ฉบับที่ ๒๐๗ เดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๖๓

พลิกชีวิตเด็กน้อยติดเกม เปลี่ยนจากเด็กที่ Say No มาเป็นสามเณรที่ Say Yes

สัมภาษณ์พิเศษ
เรื่อง : นานา
ภาพ : ครูอ้อย cute cat และภาพนิ่ง

 

พลิกชีวิตเด็กน้อยติดเกม
เปลี่ยนจากเด็กที่ Say No มาเป็นสามเณรที่ Say Yes


“จากเด็กที่เคยติดเกมเเละติดเพื่อน ไม่เคยคิดจะบวช
กลับกลายมาเป็นสามเณรนักเผยแผ่
ประจำหมู่กุฏิสามเณรเปรียญธรรม!!!”

        สามเณรฉัตรธรรม เค้ามาก หรือ สามเณรโป้ง ได้เข้ามาบวชเป็นสามเณร ณ วัดพระธรรมกาย ปีนี้เป็นปีที่ ๖ เเล้ว สามเณรเล่าว่า ในอดีตเคยเป็นเด็กติดเกม เเละติดเพื่อนมาก ๆ มาก่อน เเต่เมื่อได้มีโอกาสมาบวชเป็นสามเณรภาคฤดูร้อนทำให้สามเณรมีชีวิตที่เปลี่ยนไป


ก่อนมาบวชเป็นอย่างไรบ้าง ?
        ช่วงที่ขึ้นชั้น ป.๖ ตอนอายุ ๑๒ ขวบ ก่อนบวชเป็นเด็กเกเรมาก ติดเพื่อน ติดเกมเล่นจนไม่ได้หลับได้นอนเลยครับ และชอบไปนอนค้างบ้านเพื่อนมากกว่าบ้านตัวเองเสียอีกเพราะคิดว่าเพื่อนสำคัญมากกว่าครอบครัว ช่วงนั้นไม่ฟังโยมพ่อโยมเเม่ เเละมองว่าท่านเป็นคนขี้บ่น จุกจิก ทำให้สามเณรรู้สึกหงุดหงิด แม้ตอนนั้นสามเณรจะมีอายุเเค่ ๑๒ ขวบ เเต่ก็ทำตัวเหมือนผู้ใหญ่ เป็นเด็กที่โตเกินวัย คำพูดคำจาบ่งบอกว่าเป็นคนมีความมั่นใจในตัวเองสูง เพราะอยากให้เพื่อนยอมรับ

       พอปิดเทอมภาคฤดูร้อน โยมพ่อโยมเเม่ก็อยากให้มาบวชมาก เพราะไม่อยากให้อยู่กับเพื่อนมาก เเต่สามเณรไม่อยากบวชเลย เพราะอยากอยู่กับเพื่อนจริง ๆ นั่นเเหละครับ ก็เลยไปแอบสมัครเรียนพิเศษไว้เพื่อจะได้เป็นข้ออ้างเลี่ยงการบวช เเต่ท้ายที่สุดโยมพ่อโยมเเม่ท่านก็จัดการยกเลิกการเรียนพิเศษ แล้วพาสามเณรมาสมัครบวชจนได้

        ช่วงเข้าโครงการแรก ๆ สามเณรต่อต้านทุกอย่าง ทำตัวเเบบเซ็ง ๆ อยู่ไปวัน ๆ จนกระทั่งวันหนึ่งพระอาจารย์ท่านเทศน์สอนเรื่องพระคุณพ่อเเม่ ทำให้สามเณรได้คิดว่า เเท้จริงเเล้วโยมพ่อโยมเเม่มีพระคุณมากทั้งหมดที่โยมพ่อโยมแม่ทำไปก็เพราะปรารถนาดีกับลูกล้วน ๆ จึงเริ่มยอมรับการอบรมของโครงการมากขึ้น

        หลังจากใจเปิดเเล้วก็รู้สึกดี ประกอบกับสามเณรได้รับมิตรภาพจากเพื่อน ๆ ที่มาอบรมด้วยกัน ทำให้เปลี่ยนพฤติกรรมกลายเป็นคนละคน ชีวิตในโครงการก็เริ่มมีความสุขมากขึ้น และได้อยู่อบรมจนกระทั่งจบโครงการ

         พอถึงวันสุดท้ายของการอบรม พระอาจารย์ประกาศรับสมัครผู้ที่จะบวชต่อ สามเณรก็สมัครเลย เพราะรู้สึกชอบชีวิตแบบนี้แล้วครับ ซึ่งทำให้โยมพ่อโยมเเม่ประหลาดใจมากปัจจุบันสามเณรบวชได้ ๖ พรรษาเเล้ว


การปรับตัวจากเด็กที่มีความเป็นอยู่ที่สุขสบายมาใช้ชีวิตเป็นสามเณรยากไหม ?
        ในช่วงเเรก ๆ ที่มาอยู่เป็นสามเณรยอมรับว่ายากครับ เพราะว่าชีวิตไม่สะดวกสบายเหมือนกับที่อยู่บ้าน อยู่วัดต้องนอนพื้นเเข็ง ๆ ไม่ได้นอนห้องเเอร์ อีกทั้งการมาเป็นสามเณรที่วัดพระธรรมกาย เราต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบและวินัยต่าง ๆ ดังคำขวัญที่ว่า สามเณรดี มีวินัย ใฝ่ศึกษา เทศนาแกล้วกล้า ค้นคว้าวิชชาธรรมกาย มุ่งไปสู่เป้าหมายถึงที่สุดแห่งธรรม

       ดังนั้น เราจึงถูกฝึกเรื่องความเป็นอยู่ร่วมกัน ทำอะไรก็ต้องทำเป็นทีมพร้อมเพรียงกัน เช่น ต้องตื่นเเละเก็บที่นอนตั้งเเต่ตีสี่ครึ่ง เพื่อมาสวดมนต์ทำวัตรเช้า เเละจำวัดพร้อมกันในเวลาไม่เกิน ๒๒.๐๐ น. เวลาฉันภัตตาหารหรือปานะก็ฉันเป็นเวลาพร้อม ๆ กัน การสรงน้ำต้องสรงเป็นเวลา สิ่งเหล่านี้พอทำบ่อย ๆ ต่อมาก็ทำได้ไม่ยากเพราะกลายเป็นนิสัยของเราไปเเล้ว


        นอกจากนี้ เรายังถูกฝึกเรื่องความสามัคคีของหมู่คณะ คือ ถ้ามีใครทำผิด สามเณรทั้งรุ่นต้องได้รับบทฝึกพิเศษทั้งหมด สิ่งนี้เเฝงการสอนเรื่องความรับผิดชอบต่อหมู่คณะ ไม่เพิกเฉยเมื่อเราเห็นเพื่อนกำลังทำผิด เราต้องเตือนเพื่อนด้วยจิตเมตตา มิเช่นนั้นเเม้เราไม่ได้ทำเเต่เราต้องได้รับบทฝึกพิเศษไปด้วยกัน นี้คือการฝึกการดูเเลกันในทางที่ถูกที่ควรเเละทำให้เรารักกันมากยิ่งขึ้น


ต้องเรียนไหม เรียนอะไรบ้าง ?
        สามเณรนวกะจะได้ไปเรียนที่อาคาร ๑๐๐ ปีฯ เรียนนักธรรม ตั้งเเต่นักธรรมตรี โท เเละเอก วิชาที่เราจะต้องเรียนอีก คือ วิชาภาษาบาลี ซึ่งเป็นภาษาที่บันทึกคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอาไว้ในพระไตรปิฎก ภาษาบาลีเป็นภาษาที่ตายเเล้ว เป็นภาษาที่ดิ้นไม่ได้ เมื่อได้เรียนรู้หลักไวยากรณ์ต่าง ๆ เเละคำศัพท์บาลีต่าง ๆ ทีนี้เราก็สามารถไปอ่านพระไตรปิฎกได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการเผยเเผ่ต่อไปในอนาคต ในฐานะที่เราเป็นนักบวช


นอกจากเรียนแล้วต้องทำอะไรอีกบ้าง ?
      นอกจากเรียนเเล้วยังต้องรับบุญของหมู่คณะไปด้วย บางครั้งมีบุญพิเศษกะทันหันก็ได้อาศัยกำลังของสามเณรที่เเข็งเเรง เเคล่วคล่อง ว่องไว ไปช่วยให้งานสำเร็จมาเเล้วหลายงาน เช่น งานตักบาตรทุกวันอาทิตย์ต้นเดือน วันเสาร์ก็จะไปปูผ้ากระสอบ จัดเก้าอี้เป็นร้อย ๆ ตัว ถึงเเม้จะเหนื่อย เเต่สามเณรก็ชอบบุญนี้ เพราะถือว่าเป็นการเรียนรู้การจัดงาน เช่น การตักบาตรทำอย่างไร การเตรียมเก้าอี้ การอัญเชิญพระประธาน การจัดดอกไม้ต้องทำอย่างไร ซึ่งถ้าเราได้ทำกับเพื่อน ๆ สามเณรด้วยกันยิ่งสนุกครับ


มีเป้าหมายอย่างไรในการบวช ?
        เราบวชเพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง อีกทั้งสามเณรยังชอบการเผยเเผ่เป็นพิเศษ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ซึ่งเป็นปีเเรกที่เข้ามาบวช สามเณรมีโอกาสเป็นตัวเเทนกล่าวสุนทรพจน์ขณะนั้นอายุแค่ ๑๓ ขวบเอง ตอนเเรกก็รู้สึกกลัว เเต่อยากรับบุญนี้มากจึงฝึกนานกว่า ๓ เดือน และฝึกหนักมาก เเต่ก็คุ้มค่ามาก รู้สึกภูมิใจเหลือเกินที่เราเป็นเพียงสามเณรตัวเล็ก ๆ เเต่ได้พูดในสิ่งที่ยิ่งใหญ่ต่อหน้าคนจำนวนมากมายที่สภาธรรมกายสากล ต่อจากนั้นสามเณรก็ได้เป็นตัวเเทนของหมู่คณะในการกล่าวสัมโมทนียกถาหลายงาน เพราะมีใจรักการเทศน์สอนอยากให้คนฟังเข้าใจ ได้รู้เเบบที่เราอยากจะสื่อสารออกไป เช่น เราอยากให้ญาติโยมรู้ธรรมะผ่านการเทศน์สอน อยากให้เขาเข้าใจพระพุทธศาสนา เเละเข้าวัดมาศึกษาธรรมะกันมาก ๆ ซึ่งไอดอลของสามเณรในการเทศน์สอนก็คือ หลวงพ่อทั้งสอง พระอาจารย์อารักษ์ ญาณารกฺโข  พระอาจารย์สุวิทย์ ธมฺมิกมุนิ นอกจากนี้สามเณรยังมีความสามารถด้านการจัดพิธีกรรมและเป็นสามเณรพิธีกรในรายการศิษย์พันธุ์แท้คุณครูไม่เล็ก อีกทั้งเคยเป็นผู้จัดงานอำลาสามเณรพี่เลี้ยง เเละจัดทำสื่อวิดีโอทบทวนบุญกฐินให้เจ้าภาพที่มาทำบุญที่ศูนย์ปฏิบัติธรรมอุทัยเเสงให้ได้ปลื้มอกปลื้มใจกันด้วยครับ


อยากฝากบอกอะไรเด็ก ๆ และเยาวชนชายไหม ?
      อยากเชิญชวนน้อง ๆ มาบวชสามเณรภาคฤดูร้อนกันเยอะ ๆ นะครับ สามเณรเชื่อว่าโครงการอบรมสามเณรสามารถเปลี่ยนเเปลงผู้บวชให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้นได้ อย่างน้อย ๆ เราก็จะได้รู้จักบุญคุณของพ่อเเม่มากขึ้น นอกจากนี้เราจะได้ฝึกตัวให้เป็นคนรักความสะอาดมีระเบียบวินัย การพูดจา บุคลิกภาพต่าง ๆ ก็จะพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น เเละได้เรียนรู้หลักในการดำเนินชีวิตที่สามารถนำไปใช้ได้หลังจากจบโครงการครับ


"อยากเชิญชวนน้อง ๆ มาบวชสามเณรภาคฤดูร้อนกันเยอะ ๆ
นะครับ สามเณรเชื่อว่า โครงการอบรมสามเณร
สามารถเปลี่ยนเเปลงผู้บวชให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้นได้
อย่างน้อย ๆ เราก็จะได้รู้จักบุญคุณของพ่อเเม่มากขึ้น"

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล