Dhammaforpeople
ธรรมะเพื่อประชาชน
ตอน โปริสาท ตอนที่ 12
เวลาแห่งการฟังธรรม เป็นเวลาที่มีคุณค่ายิ่งซึ่งจะช่วยยกใจของเราให้สูงขึ้นจากนิวรณ์ทั้งหลาย เป็นการเพิ่มเติมปัญญาบารมีให้กับตัวเราเอาไว้เป็นธรรมาวุธ คอยแก้ไขปัญหาต่างๆที่ผ่านเข้ามาในชีวิต
ความรู้ที่เกิดจากการฟังธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเป็นความรู้ที่บริสุทธิ์ซึ่งเกิดจากใจที่หยุดนิ่งได้อย่างสมบูรณ์ ยิ่งได้ยินได้ฟังและนำไปประพฤติปฏิบัติตามได้มากเพียงไร ชีวิตก็จะก้าวหน้า เจริญรุ่งเรืองได้มากเพียงนั้น
อย่างน้อยก็ทำให้ไม่พลัดไปเกิดในอบาย จะเวียนเกิดอยู่ในสุคติภูมิอย่างเดียว และปัญญาที่เกิดจากการฟังธรรมซึ่งเป็นความรู้อันบริสุทธิ์ ยังสามารถนำไปสู่การหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะได้ด้วย
มีข้อความตอนหนึ่งที่ท้าวสหัมบดีพรหม ได้ตรัสกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ความว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้มีปัญญาดี มีสมันตจักษุ บุรุษผู้ยืนอยู่บนยอดเขาศิลาล้วน พึงเห็นหมู่ชนได้โดยรอบฉันใด ขอพระองค์ผู้หมดความเศร้าโศกแล้วโปรดเสด็จขึ้นสู่ปราสาทคือธรรมจักได้เห็นหมู่สัตว์ผู้ตกอยู่ในความโศกและถูกชาติ ชรา ครอบงำชัดเจน ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียร ผู้ชนะสงคราม ผู้นำหมู่ชน ผู้ไม่มีหนี้ ขอพระองค์จงทรงอุตสาหะจาริกไปในโลกเถิด ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรมเพราะจักมีหมู่สัตว์รู้ทั่วถึงธรรมที่พระองค์ทรงแสดง”
สิ่งที่พวกเราจะได้จากการฟังธรรมนั้นมีมากมาย โดยย่อ เราจะได้อาริยทรัพย์ ซึ่งเป็นสมบัติอันล้ำค่ายิ่งกว่าโลกียทรัพย์ใดๆในโลกที่เราหามาได้ในปัจจุบันนี้ เพราะว่าเราจะได้เพิ่มพูนทรัพย์ คือศรัทธา มีความเห็นถูกต้อง ได้ดวงปัญญาซึ่งเป็นทรัพย์อันประเสริฐ
เป็นเหตุให้เราอยากรักษาศีล ให้สะอาด บริสุทธิ์ มีหิริโอตัปปะ เกรงกลัวต่อบาปอกุศลทั้งหลาย ได้เป็นพหูสูต คือ ได้ยินได้ฟังแต่เรื่องดีๆที่จะยกใจให้สูงขึ้น ได้สละความตระหนี่ออกจากใจ รวมไปถึงได้สละอารมณ์ขุ่นข้องหมองใจ เหลือไว้แต่อารมณ์ดี อารมณ์สบาย พร้อมที่จะเข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน ได้บรรลุธรรมพิสมัยง่ายๆ
พระโพธิสัตว์ทั้งหลายในสมัยที่กำลังสร้างบารมีอยู่นั้น ท่านเป็นผู้รักในการฟังธรรมมาก บางชาติถึงกับยอมกระโดดจากภูเขาให้ยักษ์กินเพื่อแลกกับการฟังธรรม คือ ท่านคิดว่าจะเป็นจะตายอย่างไรก็ช่างขอเพียงให้ได้ฟังธรรมเสียก่อน การเกิดการตายถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาทุกคนที่เกิดมาในโลกล้วนต้องตายทั้งสิ้น ต่างกันแต่ว่าจะเร็วหรือช้าเท่านั้น แต่การฟังธรรมนั้นหากไม่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติขึ้นจะเกิดอีกกี่หมื่นแสนชาติ ก็หาฟังไม่ได้ เมื่อโอกาสฟังธรรมมาถึงท่านจึงรีบไขว่คว้าไว้
เมื่อพระเจ้าสุตโสมได้รับอนุญาตจากจอมโจรโปริสาทแล้วก็เสด็จกลับเข้าสู่พระนครทันที ทรงรับสั่งให้เจ้าหน้าที่แต่งตัวให้พราหมณ์ ให้อาบ น้ำประดับด้วยผ้าและเครื่องอลังการ และนำมาเข้าเฝ้า
พระองค์ทรงมีความเคารพในธรรมมากได้พระราชทานโภชนะของพระองค์ให้พราหมณ์ได้บริโภคก่อนและจากนั้นจึงค่อยเสวยทีหลัง เชิญพราหมณ์ให้นั่งบนบัลลังก์ที่ควรบูชา ส่วนพระองค์ค่อยนั่งบนอาสนะที่ต่ำกว่า ครั้นบูชาพราหมณ์ด้วยเครื่องสังการะ มีของหอมและดอกไม้แล้ว
ตรัสอาราธนาว่า “ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าขอฟังคาถาชื่อว่าสตารหาที่ท่านนำมาเพื่อข้าพเจ้า ขอท่านจงแสดงธรรมที่พระกัสสปะสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แสดงเอาไว้ด้วยเถิด” เมื่อพระโพธิสัตว์ได้อาราธนาแล้ว พราหมณ์ก็ฟอกมือทั้งสองด้วยของหอมนำเอาคัมภีร์ออกจากถุง
ใช้สองมือประคองพระคัมภีร์และทูลว่า “บัดนี้ขอมหาบพิตรจงสดับคาถาชื่อว่าสตารหา ๔ คาถา ตามที่พระกัสสปทศพลทรงแสดงไว้ เป็นคาถาอันจะถอนความเมา มีความเมาด้วยราคะเป็นต้น ให้สร่าง ให้สำเร็จอมตะมหานิพพาน” พราหมณ์อ่านคาถาจากพระคัมภีร์ด้วยความนอบน้อมและถ้อยคำที่ไพเราะว่า
“ข้าแต่ท่านสุตโสมมหาราช การสมาคมกับสัตบุรุษเพียงครั้งเดียวเท่านั้น การสมาคมนั้นย่อมรักษาผู้สมาคมนั้นไว้ได้ การสมาคมกับอสัตบุรุษ แม้มากครั้งรักษาไม่ได้บุรุษควรคบกับสัตบุรุษ พึงทำความสนิทสนมกับสัตบุรุษ เพราะผู้รู้สัจธรรมของสัตบุรุษย่อมมีความเจริญ ”
“ไม่มีความเสื่อม ราชรถที่เขาตกแต่งให้วิจิตรเป็นอันดียังคร่ำคร่าได้ แม้สรีระก็เข้าถึงความชราได้เหมือนกัน ส่วนธรรมของสัตบุรุษย่อมไม่เข้าถึงความชรา”
“สัตบุรุษกับสัตบุรุษด้วยกันย่อมรู้กันได้ ฟ้าและแผ่นดินไกลกัน ฝั่งข้างโน้นของมหาสมุทรเขาก็กล่าวกันว่าไกล ข้าแต่มหาราช ธรรมของสัตบุรุษและธรรมของอสัตบุรุษทั้งสองนี้ ท่านกล่าวว่าไกลกันยิ่งกว่า”
พระโพธิสัตว์ครั้นได้สดับแล้ว ทรงมีพระทัยปิติโสมนัสว่า การมาของเรามีผลมาก คาถาเหล่านี้ไม่ใช่ภาษิตของนักพรต ไม่ใช่ภาษิตของฤๅษี ไม่ใช่ภาษิตของกวี แต่เป็นภาษิตของพระสัพพัญญูซึ่งมีค่าสูงสุด ทรงดำริต่อไปว่า
แม้เราจะให้จักรวาลทั้งสิ้น กระทำให้เต็มด้วยรัตนะเจ็ดตลอดถึงพรหมโลก ก็ไม่อาจทำให้สมควรแก่ธรรมอันประเสริฐนี้ได้ เราพอจะให้ราชสมบัติในนครอินทปัตประมาณเจ็ดโยชน์ ในกุรุรัฐประมาณสามร้อยโยชน์แก่พราหมณ์นี้ โชคที่จะได้ราชสมบัติของพราหมณ์นี้มีอยู่ไหมหนอ
ทรงตรวจดูด้วยอานุภาพแห่งองค์วิทยาก็ไม่เห็นว่าพราหมณ์นี้จะได้ เนื่องจากบุญที่จะมารองรับราชสมบัติไม่มี ทรงตรวจถึงฐานันดรต่างๆ เช่นตำแหน่งเสนาบดี ก็ไม่ทรงเห็นโชคฐานันดรแม้เพียงนายบ้านหมู่หนึ่ง เมื่อทรงตรวจถึงโชคลาภตรวจตั้งแต่ทรัพย์โกฎิหนึ่ง ทรงเห็นโชคลาภเพียงสี่พันกหาปณะเท่านั้น จึงตัดสินพระทัยว่า จะบูชาพราหมณ์ด้วยทรัพย์สี่พันกหาปณะ จึงรับสั่งให้พระราชทานทรัพย์ถุงละหนึ่งพันกหาปณะ รวมสี่ถุง
จากนั้นตรัสถามว่า ท่านอาจารย์ ท่านแสดงคาถานี้ให้กษัตริย์เมืองอื่นๆได้รับฟังได้ทรัพย์มากเท่าไร พราหมณ์กราบทูลว่า “ข้าแต่มหาราช ได้คาถาละหนึ่งร้อยกหาปณะ เพราะฉะนั้นคาถาเหล่านี้จึงได้นามว่าสตารหา”สตารหาก็คือคาถาที่ควรค่าแก่การบูชาธรรม เพราะพระราชาคนไหนฟังก็บูชาธรรมเหล่านั้น
พระโพธิสัตว์ตรัสถามพราหมณ์ต่อไปว่า “ท่านอาจารย์ ท่านไม่รู้ราคาของสิ่งของที่ท่านถือเที่ยวไปทั่วชมพูทวีป คาถานี้เป็นสิ่งที่หาค่าไมได้เพราะเป็นธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ เพราะฉะนั้นตั้งแต่นี้เป็นต้นไปคาถาเหล่านี้จงชื่อว่า สหัสสารหา เถิด เพราะควรค่าหนึ่งพัน ท่านจงรับทรัพย์สี่พันเป็นธรรมบูชาจากเราเถิด” พราหมณ์ได้รับทรัพย์มากมายถึงสี่พันกหาปณะก็ดีใจมากจึงได้กล่าวพรรณาคุณของพระโพธิสัตว์ไม่หยุดปาก
เมื่อสนทนาธรรมพอสมควรแก่เวลาแล้วพระโพธิสัตว์ได้พระราชทานยานพาหณะอย่างดีให้พราหมณ์นำไปเป็นพาหนะคู่ใจ เพื่อน้อมนำคำสอนอันประเสริฐนี้ไปแสดงให้บัณฑิต นักปราชญ์ คนอื่นๆให้ฟัง ทรงรับสั่งพวกราชบุรุษให้ส่งพราหมณ์ไปถึงบ้านโดยสวัสดี จากนั้นจึงค่อยเสด็จเข้าเฝ้าพระราชมารดาและพระราชบิดาต่อไป
ข้อคิดในวันนี้ก็คือ ธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเป็นสิ่งที่ประมาณค่าไม่ได้ คือ แม้จะให้รัตนะที่สูงถึงพรหมโลก ก็ไม่อาจเทียบค่ากับธรรมะที่ได้ยินได้ฟัง เพราะบทธรรมแม้บทเดียว ถ้าตั้งใจฟังและน้อมนำไปปฏิบัติก็สามารถทำให้หลุดพ้นจากทุกข์ได้ มีเงินทองกองท่วมฟ้าไม่อาจเปลี่ยนคนธรรมดาให้กลายเป็นพระอริยเจ้ได้
มีเพียงธรรมะเท่านั้นที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้สูงขึ้น และทำให้คนหลุดพ้นจากสังสารวัฏไปได้ ปัจจุบันนี้ทุกคนถือว่ามีโชค เพราะเกิดในยุคที่พระพุทธศาสนา วิชาธรรมกายกำลังเจริญรุ่งเรือง ทำให้ไม่ลำบากในการแสวงหาความรู้อันบริสุทธิ์ แต่ก็อย่าได้ประมาทว่าฟังเมื่อไรก็ได้ เมื่อโอกาสเป็นของเราแล้วก็ให้หมั่นหาโอกาสฟังธรรมเป็นประจำและน้อมนำปฏิบัติฝึกฝนใจให้หยุดนิ่งเรื่อยไปจนกว่าจะได้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายในกัน