ธรรมะเพื่อประชาชน
ตอน อานิสงส์ถวายทานด้วยตัวเอง
ทุกคนที่เกิดมาบนโลกนี้ จำเป็นต้องศึกษาและเรียนรู้เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับชีวิต ทั้งที่ยังมีลมหายใจอยู่และเมื่อหมดลมไปแล้ว ที่สำคัญคือ ชีวิตหลังความตายยาวนานกว่าตอนมีชีวิตอยู่อย่างคาดไม่ถึง ฉะนั้นการศึกษาในทางพระพุทธศาสนาจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องเรียนรู้เพื่อความปลอดภัยในชีวิต ตราบใดที่มีการฝึกฝนอบรมจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ เพื่อให้เข้าถึงแหล่งแห่งความสุขและความรู้ที่สมบูรณ์ ตราบนั้นเราจะสามารถพ้นทุกข์ ทั้งทุกข์ในปัจจุบันและทุกข์หลังความตาย ตลอดไปจนกระทั่งถึงที่สุดแห่งกองทุกข์
มีวาระพระบาลีที่ปรากฏอยู่ใน ทาสีวิมาน ความว่า
“เตสํ สหพฺยกามานํ กตฺตพฺพํ กุสลํ พหุ ํ
กตปุญฺญา หิ โมทนฺติ สคฺเค โภคสมงฺคิโน
สำหรับผู้ปรารถนาอยู่ร่วมกับทวยเทพทั้งหลาย ควรที่จะบำเพ็ญกุศลไว้ให้มาก เพราะว่าผู้ที่ทำบุญไว้ดีแล้ว ย่อมเพียบพร้อมด้วยโภคสมบัติบันเทิงอยู่ในสุคติสวรรค์”
ผลแห่งการกระทำทุกอย่างในโลกนี้ มีผลโดยตรงต่อผู้ที่กระทำเสมอ หากทำดีก็ย่อมได้ผลดี ทำชั่วได้ผลแห่งความชั่ว ต้องประสบแต่ความเดือดร้อนในปัจจุบันและทุกข์ทรมานอย่างยิ่งในอนาคต สำหรับนักสร้างบารมีผู้มีหัวใจที่เต็มเปี่ยมด้วยคุณงามความดี จะได้รับผลตรงกันข้าม เพราะความดีงามจะส่งผลให้ได้รับแต่ความสุขและความเจริญในชีวิต ทั้งในชาตินี้ก็จะมีมหาสมบัติบังเกิดขึ้นให้ได้สร้างบารมีอย่างสะดวกสบาย และเมื่อละจากโลกนี้ไปแล้วจะเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาทั้งหลาย เป็นผู้เพียบพร้อมด้วยทิพยสมบัติมากมาย
อานิสงส์แห่งบุญ ย่อมส่งผลให้กับทุกคนโดยไม่เลือกที่รักผลักที่ชัง ไม่ใช่ผลแห่งบุญจะส่งผลให้เฉพาะพระราชามหากษัตริย์ หรือมหาเศรษฐีเท่านั้น ผู้ใดที่สร้างบุญ ผลบุญก็ย่อมจะบังเกิดแก่ผู้นั้น ไม่ว่าเขาจะเป็นใคร อยู่ในสถานะเช่นไร ผลแห่งบุญก็จะติดตามตัวผู้นั้นไปเหมือนเงาตามตัวฉะนั้น ดังเรื่องที่นำมาเล่าเป็นตัวอย่างให้ฟังในครั้งนี้ เป็นชีวิตจริงที่เกิดขึ้นในสมัยพุทธกาล
* ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร มีอุบาสกท่านหนึ่งเป็นชาวกรุงสาวัตถี หลังจากฟังธรรมกับพระศาสดาแล้ว เกิดความปีติอยากจะทำบุญจึงเข้าไปหาพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วทูลขอพระพุทธองค์ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าพระองค์จะถวายภัตตาหารเป็นประจำทุกวัน วันละ ๔ สำรับ ขอพระองค์โปรดให้พระภิกษุไปเป็นเนื้อนาบุญด้วยเถิด”
พระบรมศาสดาทรงอนุโมทนา แล้วตรัสธรรมิกถาแก่อุบาสกให้ร่าเริงอาจหาญ หลังจากที่อุบาสกถวายบังคมลาพระศาสดาแล้ว ได้เข้าไปหาพระผู้ทำหน้าที่เป็นภัตตุทเทสก์ เรียนว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าจัดภัตตาหารไว้ที่เรือนวันละ ๔ สำรับถวายสงฆ์ วันพรุ่งนี้ ขอพระคุณเจ้าโปรดเป็นเนื้อนาบุญไปรับภัตตาหารที่บ้านด้วยเถิด”
หลังจากจัดการเรื่องนิมนต์พระภิกษุแล้ว อุบาสกท่านนี้ก็เดินทางกลับบ้าน เนื่องจากเป็นผู้ที่มีภารกิจรัดตัว เกรงจะไม่สามารถอำนวยความสะดวกให้กับพระภิกษุได้เต็มที่ จึงสั่งคนรับใช้นางหนึ่งว่า “ทุกๆ วัน ตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไป เราจะทำบุญใหญ่ นิมนต์พระภิกษุมารับภัตตาหารที่บ้านทุกวัน เจ้าจงคอยดูแลทุกสิ่งทุกอย่างให้เรียบร้อย อย่าให้บุญของเราหกหล่นแม้แต่นิดเดียว”
นางทาสีดีใจมาก เพราะโดยปกตินางเป็นผู้ที่มีศรัทธา และรักษาศีลเป็นปกตินิสัย นางจึงน้อมรับคำสั่งด้วยความปีติเบิกบาน รอคอยให้ถึงวันพรุ่งนี้ที่จะได้ทำบุญด้วยจิตใจที่จดจ่อ
ทุกๆ เช้า นางผู้ใจบุญไม่เคยประมาท รีบกระวีกระวาดตื่นแต่เช้ามืด ตระเตรียมข้าวปลาอาหารและน้ำดื่มที่สะอาด ทำความสะอาดที่นั่งของพระภิกษุ ปูลาดอาสนะเรียบร้อย
เมื่อพระภิกษุมาถึงก็นิมนต์ให้นั่งบนอาสนะ พร้อมบูชาด้วยของหอม มีทั้งดอกไม้และธูปเทียน แล้วจึงถวายด้วยความเคารพ แม้จะเกิดเป็นคนใช้อยู่ในเรือนของนายอย่างนี้ นางก็ไม่รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจในชาติตระกูลของตน ไทยธรรมทั้งหมดแม้จะเป็นของเจ้านาย แต่นางก็ทำความรู้สึกว่าเป็นของนาง เพราะได้ถวายด้วยมือตัวเอง ทั้งก่อนให้ ขณะให้และหลังให้ เมื่อใจเลื่อมใสใน ๓ ระยะ ทำให้บุญใหญ่เกิดขึ้นกับนางตลอดเวลา เมื่อใจอยู่ในบุญตลอดเวลา ทำให้บุญในตัวก็เพิ่มพูนขึ้นทุกๆ วัน
วันหนึ่ง หลังจากที่นางทำหน้าที่เช่นนี้ได้ระยะหนึ่ง ทาสีผู้โชคดีนี้มีความปรารถนาบุญเพิ่มขึ้นไปอีก จึงเข้าไปหาพระภิกษุสงฆ์ที่มาฉันภัตตาหารที่บ้านในวันนั้น แล้วถามว่า “พระคุณเจ้า โยมปรารถนาจะสร้างบุญเพิ่มขึ้นอีก จะให้โยมทำอย่างไรดีจึงจะสามารถหลุดพ้นจากทุกข์ในสังสารวัฏได้”
ภิกษุทั้งหลายเห็นความตั้งใจจริงของนาง จึงให้นางรับสรณคมน์ หลังจากนั้นได้บอกวิธีการปฏิบัติธรรมแก่นาง แล้วก็แสดงธรรมให้นางไม่ประมาทในการรักษาศีลและบำเพ็ญเพียร
เมื่อได้ฟังธรรมะ นางยิ่งรู้สึกเบิกบานใจอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา นางได้ตั้งมั่นอยู่ในศีลและปฏิบัติธรรมไม่เคยขาดเลยแม้แต่วันเดียว
กระทั่งเวลาผ่านไปถึง ๑๖ ปี ด้วยอำนาจแห่งความตั้งใจจริงไม่ทิ้งการปฏิบัติธรรม ทำให้นางสามารถทำใจหยุดใจนิ่งเข้าถึงธรรมกายพระโสดาบัน เป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา สมความปรารถนาที่ได้ตั้งใจมั่นในการปฏิบัติธรรมมาถึง ๑๖ ปีไม่เคยขาดเลยแม้แต่วันเดียว ทำให้ชีวิตของนางเป็นชีวิตที่อุดมไปด้วยความสุข นางใช้ชีวิตอย่างมีความสุขอยู่กับธรรมะที่เข้าถึงจนกระทั่งละจากโลกไป
ด้วยอานุภาพแห่งบุญที่ได้ตั้งใจบำรุงพระภิกษุสงฆ์และตั้งใจปฏิบัติธรรมไม่เคยขาดแม้แต่วันเดียว ส่งผลให้นางไปบังเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีมหาวิมานที่สว่างไสวใหญ่โตโอฬาร และมีดุริยเทพถึงหกหมื่นคอยบำเรอ มีนางอัปสรหนึ่งแสนเป็นบริวารห้อมล้อม เสวยทิพยสมบัติใหญ่อยู่ในเทวโลก
วันหนึ่ง พระมหาโมคคัลลานะเถระผ่านมาพบนางในเทวโลก รู้สึกอัศจรรย์ใจในทิพยสมบัติของเทพธิดาจึงถามว่า “ดูก่อนเทพธิดาผู้มีสิริโสภา ท่านแวดล้อมด้วยเทพนารีที่สวยงาม ตัวท่านก็สวยงามกว่าเหล่าเทพนารีทั้งหลาย มหาสมบัติอันเป็นทิพย์ของท่านก็ยิ่งใหญ่โอฬาร ล่วงลํ้าเทวาทั้งหลาย ครั้งที่ท่านเป็นมนุษย์ ท่านได้สร้างบุญอะไรไว้ “
เทพธิดาได้เล่าเรื่องราวการสร้างบุญของตนให้พระเถระฟังว่า “เมื่อครั้งที่เป็นมนุษย์ ดิฉันเกิดเป็นเพียงคนรับใช้อาศัยอยู่ในเรือนของผู้อื่น แต่ไม่เคยน้อยเนื้อต่ำใจ เป็นผู้ไม่ประมาทในกิจการบุญที่นายสั่ง และได้ตั้งใจรักษาศีล ปฏิบัติธรรมไม่เคยขาดแม้แต่วันเดียว ทำอยู่อย่างต่อเนื่องถึง ๑๖ ปี จึงได้มีดวงตาเห็นธรรม ด้วยอานุภาพแห่งบุญนั้น มหาสมบัติอันเป็นทิพย์ที่ประณีตและโอฬารก็บังเกิดขึ้น ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ ทิพยสมบัติเห็นเหล่านี้ เกิดขึ้นเฉพาะผู้ที่ได้ทำบุญไว้เท่านั้น ความสุขที่ดิฉันได้รับย่อมเกิดขึ้นสำหรับผู้ที่ได้ทำบุญเอาไว้ดีแล้ว ขอพระเถระจงโปรดไปบอกแก่มนุษย์ทั้งหลายด้วยว่า ควรที่จะสั่งสมบุญกุศลเอาไว้มากๆ เพราะผู้ที่ทำบุญไว้ดีแล้ว ย่อมเพียบพร้อมด้วยโภคสมบัติและบันเทิงในสวรรค์” พระเถระเมื่อได้ฟังถ้อยคำของเทพธิดานั้นจึงกล่าวชื่นชมอนุโมทนาลากลับมายังโลกมนุษย์
เราจะเห็นว่า ผลแห่งบุญนี้เป็นของอสาธารณะ ใครทำคนนั้นก็ได้ และสามารถทำได้ทุกสภาวะ จนหรือรวยไม่สำคัญ บุญจะส่งผลให้กับทุกๆ คนอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน โดยไม่แบ่งแยกชนชั้นวรรณะหรือเผ่าพันธุ์ ใครทำบุญไว้มาก อานิสงส์ใหญ่ย่อมบังเกิดขึ้นกับผู้ที่ทำ เหมือนเทพธิดาท่านนี้ ที่ไม่ได้น้อยเนื้อต่ำใจในโชคชะตาของตัวเอง นางสามารถเปลี่ยนวิกฤติมาเป็นโอกาสในการสร้างบารมีได้อย่างเต็มที่เต็มกำลัง โดยไม่ท้อแท้หรือท้อถอย ดังนั้นให้ตั้งใจสร้างบารมีให้เต็มที่กันทุกๆ คน
พระธรรมเทศนาโดย: หลวงพ่อธัมมชโย (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
* มก. เล่ม ๔๘ หน้า ๑๕๗