สมปรารถนาได้ด้วยบุญ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นผู้บริสุทธิ์หลุดพ้นแล้วจากกิเลสอาสวะ กิจที่จะทำยิ่งกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว พวกเราทั้งหลายควรดำเนินชีวิตตามแบบอย่างของพระพุทธองค์ โดยมุ่งทำความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจเป็นอันดับแรก ส่วนเรื่องอื่นนั้นให้เป็นเรื่องรองลงมา เพราะเรายังมีกิจที่จะต้องทำให้รู้แจ้งให้ได้ ว่าเราเกิดมาจากไหน มาทำไม อะไรคือเป้าหมายของชีวิต เพราะฉะนั้น เราจึงควรหมั่นฝึกฝนอบรมจิตใจของเราให้หยุดให้นิ่ง จนกระทั่งเข้าถึงผู้รู้แจ้งภายในคือพระธรรมกาย
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ปฐมชนสูตร ความว่า
“อุปนียติ ชีวิตมปฺปมาย
ชรูปนีตสฺส น สนฺติ ตาณา
เอตํ ภยํ มรเณ เปกฺขมาโน
ปุญฺญานิ กยิราถ สุขาวหานิ
ชีวิตถูกชรานำเข้าไปใกล้ความตาย ผู้ที่ถูกชรานำเข้าไปใกล้แล้ว ย่อมต้านทานไว้ไม่ได้ เมื่อบุคคลเล็งเห็นภัยในความตายนี้ ควรทำบุญอันจะนำความสุขมาให้”
สรรพสัตว์ทั้งหลายเกิดมาแล้ว ล้วนมีความตายเป็นธรรมดา ไม่ว่าเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ยากจนหรือร่ำรวย ต่างต้องบ่ายหน้าไปสู่ความตายทั้งนั้น มีเพียงบุญ และบาปเท่านั้น ที่จำแนกสัตว์ให้มีความแตกต่างกัน ความต่างกันจึงอยู่ที่การสั่งสมบุญของแต่ละคน ผู้ที่สั่งสมบุญเอาไว้มาก ชีวิตจะมีความสุข และปลอดภัยทั้งในโลกนี้ และโลกหน้า ละโลกไปแล้วจะมีสุคติโลกสวรรค์เป็นที่ไป
การเดินทางไกลในสังสารวัฏ เสบียงเดินทางที่ดีที่สุดไม่มีอะไรดีไปกว่าบุญ บุญเป็นมิตรแท้ติดตามเราไปทุกภพทุกชาติ คอยสนับสนุนส่งเสริมให้เราประสบความสำเร็จในชีวิต ธุรกิจการงาน และสิ่งที่พึงปรารถนา ผู้มีปัญญาจึงไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต หมั่นสั่งสมบุญบารมีให้มากที่สุด จะเป็นเหตุให้เข้าถึงความเต็มเปี่ยมของชีวิตโดยเร็วพลัน
* ในอดีตกาล มีกุฎุมพีคนหนึ่ง เดินพักผ่อนอยู่ในป่า ได้เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้ากำลังพับจีวรที่เย็บไม่เสร็จ เพราะผ้าไม่พอ เมื่อเขาเข้าไปถามว่า "ทำไมไม่เย็บต่อให้เสร็จครับ" พระปัจเจกพุทธเจ้าก็ตอบว่า "ผ้าไม่พอ อุบาสก" กุฎุมพีจึงน้อมถวายผ้าแด่ท่าน พร้อมกับตั้งความปรารถนาว่า "ด้วยบุญนี้ ขอความเสื่อมทั้งหมดอย่าได้มีแก่กระผมทุกภพทุกชาติที่กระผมไปเกิดแล้วเลย"
แม้จะทำบุญด้วยไทยธรรมเพียงเล็กน้อย เเต่ได้ทำถูกเนื้อนาบุญ เมื่อละโลกไปแล้ว ทำให้กุฎุมพีไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีวิมานสว่างไสวกว่าเทวดาทั่วๆ ไป เป็นเทวดาผู้มีอานุภาพมาก เสวยทิพยสมบัติเป็นเวลายาวนาน ครั้งหนึ่ง ท่านได้จุติลงมาเกิดเป็นลูกอำมาตย์อยู่นอกเมืองพาราณสีชื่อว่า นันทกุมาร
เมื่อเติบโตเป็นหนุ่ม มารดาได้นำผ้าอย่างดีมาให้สวมใส่ แต่นันทกุมารกลับตำหนิผ้าผืนนั้นว่า “เป็นผ้าเนื้อหยาบเกินไป ใส่แล้วระคายผิว” มารดาจึงไปหาผืนอื่นที่ดีกว่ามาให้อีก แม้ผ้าผืนอื่นๆ นันทกุมารยังคงรู้สึกว่าเนื้อหยาบเกินไป มารดาจึงพูดประชดลูกชายว่า “ลูกเอ๋ย ผ้าที่เนื้อละเอียดกว่านี้ไม่มีแล้ว แม่รักลูกมากยิ่งกว่าใครๆ ปรารถนาจะให้เจ้าได้สมบัติในกรุงพาราณสีในวันนี้เลยทีเดียว”
นันทกุมารบอกมารดาว่าจะไปนอกบ้านเพื่อหาผ้าดีๆ มาใส่เอง ท่านเดินทางเข้าไปเมืองพาราณสี และนอนเล่นอยู่ในพระราชอุทยาน โดยเอาผ้าคลุมศีรษะ แล้วเผลอหลับไปบนแผ่นหินใหญ่ ในวันนั้นเองเป็นวันที่พระเจ้าพาราณสีสวรรคตได้ ๗ วัน พวกปุโรหิตได้เสี่ยงบุษยราชรถ คือรถที่เทียมด้วยม้าอาชาไนย ๔ ตัว ให้วิ่งไปหาผู้มีบุญที่จะได้เป็นกษัตริย์ ถ้าพบผู้มีบุญรถจะหยุดเอง บุษยราชรถวิ่งมุ่งตรงไปพระราชอุทยาน แล้ววิ่งมาเวียนประทักษิณรอบนันทกุมารซึ่งกำลังนอนหลับอยู่
ปุโรหิตติดตามรถมาพบเข้า ตรวจดูฝ่าเท้าทั้งสองข้าง แล้วกล่าวว่า “กุมารนี้เป็นผู้มีบุญมาก อย่าว่าแต่โลกนี้เลย แม้โลกทั้ง ๔ มีทวีปอีก ๒,๐๐๐ เป็นบริวาร ถ้าหากเขาปรารถนาก็จะได้สมใจ” จึงสั่งให้ประโคมดนตรีขึ้น ๓ ครั้ง นันทกุมารได้ยินเสียงมหาชนจึงตื่นขึ้น แล้วถามถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น ก็รู้ว่าพระราชาเสด็จสวรรคต และไม่มีพระโอรส จึงไม่มีผู้ครองราชย์ต่อ มหาชนต่างพร้อมใจกันอภิเษกท่านกับพระราชธิดาขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์ต่อไป
ในวันขึ้นครองราชย์ อำมาตย์ได้น้อมนำผ้าเนื้อดีที่มีค่าแสนกหาปณะเข้าไปถวาย พระราชาตรัสว่า “นี่เป็นผ้าเนื้อหยาบมิใช่หรือ” พวกอำมาตย์กราบทูลว่า “ในบรรดาผ้าที่มนุษย์ใช้กันอยู่ ผ้าที่ละเอียดกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว พระเจ้าข้า” พระราชาทรงรับสั่งให้นําน้ำเต้าทองมารินใส่พระหัตถ์ แล้วสาดไปทางทิศตะวันออก
ทันใดนั้นเอง ต้นกัลปพฤกษ์ได้ผุดแทรกแผ่นดินขึ้นมา ทรงสาดน้ำไปทั้งสี่ทิศ ต้นกัลปพฤกษ์ก็บังเกิดขึ้นทุกทิศ ทิศละ ๘ ต้น แล้วผ้าทิพย์ก็เกิดขึ้นบนต้นกัลปพฤกษ์ พระราชาทรงนุ่งห่มผ้าทิพย์ที่ได้มาด้วยกำลังบุญของท่าน แล้วประกาศว่า “ต่อไปนี้ในแคว้นของเรา พวกผู้หญิงไม่ต้องกรอด้าย และทอผ้าอีกต่อไป ใครอยากได้ผ้าก็ให้มาเอาจากต้นกัลปพฤกษ์นี้” ตั้งแต่นั้นมา มหาชนชาวชมพูทวีปต่างก็อยู่ดีมีสุขด้วยอานุภาพบุญของพระราชา
กาลเวลาล่วงไป พระเทวีได้เห็นสมบัติมากมายของพระราชา จึงดำริที่จะให้พระองค์บำเพ็ญกุศล แต่พระราชาก็ไม่ได้ทำบุญกุศลอะไร จึงตักเตือนพระราชาว่า “ข้าแต่สมมติเทพ สมบัติมากมายเหล่านี้ เกิดขึ้นเพราะบุญเก่าของพระองค์ แต่พระองค์ควรสั่งสมบุญใหม่ให้ยิ่งๆ ขึ้นไปด้วย เพราะบัณฑิตทั้งหลายสรรเสริญความไม่ประมาท”
พระราชาตรัสถามว่า “แล้วเราจะให้ทานแก่ใครล่ะ เพราะสมณะก็ไม่มีเลย” พระเทวีกราบทูลว่า “ธรรมดาโลกนี้ไม่เคยว่างเปล่าจากพระอรหันต์ ขอพระองค์ทรงจัดเตรียมมหาทานเถิด หม่อมฉันจะเป็นผู้นิมนต์พระมาในวันพรุ่งนี้” พระราชาทรงรับสั่งให้จัดเตรียมทานที่ประณีตสำหรับสมณะไว้มากมาย วันรุ่งขึ้นพระเทวีได้ตั้งจิตอธิษฐานว่า “หากทิศใดมีพระอรหันต์ ขอสมณะทั้งหลาย โปรดมาเป็นเนื้อนาบุญให้กับพระราชาด้วยเถิด”
ขณะนั้นเอง พระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ องค์ ซึ่งอยู่ในป่าหิมพานต์ รับรู้ถึงการอาราธนาของพระเทวี จึงพากันเหาะมาลงที่ประตูพระราชวัง พระราชาพร้อมกับพระเทวีทรงเสด็จมานมัสการแล้วรับบาตร นิมนต์ให้ท่านฉันภัตตาหารที่ประณีต เมื่อเสร็จภัตกิจแล้ว พระปัจเจกพุทธเจ้าได้กล่าวสัมโมทนียกถาให้ฟังว่า “เมื่อเรือนถูกไฟไหม้แล้ว เจ้าของเรือนขนเอาภาชนะใดออกไปได้ ภาชนะนั้นย่อมเป็นประโยชน์แก่เขา ส่วนสิ่งของที่มิได้ขนออกไป ย่อมไหม้ในกองเพลิงนั้น ฉันใด โลกคือหมู่สัตว์ อันชรา และมรณะแผดเผาแล้ว ก็ฉันนั้น ควรนำโภคทรัพย์ออกด้วยการให้ วัตถุที่ให้แล้วได้ชื่อว่านำออกดีแล้ว ทานวัตถุที่ให้แล้วนั้น ย่อมมีสุขเป็นผล ส่วนที่ยังมิได้ให้ บางครั้งโจรยังปล้นเอาไปได้ พระราชายังริบได้ ถูกไฟไหม้บ้างหรือสูญหายไปบ้าง
อนึ่ง บุคคลจำต้องละร่างกายพร้อมทั้งสิ่งของนั้น ผู้มีปัญญารู้ชัดดังนี้แล้ว ควรใช้สอย และให้ทานเถิด เมื่อได้ให้ทาน และใช้สอยตามควรแล้ว จะไม่ถูกติฉินนินทา ละโลกไปแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์”
พระราชาได้สดับพระธรรมกถานั้นแล้ว ทรงมีพระทัยเบิกบาน จึงทุ่มเททำบุญจนตลอดชีวิต ไม่เคยขาดการให้ทานเลยแม้แต่วันเดียว ทรงประกอบแต่กุศลกรรม และมีสุคติภูมิเป็นที่ไปในภพเบื้องหน้า
จากตัวอย่างข้างต้นนี้ ทำให้ได้ข้อคิดว่า เราจำเป็นต้องขวนขวายในการบำเพ็ญบุญกุศลอย่างเต็มกำลัง นอกจากเราจะหาทรัพย์มาเลี้ยงชีพในชาตินี้แล้ว ยังต้องแสวงหาบุญเพื่อเป็นเสบียงสำหรับเดินทางในภพชาติเบื้องหน้าอีกด้วย โดยเฉพาะยอดนักสร้างบารมีอย่างพวกเรา ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะใด ก็ไม่ควรว่างเว้นจากการสั่งสมบุญ เพราะเราเกิดมาสร้างบารมี มีมรรคผลนิพพานเป็นแก่นสาร มีที่สุดแห่งธรรมเป็นเป้าหมาย จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างบารมีให้มากๆ และต้องขยันปฏิบัติธรรมให้มากๆ ด้วย ให้ทุกท่านอย่าละเลยการฝึกใจให้หยุดนิ่ง เพื่อเราจะได้เข้าถึงพระธรรมกายกันทุกๆ คน
พระธรรมเทศนาโดย : พระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
* มก. เล่ม ๒๖ หน้า ๖๐๘