ฉบับที่ ๒๐๘ เดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๖๓

หลักฐานธรรมกาย ในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๕๖)

บทความพิเศษ
เรื่อง : นวธรรมและคณะนักวิจัย DIRI

 

หลักฐานธรรมกาย ในคัมภีร์พุทธโบราณ
(ตอนที่ ๕๖)

คัณฑวยูหสูตรแปล : หลักฐานธรรมกายชิ้นล่าสุดที่โลกควรภาคภูมิใจ

       ดังได้ทราบกันอยู่แล้วว่า ในปีนี้ (พุทธศักราช ๒๕๖๓) ถือเป็นปีที่สำคัญอีกปีหนึ่งของเหล่าศิษยานุศิษย์คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ครูผู้สืบสานวิชชาธรรมกาย เพราะปีนี้เป็นวาระครบ ๑๑๑ ปี ของคุณยายอาจารย์ฯ และยังเป็นวาระครบ ๕๐ ปีของวัดพระธรรมกายไปพร้อมกัน ซึ่งโอกาสที่เกิดขึ้นได้ยากนี้ ทำให้ตลอดช่วงเดือนที่ผ่านมาสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) พยายามรวบรวมและคัดกรองผลงานคุณภาพชิ้นสำคัญ ๆ มาเผยแพร่และแสดงไว้ในนิทรรศการที่อาคาร ๑๐๐ ปี คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ขนนกยูง มาจนถึงเวลานี้

     หนึ่งในผลงานที่สถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) ได้นำเสนอครั้งนี้ มีอยู่ชิ้นหนึ่ง ซึ่งต้องถือว่าเป็น “ชิ้นโบแดง” ไม่น้อยไปกว่าชิ้นอื่น ๆ ก็คือ หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์คัณฑวยูหสูตร ซึ่งเป็นพระสูตรที่บันทึกความสำคัญของกัลยาณมิตรภายนอกผู้ชักนำชี้บอกหนทางแห่งการบรรลุธรรมกาย และประคับประคองให้ดำเนินอยู่บนเส้นทางการสร้างบารมีให้ได้ตลอดรอดฝั่ง โดยไม่เบี่ยงเบนออกนอกลู่นอกทาง เพื่อให้พบกับกัลยาณมิตรภายในอันได้แก่พระธรรมกาย

       ความมหัศจรรย์ของพระสูตรนี้ (คัณฑวยูหสูตร) คือ เป็นพระสูตรที่แต่งด้วยภาษาสันสกฤต ซึ่งเป็นภาษาอินเดียโบราณ ที่ชาวพุทธในประเทศอินเดียโดยเฉพาะทางตอนเหนือของประเทศใช้สำหรับบันทึกคำสอนของพระพุทธศาสนา และคัมภีร์นี้เป็นคัมภีร์ขนาดใหญ่จัดอยู่ในกลุ่มของคัมภีร์ “มหาไวปุลยสูตร” (ฉบับดั้งเดิมน่าจะแต่งขึ้นในระหว่างปี พ.ศ. ๘๐๐-๙๐๐) โดยพระสงฆ์ที่มีความเชี่ยวชาญทั้งทางปริยัติและปฏิบัติ ซึ่งน่าจะเคยศึกษามาจากนาคารชุนโกณฑะ นอกจากนี้ยังมีฉบับแปลภาษาจีน1 ภาษาทิเบต ต้นฉบับภาษาสันสกฤตอักษรรัญชนา (ใช้เขียนแพร่หลายในประเทศเนปาลและทิเบต) นอกจากนี้ยังได้รับการบันทึกไว้ในรูปแบบพิเศษคือบันทึกด้วยภาพแกะสลักนูนต่ำที่บุโรพุทโธ ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งจัดเป็นคัณฑวยูหสูตรในรูปแบบคัมภีร์ไร้ตัวอักษรแห่งแรกของโลกทีเดียว


คัมภีร์คัณฑวยูหสูตรภาษาสันสกฤตอักษรรัญชนา เขียนด้วยหมึกดำ
(ขอขอบคุณห้องสมุดมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ)


          เนื้อหาของพระสูตรนั้น เป็นเรื่องราวของบุตรเศรษฐีคนหนึ่งชื่อสุธน ได้ไปฟังธรรมจากพระโพธิสัตว์มัญชุศรีกุมารภูติ ในคราวนั้นเขาได้ตั้งความปรารถนาอนุตรสัมมาสัมโพธิ (คือปรารถนาความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า) และได้รับคำแนะนำจากพระโพธิสัตว์มัญชุศรีกุมารภูติให้เดินทางไปแสวงหากัลยาณมิตรจำนวน ๕๓ คน เพื่อถามถึงวิธีปฏิบัติเพื่อการบรรลุความเป็นพระพุทธเจ้า ในบรรดากัลยาณมิตรเหล่านั้นมีพระโพธิสัตว์ ๔ พระภิกษุและภิกษุณี ๘ เศรษฐีและคหบดี ๑๑ อุบาสกอุบาสิกาผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ๔ ทาส ๑ พระราชา และขุนนาง ๖ เทวดา ๑๓ นักบวชนอกศาสนา ปริพาชก ฤาษี พราหมณ์ ๖

       บุคคลเหล่านี้แตกต่างกันด้วยฐานะทางสังคม อาชีพการงาน เพศภาวะ และภพภูมิแม้จะมีความแตกต่างกันอย่างยิ่ง แต่ทั้งหมดนี้ก็ได้ชื่อว่าเป็นกัลยาณมิตรเหมือนกันทุกคน เพราะทำหน้าที่สำคัญคือชักชวนให้เกิดความคิดที่จะเข้าถึงความรู้ภายใน ให้คำตอบ ชี้แนะสั่งสอน ประคับประคอง ให้กำลังใจให้สุธนเศรษฐีบุตรดำเนินไปตามทางการปฏิบัติจนในที่สุดได้พบกับกัลยาณมิตรคนสุดท้ายซึ่งเป็นกัลยาณมิตรภายใน ได้แก่ พระธรรมกายภายในที่มีความใส บริสุทธิ์ หมดจด ปราศจากกิเลส เป็นกายที่สมบูรณ์ ประกอบด้วยลักษณะมหาบุรุษเป็นกายที่ปรากฏขึ้นแล้วสามารถเข้าไปรู้แจ้งเห็นแจ้งสิ่งที่ยังไม่รู้ไม่เห็น เป็นกายที่เห็นแล้วทำให้เข้าถึงบุญ เข้าถึงความบริสุทธิ์ มีกำลังดุจพระโพธิสัตว์มหาสัตว์ที่มีปณิธานจะช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้พ้นจากสังสาร และเป็นกายที่เข้าถึงได้ด้วยการปฏิบัติสมาธิ เข้าถึงดวงใส เข้าถึงพระพุทธเจ้าภายใน ซึ่งต้องได้กัลยาณมิตรคอยประคับประคอง และเมื่อเข้าถึงกัลยาณมิตรภายในคือพระธรรมกายภายในแล้ว ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้เข้าถึงความบริสุทธิ์หมดจดล้วน ๆ สมกับคำว่า กัลยาณมิตร (ภายใน) คือ ที่สุดของพรหมจรรย์ หรือพระธรรมกายภายใน คือ ทั้งหมดของพรหมจรรย์

     จากเนื้อหาโดยย่อที่กล่าวมานี้ คัณฑวยูหสูตรจึงมีความหมายตรงตัวว่า กายที่ประเสริฐที่สุด ในพระสูตรปรากฏคำว่า ธรรมกาย (สันกฤต: ธรฺมกาย) อยู่หลายตำแหน่ง นอกจากนี้ยังมีคำที่เป็นไวพจน์ของธรรมกาย เช่น ธรรมสรีระหรือวยูหะ เช่น


กาโย หิ เต ธรฺมศรีรครฺภะ          จิตฺตํ จ เต ชฺญานมยํ อสงฺคมฺ
สมนฺต โอภาสปฺรภาสิตา         ตฺวมาโลกุ โลเก ชนยสฺยนนฺตมฺ
  (p.302)
กายของท่านเป็นที่อยู่ของธรรมสรีระ (ธรรมกาย) และใจของท่านสำเร็จด้วยปัญญา
มีสภาวะปราศจากกิเลส ท่านผู้มีรัศมีสว่างไสวโดยรอบจะเป็นแสงสว่างของชาวโลก


...สรฺวพุทฺธปูรณปฺรณิธานมณฺฑลปริปูรยิตุกามะ สรฺวพุทธรูปกายํ
ทฺรษฏุกามะ สรฺวพุทฺธธรฺมกายํ ปรินิษฺปาทยิตุกามะกายํ
สรฺวพุทฺธธรฺมชญานกายํ ปริชฺญาตุกามะ สรฺวโพธิสตฺตวจรฺยามณฺฑลํ ปริโศธยิตุกามะ สรฺว

(เรา) ต้องการจะทำปณิธานมณฑลของพระพุทธเจ้าทั้งปวงให้บริบูรณ์
(เรา) ต้องการเห็นรูปกายของพระพุทธเจ้าทั้งปวง
(เรา) ต้องการเข้าถึงธรรมกายของพระพุทธเจ้าทั้งปวง...


      สิ่งที่น่าสนใจยิ่งก็คือ ในพระสูตรนี้ได้กล่าวถึงประสบการณ์ภายในที่มีความเหมือนกับประสบการณ์ภายในที่มหาปูชนียาจารย์ได้กล่าวไว้อย่างน่าพิจารณา เป็นต้นว่า

     ๑) เรื่องประสบการณ์ภายใน “เห็นดวงสว่าง เห็นองค์พระ และในองค์พระมีดวงสว่าง”เทียบกับประสบการณ์ของเทพธิดาประศาสนตรุตสาครวตี

             “ดูก่อนกุลบุตร เมื่อใจเราขยายกว้างขวาง ใสบริสุทธิ์ และเกลี้ยงเกลา เราเข้าถึง 'วยูหะ' ที่ทำลายไม่ได้ บริสุทธิ์ปราศจากกิเลสที่เป็นมลทินของโลก ใจของเราตั้งมั่นไม่ถอนถอยออกจากอารมณ์ของวิโมกข์ที่ใสบริสุทธิ์ มั่นคง นิ่งแน่นเหมือนภูเขาแก้ว อิสระ ไม่ถูกกิเลสผูกยึดไว้ เราเกิดความรักและความสงสาร (เมตตา กรุณา) อยากจะช่วยเหลือสรรพสัตว์”

            “เรามีความสุขใจ ยินดี พอใจ ในการมองดูทะเลพระพุทธเจ้าจำนวนมากมาย ไม่มีที่สิ้นสุด ใจของเราใสหมดจด ใจมีกำลัง นิ่งแน่นอยู่กับสติที่มีความสว่างไสวที่เกิดขึ้นจากมหาญาณเกิดความรู้สึกอยากจะช่วยสรรพสัตว์ให้พ้นจากทุกข์โศกและความลำบาก... ดูก่อนกุลบุตรเมื่อเราปล่อยใจลงสู่รูปกายที่ใสบริสุทธิ์ อจินไตย ประกอบด้วยลักษณะมหาบุรุษของพระผู้มีพระภาคเจ้าไวโรจนะ ปีติใหญ่เกิดขึ้นท่วมท้นใจของเรา”

       “...เมื่อเรามองดู ดวงสว่าง แสงสว่างเกิดขึ้น ขยายออกไปถึง 'ธรรมธาตุ' ตลอดต่อเนื่องทุกขณะจิต ...มหาปีติแรงกล้าก็เกิดขึ้นทับทวี”

   “...ในสมาธิที่มีกำลังเร็วแรง เราเข้าถึงพระพุทธเจ้าที่ปรากฏขึ้นมากมายเหมือนท้องมหาสมุทร...ในพระพุทธเจ้าจำนวนมากมายนั้น เราเข้าถึงแสงสว่าง...ในความสว่างเกิดดวงญาณที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในกาลทั้งสามขึ้น”


        ๒) ประสบการณ์เกี่ยวกับภารกิจกับจิตใจต้องทำ ไปควบคู่กัน

         เช่น ตอนที่กล่าวว่า นางโคปาเป็นธิดาในศากยวงศ์ มีหญิงบริวาร ๘๔,๐๐๐ คน ทุกคนได้บรรลุธรรมกาย ได้วิโมกข์ มีบุพเพนิวาสานุสสติญาณ มีปกติเข้าถึงธรรมกายเป็นสมาธิสุธนถามว่า “เมื่อต้องมีชีวิตอยู่บนโลก จะทำอย่างไรจึงจะทำให้ธรรมกายมั่นคงและมีความบริสุทธิ์บริบูรณ์อย่างยิ่ง...”

      นางตอบว่า “เหตุทำให้มีธรรมกายบริสุทธิ์บริบูรณ์ ต้องมีกัลยาณมิตรคอยช่วยเหลือจำนวนมาก เป็นประการสำคัญอันดับแรก...ต้องมีดวงบุญใหญ่ และมีดวงปัญญากว้างขวางติดแน่น เป็นต้น...”


       ๓) การนึกถึงพระพุทธเจ้าให้ได้ตลอดเวลาเป็นการรักษาใจ หรือการคุ้มครองใจ (นอกรอบ) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ได้อยู่ร่วมกับกัลยาณมิตรที่มีธรรมกายที่มีความใสบริสุทธิ์ยิ่ง “จะต้องทำ 'จิตนคร' ให้รุ่งเรืองสว่างไสวด้วยการได้โอภาสที่เกิดขึ้นจากการระลึกถึงพระพุทธเจ้าให้ได้ตลอดเวลา” ประโยคนี้สะท้อนให้เห็นถึงคำสอนของมหาปูชนียาจารย์ว่า สิ่งแวดล้อมที่ดีมีผลต่อการเข้าถึงพระธรรมกาย การมีกัลยาณมิตรผู้ประพฤติธรรม เข้าถึงธรรมแวดล้อม ทำให้เราได้เข้าถึงพระธรรมกาย

 
        ๔) พระธรรมกายภายในเป็นกายที่มีความบริสุทธิ์
และทุกคนจะต้องเข้าถึงให้ได้

        “เราได้บรรลุธรรมกายที่มีความบริสุทธิ์ หาที่สุดไม่ได้... และรูปกายมีความบริสุทธิ์อย่างยิ่ง สามารถที่จะปรากฏในโลกอื่นได้ทั้งสิ้น ปรากฏให้รู้ได้ตามอัธยาศัยของชาวโลก เข้าถึงได้ในทุกที่ กว้างขวางไปถึงพุทธเกษตรทั้งสิ้น... เป็นกายที่ชาวโลกทั้งมวลจะพึงเห็นได้”

          ประโยคนี้แสดงว่า พระโพธิสัตว์สมันตภัทรที่พูดว่า เราคือผู้ที่เป็นธรรมกาย และพูดถึงพระธรรมกายที่มีลักษณะมหาบุรุษ มีความบริสุทธิ์บริบูรณ์อย่างยิ่ง และเป็นกายที่ชาวโลกผู้ไม่มีที่พึ่งจะต้องเข้าถึงให้ได้ และเมื่อเข้าถึงแล้วย่อมมีพระธรรมกายเป็นที่พึ่ง

      “เมื่อสุธนทำจิตให้เป็นสมาธินิ่งจนเห็นบุพนิมิตและแสงสว่าง เขาได้เห็นกายพระโพธิสัตว์สมันตภัทรปรากฏชัดเหมือนอยู่ต่อหน้า นั่งบนอาสนะดอกบัวอยู่เบื้องหน้าของพระผู้มีพระภาคเจ้าไวโรจนะอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า”

        ข้อความนี้แสดงให้เห็นว่าสุธนนั่งสมาธิจึงได้เห็นกายของพระโพธิสัตว์และพระพุทธเจ้านั่งอยู่ด้วยกัน กายทั้งสองนี้คือพระธรรมกาย ที่เป็นกายพระพุทธเจ้า เป็นกายที่ทำความเป็นพระพุทธเจ้า

        “ผู้ที่จะเห็นกายของเรามีเพียงพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ที่อยู่ในภูมิสูงเท่านั้น” ประโยคนี้แสดงให้เห็นว่ากายนี้มองเห็นได้ด้วยธรรมจักษุซึ่งเป็นจักษุของพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ในภูมิสูง ไม่ใช่เห็นด้วยมังสจักษุที่เป็นตาเนื้อ ซึ่ง “สุธนวางใจที่กายของพระโพธิสัตว์สมันตภัทร เมื่อเห็นกายชัดใสบริสุทธิ์แล้ว ทำให้เขาเห็นทะเลของพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นมากมาย...”

        ประโยคนี้สรุปได้ว่า เมื่อเข้าถึงกายใสบริสุทธิ์ของพระโพธิสัตว์ ก็จะเห็นกายของพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นจำนวนมาก


           ในตอนท้ายของการแปล ผู้แปล (คืออุบาสิกาประสงค์ สมน้อย) นั้น ได้อธิบายสรุปว่าการเห็นธรรมกายภายในที่บริสุทธิ์แล้ว ทำให้ผู้เข้าถึงเห็นบุญ (กุศลมูล) เกิดขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่สอดคล้องตรงกันกับำสอนของมหาปูชนียาจารย์ว่า การได้เห็นพระธรรมกายภายในที่ใสสว่างแม้เพียงเวลาสั้น ๆ แค่ช้างกระดิกหู งูแลบลิ้น ก็ได้บุญมากกว่าการสร้างโบสถ์สร้างวิหารมีอานิสงส์มากยิ่งกว่าการได้เห็นกัลยาณมิตรทั้ง ๕๓ คน และบุญที่ได้สั่งสมมาในอดีตนับอสงไขยไม่ถ้วน แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่ผู้แปลได้สรุปไว้อย่างชัดเจนผ่านงานแปลชิ้นนี้ก็คือพระสูตรนี้เป็นเครื่องยืนยันที่ชัดเจนอีกอันหนึ่งว่า เรื่องราวของธรรมกายนั้นเป็นเรื่องราวที่มีอยู่จริง หลักฐานของการกล่าวถึงการเข้าถึงดวงใสก็ดี การเข้าถึงองค์พระธรรมกายก็ดี ตลอดจนวิธีการเข้าถึงพระธรรมกายก็ดี ล้วนเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง มิได้เป็นของใหม่หรือลัทธิใหม่แต่อย่างใดเลย ในทัศนะของผู้แปลแล้ว พบว่าในระหว่างการทำงานแปลงานชิ้นดังกล่าวนี้ ผู้แปลได้ศึกษาและพิจารณาบริบทโดยละเอียดตลอดเวลา ทำให้สัมผัสได้ว่า การเรียบเรียงพระสูตรนี้จากยุคโบราณนั้นจะต้องเป็นไปด้วยความซาบซึ้ง และสัมผัสกับคุณค่าจากการปฏิบัติอย่างมาก ที่แม้แต่ผู้แปลเองก็สามารถรู้สึกได้ เป็นเสมือนการรับทอดเอามรดกจากชาวพุทธในยุคโบราณมาถึงชาวพุทธในยุคปัจจุบัน

        อนึ่ง ในระหว่างการนำเสนอพระสูตรนี้อยู่นั้น มีเรื่องที่น่ายินดีเกิดขึ้นอีกอย่างหนึ่งในเวลาใกล้กันคือ ตัวของท่านผู้แปลเองนั้นได้อยู่ในระหว่างการเตรียมสอบบาลีศึกษา ๙ ซึ่งก็เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าเป็นการสอบที่ยากที่สุดของวงการศึกษาพระบาลี และถือว่าเป็นการก้าวสู่ระดับสูงสุดแล้วในการศึกษา โดยผู้แปล (อุบาสิกาประสงค์ สมน้อย) นักวิจัยของสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) ท่านนี้ ก็มีความตั้งใจเตรียมตัวสอบไปพร้อม ๆ กับการแปลพระสูตร (คัณฑวยูหสูตร) ซึ่งในที่สุดแล้วผลก็ออกมาว่า เธอสามารถสอบผ่านบาลีศึกษา ๙ ได้เป็นผลสำ เร็จ และได้เป็นบาลีศึกษา ๙ คนที่ ๘ ของวัดพระธรรมกาย และเมื่อแปลพระสูตรนี้แล้วเสร็จ จึงเท่ากับว่า เป็นบาลีศึกษา ๙ คนแรกของโลกที่แปลพระสูตรนี้จากภาษาสันสกฤตมาเป็นภาษาไทยในเชิงวิชาการไปพร้อมกัน ถือเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งพอดีกับในวาระแห่งการบูชาธรรมในโอกาสครบ ๑๑๑ ปี วันคล้ายวันเกิดคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง และในโอกาสที่วัดพระธรรมกายครบ ๕๐ ปี ในปีพุทธศักราช ๒๕๖๓ นี้ ทางสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) จึงขอแสดงมุทิตาจิตและมอบผลแห่งความสำเร็จนี้เป็นความสำเร็จของหมู่คณะและถวายเป็นกตัญญูบูชาธรรมแด่มหาปูชนียาจารย์ไปในวาระโอกาสเดียวกันนี้ด้วย


ขอเจริญพร

 

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล