ฉบับที่ ๒๐๙ เดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๓

วิสาขบูชา วันประสูติ วันตรัสรู้ และวันปรินิพพาน

เรื่องจากปก
เรื่อง : พระมหาศุภณัฐ จนฺทชโย ป.ธ.๙

 

วิสาขบูชา
วันประสูติ วันตรัสรู้ และวันปรินิพพาน


       ราว ๘ ศตวรรษแล้ว ที่พระพุทธศาสนาแผ่ขยายจากประเทศศรีลังกาเข้ามายังดินแดนสยามหรือที่ปัจจุบันเรียกว่า “ประเทศไทย” ทำให้บรรพบุรุษชาวสยามสมัยนั้นรู้จักและเก็บรับเอาความรู้อันประเสริฐของพระพุทธองค์มาปรับใช้พัฒนาตนเองตามแนวทางที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนไว้ และผ่านการจารจารึก ทรงจำ บอกต่อ กระทั่งสามารถสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นมาจนถึงปัจจุบันนี้ ดังนั้นในฐานะที่พวกเราชาวไทยได้ชื่อว่าเป็น “พุทธมามกะ” ผู้รับช่วงต่อในการธำรงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนา จึงจำเป็นที่เราจะต้องศึกษาเรื่องราวของพระพุทธองค์และพระธรรมคำสอนให้กระจ่างชัด เพื่อขจัดความไม่รู้ในใจตน และสามารถแถลงไขความฉงนในใจของประชุมชนเหล่าอื่นได้ ให้สมกับที่พระบรมศาสดาทรงสั่งสมอบรมบ่มบารมีมาอย่างยาวนาน จนกระทั่งตรัสรู้ธรรมใน “วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖” หรือ “วันวิสาขบูชา” ซึ่งนับเป็นวันแห่งชัยชนะของพระพุทธองค์ที่มาบรรจบพบกันในวันที่จันทร์เพ็ญลอยเด่นเสวยวิสาขฤกษ์พร้อมกันทั้ง ๓ กาล คือ วันประสูติ วันตรัสรู้ และวันปรินิพพาน


     โดยชัยชนะประการแรก พระองค์ทรงได้ความสมบูรณ์พร้อมแห่งอัตภาพความเป็นมนุษย์ ด้วยลักษณะมหาบุรุษครบถ้วนทั้ง ๓๘ ประการ พร้อมทั้งอนุพยัญชนะ ๘๐ ประการ ณ สวนลุมพินีวัน ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์และกรุงเทวทหะ เพื่อเป็นนิมิตหมายอันเป็นสิริมงคลว่า พระองค์จะได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในอนาคตกาลอีก ๓๕ พรรษา


    ชัยชนะประการที่สอง พระองค์ทรงได้กำจัดตัดมูลรากแห่งกิเลสที่สถิตอยู่มาช้านาน ให้มลายสิ้นไปจากใจของพระองค์เอง ตรัสรู้ธรรม คือ ความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ (อริยสัจ ๔) เข้าถึงความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมทั้งมีพระมหากรุณาโปรดเหล่าเวไนยสัตว์ให้สามารถดับความไม่รู้ในใจตน บรรลุธรรมตามแนวทางที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอน และดำเนินเป็นแบบอย่างไว้แล้วตลอดระยะเวลา ๔๕ พรรษา


  ชัยชนะประการสุดท้าย พระองค์ทรงละจากภาชนะดินคือกายมนุษย์อันเป็นรังแห่งโรคทั้งหลาย ตัดวังวนกงเกวียนแห่งการเวียนว่ายในทะเลทุกข์ คือ ภพ ๓ ขณะมีพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา ณ ป่าไม้สาละ กรุงกุสินารา โดยประทานโอวาทเป็นเครื่องเตือนใจพระภิกษุสงฆ์ และพุทธบริษัททั้งหลายให้เป็นผู้ไม่ประมาทรีบเร่งสั่งสมบุญบารมีและเจริญจิตภาวนาเป็นครั้งสุดท้ายก่อนดับขันธปรินิพพานว่า “ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนพวกเธอว่าสังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา พวกเธอจงทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด” (สํ.ส. (ไทย) ๑๕/ ๑๘๖/ ๒๕๙)

    ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ วันวิสาขบูชาจึงนับเป็นวันสำคัญอย่างยิ่งที่พวกเราพุทธศาสนิกชนจะต้องตระหนักและประพฤติปฏิบัติตามปฏิปทาที่พระพุทธองค์ทรงวางรากฐานไว้ โดยในปี พ.ศ. ๒๕๖๓ นี้ วันวิสาขบูชาตรงกับวันพุธที่ ๖ เดือนพฤษภาคม แต่สถานการณ์ในปัจจุบันมีการแพร่กระจายของโรคระบาด อันเป็นเหตุให้การที่พุทธศาสนิกชนจะไปร่วมกิจกรรมงานบุญวันวิสาขบูชาตามวัดวาอารามต่าง ๆ ดังเช่นปีที่ผ่าน ๆ มา อาจจะต้องปรับเปลี่ยนไป แต่ดวงใจของพวกเราที่จะตามระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระพุทธองค์จะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ดังนั้นวัดพระธรรมกาย จ.ปทุมธานี จึงจัดกิจกรรมงานบุญทางไกลส่งตรงถึงใจของยอดนักสร้างบารมีทุกท่านผ่านทางสถานี GBN (Global Buddhist Network) ในหลายช่องทางด้วยกัน ทั้งเว็บไซต์ (Website) เฟซบุ๊ก (Facebook) และยูทูบ (YouTube) เป็นอาทิ ด้วยปรารถนาให้ยอดนักสร้างบารมีทุกท่านสามารถหลอมรวมใจปฏิบัติบูชาตามแบบอย่างพระบรมศาสดาของเราในวันแห่งชัยชนะของพระองค์ สมดังพุทธศาสนสุภาษิตที่มาใน อรรถกถาแห่งพระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ว่า

      “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การบูชา ๒ อย่างนี้ ๒ อย่างเป็นไฉน คือ อามิสบูชา ๑ ธรรมบูชา ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การบูชา ๒ อย่างนี้แล ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาการบูชา ๒ อย่างนี้ ธรรมบูชาเป็นเลิศ” (องฺ.ทุก.อ. (ไทย) ๓๓/ ๔๐๑/ ๔๘๔)


  ด้วยประการดังกล่าวมานี้ เราท่านทั้งหลายจึงจะได้ชื่อว่าดำเนินตามรอยบาทของพระบรมศาสดาอย่างแท้จริง และพระสัทธรรมทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ที่พระพุทธองค์ทรงค้นพบและนำมาเผยแผ่แก่สรรพสัตว์ก็จะดำรงสืบต่อไปได้อีกนานแสนนาน ซึ่งแม้โลกเราทุกวันนี้จะยังไม่สว่างไปทั่วทุกหนระแหง แต่มั่นใจได้เลยว่า หากพวกเราท่านทั้งหลายยังคงผนึกหลอมรวมใจเหนียวแน่นอยู่เช่นนี้ ไม่ช้านานความมืดมิดจะพลันดับสลายไปสิ้น เพราะแม้ว่าท้องนภายามราตรีจะมืดมนสักเพียงไหน แต่ก็หามีวันใดที่ดวงตะวันจะไม่ฉายแสง ดังนั้น ความสว่างแห่งพระสัทธรรมจะต้องส่องสว่างยิ่ง ๆ ขึ้นไปอย่างแน่นอน ผู้เขียนและทีมงานจึงขออนุโมทนาบุญกับยอดนักสร้างบารมีทุกท่านมา ณ โอกาสนี้

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล