Dhamma for people
ธรรมะเพื่อประชาชน
พระเตมีย์ ผู้ยิ่งด้วยเนกขัมมบารมี ๐๑
ชีวิตนี้เป็นของเรา ทุกคนมีสิทธิ์ในการเลือกดำเนินชีวิต ว่าจะให้เป็นไปในทิศทางใด จะเลือกเรียนในสาขาวิชาอะไร หากอยู่ในโลกเสรี ก็มีสิทธิ์ที่จะเลือกเรียนได้ตามใจชอบ ตามความถนัดของตน การทำงานเลี้ยงชีพก็เช่นเดียวกัน จะทำงานในอาชีพใด เราก็สามารถเลือกได้ และเมื่อทำไปแล้วเกิดไม่ชอบใจขึ้นมา ก็สามารถเปลี่ยนอาชีพใหม่ได้ไม่ยากนัก แต่วิชาชีวิตนั้น คนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยรู้กันเลยว่า ต้องทำอย่างไรจึงจะทำให้ตนปลอดภัยไม่ต้องตกไปอยู่ในอบาย ให้เวียนวนอยู่แต่ในสุคติภูมิอย่างเดียว เพราะถ้าพลาดพลัดไปเกิดในอบาย โอกาสที่จะกลับมาเกิดเพื่อแก้ตัวใหม่เป็นเรื่องยาก เพราะต้องไปทุกข์ทรมานเป็นเวลายาวนานเป็นล้าน ๆ ปี หรือเป็นพุทธันดร
จึงจำเป็นที่เราจะต้องศึกษาวิชาชีวิต โดยวางความเชื่อดั้งเดิมเอาไว้และลองมาศึกษาความจริงจากคำสอน ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งท่านเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้วเราก็จะรู้ว่า วิชาชีวิตที่แท้จริง คือต้องละชั่ว ทำดีและทำใจให้ผ่องใส โดยหมั่นให้ทานอยู่เป็นนิจ รักษาศีลให้บริสุทธิ์และหาโอกาสเจริญสมาธิภาวนา เพื่อชีวิตในปรโลกจะได้ปลอดภัยให้มีความสุขความเจริญไปทุกภพทุกชาติกันนะจ๊ะ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในสมัยที่ยังบำเพ็ญบารมีเป็นสุเมธดาบดโพธิสัตว์ ได้ปรารภการบำเพ็ญเนกขัมมบารมีเอาไว้ว่า
"ดูก่อนสุเมธบัณฑิตท่านจงยึด บารมีข้อที่ ๓ คือเนกขัมมบารมี บำเพ็ญให้มั่นเถิด ถ้าท่านปรารถนาจะบรรลุโพธิญาณ ท่านจงเห็นภพทั้งปวง เป็นดังเรือนจำ ท่านจงมุ่งหน้าต่อเนกขัมมะ เพื่อหลุดพ้นไปจากภพ เปรียบเสมือนบุรุษที่ถูกขังในเรือนจำ ได้รับทุกข์ทรมานมานาน ย่อมไม่ยังความยินดีให้เกิดในเรือนจำนั้น มีแต่จะแสวงหาความพ้นไปฉะนั้น"
พระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายท่านศึกษาธรรมะผ่านพระสัมมาสัมพุมธเจ้ามาหลายพระองค์ จึงทำให้เป็นผู้ที่เข้าใจ ความเป็นจริงของชีวิต เช่นท่านรู้ว่า ทำไม่มนุษย์จึงไปไม่ถึงที่สุดแห่งทุกข์ ทำให้กิเฃสอาสวะยังฝังแน่นอยู่ในจิตใจของมวลมนุษย์ เหตุก็เพราะว่ามนุษย์ยังติดอยู่ในเหยื่อล่อของพยามาร หลงไหลในเบญจกามคุณทั้ง ๕ ยึดติดในรูป เสียง กลิ่นรส สัมผัส ธรรมารมณ์ต่างๆ ส่งจิตออกไปนอกตัว ปล่อยใจไปตามกระแสโลก แล้วไม่ได้ให้โอกาสกับตัวเองในการอบรมจิตเข้าสู่ภายใน เพื่อทำความบริสุทธิ์ให้เกิดขึ้น
กามคุณนี่เอง ที่ครอบงำสัพสัตว์ทั้งหลายให้ติดอยู่ในภพ แม้มีโภคทรัพย์สมบัติมากมาย ได้อัตภาพเป็นมนุษย์แล้วหากมัวแต่เสวยบุญเก่าที่เคยทำเอาไว้ หรือมัวทำมาหากินอย่างเดียว ไม่สั่งสมบุญใหม่เพิ่ม แล้วไม่เพิ่มเติมความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจให้กับตนเอง โอกาสที่จะพลัดไปเกิดในอบายก็มีมาก
ดังนั้นน่ะพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ท่านจะมุ่งทำความบริสุทธิ์ เพราะเห็นว่าวิธีที่จะชำระกายวาจาใจให้บริสุทธิ์ได้ดีที่สุด ก็ต้องหยุดการครองเรือนแล้วออกบวช หันมาหยุดใจไม่ให้ไปยุ่งเกี่ยวกับเบญจกามคุณทั้งหลาย
พระเตมีย์คือพระชาติหนึ่งของพระบรมโพธิสัตว์ ยอมสละความสุขจากการที่จะได้ครองราชสมบัติ หันมาประพฤติพรหมจรรย์เพราะท่านระลึกชาติได้ ตั้งแต่แรกเกิดเห็นชัดเจนว่า ถ้าครองราชก็ไม่พ้นที่จะต้องทำหน้าที่ตัดสินคดีความ ทั้งต้องสั่งฆ่าและจองจำผู้กระทำความผิด แม้จะทำถูกหลักกฎมณเฑียรบาล ตัดสินถูกต้องเที่ยงธรรมตามคดีโลก แต่ก็ไม่พ้นกฎแห่งกรรม ไม่พ้นวิบากกรรมปาณาติที่จะทำให้ไปตกนรก ท่านจึงพยายามทุกวิถีทางที่จะไม่ต้องขึ้นครองราชย์ ถึงขนาดแสร้งทำเป็นคนง่อยเปรี้ยเสียขา พูดได้แต่ไม่ยอมพูด ท่านต้องอดทนต่อการถูกทดสอบทุกอย่าง เพื่อหวังจะได้ออกบวชชำระกาย วาจา ใจบริสุทธิ์อย่างเดียว ซึ่งในวันนี้หลวงพ่อจะได้น้อมนำเอาประวัติ การบำเพ็ญเนกขัมมบารมี ของพระโพธิสัตว์มาเล่าให้ลูกๆ ทุกคนได้รับฟังกันนะจ๊ะ
ณ ธรรมสภาอันเป็นสถานที่ประชุมกันเพื่อฟังธรรม และสนทนาธรรมของพุทธบริษัททั้งหลาย ภายในพระเชตวันมหาวิหาร พุทธสถานอันงดงาม มีต้นไม้ใหญ่ให้ความร่มรื่น เป็นที่น่ารื่นรมย์ใจ วันหนึ่งได้มีภิกษุหมู่ใหญ่ผู้ใคร่ต่อการศึกษา ได้มาประชุมกันเพื่อฟังธรรม และสนทนาธรรม
ในวันนั้น ที่ประชุมได้สนทนากันในหัวข้อว่า การเสด็จออกผนวชของพระบรมโพธิสัตว์ ในขณะที่ยังทรงเป็นเจ้าชายผู้งามสง่า สมบูรณ์พร้อมด้วยมนุษย์สมบัติทุกอย่าง ที่ใครๆ ก็หวังว่า พระองค์จะได้เสวยสมบัติจักรพรรดินั้น ช่างน่าอัศจรรย์เหลือเกิน ในคราวนั้น พระบรมศาสดาทรงประทับอยู่ในที่หลีกเร้น ได้สดับคำสนทนาของภิกษุเหล่านั้น ด้วยพระโสตอันบริสุทธิ์ ล่วงเลยโสตธาตุของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย ทรงเห็นว่า เป็นเวลาอันสมควร ที่จะทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย จึงเสด็จมา ณ ธรรมสภานั้น ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ แล้วตรัสถามถึงคำสนทนาที่ได้เริ่มต้นไว้แต่ยังคงค้างอยู่ เมื่อตัวแทนของภิกษุสงฆ์ กราบทูลให้ทรงทราบแล้ว
เมื่อทรงสดับคำสนทนาของภิกษุเหล่านั้นแล้ว จึงตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราตถาคต ผู้มีบารมีเต็มเปี่ยมแล้ว ได้สละราชสมบัติออกผนวชในชาตินี้ ไม่น่าอัศจรรย์เลยแต่เมื่อครั้งเราตถาคตยังบำเพ็ญบารมีอยู่นั้น มีความมุ่งมั่นในการสละราชสมบัติออกบวช นั่นเป็นความอัศจรรย์ยิ่งกว่า”
ครั้นตรัสดังนี้แล้ว จึงทรงประทับนิ่งอยู่ พระภิกษุทั้งหลายที่นั่งประชุมกันอยู่ในที่นั้น เห็นเป็นโอกาสที่จะได้ฟังธรรมอันพิสดารเป็นที่จับจิตจับใจ จึงทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในกาลก่อนที่พระองค์ยังบำเพ็ญบารมีอยู่นั้น ได้มุ่งมั่นสละราชสมบัติ เสด็จออกบวชมีเรื่องราวเป็นอย่างไร ขอพระองค์ทรงแสดงให้แจ่มแจ้งด้วยเถิดพระเจ้าข้า” พุทธองค์จึงตรัสเล่าให้ภิกษุทั้งหลายฟังว่า
ในอดีตกาลในพระนครพาราณสีของแคว้นกาสีอันมั่งคั่ง เนื่องแน่ไปด้วยผู้คนมากมาย ซึ่งเดินทางผ่านไปมาเพื่อประกอบการค้าขายมิได้ขาด พระเจ้ากาสิกราช พระราชาผู้ครองแคว้นนั้น ทรงเป็นกษัตริย์ที่ตั้งมั่นอยู่ในทศพิธราชธรรม พระองค์ไม่ใช่เพียงเสวยราชสมบัติอยู่ภายในพระราชวังเท่านั้น แต่ยังหาโอกาสเสด็จออกตรวจตราบ้านเมืองเป็นครั้งคราว เพื่อไต่ถามทุกข์สุขของไพร่ฟ้าอานาประชาราชทั่วแว่นแค้วน จึงทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงพสกนิกร ที่อาศัยภายใต้ร่มพระบารมี
พระเจ้ากาสิกราชทรงมีพระสนมจำนวนมากถึง ๑๖,๐๐๐ นาง หากแต่ว่าพระองค์มิได้ทรงสบายพระหฤทัยเท่าใดนัก ด้วยเกรงว่าในไม่ช้าคงต้องถึงคราวศูนย์สิ้นราชบัลลังก์เป็นแน่ เพราะธรรมดาว่าพระนครที่ไม่มีรัชทายาทสืบสันตติวงศ์ย่อมจะถูกกษัตริย์ต่างเมืองยึดครองราชสมบัติได้โดยง่าย เนื่องจากในบรรดาพระสนม ๑๖,๐๐๐ นางของพระองค์ไม่มีแม้แต่พระนางเดียว ที่ให้กำเนิดรัชทายาทแก่พระองค์ แม้แต่พระนางจันทราเทวี ผู้เป็นพระอัครมเหสีก็ยังมิอาจประสูตรพระโอรส หรือพระธิดาเพื่อพระองค์ได้เลย
ขณะที่ทรงปริวิตกถึงเรื่องนี้อยู่เพียงลำพังภายในพระราชฐาน พระองค์ก็ทรงทอดพระเนตรเห็นชาวเมืองทั้งหญิงและชายพากันมาชุมนุมอยู่ที่พระลานหลวงอย่างคับคั่งทรงสงสัยว่าชาวเมืองมีเรื่องทุกข์ร้อนอะไร ถึงได้พากันมาชุมนุมกัน นี้เป็นราชประเพณีในการปกครองซึ่งเมื่อชาวประชาเกิดความทุกข์ร้อนอันใด ก็จะมาชุมนุมกันร้องเรียนต่อพระราชาโดยตรง ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกันเมื่อทรงเห็นชาวเมืองมาชุมนุมกันอย่างนี้ จึงตรัสเรียกให้เหล่าอำมาต และข้าราชบริพารใกล้ชิดมาเข้าเฝ้าโดยด่วน แล้วตรัสถามว่า พวกชาวเมืองมาชุมนุมเรื่องอะไรกันหรือทรงได้รับรายงานเบื้องต้นว่า ชาวเมืองปรารถนาให้พระองค์ทรงมีพระโอรส
เมื่อทรงสดับดังนั้น ก็ทรงแครงพระทัยว่า ไม่น่าจะใช่เราจะมีโอรสหรือไม่มีก็เรื่องของเรา ไม่เห็นจะเดือดร้อนอะไรชาวเมืองเลย จึงทรงรับสั่งว่า มาเถิดท่านทั้งหลาย เราจะไปฟังด้วยหูของเราเองว่า พวกเขาเดือดร้อนในเรื่องอะไรกันแน่ จึงได้เสด็จออกจากพระตำหนักไปถึงที่ประชุมของปวงประชา ประทับนั่งบนพระราชอาสน์ อันเป็นสถานที่รับร้องทุกข์ของชาวเมืองแล้วตรัสถามว่า พวกท่านมาประชุมด้วยเรื่องอันใดหรือ ส่วนว่าชาวเมือง จะกราบทูลร้องทุกด้วยเรื่องอะไรนั้นก็ให้มาติดตามรับฟังกันต่อในวันพรุ่งนี้นะจ๊ะ
พระธรรมเทศนา โดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)