เสียงร้องปริศนา
การบังเกิดขึ้นของพระพุทธศาสนามิใช่เรื่องง่าย เพราะจะต้องรอคอยผู้มีบุญมาก มีหัวใจเข้มแข็ง เปี่ยมไปด้วยมหากรุณา ที่จะยกตนและสรรพสัตว์ทั้งหลายให้พ้นจากกองทุกข์ ต้องมุ่งหน้าสั่งสมบารมี ๓๐ ทัศให้เต็มเปี่ยมบริบูรณ์ จนกระทั่งได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เมื่อนั้น คำสอนในพระพุทธศาสนาที่ทรงคุณค่าจึงบังเกิดขึ้นได้ การดำเนินตามรอยบาทของพระบรมศาสดา โดยเฉพาะการเรียนรู้วิธีการปฏิบัติธรรมดำเนินจิตเข้าสู่เส้นทางสายกลางภายใน เป็นกรณียกิจอันสูงสุดในพระพุทธศาสนา เป็นสิ่งที่เราต้องกระทำ อีกทั้งยังถือเป็นความโชคดีอย่างมหาศาลของพวกเราอีกด้วย
มีวาระพระบาลีใน อัฏฐสัททชาดก ความว่า
“อสํสยํ ชาติขยนฺตทสฺสี
น คพฺภเสยฺยํ ปุนราวฏิสฺสํ
อยมนฺติมา ปจฺฉิมคพฺภเสยฺยา
ขีโณ เม สํสาโร ปุนพฺภวาย
เราเห็นพระนิพพานอันเป็นที่สิ้นชาติ ไม่ต้องกลับมานอนในครรภ์อีกโดยไม่ต้องสงสัย ความเกิดของเรานี้ มีในที่สุดแล้ว การนอนในครรภ์เป็นหนสุดท้ายแล้ว สงสารเพื่อภพใหม่ของเราสิ้นสุดแล้ว”
พระนิพพานเป็นแดนอันเกษมจากโยคะ เป็นเอกันตบรมสุข สุขล้วนๆ ที่ไม่มีทุกข์เจือปนเลย ผู้ใดเข้าถึงพระนิพพาน ผู้นั้นย่อมรู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งต่างๆ รู้ว่าการเกิดในแต่ละภพชาติเป็นทุกข์อย่างยิ่ง ผู้ที่มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้ถึงฝั่ง เป็นผู้ได้บรรลุวัตถุประสงค์ของชีวิตแล้ว ผู้ที่มีใจจดจ่ออยู่กับพระนิพพานเช่นนี้ ความคิด คำพูด และการกระทำ ก็ย่อมเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ล้วนๆ
เมื่อจิตใจของบุคคลใด มีความรู้สึกผูกพันข้องเกี่ยวคุ้นเคยอยู่กับสิ่งใดแล้ว ความคิด คำพูด และการกระทำก็จะออกมาคล้ายสิ่งนั้นเช่นกัน ธรรมดาเป็นการยากเหลือเกิน ที่จะหาผู้รู้แจ้งเห็นจริงในทุกเรื่องราวในโลกนี้ อีกทั้งมวลมนุษยชาติทั้งหลายต่างพากันแสวงหาที่พึ่งกันไปต่างๆ นานา หากได้พบผู้รู้แจ้งเห็นจริงเป็นกัลยาณมิตรให้ นับเป็นความโชคดีอย่างมหาศาล แต่หากได้พบผู้ไม่รู้ที่ทำตัวเป็นผู้รู้ ก็อาจเป็นความโชคร้ายอย่างมหันต์เช่นกัน ทำให้เราอาจพลาดพลั้งไปสร้างอกุศลกรรมอันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ได้
* ดังเช่นเรื่องที่เกิดขึ้นกับพระเจ้าโกศล ที่เกือบพลาดพลั้งไปสร้างบาปอกุศล คือปาณาติบาต เพราะหลงเชื่อคำของเหล่าปุโรหิตมิจฉาทิฏฐิ ที่พระราชาได้ยินเสียงตอนกลางคืนว่า ทุ สะ นะ โส ดีที่พระนางมัลลิกาแนะนำให้ไปเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงทรงรู้เรื่องราวทั้งหมดว่า เป็นเสียงของสัตว์ที่ตกนรกทั้งสี่ชีวิต ซึ่งได้กล่าวคาถาพรรณนาความประมาทของพวกตน แต่ยังไม่ทันจบ ก็กลับลงสู่โลหกุมภีนรกทันที
ถึงกระนั้น ในใจลึกๆ ของพระราชายังมีความกังวล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรู้วาระจิต จึงทูลพระราชาให้เบาพระทัยว่า “มหาบพิตร พระองค์อย่ากังวลเลย อันตรายทั้งหลายจะไม่เกิดขึ้นแก่พระองค์เพราะฟังเสียงเหล่านั้นแน่นอน มหาบพิตร เสียงสัตว์ที่เปล่งออกมาด้วยความทุกข์ทรมานนั้น ไม่ใช่พระองค์เท่านั้นที่ได้ยิน แม้พระราชาองค์ก่อนๆ ก็ได้ยินมาเช่นกัน ตอนแรกก็ทรงหลงเชื่อถ้อยคำของพวกพราหมณ์ผู้เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว จนเกือบสร้างบาปอกุศล แต่ภายหลังเชื่อคำของบัณฑิต จึงกลับใจทัน ไม่ต้องก่อเวรเช่นนั้น” พระเจ้าโกศลจึงทูลอาราธนาให้พระบรมศาสดาตรัสเล่าเรื่องราวเหล่านั้น พระพุทธองค์จึงทรงนำอดีตนิทานมาตรัสเล่าว่า
** สมัยหนึ่ง พระเจ้าพรหมทัตเป็นพระราชาเมืองพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลของพราหมณ์ที่มีสมบัติถึง ๘๐ โกฏิ ครั้นเจริญวัยและศึกษาเล่าเรียนจบแล้ว อีกทั้งมารดาบิดาก็เสียชีวิต จึงตัดสินใจออกบวชเป็นฤๅษี ตั้งใจบำเพ็ญเพียรแสวงหาโมกขธรรมเพื่อความหลุดพ้น จนทำฌานและอภิญญาให้บังเกิด
ครั้งหนึ่งพระโพธิ์สัตว์ปรารถนาฉันอาหารที่มีรสชาติต่างจากผลไม้ในป่าใหญ่บ้าง จึงออกจากป่าหิมพานต์เที่ยวบิณฑบาตเดินทางมาจนถึงเมืองพาราณสี ได้พำนักอยู่ที่พระราชอุทยาน
ประมาณเที่ยงคืนของวันหนึ่งขณะพระราชาประทับอยู่บนพระแท่นสิริไสยาสน์ พระองค์ได้สดับเสียงร้อง ๘ ชนิด คือ เสียงร้องของนกยางในพระราชอุทยาน ยังไม่ทันขาดหาย เสียงของแม่กาซึ่งอาศัยอยู่ที่เสาระเนียดที่โรงช้างร้องขึ้นอีก ในเวลาที่ไล่เลี่ยกัน แมลงภู่ที่อาศัยอยู่บนช่อฟ้าเรือนหลวงก็ร้องขึ้น นกดุเหว่า เนื้อ วานร และกินนรที่เลี้ยงไว้ในเรือนหลวง ต่างร้องขึ้นไล่เลี่ยกันไปตามลำดับ ในขณะที่เสียงกินนรยังไม่ทันขาดหาย พระปัจเจกพุทธเจ้าผู้มาถึงพระราชอุทยาน ได้เปล่งเสียงอุทานขึ้นเป็นเสียงที่แปด
พระเจ้าพรหมทัตสดับเสียงเหล่านั้นในเวลาไล่เลี่ยกันเช่นนี้ ทรงตกพระทัยกลัวยิ่งนัก ด้วยเกรงจะเกิดเภทภัยกับพระองค์และสิริราชสมบัติ ทำให้บรรทมไม่หลับทั้งคืน รุ่งขึ้น จึงตรัสถามพวกพราหมณ์ พราหมณ์เหล่านั้น แท้ที่จริงก็ตอบไม่ได้ แต่เกรงจะทำให้พระราชากริ้ว จึงทูลเท็จว่า “ข้าแต่มหาราช อันตรายจะเกิดขึ้นกับพระองค์ หากพระองค์อนุญาตให้ทำพลีกรรม บูชายัญด้วยสัตว์ทั้งหลายอย่างละ ๔ ตัว พระองค์ก็จะรอดพ้นจากอันตรายได้” พระราชาจึงตรัสอนุญาตให้ทำพลีกรรมตามที่พราหมณ์เหล่านั้นเสนอทันที
ท่ามกลางผู้ที่เห็นแก่ตัว มักมีผู้ที่เปี่ยมด้วยความเสียสละ ท่ามกลางผู้ที่โง่เขลา มักไม่ไร้ผู้มีปัญญา สมัยนั้นก็เช่นกัน มาณพผู้เป็นศิษย์ของพราหมณ์เป็นหัวหน้างานพิธีกรรมบูชายัญในครั้งนั้น เป็นผู้มีปัญญาและเป็นบัณฑิต เมื่อเห็นการกระทำของพวกพราหมณ์ จึงคิดว่า การทำพลีกรรมที่หยาบช้าเช่นนี้ ไม่ใช่การกระทำที่เป็นประโยชน์เลย จึงกล่าวกับอาจารย์ว่า “ข้าแต่อาจารย์ ยัญญกรรมเช่นนี้ไม่ใช่สิ่งที่ดีงาม ขอท่านอย่าให้พระราชาสร้างกรรมเช่นนี้” แต่ถูกอาจารย์ห้ามว่า “เจ้าช่างไม่รู้อะไร การทำอย่างนี้ จะทำให้เรามีเนื้อกินมากมาย”
เมื่อมาณพห้ามไม่ได้ ก็รำพึงขึ้นว่า สมณะผู้ทรงศีลท่านใดหนอที่จะห้ามพระราชาได้ จึงเข้าไปพระราชอุทยาน เห็นพระโพธิสัตว์บำเพ็ญเพียรอยู่ เขารีบเข้าไปไหว้พลางกล่าวว่า “ข้าแต่ท่านผู้ทรงศีล ขอท่านโปรดอนุเคราะห์สรรพสัตว์ทั้งหลายด้วยเถิด” เขาได้เล่าเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้น พระโพธิสัตว์ตอบว่า "เราเข้าใจเรื่องราวทั้งหมดดี ขอให้เจ้าไปทูลพระราชาให้เสด็จมาที่นี่เถิด เราจะแนะนำสิ่งที่เป็นประโยชน์ทั้งปวงเอง" มาณพฟังดังนั้น เขาดีใจมากรีบกลับไปกราบทูลพระราชาถึงเรื่องราวที่ไปพบพระโพธิสัตว์ พระราชาไม่รอช้า รีบเสด็จไปหาพระโพธิสัตว์ทันที หลังจากกราบนมัสการแล้วทรงทูลถามว่า “ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ โยมรู้ว่า ท่านเป็นผู้รู้ฉลาดในเรื่องราวทั้งปวง ขอท่านโปรดชี้แนะด้วยเถิด”
พระโพธิสัตว์ตรัสว่า “มหาบพิตร เสียงที่พระองค์ได้ยินทั้ง ๘ เสียงนั้น ไม่มีอันตรายใดๆ กับพระองค์ นกยางถูกความหิวครอบงำจึงพูดขึ้นว่า เมื่อก่อนนี้สระมงคลโบกขรณีอุดมสมบูรณ์ เป็นที่อยู่อาศัยมาตั้งแต่บิดาเรา แต่บัดนี้แห้งขอดแล้ว แม้จะอดอยาก เราก็จะไม่ย้ายที่อยู่ หากพระองค์จะอนุเคราะห์ ขอจงดูแลไขน้ำเต็มสระเถิด แม่กาอยู่เสาระเนียด ถูกควาญช้างแกล้งทุกวัน โกรธนายควาญช้างนั้น จึงพูดว่า ใครหนอที่สามารถทำลายนัยน์ตาของคนผู้นี้ได้ หากจะช่วยกา ขอพระองค์จงตรัสบอกควาญช้าง อย่าได้แกล้งกาอีก ส่วนแมลงภู่ที่ช่อฟ้า กัดกินกระพี้ไม้จนถึงแก่น เมื่อมันเจาะแก่นไม้ไม่ได้ ติดอยู่ในนั้นออกไม่ได้จึงร้องขึ้น ขอพระองค์ให้ใครช่วยมันออกมาเถิด
นกดุเหว่าที่พระองค์เลี้ยงไว้ ร้องว่า เมื่อไรเราจะพ้นจากกรงสักที จะได้มีชีวิตอิสระ เนื้อที่พระองค์เลี้ยงไว้คิดถึงนางเนื้อ จึงร้องเป็นเสียงที่ห้า ส่วนวานรที่เลี้ยงไว้ก็เช่นกัน คิดถึงนางวานรที่อยู่ในป่าก็เลยส่งเสียงขึ้นเป็นเสียงที่หก ส่วนกินนรก็เหมือนกันคิดถึงนางกินรีที่เคยครองคู่ด้วยกันที่ป่าก็ร้องเป็นเสียงที่เจ็ด ขอให้พระองค์ปลดปล่อยสัตว์เหล่านั้นไปเถิด ส่วนเสียงที่แปดนั้น เป็นเสียงที่เปล่งอุทานถึงพระนิพพานของพระปัจเจกพุทธเจ้าก่อนที่จะปรินิพพานว่า มหาชนใดได้ร่วมบุญบูชาพระธาตุของเราย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ขณะนี้พระองค์ปรินิพพานแล้ว ขอมหาบพิตรจงบำเพ็ญบุญกับพระปัจเจกพุทธเจ้าเถิด”
พระราชาสดับดังนี้ ทรงดีพระทัยยิ่งนัก สั่งยกเลิกการบูชายัญทั้งหมด และทำตามคำแนะนำของพระโพธิสัตว์ ได้ฌาปนกิจสรีระของพระปัจเจกพุทธเจ้าด้วยสักการะใหญ่ ทั้งได้บูชาและดำรงอยู่ในโอวาทของพระโพธิสัตว์จนตลอดชีวิตของพระองค์
จะเห็นว่า การที่ได้ผู้รู้เป็นกัลยาณมิตร นับเป็นโชคดีอย่างมหาศาล เพราะผู้รู้ผู้บริสุทธิ์ จะช่วยประคับประคองเรา ให้ดำรงอยู่ในเส้นทางชีวิตที่ถูกต้องดีงามตลอดไป โดยเฉพาะผู้รู้ภายใน คือพระธรรมกาย เป็นผู้รู้ที่เมื่อเข้าใกล้แล้ว จะมีแต่ความสุข ความปลอดภัยในชีวิต บุญบารมีของเราก็เพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้น พวกเราต้องเข้าไปใกล้ชิดท่านผู้รู้ที่อยู่ภายในให้ได้กันทุกคน
พระธรรมเทศนาโดย: หลวงพ่อธัมมชโย (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
* มก. เล่ม ๔๑ หน้า ๑๕๘
** มก. เล่ม ๕๙ หน้า ๔๖๙