ฉบับที่ ๑๕ ประจำเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๔๗

คุณยายผู้เป็นมหาบุรุษ โดย : พระมหาธนา เตชธมฺโม

โดย : พระมหาธนา เตชธมฺโม


                        ท่านสาธุชนทั้งหลาย    คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์    ขนนกยูง ละสังขารจากโลกนี้ไปแล้วด้วยบุญบารมีที่เต็มเปี่ยม ด้วยชัยชนะที่งดงาม    ดังพุทธพจน์ที่ว่า

        "ประดุจละจากภาชนะดินไปเสวยภาชนะทองคำหรือประดุจหลับแล้วตื่นขึ้นฉะนั้น"

                        คุณยายอาจารย์มิได้เป็นเพียงแค่สตรีใจเพชร ผู้มีใจจรดนิ่งอยู่กับที่สุดแห่งธรรม ทุ่มเทชีวิตสร้างบุญบารมีตลอดไม่ว่างเว้นเท่านั้น แต่คุณยายอาจารย์มีความสง่าคล้ายมหาบุรุษ ที่กล่าวนี้มิได้เกินความจริง  นอกจากคุณยายอาจารย์จะมีความงามสง่า น่ามอง จากบุคลิกภาพภายนอกแล้ว ท่านยังมีคุณธรรมของมหาบุรุษครบถ้วนทุกประการ

                        คุณธรรมดังกล่าวนี้ คือ มหาปุริสวิตก ๘ ได้แก่ มักน้อย สันโดษ สงัดวิเวกไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ มีความเพียร มีสติตั้งมั่น มีใจมั่นคง มีปัญญา และไม่ยินดีในธรรมเป็นเหตุเนิ่นช้า พระอนุรุทธเถระหลีกออกเร้น ตรึกอยู่ในธรรม ๘ ประการนี้ มีความเพียร ไม่ประมาท บำเพ็ญสมณธรรมอยู่ที่วิหารปาจีนวังสทายวัน ไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัต

                        ตลอดระยะเวลาแห่งชีวิต คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ได้ใช้เรือนกายอันบอบบางของท่านทรงคุณธรรม คือ มหาปุริสวิตกทั้ง ๘ ประการนี้ ไว้ครบถ้วนบริบูรณ์ซึ่งคุณธรรมดังกล่าวนี้คือ

                        ประการแรก มักน้อย คุณยายอาจารย์มักน้อยในคุณธรรมที่ได้เข้าถึง เมื่อเข้าถึงธรรม อะไรแล้ว ก็ไม่ปรารถนาให้ผู้อื่นล่วงรู้ว่าตนเองได้บรรลุธรรมนั้น ครั้งหนึ่งอุปัฏฐากถามท่านว่า คุณยายมีอภิญญาหรือ ? คุณยาย ตอบเลี่ยงๆ ไปว่า โยงยาอะไร ยายทานหมดแล้ว ความจริงท่านทั้งหลายในที่นี้อาจจะเคยได้ประสบกับอภิญญาของคุณยายมาบ้าง ก็ให้เก็บไว้เป็นความประทับใจ ตราตรึงอยู่ตลอดไป

                        ประการที่ ๒ สันโดษ นอกจากความสันโดษในปัจจัย ๔ ที่เราทราบชัดกันอยู่แล้ว โดยที่สุดคุณยายอาจารย์มีความสันโดษในอธิคม คือ ธรรมะที่ได้บรรลุ เมื่อท่านเข้าไปอยู่ที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ใหม่ๆ ท่านป่วย ธรรมะของท่านมืดไป แต่ท่านไม่ได้น้อยใจ หรือเสียใจว่าธรรมะของท่านไม่ทันคนอื่น กลับมั่นใจในธรรมะที่พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำถ่ายทอดให้เมื่อพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำถามว่า "สว่างหรือยัง" ท่านเรียนว่า "สว่างแล้ว" เท่านั้นธรรมะของท่านก็กลับสว่างไสวขึ้นมา ในที่สุดธรรมะของท่านก็พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ท่านจึงได้เป็นหัวหน้ากะในโรงงานทำวิชชา

                        ประการที่ ๓ สงัดวิเวกไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ คุณยายอาจารย์มีกายวิเวก เพราะยินดีในการประพฤติพรหมจรรย์ ชักตนออกจากกาม มีจิตวิเวก เพราะใจของท่านบริสุทธิ์ผ่องใสอยู่ตลอดเวลาไม่ยึดติดในคน สัตว์ สิ่งของ และที่สำคัญ มีอุปธิวิเวก เพราะใจของท่านตรึกอยู่แต่ในธรรมะ หมู่กิเลสทั้งหลายไม่สามารถเกาะเกี่ยวใจของท่านได้

                        ประการที่ ๔ มีความเพียร คุณยายอาจารย์ทุ่มเทแรงกายแรงใจ เริ่มสร้างวัดเรามา กระทั่งเป็นวัดพระธรรมกายในวันนี้ ด้วยความหวังว่า จะสร้างวัดให้เป็นวัด สร้างคนให้เป็นคนดี สร้างพระให้เป็นพระที่ดี และเหนือสิ่งอื่นใด คุณยายอาจารย์มีความเพียรในการปฏิบัติธรรม ท่านสอนเสมอว่า ในชีวิตของคนเราจะต้องมีความเพียรที่จะนั่งธรรมะให้ยิ่งๆ ขึ้นไป สมัยก่อนยายไม่เห็นธรรมะ ก็พยายามตรึกนึกทั้งยืน เดิน นั่ง นอน พอทำไปๆ ใจหยุด เข้าถึงธรรมได้ การเข้าถึงธรรมนี่แหละเป็นหน้าที่สำคัญที่สุด

"ยายยึดบุญเป็นใหญ่ ยายรักบุญ

รักบุญมากที่สุด เพราะบุญช่วยยายได้

คนยังมีกิเลส เดี๋ยวก็ดีบ้าง เดี๋ยวก็ร้ายบ้าง

ยายยึดบุญของยายเป็นที่พึ่ง"


คุณยายอาจารย์
มหารัตนอุบาสิกาจันทร์   ขนนกยูง


ผู้ให้กำเนิดวัดพระธรรมกาย

                     ประการที่ ๕ มีสติตั้งมั่น พระเดชพระคุณหลวงพ่อเคยเล่าให้ฟังว่า สมัยอยู่วัดปากน้ำ คนมาว่ากล่าวคุณยายด้วยวาจาที่ไม่งามนัก คุณยายบอกว่า หน้าที่เธอ เธอด่าฉันไป ฉันจะนั่งเข้าที่ฟัง เธอด่าสบายใจแล้วเธอจะได้กลับไป อากัปกิริยาของคุณยายบางครั้งท่านก็หลับตา บางครั้งก็ลืมตา ท่านนั่งนิ่งๆ ดวงหน้านวล ผ่องใส เมื่อลืมตาขึ้นมาแววตาก็สุกใส คุณยายท่านไม่ได้ทำอะไร นอกจากทำหยุด ทำนิ่งของท่านเรื่อยไป ไม่ช้าบุคคลนั้นก็ถอยทัพกลับไป แม้จะได้รับการกระทบกระทั่ง คุณยายอาจารย์ของเราก็ยังมีสติอยู่กับธรรมเฉพาะหน้า รักษาใจให้ผ่องใสอยู่เสมอ

                        ประการที่ ๖ มีใจมั่นคง คุณยายอาจารย์ออกจากบ้านมาศึกษาธรรมะที่วัดปากน้ำ ใจมุ่งมั่นจะขอขมาพ่อให้ได้ มุ่งตรงต่อธรรมะและวิชชาธรรมกาย จดจ่ออยู่กับพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำว่าจะสั่งอย่างไรเท่านั้น ใจคอท่านมั่นคงอย่างนี้ เวลาปฏิบัติธรรม ใจของท่านจึงหยุดนิ่งได้ง่าย ธรรมะของท่านก็ละเอียดลึกซึ้ง

                        ประการที่ ๗ มีปัญญา หมายถึงปัญญาหยั่งรู้ว่าสัตว์มีกรรมเป็นของตน พระเดชพระคุณหลวงพ่อเล่าถึงคุณยายบ่อยๆ ว่า การไปนรกไปสวรรค์ของคุณยายดูเหมือนง่ายๆ เหมือนท่านเดินจากกุฏิของท่านไปหอฉัน พอเขาถามท่านก็นั่งหลับตา สักพักหนึ่งก็ตอบ เช่น ถ้าไปตกนรก ท่านก็ตอบตรงๆ ไม่อ้ำอึ้งไม่อ้อมค้อมว่าญาติของคุณชื่อนี้ ตอนที่เป็นมนุษย์ได้ทำกรรมอย่างนั้น ตอนนี้ตายไปตกนรกขุมนั้น มีอาการอย่างนี้ มีทุกข์อย่างนี้

                        ประการสุดท้าย ไม่ยินดีในธรรมเป็นเหตุเนิ่นช้า ยินดีในธรรมเป็นเหตุบรรลุพระนิพพานเท่านั้น ธรรมเป็นเหตุเนิ่นช้ามี ๓ ประการ คือ ตัณหา มานะ และ ทิฏฐิ

                        คุณยายอาจารย์เว้นขาดจากตัณหา ไม่มีแม้แต่ความยินดีในรสอาหาร ท่านตอบไม่ได้ว่าปลาสลิดอร่อยตรงไหน ไม่มีมานะ ผู้ที่เข้าวัดมาตั้งแต่สมัยที่คุณยายออกมาต้อนรับพวกเราเอง คงจำกันได้ดี ท่านน้อมตัวลงไหว้ก่อน แม้กับผู้ที่มีอายุอ่อนกว่าท่านก็ตาม ไม่มีทิฏฐิ ท่านสอนเสมอว่า "ให้นึกถึงบุญเสมอ ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย จะลำบากขนาดไหนก็ยอม ทิฏฐิทุกอย่างให้ละ ยายเป็นคนยอมคน อยู่ที่ไหนก็ละทิฏฐิ อ่อนน้อมถ่อมตน เราต้องยอมทุกๆ คน เพื่อทำความดีของเรา เราต้องทนง้อเขาทุกอย่าง ง้อเพื่อให้เขาสามัคคีกัน รักกัน พอเรายอมได้ งานทุกอย่างก็สำเร็จ สุดท้ายก็ได้บุญด้วยกันทุกคน"

                        ใครก็ตามมีคุณธรรม ๓ ประการ คือ ตนเองมีความบริสุทธิ์บริบูรณ์ ผ่องแผ้วด้วยตัวของตัวเอง มีปัญญารู้เท่าทันโลกตามความเป็นจริง สามารถพาตนพร้อมทั้งชาวโลกให้คลายทุกข์ สิ้นทุกข์ได้ ด้วยน้ำใจที่งดงาม เมตตา อนุเคราะห์ ผู้นั้นได้ชื่อว่า มหาบุรุษ คือ มนุษย์ผู้มีคุณมากมายใหญ่หลวงต่อโลกนั่นเอง และมหาปูชนียาจารย์ผู้หนึ่งที่สมควรจารึกไว้ในบวรพระพุทธศาสนาว่า เป็นมหาบุรุษ อย่างเต็มภาคภูมิก็คือ คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ของพวกเราหลานยายทุกๆ คน

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล