ฉบับที่ ๒๐๖ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๖๓

ย้อนอดีต...ท่องประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา (ตอนที่ ๒๖)

อ่านอดีต ขีดอนาคต
เรื่อง : พระมหาพงศ์ศักดิ์ ฐานิโย, ดร.

 

ย้อนอดีต...ท่องประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา (ตอนที่ ๒๖)


ตอนที่ ๒๖ : ความอัศจรรย์ของสังเวชนียสถาน

             ภายหลังจากพระพุทธองค์ทรงปลงอายุสังขาร ณ ปาวาลเจดีย์ พระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ได้เสด็จไปตามลำดับจนถึงสาลวันของพวกเจ้ามัลละ อันเป็นทางเข้ากรุงกุสินารา ณ ที่แห่งนั้น พระพุทธองค์ได้ตรัสถึง สังเวชนียสถาน ดังใจความใน มหาปรินิพพานสูตร ที่ว่า

             “อานนท์ สังเวชนียสถาน ๔ แห่งนี้เป็นสถานที่ที่กุลบุตรผู้มีศรัทธาควรไปดู ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ผู้มีศรัทธาจะมาดู ด้วยระลึกว่า ‘ตถาคตประสูติในที่นี้’ ... ว่า ‘ตถาคตได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในที่นี้’ ... ว่า ‘ตถาคตประกาศธรรมจักรอันยอดเยี่ยมในที่นี้’ ... ว่า ‘ตถาคตได้เสด็จดับขันธปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุในที่นี้’

               อานนท์ ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งจาริกไปยังเจดีย์จักมีจิตเลื่อมใส ตายไป ชนเหล่านั้นทั้งหมดหลังจากตายแล้วจะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์” (ที.มหา. ๑๐/๒๐๒/๑๕๑ แปล.มจร)

            สังเวชนียสถานทั้ง ๔ แห่งนี้ กล่าวคือ สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงพระปฐมเทศนา และปรินิพพาน นั่นเอง โดยทั่วไปเมื่อเราเห็นคำว่า สังเวช ในภาษาไทย มักจะเป็นความหมายที่สื่อไปในทางลบ เช่น สมเพช สงสาร หดหู่ แต่แท้ที่จริงแล้ว คำว่า สังเวช ในภาษาบาลียังมีอีกความหมาย คือ พรั่งพร้อมกำลังใจ (สํ+เวค) ดังนั้น คำว่า สังเวชนียสถาน นอกจากจะหมายถึง ถิ่นสถานที่ทำให้เกิดความสลดใจ ยังหมายถึง ถิ่นสถานที่ทำให้เกิดกำลังใจอันพรั่งพร้อม อีกด้วย เพราะแม้พระพุทธองค์ผู้เพียบพร้อมด้วยพระพุทธคุณ ๙ ประการ ก็ยังไม่อาจหลีกพ้นจากความตาย (ดับขันธปรินิพพาน) ไปได้ ไฉนเลยปุถุชนเช่นเราจะสามารถหลีกหนีไปได้ เมื่อความสลดใจดังกล่าวได้เกิดขึ้นแล้ว ย่อมทำให้เกิดกำลังใจในการสั่งสมคุณงามความดีและความไม่ประมาทในการดำเนินชีวิตอีกด้วย

              นอกจากนี้ สังเวชนียสถานทั้ง ๔ แห่ง ยังเป็นสถานที่รวมตัวและรวมใจของพุทธบริษัท อันจะทำให้เกิดความเจริญใจ เปรียบประดุจราวกับได้เข้าเฝ้าต่อหน้าพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ยากที่จะมีสถานที่ใดในโลกที่ประกอบด้วยความสลดสังเวชใจ ควบคู่ไปกับการเกิดกำลังใจในการสั่งสมคุณงามความดีอันไม่มีประมาณในเวลาเดียวกัน จึงนับเป็นความอัศจรรย์อีกประการของสังเวชนียสถานทั้ง ๔ แห่งในพระพุทธศาสนา

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล