ฉบับที่ ๒๐๗ เดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๖๓

ย้อนย้อนอดีต...ท่องประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ตอนที่ ๒๗ : สังเวชนียธรรม...ความแตกต่างบนความเหมือน

อ่านอดีต ขีดอนาคต
เรื่อง : พระมหาพงศ์ศักดิ์ ฐานิโย, ดร.

 

ย้อนอดีต...ท่องประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา

ตอนที่ ๒๗ : สังเวชนียธรรม...ความแตกต่างบนความเหมือน

            ขึ้นชื่อว่า มนุษย์ ทุกผู้ทุกนามย่อมไม่อาจก้าวล่วง ความตาย ไปได้ แม้ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐยิ่งเฉกเช่นพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ยังมิอาจก้าวล่วงไปได้ ณ ปาวาลเจดีย์ กรุงเวสาลี ภายหลังจากพระพุทธองค์ทรงปลงอายุสังขาร พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเรียกพระภิกษุทั้งหลาย ตรัสบอกถึงความที่พระองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพานในอีก ๓ เดือน และตรัสพุทธภาษิตเป็นคาถาดังนี้ว่า

“มนุษย์ทุกคนไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่ โง่ ฉลาด มั่งมี และยากจน ล้วนต้องตาย
ชีวิตของสัตว์เปรียบเหมือนภาชนะดินที่ช่างหม้อปั้นแล้ว
เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง สุกบ้าง ดิบบ้าง ซึ่งล้วนมีความแตกสลายเป็นที่สุด
วัยของเราแก่หง่อม ชีวิตของเราเหลือน้อย เราจะจากพวกเธอไป
เราทำที่พึ่งแก่ตนแล้ว พวกเธอจงอย่าประมาท มีสติ มีศีลบริสุทธิ์
มีความดำริมั่นคงดี รักษาจิตของตนไว้ ผู้ที่ไม่ประมาทอยู่ในธรรมวินัยนี้
ละการเวียนว่ายตายเกิดแล้ว จักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้”

(ที.มหา. ๑๐/๑๘๕/๑๓๑-๑๓๒ ไทย.มจร)


       พุทธภาษิตนี้ชี้ชัดถึงกฎธรรมชาติที่ยังไม่มีใครสามารถก้าวล่วงได้ เป็นสิ่งที่ทุกผู้ทุกนามต้องมีเสมอเหมือนกัน นั่นคือ การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ เสื่อมสลายไป แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่เหมือนกัน ต่างกันด้วยข้อวัตรปฏิบัติ ต่างกันด้วยคติที่ไป นั่นคือ ใครทำที่พึ่งให้แก่ตนเองได้ และ ใครทำที่พึ่งให้แก่ตนเองไม่ได้ นี่คือความแตกต่างบนความเหมือน สำหรับวิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งที่พึ่งนั้น พระพุทธองค์ท่านก็ตรัสไว้แล้วในพุทธภาษิตนี้ คือ ๑. ไม่ประมาท ๒. มีสติ ๓. มีศีล ๔. มีดำริมั่น (ในหนทางพระนิพพาน) ๕. รักษาจิตของตน (ให้ตั้งมั่นและผ่องใส) เมื่อเป็นเช่นนี้ ย่อมกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้

           สังเวชนียสถาน เป็นสถานที่ที่ประกอบด้วยความสลดสังเวชใจ ควบคู่ไปกับการเกิดกำลังใจในการสั่งสมคุณงามความดีอันไม่มีประมาณในเวลาเดียวกัน ฉันใด สังเวชนียธรรม ย่อมเป็นธรรมที่แสดงให้เห็นถึงกฎธรรมชาติอันน่าสลดสังเวชใจในเรื่องการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ เสื่อมสลายไปของตนเอง ควบคู่ไปกับการเกิดกำลังใจในการกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในเวลาเดียวกัน ฉันนั้น


 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล