หากไม่มีคุณยาย ก็ไม่มีหลวงพ่อ ไม่มีวัดพระธรรมกาย ไม่มีพวกเราที่สร้างความดีอย่างมีความสุขจนทุกวันนี้ นี่คือถ้อยคำที่กล่าวยกย่องคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ของหลวงพ่อธัมมชโย (พระราชภาวนาวิสุทธิ์) ของพวกเรา ซึ่งท่านกล่าวแทนความรู้สึกในความเคารพบูชาจากใจลูกศิษย์ทุกๆ คน ที่มีต่อคุณยาย อาตมาได้ยินได้ฟังคุณธรรมความดีของคุณยายมาตั้งแต่เข้าวัด จนกระทั่งทุกวันนี้ก็รู้สึกทึ่ง และอัศจรรย์ใจในคุณความดีของคุณยายเป็นอย่างยิ่ง
ครั้งแรกที่เจอคุณยายตอนนั้น อาตมายังเป็นสามเณรตัวเล็กๆ เข้าวัดมาเมื่อปลายปี พ.ศ.๒๕๒๘ ตอนนั้นยังไม่รู้ว่า คุณยายเป็นใคร ยังไม่รู้จัก
หลังจากนั้นพอเริ่มเรียน ก็มาถามพระอาจารย์ใหญ่ ซึ่งท่านเล่าคุณธรรมประวัติคุณยายให้ฟัง พระอาจารย์บอกว่า คุณยายท่านไม่ชอบสกปรก ไม่ชอบคนที่ไม่มีระเบียบวินัย
ตอนเย็นๆ ประมาณ ๕ โมงเย็นของทุกวัน คุณยายจะนั่งสามล้อซึ่งมีโยมพี่อารีพันธ์ปั่นมา พอปั่นมาถึงบริเวณที่ประตู ๓ ทาง ๔ แยก และเมื่อลงจากรถ คุณยายจะเอาข้าวสารมาเลี้ยงนกยูงบ้าง มาให้ไก่บ้าง ไก่ก็จะวิ่งตามคุณยายเป็นพรวนเลย คุณยายนั่งรถไปก็มองดูวัด ตรวจวัดทุกวัน ไปที่ไหนก็มีไก่วิ่ง ดูคุณยายเบิกบาน มีความสุข ตรวจวัดทุกวัน ข้อนี้ภาพแรกที่ได้เจอคุณยาย ได้เห็น ความบริสุทธิ์ ความเมตตาปรารถนาดีของคุณยาย ต่อตัวเอง และต่อลูกศิษย์ทุกๆ คน
ถ้าพูดถึงความดีของคุณยายแล้ว สรุปได้ประเด็นใหญ่ๆ อยู่ ๒ ประเด็น คือ ๑. คุณยายท่านเป็นลูกศิษย์ก็เป็นลูกศิษย์ที่ดีเยี่ยม จนกระทั่งหลวงปู่วัดปากน้ำฯ ชมว่า "เป็นหนึ่งไม่มีสอง" ๒. ท่านเป็นอาจารย์ท่านก็เป็นยอดอาจารย์ในดวงใจของลูกศิษย์ทุกคน
ลองนึกดูว่า เรามีลูกหนึ่งคนสองคนจะฝึกให้เป็นคนที่รักในการทำความดีอย่างเอาชีวิตเป็น เดิมพันเราจะฝึกได้กี่คน แต่คุณยายนั้นท่านฝึก ลูกศิษย์ทุกๆ คน ไม่ใช่คนหนึ่งสองคน แต่เป็นจำนวนมากมายเหลือเกิน ท่านฝึกได้ ให้เป็นคนที่รักในการสร้างความดี รักในการสร้างบารมีอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน จึงถือว่าคุณยายนั้นเป็นยอดของครูจริงๆ ความสวยงาม ของภาพวาดนั้นอยู่ที่จิตรกร ความงดงามของรูปปั้นนั้นอยู่ที่ปฏิมากร แต่ความยิ่งใหญ่ของคุณยายนั้นดูได้จากลูกศิษย์ของท่านทุกๆ คน
อาตมาไม่มีโอกาสได้ ใกล้ชิดคุณยาย แต่ว่าเห็น คุณธรรมของพระภิกษุรุ่น บุกเบิกแต่ละรูปนั้น เห็นแล้วเกิดศรัทธาเลื่อมใส อันนี้ยกตัวอย่างคงไม่เป็นไร มีคนเล่าให้ฟังว่า พระอาจารย์ฐิตสุทฺโธ พระครูสังฆรักษ์ของเรา ท่านเป็นคนรักษาของสงฆ์มาก ขันน้ำ ที่ท่านใช้ในการสรงน้ำนั้นเป็นขันพลาสติก ไม่รู้ว่าอายุนานขนาดไหน เก่ามาก พอดีว่าพระเณรที่เป็นอุปัฏฐากเห็นว่าขันน้ำนี้ของอาจารย์มันเก่าแล้ว เก่าจนกระทั่งจะกรอบแล้ว ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เลยเอาไปทิ้งที่ถังขยะ ตกเย็นมา พระอาจารย์ ท่านมาดู เห็นเป็นขันใหม่ ท่านถามว่า "ขันเก่าไปไหน มันแตกเหรอ" บอก "ไม่ใช่ครับ ผมเห็นมันเก่าก็เลยเอาไปทิ้ง" พระอาจารย์รีบไปดู ปรากฏว่า ขยะนั้นเขาเก็บไปและก็เผาเรียบร้อยแล้ว
พระอาจารย์ท่านบอกว่า "รู้ไหม ขันนั้นอายุ ๑๐ กว่าปีแล้ว ใช้มา ๑๐ กว่าปี และอีกตอนหนึ่ง อังสะของท่านขาด สามเณรเอาไปซ่อมที่สังฆภัณฑ์ ให้เขาเย็บ พอสามเณรกลับมา ปรากฏว่า เป็น อังสะผืนใหม่อีก ท่านถามสามเณร "ทำไมอังสะมันหายไปไหน" สามเณรบอกว่า "คนเย็บเขาบอกว่ามันเก่าแล้ว ไม่ต้องมาเย็บ เพราะเปื่อยมากแล้ว เย็บจนกระทั่งไม่มีที่จะเย็บแล้วอย่างนั้น ก็เลยจะเปลี่ยนผืนใหม่ให้" ท่านรีบเลยเอาอังสะผืนใหม่นั้น ไปที่สองชั้น ไปขออังสะเก่าคืน โชคดีอังสะยังอยู่ ท่านบอกว่า "ถ้าไม่เย็บ ท่านจะมาเย็บเอง"
ข้อนี้เป็นคุณธรรมของท่านที่รักษาของ ทำไมพระเถระท่านถึงมีคุณธรรมขนาดนี้ก็ไปอ่านเจอคำสอนคุณยายที่พระอาจารย์ใหญ่ ท่านรวบรวม ไว้ คุณยายท่านบอกไว้ว่า "ใช้น้ำเราก็ใช้ให้เป็น อย่าให้เป็นขี้ข้าน้ำ ใช้ไฟก็ใช้ให้เป็น อย่าให้เป็นขี้ข้าไฟ ทานข้าวก็ต้องทานให้หมด อย่าทานให้เหลือ เพราะของทุกอย่างนั้นกว่าจะได้มาญาติโยมก็จบแล้วจบอีก เราจะเป็นบาปนะ" คุณยายสั่งสอนและก็หล่อหลอมให้พระแต่ละรูปนั้นใช้ของอย่างที่ท่านต้องการ อย่างที่ท่านสั่งสอนไว้
ถ้าพูดถึงคุณธรรมคุณยายนั้นมีมากมาย จะขอพูดที่เจอกับตัวเองจริงๆ คุณยายท่านมองสามเณรทุกรูปด้วยความรัก ความเมตตา เวลาคุณยายท่านมาเยี่ยมสามเณร ท่านจะไม่มามือเปล่า จะเอาช็อกโกแลตมาถวายสามเณรเพื่อให้กำลังใจ เราจะเรียกกันว่า "ช็อกโกแลตยาย" คุณยายมาถึงก็จะไหว้สามเณร ขนาดเป็นครูบาอาจารย์ท่านยังไหว้สามเณร
คุณยายพูดกับสามเณรด้วยความรักและความเมตตาว่า "สามเณรอย่าดื้อ อย่าซนนะ เดี๋ยวจะถูกพี่เลี้ยงเขาตีเอานะ"แล้วจะพูดต่อเสมอว่า "สามเณรอย่าสึกนะ ให้สอบได้ประโยค ๙ ทุกรูปเลย" คุณยายให้พรอย่างนี้กับสามเณร เวลาสามเณรตั้งใจดูหนังสือใกล้จะสอบคุณยายจะเอาช็อกโกแลตมาถวายเรื่อย ช็อกโกแลตก็มาจากญาติโยมคนโน้นคนนี้ที่เอามาถวายคุณยาย ซึ่งท่านจะเก็บไว้เพื่อมาถวายให้สามเณรของท่าน เพื่อให้กำลังใจในการดูหนังสือ
ก่อนจะสอบบาลีทุกครั้ง คุณยายได้ถวายปากกา ซึ่งพระภิกษุสามเณรจะเรียกกันว่า "ปากกายาย" ปากกายายนี้ขลังทีเดียว อาตมาสอบมาได้อย่างไร ก็ต้องยกความดี ความชอบให้คุณยาย เพราะใช้ปากกายายเขียน จนกระทั่งสอบได้ประโยค ๙ คุณยายจะมีกุศโลบายในการให้ ใครที่ได้ปีแรก คุณยายก็ถวายปากกาด้วย ถวายไส้ด้วย แต่หลังจากนั้นมาคนที่ได้แล้วก็จะถวายเฉพาะไส้ เพราะฉะนั้นห้ามทำหาย ต้องเก็บรักษาไว้ให้ดี รักษาของให้ดี
ตอนเช้าๆ สามเณรได้รับบุญไปกวาดวัดรอบวัด ทั้งหน้าวัดหลังวัด ไปกวาดเราก็แบ่งกลุ่มกัน ก็ไปเจอคุณยาย บางครั้งคุณยายมาตอนเช้า คุณยายจะบอก "สามเณรกวาดแล้วก็เก็บด้วยนะ กวาดใบไม้แล้วก็เก็บ" เพราะว่ากวาดแล้วจะกองไว้รอเก็บ คุณยายก็จะบอก "สามเณรกวาดต้องเก็บทุกครั้งนะ เพราะว่าเดี๋ยวถ้าเกิดสามเณรไม่เก็บ ไก่มันก็จะมาเขี่ย มันก็สกปรกเหมือนเดิมนะ เดี๋ยวบางทีพวกแมลงหรือว่าพวกงูพวกสัตว์มีพิษก็จะ มาอยู่ เวลาคนเขามาเก็บต่อก็จะถูกกัดได้" พวกเราก็เก็บทุกครั้ง เพราะคุณยายมาบอก
แล้วยิ่งช่วงใกล้กฐินของคุณยายท่านจะมาบอก ทุกเช้าเลย "สามเณร ยายเป็นประธานกฐินนะ เอาบุญกับยายทุกๆ คนนะสามเณร" ยายพูดทุกวันเลย เราก็ยืนมอง คุณยาย เราก็นึก ตอนนั้นสามเณรมีหน้าที่คือเรียนหนังสือ ตอนเย็นก็ทำงาน จะช่วยบอก บุญคุณยายได้อย่างไร เราก็ส่งจดหมายไปให้พ่อแม่บ้างที่ทำได้ ให้ญาติพี่น้องบ้าง ส่งจดหมายไป อยากจะร่วมบุญกับคุณยาย
"
สะสมบุญ
การมาวัดวันหนึ่ง ก็ได้บุญไปช่วงหนึ่ง
ถ้าไม่มา ก็ไม่ได้ ถ้ามาแล้ว ก็ได้บุญ
บุญจะสะสมทับทวี เหมือนกับเก็บออมสิน
"
ผู้ให้กำเนิดวัดพระธรรมกายคำสอนคุณยายอาจารย์
มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง
แล้วคุณยายบอกบุญไม่ใช่บอกแค่พวกเรานะ คุณยาย มีวิธีการ พอบอกบุญพวกเราเสร็จแล้ว คุณยาย ทำตัวอย่างให้ดูอย่างไร คุณยายไม่หยุดแค่ในวัด คุณยายนำบุกเลย บุกไปต่างจังหวัดทุกที่ ตอนนั้นทำให้เกิดกระแสบูชาธรรมคุณยาย เทกระเป๋า เทให้หมดเลย สามเณรก็เททุกบาททุกสตางค์เหมือนกัน เทหมดทุกบาททุกสตางค์จริงๆ ตั้งแต่นั้นมาก็เลยช่วยรับบุญงานคุณยายอย่างเต็มที่ตลอดมา
อาตมาสอบประโยค ๙ ได้ปี พ.ศ.๒๕๔๑คุณยายท่านก็นิมนต์ไปรับล็อกเก็ตยาย ท่านมอบล็อกเก็ตกับมือเลย ตอนนั้น ปี พ.ศ.๒๕๔๑ คุณยาย อายุ ๙๐ ปีแล้ว ท่านนั่งบนรถเข็น พอพระเณรมาคุณยายลุกขึ้นมาเลย พี่อารีพันธ์ต้องคอยประคอง คุณยายลุกขึ้นมาถวายพระภิกษุสามเณรประโยค ๙ ตอนนั้นสอบได้ ๔ รูป มากที่สุดครั้งแรกของวัดพระธรรมกายเรา
คุณยายมอบล็อกเก็ตให้ และบอกว่า "ท่านอย่าสึกนะ" แล้วก็พูดต่อ "ขอให้เป็นเจ้าคุณทุกๆรูปเลยนะ" เราก็สาธุใหญ่ คุณยายห่วงลูกศิษย์ ทั้งพระทั้งเณรเลย ตั้งแต่ให้กำลังใจในการสอบ จนกระทั่งสอบแล้วคุณยายยังให้กำลังต่ออีก สิ่งที่เราได้เห็นนี่เป็นเพียงเล็กน้อยอย่างที่บอกไว้ คุณยาย นี่เป็นลูกศิษย์ก็เป็นลูกศิษย์ที่ครูบาอาจารย์ยกย่องว่า เป็นหนึ่งไม่มีสอง เป็นครูบาอาจารย์ก็เป็นครูบาอาจารย์ที่เป็นยอดในดวงใจของศิษย์ทุกคน
คุณยายท่านรักลูกศิษย์ทุกๆ คน แม้จะละสังขารไปคุณยายก็สั่งไว้นะ "ว่าถ้าเกิดใครรักยาย เคารพยายก็ขอให้เอาอย่างยายและก็ให้ปฏิบัติธรรมให้ได้อย่างยาย" คุณยายท่านรักลูกศิษย์ ทุกๆ คน จะหาครูบาอาจารย์ไหนที่เสมอเหมือนนี่หายาก แม้กระทั่งละไปแล้ว ยังฝากฝังโอวาทให้พวกเราทุกคนรักในการปฏิบัติธรรม ขอให้พวกเราทุกคนทำตามโอวาทของท่าน ให้ได้ปฏิบัติธรรมอย่างยาย ให้ได้เข้าถึงพระธรรมกาย ให้เข้าถึง ดวงธรรมที่สว่างไสวอย่างคุณยาย เพราะคุณยายท่านเป็นนักสร้างบารมีที่ยอดเยี่ยม
คุณยายนั้นท่านรักเคารพบูชาธรรมครูบาอาจารย์คือหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ มาก ท่านอยากจะบูชาธรรมหลวงปู่วัดปากน้ำฯ โดยการสร้างลานธรรม บูชาธรรมครูของท่านด้วยใจ เพราะฉะนั้นเมื่อเรานึกถึงคุณยาย นึกถึงความดีของคุณยาย ในฐานะที่เราเป็นลูกศิษย์ สิ่งที่เราทำความดีตอบแทนท่านได้ในขณะนี้ก็คือการ ปฏิบัติบูชาและการสานต่อเจตนารมณ์ที่คุณยายท่านได้ฝากฝังไว้ให้สำเร็จ เราจะได้ชื่อว่าเป็น ลูกศิษย์ที่รักและเคารพครูบาอาจารย์อย่างจริงๆ