ฉบับที่ ๓๑ ประจำเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๘

พุทธประวัติ "พระโพธิสัตว์ได้รับพุทธพยากรณ์ ตอนที่ ๑"

 


ระยะเวลาผ่านไป ๑๖ อสงไขย พระโพธิสัตว์เกิดมานับภพนับชาติไม่ถ้วน เพื่อสั่งสมพระบารมีให้เต็มเปี่ยม จนถึงอสงไขยที่ ๑๗ ในมหากัปที่นับไม่ถ้วนนี้ มีมหากัปอันประเสริฐชื่อว่า สารมัณฑกัป

 

 
สารมัณฑกัป มีพระพุทธเจ้า อุบัติขึ้น ๔ พระองค์ คือ
     ๑.พระตัณหังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า
     ๒.พระเมธังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า
     ๓.พระสรณังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า
     ๔.พระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระบรมโพธิสัตว์ของเราได้พบ พระพุทธเจ้าทั้ง ๓ พระองค์ แต่ยังไม่ได้รับพุทธพยากรณ์ เพราะเหตุแห่งบารมียังไม่เต็มเปี่ยม จนกระทั่งถึงพระพุทธเจ้าองค์ที่ ๔ คือ พระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นครั้งแรกที่พระบรมโพธิสัตว์ ของเราได้รับพุทธพยากรณ์
 
เรื่องมีอยู่ว่า ย้อนหลังจากภัทรกัปนี้ไป สี่อสงไขยกับแสนมหากัป ณ พระนครอมรวดี เมืองที่อุดมสมบูรณ์ ไปด้วยข้าวและนํ้า ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของผู้มีบุญใน พระนครอมรวดีนี้ มีมาณพท่านหนึ่งชื่อว่า สุเมธ ท่านถือกำเนิดมา จากตระกูล ที่ดีที่สุด ในยุคนั้น ซึ่งเป็นตระกูลพราหมณ์ ท่านเป็นชายหนุ่มรูปงาม มีผิวพรรณผุดผ่อง น่าเลื่อมใส
ท่านสุเมธเป็นผู้คงแก่เรียน ศึกษาจบไตรเพท แตกฉานในศิลปะทุกประการ ต่อมาไม่นานมารดาบิดา ของท่านได้ถึงแก่กรรม ตั้งแต่ท่านสุเมธยังเป็นหนุ่ม
 
บริวารผู้จัดการผลประโยชน์ ได้นำบัญชีทรัพย์สินทั้งหมด ของตระกูลมาให้ท่านสุเมธดู พร้อมกับพาไปที่ห้องเก็บสมบัติ ภายในห้องเก็บสมบัติ เต็มไปด้วยทอง เงิน แก้วมณี และรัตนชาติต่างๆ มากมาย
บริวารผู้จัดการ ผลประโยชน์บอกให้ท่านสุเมธ ทราบว่า "นี่คือสมบัติตลอดเจ็ดชั่วตระกูลทั้งหมด ขอท่านจงครอบครองทรัพย์สิน ทั้งหมดเหล่านี้เถิด"

ท่านสุเมธคิดว่า มารดาบิดา ปู่ย่า ตายาย และตลอดจนทวดของเรา ได้สะสมทรัพย์เหล่านี้ไว้มากมายมหาศาล แต่เมื่อไปสู่ปรโลกก็ไม่สามารถ นำทรัพย์สมบัติเหล่านี้ไปได้ แม้เพียงกหาปณะเดียว เราจะหาวิธีเอาทรัพย์สมบัติ ทั้งหมดนี้ติดตามตัวเราไปในภพเบื้องหน้า ให้ได้

 
ท่านสุเมธจึงขึ้นไปสู่ชั้นบนของปราสาท แล้วนั่งคิดพิจารณาว่า การเกิดขึ้นเป็นทุกข์ การเจ็บป่วยก็เป็นทุกข์ การตายก็เป็นทุกข์ อันตัวเราย่อมมีเกิด แก่ เจ็บ และตายเป็นธรรมดา เราควรแสวงหาอมตธรรม ที่ไม่ต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่มีความทุกข์ มีแต่ความสุขล้วนๆ
เราควรใช้ร่างกาย อันเต็มไปด้วยสิ่งสกปรกปฏิกูลนี้ แสวงหาทางพ้นจากทุกข์ ให้ได้เสมือนกับความสุขย่อม เป็นปฏิปักษ์ต่อความทุกข์ ฉันใด เมื่อวัฏสงสารมี ความหลุดพ้นจากวัฏสงสาร ก็ย่อมมีได้ ฉันนั้น
เมื่อของร้อนมีอยู่ แม้ความเย็นอัน เป็นเครื่องระงับความร้อนนั้นก็ย่อมมี ฉันใด แม้ความสงบเย็นอันเป็นเครื่องดับ ความร้อนด้วยไฟ คือ ราคะ โทสะ โมหะ ก็พึงมี ฉันนั้น
เมื่อความชั่วมีอยู่ ความดีก็ต้องมี ฉันใด เมื่อความเกิดมีอยู่ แม้ความเกิดก็ย่อมมีได้ ฉันนั้น

 

เมื่อบุคคลตกอยู่ในหลุมคูถ เห็นสระ มีนํ้าสะอาดเต็มเปี่ยม แต่ไม่ล้างตัว ที่สระนํ้านั้น จะเป็นความผิดของสระนํ้า นั้นก็หาไม่ ฉันใด
เมื่อสระนํ้าคืออมตธรรม อันเป็นเครื่องชำระมลทิน คือกิเลสมีอยู่ แต่ไม่ยอม แสวงหาอมตธรรมนั้น จะถือว่าเป็นความผิดของอมตธรรม ก็หาไม่ แต่เป็นความผิดของบุคคลนั้นเอง ฉันนั้น
 

 

เมื่อบุคคลถูกศัตรูรุมล้อม ช่องทางหนีไปก็มีอยู่ แต่ไม่ยอมหนีไป จะเป็นความผิดของช่องทางนั้นก็หาไม่ ฉันใด

บุคคลผู้ถูกกิเลสห่อหุ้มยึดติดไว้ ช่องทางหมดกิเลสไปสู่อมตมหานครก็มีอยู่ แต่ไม่แสวงหาช่องทางนั้น จะเป็นความผิดของอมตมหานครก็หาไม่ ฉันนั้น
 
บุคคลผู้เจ็บป่วย เมื่อหมอรักษาโรคมีอยู่ แต่ไม่ยอมให้หมอรักษา จะเป็นความผิด ของหมอก็หาไม่ ฉันใด
บุคคลผู้ได้รับทุกข์ถูกความเจ็บป่วยไข้ คือกิเลสเบียดเบียนแล้ว ไม่แสวงหาครูบาอาจารย์ที่รู้หนทางพ้นทุกข์ จักเป็นความผิดของครูบาอาจารย์นั้น ก็หามิได้ ฉันนั้น

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล