ฉบับที่ ๒๑๒ เดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๓

ย้อนอดีต...ท่องประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ตอนที่ ๓๑ พระบรมสารีริกธาตุ...ประจักษ์พยานการมีอยู่ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

อ่านอดีต ขีดอนาคต
เรื่อง : พระมหาพงศ์ศักดิ์ ฐานิโย, ดร.

 

ย้อนอดีต...ท่องประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา

ตอนที่ ๓๑ : พระบรมสารีริกธาตุ...ประจักษ์พยานการมีอยู่ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

            เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานลง ณ กรุงกุสินารา พระราชา มหากษัตริย์และพราหมณ์มหาศาล อันมี พระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร พระราชาแห่ง แคว้นมคธ เป็นต้น ต่างได้ส่งคณะทูตมายังกรุงกุสินารา เพื่อมุ่งหวังที่จะได้รับส่วนแบ่งพระ-บรมสารีริกธาตุ แต่ทว่า พวกเจ้ามัลละ ผู้ครองกรุงกุสินารา ต่างมีความเห็นพ้องกันว่า “พระผู้มีพระภาคปรินิพพานในเขตบ้านเมืองของเรา พวกเราจะไม่ให้ส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ” (ที.มหา. ๑๐/๒๓๖/๑๗๘ ไทย.มจร) สถานการณ์ ณ ที่แห่งนั้นในเวลานั้น คงทวีความตึงเครียดขึ้น เพราะต่างก็เอ่ยอ้างในสิทธิอันชอบธรรมที่จะพึงมีในพระบรมสารีริกธาตุว่า พระพุทธองค์ทรงเป็นกษัตริย์เช่นเดียวกับพวกตนบ้าง มีศักดิ์เสมอด้วยพราหมณ์ เป็นพระญาติบ้าง อีกทั้งยังมีความมั่นใจในแสนยานุภาพของตนเองอีกด้วย

              ในที่นั้นเอง โทณพราหมณ์ ได้เข้ามาเป็นผู้ประสานความปรองดองให้มีขึ้นแก่คณะทูต โดยได้กล่าววาจาอันเป็นเหตุเป็นผลกับหมู่คณะทูตเหล่านั้นว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย โปรด ฟังคำชี้แจงของข้าพเจ้าหน่อยหนึ่งเถิด พระพุทธเจ้าของพวกเราทรงถือหลักขันติธรรม ไม่ควรที่จะประหัตประหารกัน เพราะส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าผู้เป็นอุดมบุคคล ขอให้ทุกฝ่ายพร้อมใจกันแบ่งพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น ๘ ส่วน พระสถูปจะได้แพร่ กระจายไปยังทิศต่าง ๆ มีประชาชนจำนวนมาก ผู้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าผู้มีพระจักษุ” (ที.มหา. ๑๐/๒๓๗/๑๗๘ ไทย.มจร)

             ด้วยปิยวาจาและปฏิภาณอันชาญฉลาดของ โทณพราหมณ์ จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นเหตุ ที่ทำให้กองทัพของแว่นแคว้นทั้ง ๗ ที่กำลังจะกรีธาทัพเข้ามายังกุสินาราได้ยุติลง ต่างได้รับพระบรมสารีริกธาตุกลับไปยังแว่นแคว้นของตน เพื่อสร้างพระสถูปบรรจุและทำการฉลองต่อไป

                 เหตุการณ์สร้างพระสถูปเพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในครั้งนี้ สืบเนื่องไปถึงเหตุการณ์ ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอีกราว ๒ ศตวรรษเศษ นั่นคือ การสร้างพระสถูปของ พระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์องค์ที่ ๓ แห่งราชวงศ์โมริยะ (เมารยะ) จนเป็นเหตุให้เราท่านทั้งหลายได้ทอดทัศนาพระสถูปที่เก่าแก่ที่สุดในโลก คือ พระสถูปสาญจี ในรัฐมัธยประเทศของอินเดียในปัจจุบัน จริงอยู่ แม้พระพุทธองค์จะทรงให้พุทธบริษัทตั้งมั่นในพระธรรมวินัย ซึ่งถือเป็น ตัวแทนพระศาสดา แต่ถึงกระนั้น พระสถูป และ พระบรมสารีริกธาตุ ก็ยังมีความสำคัญในฐานะ เครื่องบ่งชี้ที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ในการยืนยันความมีอยู่จริงของพระผู้มีพระภาคเจ้า อีกด้วย

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล