสติวาท อันเป็นต้นธารของพระพุทธศาสนานิกายวัชรยานของทิเบตนั่นเอง


ภาพจาก Facebook ของโค้ชเอก เอกพล
จันทะวงษ์ ในกิจกรรมที่เคยพาทีมหมูป่าอะคาเดมี
แม่สาย เข้าไปนั่งสมาธิในถ้ำ

(source : https://web.facebook.com/eakatol)


      ข้อที่น่าศึกษายิ่งไปกว่านั้นก็คือ พระพุทธศาสนานิกายสรวาสติวาทนั้น ปรากฏว่าเคยเป็นนิกายที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง เป็นพระพุทธศาสนากระแสหลักของดินแดนแถบอินเดียภาคกลางและภาคเหนือโบราณ รวมทั้งในแถบเอเชียกลางมาก่อนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคของ พระเจ้ากนิษกะแห่งราชวงศ์กุษาณะ นั้น ก็ถือว่าได้ให้การยกย่องพระพุทธศาสนานิกายนี้มาก่อนเป็นเวลานาน ดังนั้นอาจไม่เป็นที่น่าแปลกใจว่า เพราะเหตุใดจึงไม่เป็นที่รู้จักคุ้นเคยของชาวพุทธในประเทศไทยปัจจุบัน ทั้งนี้ก็อาจเนื่องมาจากชาวพุทธไทยในปัจจุบันห่างเหินต่อการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาแบบโบราณของโลกที่แพร่หลายอยู่ดินแดนต่าง ๆ มาเป็นเวลานาน กอปรกับการได้รับอิทธิพลของการปฏิรูปคำสอนใหม่ในพระพุทธศาสนาที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ยุครัตนโกสินทร์ในบางช่วงเวลาด้วย2


ดร.เฮอร์เบิร์ต เบนสัน (Herbert Benson, M.D.)
ศาสตราจารย์ด้านอายุรศาสตร์
แห่งโรงเรียนแพทย์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

(source : www.thewholehealthlife.com)


      อย่างไรก็ดี การเกิดกระแสความสนใจในการปฏิบัติสมาธิอย่างกว้างขวางทั่วโลกจากเหตุการณ์นี้ ควรถือเป็นปรากฏการณ์ที่พิเศษยิ่ง เพราะถือว่าเป็นการเปิดช่องทางขององค์ความรู้ด้านโบราณกรรมฐานให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้นในระดับสากล ซึ่งไม่เพียงแต่องค์ความรู้ที่เกี่ยวกับ “หลักการสูงสุด” ของการปฏิบัติธรรมดังที่เราเคยทราบกันในสังคมไทยเท่านั้นหากแต่อาจจะก่อให้เกิดการศึกษาอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้นในด้านของวิธีปฏิบัติให้มากขึ้นอีกด้วย ซึ่งควรนับว่าเป็นผลดีต่อภาพรวมของพระพุทธศาสนาอย่างแน่นอน แต่จากกรณีนี้ไม่เพียงแต่ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางพระพุทธศาสนาเท่านั้นที่ต่างหันกลับมาให้ความสนใจต่อกระแสการตื่นตัวนี้ หากแต่บรรดาแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ และนักการสาธารณสุข ฯลฯ ต่างก็พุ่งความสนใจมาที่ปรากฏการณ์นี้โดยทั่วถึงกัน บุคคลหลากหลายกลุ่มต่างตั้งประเด็นการศึกษาว่า “เพราะเหตุใดสมาธิจึงสามารถรักษาชีวิตของเด็ก ๆ และเยาวชนกลุ่มนี้ไว้ได้” เช่น ที่คณะแพทย์จากมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ดอธิบายไว้ว่า “การนำวิธีการปฏิบัติสมาธิเข้ามาใช้ในการแก้ปัญหาในสถานการณ์เช่นนี้ได้ (คือการลดการใช้พลังงานในส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย การรักษาใจให้สงบนิ่ง) นั้น เห็นได้ชัดว่ามีส่วนอย่างมากที่ทำให้จังหวะการเต้นของหัวใจทำงานช้าลง ทำให้การหายใจและการเผาผลาญพลังงานต่าง ๆ ลดลง ร่างกายสามารถใช้ออกซิเจนน้อยลงในการหมุนเวียนโลหิต ซึ่งมีผลทำให้ร่างกายประหยัดพลังงาน” ซึ่งนั่นก็หมายความว่า สมาธินั้นเป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างยิ่งในการใช้ชีวิต ในการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้คน ซึ่งหากมีการศึกษาอย่างเป็นระบบแล้ว ย่อมสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างกว้างขวางแน่นอน

