ฉบับที่ ๒๑๔ เดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๓

ทำไมใคร ๆ จึงนิยมทำบุญทอดกฐิน ?

เรื่องจากปก
เรื่อง : ร.ลิ่วเฉลิมวงศ์


ทำไมใคร ๆ จึงนิยมทำบุญทอดกฐิน ?
 

6310_006.jpg

       เพราะการทอดกฐินเป็นบุญที่ทำแล้วได้บุญมาก อีกทั้งแต่ละวัดสามารถจัดทอดกฐินได้แค่ปีละครั้งเท่านั้น และที่สำคัญหลังเสร็จพิธีทอดกฐินแล้ว ยังได้รับอานิสงส์กฐินกันทั้งพระ ทั้งโยม ด้วยเหตุนี้คนโบราณจึงถึงกับปลูกฝังลูกหลานไว้ว่า ครั้งหนึ่งในชีวิตเราต้องเป็นประธานกองกฐินให้ได้ เพราะมีความเชื่อว่า การได้เป็นประธานจะทำให้ไปเกิดเป็นผู้นำคน มีบริวารมาก มั่งมีศรีสุข เจริญก้าวหน้าในชีวิต และบรรลุธรรมหมดกิเลสเข้านิพพานได้โดยง่าย...


6310_007.jpg

อานิสงส์อันโดดเด่นของการทำบุญทอดกฐิน ๕ ประการ

       คุณรู้ไหม..การทอดกฐินมีอานิสงส์ที่โดดเด่นเป็นพิเศษอย่างไร ? แล้วทำไมบรรพบุรุษปู่ย่าตายายของเราถึงชอบทำบุญเป็นประธานกฐินกันมาก ?


6310_008.jpg

         อานิสงส์ประการที่ ๑. การถวายกฐินทานถือเป็น “สังฆทาน” คือเป็นทานที่ถวายไม่เฉพาะเจาะจงกับพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ซึ่งถือว่าได้บุญมากกว่าการถวายทานแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียว และถ้าผู้ให้ทานให้ตามหลักสัปปุริสทาน* ด้วยแล้วก็จะยิ่งส่งผลให้เป็นผู้มั่งคั่ง ร่ำรวย มีโภคทรัพย์มาก มีรูปงาม มีบริวารอยู่ในโอวาท และทรัพย์สมบัติไม่สูญสิ้นจากภัยใด ๆ

         อานิสงส์ประการที่ ๒. ในชาติที่เรามีบุญบารมีเต็มเปี่ยมได้เกิดไปเจอพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และถ้าเราได้เกิดเป็นชาย พระองค์ก็จะประทานการบวชให้ ที่เรียกว่า “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” การบวชแบบนี้ไม่ได้บวชกันง่าย ๆ ไม่ใช่ใครคิดอยากบวชก็บวชได้ เพราะคนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงบวชให้นั้นต้องมีบุญบารมีที่สั่งสมมามากพอ โดยเฉพาะบุญกฐินทาน บุญถวายผ้าไตรจีวร และเคยตั้งจิตอธิษฐานมาด้วย ส่วนในกรณีที่เกิดเป็นหญิงก็จะได้ครอบครองเครื่องประดับที่สูงค่าที่สุดในยุคนั้น เช่น เครื่องประดับมหาลดาปสาธน์ เหมือนมหาอุบาสิกาวิสาขาที่สั่งสมบุญจากการถวายผ้าไตรจีวรมานับภพชาติไม่ถ้วน


6310_009.jpg

         อานิสงส์ประการที่ ๓. ไม่ว่าจะเกิดเป็นหญิงหรือชาย ก็จะได้ครอบครองเสื้อผ้าอาภรณ์เครื่องนุ่งห่มอันประณีต งดงามสง่า เพราะได้สร้างเหตุแห่งการถวายผ้าไว้ในพระพุทธศาสนา

        อานิสงส์ประการที่ ๔. จะมีผิวพรรณวรรณะงดงาม ละเอียด ผ่องใส สุขภาพผิวดี ดูสว่างมีออร่า ไม่เป็นโรคผิวหนัง ไร้สิวฝ้าจุดด่างดำ เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาของมหาชนทั้งหลาย

        อานิสงส์ประการที่ ๕. จะเป็นผู้ได้รับสมบัติตามกาล เพราะได้สร้างเหตุ คือ ทำบุญกฐินซึ่งเป็นบุญตามกาลเอาไว้ เช่น ถ้าปลูกผลไม้ก็จะได้ผลผลิตจำนวนมากตรงตามฤดูกาลนั้น ๆ หรือถ้าได้ทรัพย์สมบัติก็จะได้ตรงตามกาลที่จะใช้ เช่น ปรารถนาที่จะได้เงินมาลงทุนในวัยสร้างเนื้อสร้างตัวก็จะได้ตรงตามกาล ไม่ใช่ไปได้ตอนแก่ชราหรือตอนป่วยไข้ที่หมดเรี่ยวหมดแรงจนไม่สามารถใช้ทรัพย์นั้นได้เต็มที่แล้ว

 

 


*สัปปุริสทาน คือ การให้ทานแบบสัตบุรุษ คือ ให้ด้วยศรัทธา ให้ด้วยความเคารพ ให้ตามกาลอันควร ให้โดยมีจิตอนุเคราะห์ ให้โดยไม่กระทบตนและผู้อื่น

สรุปและเรียบเรียงจาก : • พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔ อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต ๘ สัปปุริสทานสูตร • อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ปุปผวรรคที่ ๔ เรื่องนางวิสาขา • อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ปัณฑิตวรรคที่ ๖ เรื่องพระมหากัปปินเถระ • พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๔ ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ ปิลินทวรรคที่ ๔๐ ปิลินทวัจฉเถราปทานที่ ๑ (๓๙๑) ว่าด้วยผลแห่งการถวายไทยธรรมอันสมควร

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล