Dhammaforpeople
ธรรมะเพื่อประชาชน
ตอน เป็นกัลยาณมิตรยามเจ็บป่วย
การดำเนินชีวิต ในสังสารวัฏให้รอดและปลอดภัยได้นั้น เราจะต้องดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท เพราะชีวิตในสังสารวัฏนั้นเต็มไปด้วยทุกข์ภัยต่างๆมากมาย ทั้งทุกข์ที่เกิดจากสังขาร ร่างกาย ตั้งแต่ปลายผมจรดปลายเท้า ล้วนแต่เป็นรังแห่งโรค เต็มไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บหลายชนิด และทุกข์ที่เกิดจากคนรอบข้าง ทุกข์ที่เกิดจากปัญหาการดำรงชีพ และทุกข์ในสังสารวัฏเต็มไปด้วยทุกข์ตลอดเส้นทางของการดำเนินชีวิต
อีกทั้งภัยต่างๆก็มีอยู่มากมาย ตั้งแต่ภัยในความแก่ ความเจ็บ และความตาย ภัยที่เกิดจากธรรมชาติ มีอัคคีภัยและอุทกภัยเป็นต้น ตลอดจนภัยในอบายภูมิในภัยในสังสารวัฏ เราจะเห็นว่าทุกข์ภัยนั้นมีอยู่รอบตัว บางทีทำผิดพลาดแม้เพียงเล็กน้อยก็เป็นเหตุทำให้ไปเกิดในอบายภูมิได้
ดังนั้นเราจึงไม่ควรประมาทชะล่าใจ ควรดำเนินชีวิตให้ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม มุ่งตรงสู่หนทางของพระนิพพานและที่สุดแห่งธรรม ซึ่งก็ต้องหมั่นประพฤติประฏิบัติธรรม ให้เข้าถึงพระธรรมกายภายในให้ได้ เพราะพระธรรมกายเท่านั้นเป็นสรณะอันเกษม ที่จะทำให้เราปลอดจากทุกข์และภัยทั้งปวง
มีพระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้ในขุททกนิกายคาถาธรรมบทว่า
“บุตรธิดาทั้งหลายก็ดี มารดาบิดาก็ดี พวกพ้องบริวารก็ดี ล้วนต่างก็ไม่สามารถเป็นที่ป้องกันและต้านทานให้ได้ เมื่อบุคคลถูกความตายครอบงำ ความป้องกันต้านทานในหมู่ญาติทั้งหลายก็ย่อมไม่มีเช่นกัน ฉะนั้น บัณฑิต เมื่อทราบความข้อนั้นแล้ว เป็นผู้สำรวมดีแล้วในศีล พึงรีบชำระหนทางไปสู่พระนิพพานโดยเร็วพลันทีเดียว”
วิบากกรรมอันเป็นสืบเนื่องมาจากการกระทำในอดีต เป็นสิ่งที่ไม่มีใครจะสามารถหลีกหนีให้รอดพ้นไปได้ เมื่อไม่สามารถจะหลบหลีกได้ ก็ขึ้นอยู่กับว่าใครจะเตรียมตัวให้พร้อมในการเผชิญหน้ากับทุกข์ภัยที่เกิดขึ้นได้ดีกว่ากัน ไม่ว่าจะเป็นภัยหรือบาปกรรมที่ตามให้ผล หรือภัยคือความแก่ ความเจ็บและความตาย เมื่อเกิดขึ้นแล้วมีเพียงตัวเราเท่านั้นที่จะสามารถเป็นที่พึ่งให้กับตัวเองได้ในเวลาคับขันของชีวิต มีเพียงบุญกุศล ความดี และธรรมะภายในที่เราได้เข้าถึงเท่านั้น ที่จะสามารถเป็นที่พึ่งที่ระลึกได้อย่างแท้จริงๆ
คนอื่นไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ญาติพี่น้อง พวกพ้องบริวาร หรือคนสนิทใกล้ชิด ต่างก็ไม่สามารถเป็นที่พึ่งให้เราได้ดีเท่ากับตัวเราเอง ทำได้ก็เพียงคอยให้กำลังใจ คอยชี้แนะหนทางสว่าง เตือนสติให้เราระลึกนึกถึงบุญและพระรัตนไตยภายใน
ตัวอย่างของผู้ที่เป็นกัลยาณมิตรในยามเจ็บไข้ เรื่องมีอยู่ว่า ในสมัยหนึ่งเมื่อครั้งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่เภสกฬามิคทายวัน ในแคว้นภัคคชนบท มีสองสามีภรรยาผู้เป็นสาวกและสาวิกาของพระบรมศาสดา ซึ่งท่านทั้งสองเป็นพระโสดาบัน และได้อาศัยอยู่ในเมืองนั้น
มีอยู่วันหนึ่งนกุลบิดาคฤหบดีผู้เป็นสามี เกิดล้มป่วยลงอย่างกะทันหัน และมีอาการทรุดหนักลงไปเรื่อยๆ เมื่อเห็นว่าอาการไม่ดีขึ้น จึงทำให้ท่านเกิดความกังวลใจและห่วงใจถึงบุตรกับภริยาอันเป็นที่รักว่า หากตนจะต้องตายไปตอนนี้จริงๆ ครอบครัวอันเป็นที่รักจะอยู่อย่างไร
ฝ่ายนางนกุลมารดาคหปตานี ผู้เป็นภรรยา พอเห็นสามีกังวลเช่นนั้น จึงหาวิธีการที่จะปลอบโยนสามี ให้คลายจากความกังวล ได้กล่าวเตือนสติท่านคฤหบดีว่า ขอท่านอย่าได้ห่วงใยหรือกังวลใจไปเลย เพราะหากท่านจะต้องจากโลกนี้ไปด้วยอาการเช่นนี้ ย่อมเป็นเหตุนำทุกข์มาให้แก่ท่าน อีกทั้งการละจากโลกนี้ไปด้วยจิตเป็นกังวลย่อมทำให้จิตเศร้าหมอง และพระพุทธองค์ก็ไม่ทรงสรรเสริญ ท่านคฤหบดี ดิฉันนี้เป็นผู้ชำนาญในการปั่นฝ้ายและการทำขนสัตว์ ฉะนั้นเมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ดิฉันก็สามารถดูแลบ้านและลูกๆได้อย่างแน่นอน
เมื่อนางเห็นว่าท่านคฤหบดี เริ่มลาจากความกังวลใจแล้ว จึงกล่าวตอบไปว่า ท่านคฤหบดี ท่านอย่ากลัวไปเลยว่าเมื่อตัวท่านล่วงลับไปแล้วดิฉันจะไปมีสามีใหม่ เพราะว่าท่านและดิฉันก็อยู่ร่วมกันเป็นเวลายาวนาน ต่างคนต่างก็เคร่งครัดต่อระเบียบประเพณีอันดีงามตลอด
ท่านคฤหบดี ท่านอย่าได้กลัวไปเลยว่าเมื่อล่วงลับไปแล้ว ดิฉันคงไม่ต้องการเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่ทำการเห็นพระภิกษุสงฆ์ ในความจริง ดิฉันต้องการเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นอย่างยิ่งและปรารถนาจะเห็นพระภิกษุสงฆ์เป็นอย่างยิ่งเช่นเดียวกัน ท่านคฤหบดี ท่านอย่าได้ห่วงไปเลย ว่าเมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ดิฉันจะไม่รักษาศีลให้บริบูรณ์ เพราะว่าดิฉันก็เป็นสาวิกาผู้หนึ่งของพระผู้มีพระภาคเจ้าที่ยังเป็นคฤหัสถ์นุ่งขาวห่มขาวและสามารถรักษาศีลให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์ได้
ท่านคฤหบดี ท่านคงมีความห่วงใยว่าดิฉันยังไม่ถึงที่พึ่ง ยังไม่สิ้นความสงสัยและความเคลือบแคลง ยังไม่ถึงความแกล้วกล้าในพระธรรมวินัยนี้ ยังไม่เชื่อในคำสอนของพระบรมศาสดา แม้ข้อนี้ท่านก็ไม่ควรคิดอย่างนี้ เพราะบรรดาเหล่าสาวิกาของพระตถาคตเจ้าที่ยังเป็นคฤหัสถ์นุ่งขาวห่มขาว ดิฉันก็เป็นสาวิกาคนหนึ่งที่ได้ถึงที่พึ่งได้ถึงความเบาใจ สิ้นความสงสัยและความเคลือบแคลง ได้ถึงความแกล้วกล้าในพระธรรมวินัยนี้
ท่านคฤหบดี ขอท่านอย่าละจากโลกนี้ไปโดยมีความห่วงใยเลย เพราะการละจากโลกนี้ไปของผู้ที่มีความห่วงใยนั้นย่อมเป็นเหตุนำความทุกข์มาให้ อีกทั้งการละจากโลกนี้ไปด้วยความห่วงใย พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงติเตียนโดยแท้
เมื่อนกุลบิดาคฤหบดี ได้ฟังคำตักเตือนของนางนกุลมารดาคหปตานี จิตของท่านก็ผ่องใส สว่างไสว ด้วยกายธรรมของโสดาบัน และท่านก็คลายจากความกังวลและห่วงใยในบุตรและธิดา ภรรยา ทำให้ท่านเกิดความปราโมทย์ใจ มีความเบิกบานอาจหาญ ร่าเริงในธรรมเอกถาของนางนกุลมารดาเป็นอย่างมาก อาการป่วยไข้ของท่านคฤหบดีก็เริ่มบรรเทาลงไปเรื่อยๆ
จนในที่สุดท้ายก็หายจากโรคภัย และเมื่อท่านคฤหบดีนั้นหายป่วยได้ไม่นาน ก็ถือไม้เท้าพยุงกายเดินทางไปเข้าเฝ้าพระบรมศาสดาถึงที่ประทับ ไปถวายบังคมและนั่งที่ควรส่วนท่านแล้วก็ได้เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นกับตนเองให้พระบรมศาสดาฟัง พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสชื่นชมนางนกุลมารดากับท่านคฤหบดีว่า
“ดูก่อนท่านคฤหบดี ท่านเป็นผู้มีลาภอันประเสริฐ นางนกุลมารดาผู้มุ่งหวังประโยค ได้กล่าวถ้อยคำอนุเคราะห์และตักเตือนท่านเพื่อให้กลับได้สติบริบูรณ์ นางเป็นสาวิกาผู้ถึงความหยั่งลง ถึงที่พึ่ง ถึงความเบาใจ สิ้นความสงสัยและความเคลือบแคลง ถึงความแกล้วกล้าในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีความเชื่อในคำสอนของพระบรมศาสดาโดยไม่ต้องอาศัยผู้อื่น เป็นผู้มีการกระทำอันบริสุทธิ์ บริศีลทั้งหลาย” และพระองค์ก็ทรงกล่าวอนุโมทนาต่อความเป็นผู้ฉลาดในการดูแลคนป่วยของนาง
จากเรื่องนี้ เราก็จะเห็นได้ว่าวิธีการเยี่ยมไข้หรือเฝ้าไข้คนป่วยที่ถูกต้องหรือถูกหลักวิชานั้น เราต้องพูดให้ผู้ป่วยเบากาย สบายใจปลอดจากเรื่องกังวลทั้งปวง และก็น้อมนำใจของผู้ป่วยให้มาอยู่ในเส้นทางบุญและพระรัตนตรัยภายใน เพราะเมื่อจิตผ่องใสแล้วนั้นที่ป่วยหนักก็จะเบา ที่เบาก็จะหาย หรือถ้าหมดอายุขัยก็จะไปดี มีสุขคติ โลกสวรรค์เป็นที่ไป
ในช่วงเวลาที่เราจะละจากโลกนี้ไป เวลานั้นทุกขเวทยาจะบีบคั้นอย่างหนัก ทำให้เรานึกถึงบุญไม่ค่อยจะออก ดังนั้นเราจึงต้องหมั่นฝึกฝนใจ ให้หยุด ให้นิ่ง ให้ใจอยู่ในบุญ อยู่ในพระรัตนตรัยเสมอ ฝึกซ้อมเอาไว้ให้ได้เป็นประจำทุกๆวัน