     โดยสรุปแล้วประเด็นเรื่องของสมาธิและการฝึกจิตนั้น จึงถือได้ว่าเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับโลกและความมีสันติสุขของโลกอย่างมาก ซึ่งเราควรให้ความสำคัญในการศึกษาและทำความเข้าใจต่อไปอย่างกว้างขวางและลึกซึ้ง ในที่นี้สำหรับสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) เองนั้น ถือว่าพันธกิจนี้เป็นเรื่องที่สำคัญที่จะต้องดำเนินการให้ก้าวหน้าและกว้างขวางต่อไป (โดยเฉพาะในขณะนี้ที่นักวิจัยของสถาบันหลายท่านกำลังศึกษาค้นคว้าในเรื่องนี้อยู่อย่างต่อเนื่อง) ทั้งนี้ จากกรณีนี้ทำให้เราได้เห็นว่า “ปริมณฑลของความรู้” ในเรื่องของสมาธิในพระพุทธศาสนาไม่ว่าจะนิกายใดนั้น ก็ยังเป็นสิ่งที่ทุกคนในโลกต้องร่วมแรงร่วมใจกันศึกษาให้กระจ่างต่อไป เพื่ออนาคตที่ผาสุกร่วมกัน
ขอเจริญพร (อ่านต่อฉบับหน้า)

 

 


1 จากกรณีนี้มีการอ้างอิงผลการวิจัยของ ดร.เฮอร์เบิร์ต เบนสัน ศาสตราจารย์ด้านอายุรศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่ยืนยันว่าจิตที่เป็นสมาธิจะสามารถควบคุมกลไกต่าง ๆ ในร่างกายได้ และร่างกายของผู้ที่อยู่ในสมาธิจะใช้พลังงานน้อยมาก ทั้งนี้จากการศึกษาทดลองมาอย่างต่อเนื่องกว่า ๓๐ ปี ทำให้พบอีกว่าการทำสมาธิทำให้อัตราการเต้นของหัวใจช้าลง ความดันโลหิตลดลง คลื่นสมองช้าลงและมีความเป็นระเบียบมากขึ้นความตึงตัวของกล้ามเนื้อทั่วร่างกายลดลง รวมทั้งการเผาผลาญอาหารของร่างกายก็ลดลงด้วย

2 จากการศึกษาพบว่าแต่ดั้งเดิมมานั้น สังคมไทยมีโลกทัศน์และชีวทัศน์ที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาแบบเดียวกันมาตั้งแต่หลังจากที่พระโสณะและพระอุตตรเถระได้นำพระพุทธศาสนาเข้ามาเผยแผ่ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๓๔ นั่นก็คือเรื่องการดับทุกข์และการดับกิเลส การเว้นการเบียดเบียนกัน การใช้หลักกุศลกรรมบถ ๑๐ เป็นแกนหลักในการจรรโลงสังคม เรื่องนรกสวรรค์และพระนิพพาน แต่ในยุคกลางของสมัยรัตนโกสินทร์ โลกทัศน์และชีวทัศน์ที่มีต่อพระพุทธศาสนาเริ่มถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นแบบเหตุผลนิยมหรือแนวคิดเชิงประจักษ์มากขึ้น ทำให้ความคิดความเชื่อบางอย่างในพระพุทธศาสนาถูกลดทอนลงไป (สุภาพรรณ ณ บางช้าง, พุทธธรรมที่เป็นรากฐานสังคมไทยกอ่ นสมัยสุโขทยั ถึงกอ่ นการเปลี่ยนแปลงการปกครอง, กรุงเทพมหานคร : โครงการเผยแพร่ผลงานวิจัย ฝ่ายวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๓๕, หน้า ๑๗.)

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล