โทษของการพูดโกหก
การปฏิบัติธรรมเป็นสิ่งสำคัญที่สุดต่อตัวของเราเอง และเป็นผลดีต่อบุคคลรอบข้างไปจนถึงมวลมนุษยชาติทั้งหลาย ซึ่งกลางกายของมนุษย์เรานั้น มีแหล่งกำเนิดแห่งความสุขอยู่แล้ว เป็นที่สิงสถิตของพระธรรมกาย และวิธีการที่จะทำให้เข้าถึงธรรมกายอันเป็นต้นแหล่งแห่งความสุขได้นั้น จะต้องหมั่นทำใจหยุดใจนิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ จนใจละเอียดหยุดนิ่งถูกส่วน ก็จะสามารถเข้ากลางกายภายในได้ ดังนั้นการดำเนินจิตเข้าสู่เส้นทางสายกลางจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้มวลมนุษย์หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งหลายไปสู่อายตนนิพพานในที่สุด
มีวาระพระบาลีที่ปรากฏอยู่ใน เจติยราชชาดก ความว่า
“ตสฺมา หิ ฉนฺทาคมนํ นปฺปสํสนฺติ ปณฺฑิตา
อทุฏฺฐจิตฺโต ภาเสยฺย คิรํ สจฺจูปสญฺหิตํ
เพราะฉะนั้นแล บัณฑิตทั้งหลายไม่สรรเสริญฉันทาคติ คือความลำเอียงเพราะรัก บุคคลไม่พึงเป็นผู้ที่มีจิตถูกฉันทาคติประทุษร้าย พึงกล่าวแต่คำที่อิงคำสัตย์เท่านั้น”
บัณฑิตทั้งหลายในกาลก่อนท่านไม่สรรเสริญผู้ที่มีความลำเอียง ไม่ว่าจะลำเอียงด้วยความรัก ด้วยความชัง ด้วยความหลง หรือด้วยความกลัวก็ตาม เพราะความเป็นคนลำเอียงนี้ จะทำให้ผู้นั้นไม่อาจดำรงอยู่ในความถูกต้องดีงามได้ กลับจะทำทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ของตนและคนที่ตนเองรัก เท่านั้น เมื่อไม่ตั้งอยู่ในธรรมแล้ว จะทำให้ตนเสื่อมเสียชื่อเสียง อาจพลาดพลั้งไปกระทำบาปอกุศลอีก แล้วต้องไปเสวยวิบากกรรมอันเผ็ดร้อนในทุคติภูมิ ฉะนั้นบัณฑิตทั้งหลายจึงสรรเสริญแต่การกล่าวคำสัตย์จริง ซึ่งจะอำนวยประโยชน์ทั้งต่อตนเองและชาวโลก
พระบรมศาสดาของเราทรงติเตียนผู้ที่กล่าวมุสาวาทมาก เพราะไม่มีกรรมชนิดใดที่ผู้กล่าวเท็จทำไม่ได้ พระพุทธองค์ยังตรัสถึงโทษของการกล่าวคำเท็จว่ามีนรกเป็นที่สุด เรื่องนี้ทรงปรารภถึงพระเทวทัตที่ได้กล่าวเท็จ แล้วถูกแผ่นดินสูบเข้าสู่อเวจีมหานรก และพระองค์ยังตรัสถึงอดีตชาติของพระเทวทัตที่กล่าวเท็จ ทำให้ต้องเสื่อมจากฤทธิ์ ๔ ประการ เท่านั้นยังไม่พอ ยังถูกแผ่นดินสูบให้ไปบังเกิดในอเวจีมหานรกเพราะการกล่าวเท็จอีกด้วย
* เมื่อครั้งยุคต้นกัปมีพระราชาพระนามว่า พระเจ้าอุปจิรราช ทรงครองราชย์อยู่ที่โสตถิยนครในเจติยรัฐ ทรงเป็นพระราชาที่มีฤทธิ์ถึง ๔ อย่างคือ เสด็จไปไหนมาไหนทางอากาศได้ มีเทพบุตร ๔ องค์ถือพระขรรค์คอยรักษาอยู่ทั้ง ๔ ทิศ มีกลิ่นจันทน์หอมฟุ้งออกจากพระวรกาย และมีกลิ่นอุบลหอมฟุ้งออกจากพระโอษฐ์ เป็นเชื้อสายที่สืบทอดมาจากพระมหาสมมตจักรพรรดิราช ที่มีอายุหนึ่งอสงไขย สืบเชื้อสายมาเก้าชั่วคน ในสมัยต้นๆ กัปนั้น คนทั้งหลายเป็นผู้มีศีลมีธรรมเป็นปกติ การเป็นอยู่สะดวกสบายมีความสุขทุกอย่าง เพราะมีบุญค่อยหล่อเลี้ยงรักษาอยู่
พระโพธิสัตว์เจ้าได้รับราชการเป็นปุโรหิตชื่อว่า กปิละ ท่านรับราชการมาตั้งแต่สมัยของพระบิดาของพระเจ้าอุปจิรราช เป็นปุโรหิตผู้ใหญ่ที่เปี่ยมด้วยคุณธรรม พระราชาจึงทั้งรักและเคารพพระโพธิสัตว์มาก ท่านปุโรหิตมีน้องชายอยู่คนหนึ่งชื่อว่า โกรกลัมพกะ เป็นคนมักใหญ่ใฝ่สูง เคยเล่าเรียนในสำนักอาจารย์เดียวกันกับพระราชาตั้งแต่ยังเป็นพระกุมาร และพระราชาเองเคยให้สัญญาไว้ว่า เมื่อเราขึ้นครองราชย์แล้วจะตั้งโกรกลัมพกะให้เป็นปุโรหิต แต่ด้วยความที่ทรงรักและเคารพกปิลปุโรหิต จึงไม่ได้แต่งตั้งสหายของตนเอง
ต่อมากปิลปุโรหิตผู้ทรงปัญญา สังเกตเห็นความอึดอัดของพระราชา ฉุกใจคิดว่า พระราชาทรงเกรงใจเรา ตัวของเราเองก็แก่แล้ว ถึงเวลาที่จะต้องเกษียณตนเอง ผู้บริหารบ้านเมืองต้องมีวัยใกล้เคียงกันจึงจะสมควรกว่า
เมื่อคิดอย่างนี้จึงทูลขอลาออกจากตำแหน่ง และทูลขอให้พระราชาแต่งตั้งลูกชายของท่านขึ้นเป็นปุโรหิตแทน แล้วออกบวชเป็นฤๅษี ได้ยังฌานและอภิญญาให้เกิดขึ้น พำนักอยู่ที่พระราชอุทยานนั่นเอง
ฝ่ายโกรกลัมพกะผู้น้องผูกอาฆาตพี่ชายด้วยเหตุที่ว่า พี่ชายแม้จะลาออกไปแล้วไม่ยอมยกตำแหน่งให้แก่ตน ต่อมาวันหนึ่ง ขณะที่โกรกลัมพกะนั่งสนทนากับพระราชาผู้เป็นสหาย พระราชาตรัสถามว่า “โกรกลัมพกะ ท่านยังไม่ได้ตำแหน่งปุโรหิตดอกหรือ” เขาจึงกราบทูลว่า “พี่ชายของข้าพระองค์ได้ทูลให้พระองค์แต่งตั้งบุตรของเขาแทน เมื่อก่อนพระองค์ก็ไม่สามารถถอดถอนพี่ชายออกจากตำแหน่งได้ เพราะการสืบทอดตามประเพณี แล้วบัดนี้ ข้าพระองค์จะเป็นได้อย่างไรล่ะ พระเจ้าข้า”
พระราชาหนุ่มฟังอย่างนั้นจึงกล่าวว่า “เราจะแต่งตั้งให้ท่านเป็นใหญ่ แล้วให้พี่ชายของท่านเป็นน้องชายก็แล้วกัน” โกรกลัมพกะทูลถามว่า “พระองค์จะทำได้อย่างไรเล่า” พระราชาตรัสว่า “เราทำได้โดยการกล่าวมุสาวาท” เมื่อฟังอย่างนั้นโกรกลัมพกะก็ทำให้พระราชาเข้าพระทัยผิด ด้วยการกล่าวว่า “พระองค์ยังไม่รู้ฤทธิ์ของพี่ชายของข้าพระองค์หรือ เขาสามารถที่จะทำให้พระองค์สูญสิ้นฤทธิ์ทั้งสี่ แล้วทำให้พระองค์คล้อยตามได้” เมื่อพระราชาสดับอย่างนี้ทรงบังเกิดทิฐิมานะอยากจะเอาชนะขึ้นมาทันที หาได้รู้ถึงกลอุบายอันชั่วร้ายของพระสหายไม่ จึงตรัสว่า “ท่านคอยดูเถิด เราเป็นพระราชาสามารถทำมุสาวาทอย่างนั้นได้ นับแต่นี้ไปอีกเจ็ดวันเราจะทำมุสาวาท”
พระดำรัสของพระราชาที่ตรัสกับพระสหายพาลนั้นได้แพร่สะพัดไปทั่วพระนคร ทำให้เกิดโกลาหลขึ้นมาทันที มาดูว่าผู้มีศีลในยุคก่อนเขาตื่นข่าวกันอย่างไรบ้าง มหาชนเกิดปริวิตกว่า “ได้ยินว่า พระราชาจักทรงทำมุสาวาท ทำเด็กให้เป็นผู้ใหญ่ แล้วมุสาวาทนั้นเป็นอย่างไร มีสีเขียว สีแดง หรือสีอะไรกันแน่” แม้บุตรปุโรหิตพอได้ฟังคำนั้นก็ไปบอกฤๅษีบิดาว่า “พระราชาจักทำมุสาวาท ทำพ่อให้เป็นเด็กแล้วยกตำแหน่งฉันให้อา” ฤๅษีก็บอกว่า “พระราชาไม่สามารถที่จะทำได้หรอก เมื่อครบกำหนดแล้วให้แจ้งเราด้วย เราจะไปทูลตักเตือนพระองค์ไม่ให้ทำอย่างนั้น เพราะจะเป็นผลเสียต่อพระองค์เอง” ลูกชายก็รับคำ
เมื่อถึงกำหนดเวลา มหาชนพากันไปชุมนุมเพื่อจะฟังมุสาวาท ส่วนพระราชาแต่งพระองค์แล้วทรงประทับอยู่ในอากาศ พระฤๅษีก็เหาะมาแล้วนั่งเฉพาะพระพักตร์ของพระราชาทูลถามว่า “ได้ยินว่าพระองค์จะทำมุสาวาทจริงหรือ” พระราชารับว่า “จริง” ด้วยความเป็นห่วงพระฤๅษีผู้ทรงศีลจึงทูลเตือนว่า “มหาบพิตร มุสาวาทนี้เป็นบาปหนัก กำจัดคุณความดี ทำให้เกิดในอบายทั้ง ๔ ใครที่ทำมุสาวาท ย่อมชื่อว่าทำลายธรรม เมื่อทำลายธรรมแล้ว ก็ชื่อว่าทำลายตนเอง ขอพระองค์อย่าทำอย่างนี้เลย” เมื่อพระราชาฟังอย่างนั้นก็ตกพระทัย ได้มองหน้าโกรกลัมพกะ
โกรกลัมพกะผู้หวังเฉพาะประโยชน์ตนเพียงอย่างเดียวไม่สนใจอย่างอื่น จึงกล่าวกระตุ้นย้ำทิฐิของพระราชา พระราชาระลึกถึงคำของสหายพาล ทำให้เกิดมานะกษัตริย์ไม่ฟังถ้อยคำของพระโพธิสัตว์ จึงกล่าวว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านเป็นน้องชายของโกรกลัมพกะ” เมื่อพระราชาตรัสเพียงเท่านี้ก็ร่วงลงมาจากอากาศทันที กลิ่นพระวรกายและกลิ่นพระโอษฐ์ก็ส่งกลิ่นเหม็นฟุ้งไปทั่วพระนครแทน
กปิละดาบสโพธิสัตว์ก็กล่าวว่า “ดูเถิดมหาบพิตร เพียงประโยคแรกพระองค์ก็เป็นอย่างนี้แล้ว อย่าทรงทำมุสาวาทอีกเลย”
พระราชาตรัสว่า กปิลดาบสกล่าวอย่างนี้ประสงค์จะลวงท่านทั้งหลาย พระราชาจึงกล่าวมุสาวาทเป็นครั้งที่สอง ได้ถูกแผ่นดินสูบลงไปแค่ข้อพระบาท พระโพธิสัตว์กล่าวเตือนให้หยุดก็ไม่ทรงหยุด จึงกล่าวครั้งที่สามอีก ก็ถูกสูบลงไปอีกจนถึงพระชงฆ์
แม้ถูกห้ามก็กล่าวครั้งที่สี่อีก ครั้งที่สี่แผ่นดินสูบไปถึงบั้นเอว กล่าวครั้งที่ห้า ถูกสูบถึงพระนาภี แต่ด้วยทิฐิมานะของกษัตริย์จึงกล่าวเป็นครั้งที่หกอีก แผ่นดินได้สูบถึงพระถัน แม้พระฤๅษีจะกล่าวเตือนอีกว่า อย่ากล่าวมุสาวาทเลย หากพระองค์ทำอย่างนี้อีก จะถูกสูบลงไปในอเวจีมหานรก พระเจ้าอุปจิระก็ไม่ทรงเชื่อ จึงกล่าวมุสาวาทครั้งที่เจ็ดว่า “ท่านเป็นน้องชาย โกรกลัมพกะเป็นพี่ชาย” เมื่อกล่าวถึงครั้งที่เจ็ด แผ่นดินได้แยกเป็นสองช่อง มีเปลวไฟร้อนดำในมหานรกพลุ่งขึ้นมารับพระราชาลงไป
มหาชนพากันตกใจกลัว เปล่งอุทานว่า “พระเจติยราชาได้ทำมุสาวาท ไม่เชื่อถ้อยคำของพระฤๅษีผู้ทรงศีลจึงประสบกรรมหนักอย่างนี้” ทั้งมหาชนและพระโอรสของพระราชาพากันก้มลงกราบพระโพธิสัตว์ ต่างก็เกิดความรู้สึกกลัวบาปและเห็นคุณค่าของการตั้งอยู่ในธรรมเป็นอย่างยิ่ง พระราชโอรสพูดกับพระโพธิสัตว์ว่า ขอท่านอาจารย์จงเป็นที่พึ่งให้เราด้วย พระโพธิสัตว์ได้ให้โอวาทว่า “ขอพระองค์อย่าทรงทำลายธรรมเหมือนพระชนกเลย จงครองราชย์โดยธรรม ตั้งอยู่ในธรรมคือความสัตย์เถิด” พระโอรสและมหาชนดำรงอยู่ในโอวาทของพระโพธิสัตว์จนตลอดชีวิต ต่างก็ได้เข้าถึงเทวโลกกันทั่วหน้า
จากเรื่องราวข้างต้นเราจะเห็นว่า กรรมหนักของมุสาวาทนั้นใหญ่หลวงยิ่งนัก มีโทษถึงขั้นธรณีสูบ แม้จะเป็นการกล่าวที่ดูแล้วเราอาจจะคิดว่า ไม่หนักหนาสาหัสอะไร แต่นั่นหมายถึงว่า เราตั้งใจทำลายธรรมที่ดีงามให้หมดไป ผู้ที่ทำลายธรรมก็เท่ากับว่าทำลายตนเองนั่นเอง ความงอกงามแห่งธรรมจะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยความสัตย์จริงและการปฏิบัติที่มั่นคง เมื่อทราบอย่างนี้แล้ว จึงควรที่จะยึดมั่นในคำสัตย์จริงกันไว้ให้ดี ความสัตย์จะช่วยขจัดอันตรายที่ยั่งยืน และจะนำพาชีวิตของเราก้าวไปสู่ความปลอดภัยในสังสารวัฏ พบความสุขอันเกษมได้ตลอดไป จนกว่าจะเข้าถึงพระนิพพานในที่สุด
พระธรรมเทศนาโดย : หลวงพ่อธัมมชโย (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
* มก. เล่ม ๕๙ หน้า ๕๓๖
** ตัวละครถูกสร้างขึ้นโดย AI