ฉบับที่ ๒๑๖ เดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๓

หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๖๓)

บทความพิเศษ
เรื่อง : นวธรรมและคณะนักวิจัย DIRI

 

หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๖๓)

631215_039.jpg

๑๓๖ ปี พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) : ความจริงแท้ของหลักฐานธรรมกายที่ไร้กาลเวลา

(ต่อจากฉบับที่แล้ว)

        ในช่วงเดือนที่ผ่านมา เป็นห้วงเวลาของเทศกาลออกพรรษา มหากาลทาน สาธุชนพุทธบริษัทต่างอุปถัมภ์จับจองเป็นเจ้าภาพกฐิน ในแต่ละวัดที่สามารถรับกฐินได้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย และในปีนี้ แม้มีกระแสวิกฤต COVID-19 ก็ไม่สามารถปิดกั้นศรัทธาของสาธุชนได้ ดังเช่นที่วัดพระธรรมกายดันนีดิน เกาะใต้ ประเทศนิวซีแลนด์ มีเจ้าภาพจากหลายภาคพื้นฯ ปวารณาตั้งใจจะไปร่วมเป็นเจ้าภาพ “กฐินหนึ่งไม่มีสอง” เพื่อวัตถุประสงค์สนับสนุนพระธรรมทูตที่ปฏิบัติศาสนกิจในภาคพื้นโอเชียเนีย รวม ๑๐ วัด และ ๑ สถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) เพื่อสืบทอดอายุพระพุทธศาสนา วิชชาธรรมกาย ซึ่งเป็นการแสดงความกตัญญูบูชาธรรมแด่คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ผู้ให้กำเนิดวัดพระธรรมกายได้ ๕๐ ปี ในปีนี้ และเป็นวาระครบ ๑๑๑ ปีของท่าน และบูชาธรรมปีที่ ๑๓๖ ของพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ซึ่งนับว่าเป็นประวัติศาสตร์ เพราะถึงแม้หลายท่านไปร่วมงานไม่ได้ แต่มีการจัดพิธีทอดกฐินเชื่อมใจ ๒ แผ่นดิน ด้วยระบบ Online Real Time จนสำเร็จพิธีกรรม ถวายแด่คณะสงฆ์เป็นที่เรียบร้อย ณ ศูนย์กลางพิธีวัดพระธรรมกายดันนีดิน

          เหล่าผู้ใหญ่ใจดีที่เป็นเจ้าภาพอยู่ในเมืองไทยและภาคพื้นอื่น ๆ ต่างก็ปลื้มปีติกันถ้วนหน้า ที่ได้ร่วมพิธีกรรม ณ ห้องพุทธางกูร (ชพส.) วัดพระธรรมกาย ประเทศไทย ในวันเดียวกัน แม้เวลาต่างกัน (วันเสาร์ที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๓) ซึ่งกิจกรรมบุญดังกล่าวนี้เป็นกิจกรรมบุญใหญ่ที่มีอานิสงส์มาก ครอบคลุมความสำคัญของงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่สำคัญยิ่ง และส่งเสริมการสืบค้นวิจัยหลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณด้วย

        ในฉบับที่แล้ว ผู้เขียนได้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการรวบรวมผลงานการศึกษาค้นคว้าหลักฐานธรรมกายที่สืบค้นวิจัยต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปี โดยในช่วงต้นปีที่ผ่านมา สถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) ได้นำเอาผลงานทั้งหมดดังกล่าวมานำเสนอในรูปแบบการเสวนาทางวิชาการและจัดแสดงนิทรรศการเพื่อให้สาธุชนที่สนใจได้มาเข้าร่วมชมและรับฟัง นับได้ว่ากิจกรรมดังกล่าวมีสาธุชนให้ความสนใจเข้ามาร่วมงานจำนวนมาก ทำให้ได้ความรู้ ความเข้าใจ และมีความซาบซึ้งกับประวัติศาสตร์ของหลักฐานธรรมกายมากขึ้นด้วย ซึ่งคุณค่าและความสำคัญดังที่กล่าวมานี้มีความเชื่อมโยงไปสู่วาระอันสำคัญแห่งการครบรอบ ๑๓๖ ปี พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย ไปพร้อม ๆ กัน


631215_040.jpg

1.กัลยาณมิตรเจ้าภาพ "กฐินหนึ่งไม่มีสอง" ที่เมืองไทย ร่วมพิธีระบบ Online Real Time


631215_042.jpg

2.พิธีจัดขึ้นที่ห้องพุทธางกูร (ชพส.) วัดพระธรรมกาย ประเทศไทย


631215_041.jpg

3.เหล่ากัลยาณมิตรเจ้าภาพ "กฐินหนึ่งไม่มีสอง" ณ ศูนย์กลางพิธี วัดพระธรรมกายดันนีดิน ประเทศนิวซีแลนด์


631215_043.jpg

4.พระมหาขนบ สหายปญฺโญ, ดร. ป.ธ.๙ ผอ.หอพระไตรปิฎกนานาชาติ วัดชลประทานรังสฤษดิ์ จ.นนทบุรี
และคณะผู้บริหาร มาเยี่ยมชมนิทรรศการ โดยมี ดร.กิจชัย เอื้อเกษม เป็นวิทยากร


631215_044.jpg

631215_045.jpg

5-6.คณาจารย์ ผู้บริหาร คณะมนุษยศาสตร์ ภาคปรัชญาและศาสนา, ภาควรรณคดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
มาเยี่ยมชมนิทรรศการหลักฐานธรรมกาย นำโดย ผศ.ภูริวัจน์ เดชอุ่ม (รองคณบดี)
โดยมีอุบาสิกาประสงค์ สมน้อย บ.ศ.๙ นักวิจัยสถาบันฯ นำชมและอธิบายเนื้อหางานวิจัย เพื่อความกระจ่าง

 

        ดังได้กล่าวไว้ในฉบับที่แล้วว่า คณะทำงานศึกษาวิจัยได้รวบรวมผลงานศึกษาค้นคว้าไว้เป็นจำนวนมากถึง ๕๐ หัวข้อด้วยกัน โดยสามารถแบ่งเป็นกลุ่มได้ ๔ กลุ่ม ได้แก่ ๑) กลุ่มหลักฐานธรรมกายที่พบในสุวรรณภูมิ ๒) กลุ่มหลักฐานธรรมกายที่พบในเอเชียกลาง-ใต้ ๓) กลุ่มหลักฐานธรรมกายในคัมภีร์จีนพุทธโบราณ ๔) กลุ่มหลักฐานธรรมกายในพระไตรปิฎก บาลี ทั้งนี้รายละเอียดของกลุ่มหลักฐานธรรมกายที่พบในสุวรรณภูมิได้กล่าวไว้ในฉบับที่แล้ว ส่วนในฉบับนี้จะกล่าวเพิ่มเติมอีก ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มที่ ๒ หลักฐานธรรมกายที่พบในเอเชียกลาง-ใต้ และกลุ่มที่ ๓ กลุ่มหลักฐานธรรมกายในคัมภีร์จีนพุทธโบราณ ซึ่งหลักฐานที่นำมาจัดแสดงนิทรรศการนั้น พบว่ามีทั้งสิ้น ๒๒ ชิ้น กล่าวคือ

        ๑. สมาธิภาวนาสำหรับพระโพธิสัตว์ เป็นชิ้นส่วนคัมภีร์ที่ไม่สามารถระบุวัสดุได้ พบที่ซินเจียงทางภาคตะวันตกของประเทศจีน ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่ Hoernle Collection (เลขที่ ๑๔๔, SA.5) ใน British Library ประเทศอังกฤษ ชิ้นส่วนคัมภีร์ดังกล่าวจารึกด้วยภาษาสันสกฤต อักษรคุปตะตัวตรง มีเนื้อหากล่าวถึง การสอนสมาธิสำหรับพระโพธิสัตว์ ๓ ระดับ โดยให้ใจอยู่กับพระพุทธเจ้า ให้เห็นท่านอยู่ตลอดเวลา ซึ่งมีอานิสงส์และคุณสมบัติต่าง ๆ ที่นำไปสู่ความหลุดพ้นได้


631215_046.jpg

สมาธิภาวนาสำหรับพระโพธิสัตว์


631215_047.jpg

คัมภีร์สอนการปฏิบัติสมาธิภาวนาแบบโยคาจาร


             ๒. คัมภีร์สอนการปฏิบัติสมาธิภาวนาแบบโยคาจาร พ.ศ. ๑๐๕๑-๑๒๕๐ เป็นชิ้นส่วนคัมภีร์ กระดาษทำจากเปลือกไม้เบิร์ช พบที่คิซิล (Kizil) ซึ่งตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มทาริม (Tarim Basin) ในซินเจียงของจีน จารึกด้วยอักษรคุปตะ ภาษาสันสกฤต ตัวอย่างข้อความในจารึกที่สำคัญ เช่น “เมื่อความหยุดนิ่งอันสำเร็จด้วยรัตนะปรากฏขึ้น และในที่สุดเมื่อสิ่งอันพึงรู้ทั้งมวลมารวมหยุดอยู่ที่สะดือ นั่นแหละคือการตื่นรู้”

           ๓. คัมภีร์โฝวซัวกวนจิง (S.2585) เนื้อหาในคัมภีร์อยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๐ ส่วนตัวม้วนคัมภีร์อายุพุทธศตวรรษที่ ๑๕ ลักษณะเป็นม้วนคัมภีร์ จารึกด้วยอักษรจีนโบราณ พบที่ถ้ำโม่วกาว เมืองตุนหวง ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เนื้อหาเป็น คู่มือการปฏิบัติสมาธิแบบต่าง ๆ รวมถึงพุทธานุสติแบบโบราณ ที่สอนให้ผู้ปฏิบัติรวมใจไว้กลางนาภี เมื่อจิตรวมและหยุดนิ่งปราศจากนิวรณ์ จะเกิดประสบการณ์ภายในเห็นดวงนิมิตสว่างและองค์พระผุดซ้อนขึ้นมาจากกลางนาภีผู้ปฏิบัติ


631215_048.jpg

คัมภีร์โฝวซัวกวนจิง


631215_049.jpg

คัมภีร์วิมลกีรตินิรเทศ


          ๔. คัมภีร์วิมลกีรตินิรเทศ (คัมภีร์วิมลเกียรตินิทเทสสูตร) เนื้อหาคัมภีร์มีอายุก่อนปีพุทธศักราช ๙๔๙ จารึกด้วยภาษาสันสกฤต อักษรเทวนาครี สาระสำคัญของคัมภีร์กล่าวถึง กายแห่งพระตถาคต คือ ธรรมกาย อันเกิดจากทาน ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ และวิมุตติญาณทัสนะ ดังข้อความในจารึกว่า

         “อานนท์... ธรรมกายเป็นกายของตถาคต ที่ไม่ได้ประกอบไปด้วยเนื้อหนัง เป็นกายอันเป็นโลกุตตระ อยู่เหนือโลกธรรมทั้งปวง เป็นกายของตถาคตอันไม่มีอาพาธ อาสวะทั้งหลายสิ้นไป เป็นอสังขตะ”

        ๕. สุวรรณประภาโสตตมสูตร (สุวรรณประภาสสูตร) (๑) เนื้อหาคัมภีร์ก่อนพุทธศักราช ๙๕๗ แต่ตัวคัมภีร์อายุราว พ.ศ. ๑๑๕๑-๑๓๕๐ พบที่เอเชียกลาง เขียนด้วยภาษาสันสกฤตลูกผสมอักษรคุปตะ ในบทที่ ๑๖ กล่าวถึง การเข้าไปสู่ธรรมธาตุว่า จะต้องเข้าไปภายใน อันเป็นตำแหน่งที่พระสถูปซึ่งเปรียบด้วยอัตภาพแห่งธรรมอันลึกซึ้งประดิษฐานดีแล้ว และในกลางนั้นจะเห็นพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมอยู่

        อีกชิ้นเป็นใบลานจากเนปาล คัมภีร์อายุช่วง พ.ศ. ๒๕๑๐ กล่าวว่า ธรรมกายคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า, ทรงสร้างบารมีอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน เพื่อแสวงหาธรรมกาย..., การบรรลุพระโพธิญาณเกิดพร้อมกับการบรรลุธรรมกาย, ธรรมกายบริบูรณ์ด้วยคุณสมบัตินับร้อย

         ๖. สุวรรณประภาโสตตมสูตร (๒) ในบทที่ ๑๙ คาถาที่ ๙ ชื่อ “วยาฆฺรีปริวรฺตะ” มี ๒ สำนวน สำนวนที่หนึ่ง ความว่า “นิพพานบริบูรณ์ด้วยคุณสมบัตินับร้อยของธรรมกาย” และสำนวนที่สองกล่าวว่า “ธรรมกายมีคุณสมบัติเช่นเดียวกันกับนิพพาน”

          ๗. สุวรรณประภาโสตตมสูตร (๓)

       บทที่ ๑๔ (สุสํภวปริวรฺตะ) คาถาที่ ๒ มีสาระสำคัญว่า “การที่พระโพธิสัตว์ทรงทุ่มเทสร้างมหาทานบารมีทุกระดับมาโดยตลอดเพื่อแสวงหาธรรมกาย” คาถาที่ ๓๒ พระสูตรกล่าวถึง “ผลของการสร้างบารมี ทำให้เป็นผู้มีบุญมากมายมหาศาล ในที่สุดจึงได้บรรลุพระโพธิญาณ และได้ธรรมกายสมความตั้งใจ ซึ่งบ่งชี้ว่า การบรรลุโพธิญาณกับการได้ธรรมกายนั้นเกิดร่วมกัน

          ๘. สุวรรณประภาโสตตมสูตร (๔)

          พบว่ามี ๒ บท ได้แก่ บทที่ ๒ “ธรรมกายคือพระตถาคต และบทที่ ๖ “ศูนยตาปริวรฺตะ คาถาที่ ๒๕ ความว่า “การที่พระโพธิสัตว์สร้างบารมีเพื่อให้บรรลุพระโพธิญาณนั้น นับเป็นการหล่อเลี้ยงธรรมกายให้เติบโต”

         ๙. คัมภีร์สัทธรรมลังกาวตารสูตร เนื้อหาก่อน พ.ศ. ๙๖๓ จารึกด้วยภาษาสันสกฤต อักษรเทวนาครี มีเนื้อหาที่น่าสนใจคือ อะไรคือความเหมือนกันแห่งกาย ระหว่างตัวเรา พระตถาคตอื่น พระอรหันต์ และพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และนั่นก็คือธรรมกาย อันประกอบด้วย มหาปุริสลักษณะ [๓๒ ประการ] และอนุพยัญชนะ [๘๐ ประการ]


631215_050.jpg

สุวรรณประภาโสตตมสูตร


631215_051.jpg

คัมภีร์สัทธรรมลังกาวตารสูตร

       ๑๐. คัมภีร์อภิธรรมโกศภาษยะ อายุเนื้อหาราว พ.ศ. ๙๔๓ จารึกด้วยภาษาสันสกฤต อักษรเทวนาครี กล่าวถึงสิ่งที่เหมือนกันของพระพุทธเจ้าทั้งหลายในกาลก่อน ที่ท่านได้สั่งสมบุญมา และญาณอันทำให้ท่านได้บรรลุธรรมกาย และได้โปรดสรรพสัตว์ทั้งหลาย

 

(โปรดติดตามในฉบับต่อไป)

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล