ฉบับที่ ๑๙๙ เดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๒

ย้อนอดีต...ท่องประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ตอนที่ ๑๙ พระอัครสาวกคู่พระบารมี และการประกาศธรรมที่ดังกว่าการเปล่งวาจา

อ่านอดีต ขีดอนาคต
เรื่อง : พระมหาพงศ์ศักดิ์ ฐานิโย, ดร.

 

ย้อนอดีต...ท่องประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา

ตอนที่ ๑๙ : พระอัครสาวกคู่พระบารมี และการประกาศธรรมที่ดังกว่าการเปล่งวาจา

      พระเจ้าจักรพรรดิย่อมต้องมีขุนพลแก้วคู่พระทัยฉันใด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ย่อมมีพระอัครสาวกคู่พระบารมีฉันนั้น พระอัครสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าแต่ละพระองค์ย่อมบังเกิดขึ้นด้วยปณิธานอันแรงกล้า ที่จะรับภาระงานพระศาสนาเคียงคู่บารมีธรรมของพระศาสดา แม้ในพระศาสนาของพระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ ก็บังเกิดมีพระอัครสาวกเช่นกัน คือ “พระสารีบุตร” (อุปติสสะ) และ “พระโมคคัลลานะ” (โกลิตะ)

       เดิมทีพระอัครสาวกทั้งสองได้ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ในสำนักของปริพาชกนามว่า “สญชัย” หรือ “สัญชัย” โดยมีศิษย์อีก ๒๕๐ ท่านร่วมด้วยกับท่านทั้งสอง วันหนึ่งขณะที่ “พระสารีบุตร” ซึ่งยังเป็นปริพาชกอยู่นั้น ได้พบกับ “พระอัสสชิ” หนึ่งในพระปัญจวัคคีย์ผู้สดับฟังปฐมเทศนา “ธัมมจักกัปปวัตนสูตร” จากพระพุทธองค์ “พระสารีบุตร” ได้สังเกตอาการอันน่าเลื่อมใสของ “พระอัสสชิ” มีใจความที่น่าสนใจว่า...

        “สารีบุตรปริพาชกได้เห็นท่านพระอัสสชิกำลังเที่ยวบิณฑบาตอยู่ในกรุงราชคฤห์ มีกิริยาก้าวไป ถอยกลับ แลดู เหลียวดู คู้เข้า เหยียดออก น่าเลื่อมใส มีจักษุทอดลง ถึงพร้อมด้วยอิริยาบถ... ถ้ากระไรเราพึงเข้าไปหาภิกษุนี้” (วิ.มหา. ๔/๖๐/๗๒ แปล.มจร)

       ในที่สุดเมื่อ “พระสารีบุตร” ได้เข้าไปสดับฟังธรรมจาก “พระอัสสชิ” ผู้เป็นพระอรหันต์ จึงบังเกิดดวงตาเห็นธรรมที่ว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับไปเป็นธรรมดา” บรรลุเป็นพระโสดาบัน และเมื่อท่านได้ทำหน้าที่กัลยาณมิตรนำสิ่งที่ “พระอัสสชิ” แสดงแก่ท่าน ไปแสดงต่อ “พระโมคคัลลานะ” ผู้เป็นสหาย จนได้บรรลุเป็นพระโสดาบันเช่นเดียวกัน จึงเป็นเหตุให้ท่านทั้งสองและบริวาร ๒๕๐ ท่านไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า และพระพุทธองค์ได้พยากรณ์ถึงความเป็น “พระอัครสาวก” ของท่านทั้งสองท่ามกลางมหาสมาคมก่อนที่ท่านทั้งสองจะเดินทางมาถึงเวฬุวนารามเสียอีก

        จากเหตุการณ์ที่ “พระสารีบุตร” ได้พบเห็น “พระอัสสชิ” ดังกล่าวนี้ เป็นเครื่องยืนยันถึงคุณสมบัติสำคัญประการหนึ่งที่พุทธบริษัทพึงมีในการทำหน้าที่กัลยาณมิตรและการเผยแผ่ธรรม คือ อากัปกิริยาที่เรียบร้อย เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธา ทั้งภายนอกและภายใน ครั้งหนึ่งหลวงพ่อธัมมชโยได้เมตตาให้แนวทางในการออกไปทำหน้าที่เผยแผ่ในต่างประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่ปรากฏในพระวินัยปิฎกนี้ว่า “เมื่อเราออกไปทำหน้าที่ในต่างแดน เราจะอยู่ในสายตาของมนุษย์และเทวาโดยที่เราไม่รู้ตัว และเมื่อเรามีอากัปกิริยาที่น่าเลื่อมใส กอปรกับธรรมะภายใน ก็จะเป็นเหตุให้ผู้คนในถิ่นนั้นหันเข้ามาศึกษาธรรมะกับเรา” เมื่อทำได้เช่นนี้ เราจึงเป็นดั่ง กระบอกเสียงประกาศธรรมเคลื่อนที่ โดยที่ยังไม่มีวาจาออกจากปากแม้คำเดียว

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล