ธรรมะเพื่อประชาชน
Dhamma for people
ติรัจฉานภูมิ
สรรพสิ่งและสรรพสัตว์ทั้งหลาย ล้วนมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เหมือนรถที่เราซื้อมาขับ ตอนแรกๆ เราก็ชื่นชม ทะนุถนอมทำความสะอาด เอาใจใส่อย่างดี แต่เมื่อนานวันเข้า ก็กลายเป็นรถเก่าที่ไม่น่าใช้อีกต่อไป ชีวิตของเราก็เช่นเดียวกัน กำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเสื่อมสลาย จากที่เราเคยเห็นว่า ร่างกายที่แข็งแรงในวัยเด็กแลดูน่ารักน่าเอ็นดู เมื่อถึงวัยหนุ่มวัยสาวก็เห็นแต่ความสวยงาม อยากให้อยู่ในวัยนี้นานๆ ครั้นกาลเวลาผ่านไป ก็ย่างเข้าสู่วัยแก่ชราไปตามลำดับ จำต้องประคับประคองสังขารนี้ไว้ จะทอดทิ้งก็ไม่ได้ จะชอบใจหรือไม่ชอบใจ ก็ต้องอดทนบริหารขันธ์นี้จนกว่าจะสิ้นลม แต่ก่อนสังขารนี้จะแตกดับ ควรใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการสร้างความดีให้ได้มากที่สุด จะต้องให้เป็นอุปกรณ์สำคัญที่จะทำให้เราเข้าถึงพระรัตนตรัยภายในให้ได้ เพื่อชีวิตในภพชาติต่อไปที่สมบูรณ์ยิ่งๆ ขึ้นไป
มีวาระพระบาลีที่ปรากฏอยู่ใน มหาวรรคสังยุตต์ ว่า
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ที่จุติจากมนุษย์ไปแล้ว จะกลับมาเกิดในพวกเทวดาหรือมนุษย์มีน้อย โดยที่แท้ สัตว์ที่จุติจากมนุษย์ไปแล้วกลับไปเกิดในนรก ในกำเนิดสัตว์เดรัจฉาน ในเปตติวิสัย มีมากกว่า ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะไม่เห็นอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ ทุกขสมุทัย ทุกขนิโรธ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแล เธอทั้งหลาย พึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา"
นี่เป็นพุทธพจน์ที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสเตือนภิกษุสาวกให้เป็นผู้ไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต เพราะพระองค์ทรงรู้เห็นด้วยพุทธญาณอันบริสุทธิ์ ที่ไม่มีอะไรสามารถปิดบังญาณทัสสนะของพระองค์ได้ จึงทรงนำมาแสดงและตักเตือนให้สาวก พุทธบริษัททั้ง ๔ ดำเนินให้ถูกทางเพื่อไปสู่พระนิพพาน คือให้รู้จักอริยสัจ ๔ ประการ ตั้งแต่ให้รู้ว่าชีวิตนี้เป็นทุกข์ แล้วมองสาวไปหาเหตุว่า ทุกข์เกิดมาจากไหน ถ้าทุกข์ชนิดนี้เกิดขึ้นมาแล้ว จะดับทุกข์ได้อย่างไร และวิธีการหรือปฏิปทาที่จะนำไปสู่การดับทุกข์นั้น ต้องทำอย่างไรบ้าง
ถ้าหากกำหนดรู้และหมั่นประพฤติปฏิบัติตามหลักอริยสัจนี้ได้ เป็นอันปิดประตูอบายภูมิ แต่มนุษย์ส่วนใหญ่ไม่ค่อยจะรู้กัน และดูเหมือนว่าไม่อยากจะได้ยินได้ฟัง เพราะมันขัดกับความรู้สึกและสวนทางกับกิเลสที่อยู่ในตัว เกิดมาจึงรู้แต่วิชาทำมาหากิน รู้แต่เรื่องโลกๆ ที่เป็นวิชาความรู้เอาไว้ยังชีพในชาตินี้เท่านั้น แต่ความรู้ที่เป็นวิชาของชีวิต ที่จะทำให้พ้นจากอบายภูมิ และยกตนสู่สวรรค์นิพพานนั้นหาได้ยาก แทบจะไม่มีเรียนที่ไหน นอกจากในพุทธศาสตร์ เมื่อเป็นเช่นนี้ ชีวิตหลังความตายจึงยากที่จะได้ขึ้นสวรรค์หรือกลับมาเป็นมนุษย์อีก
*เหมือนในสมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสถามภิกษุว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฝุ่นเล็กน้อยที่เราช้อนขึ้นไว้ในปลายเล็บกับฝุ่นในแผ่นดินใหญ่นี้ อันไหนจะมากกว่ากัน” พระภิกษุกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ฝุ่นเล็กน้อยที่พระผู้มีพระภาคทรงช้อนไว้ที่ปลายเล็บมีประมาณน้อยกว่าฝุ่นในแผ่นดินใหญ่ และไม่สามารถจะนำมาเปรียบเทียบกันได้แม้เพียงเศษเสี้ยว พระเจ้าข้า” พระพุทธองค์จึงเผยสิ่งที่อยากตรัสกับภิกษุว่า “ภิกษุทั้งหลาย ฉันใดฉันนั้น สัตว์ที่จุติจากมนุษย์ไปแล้ว จะกลับมาเกิดในพวกเทวดาหรือมนุษย์มีน้อย โดยที่แท้ สัตว์ที่จุติจากมนุษย์ไปแล้ว กลับไปเกิดในนรก ในกำเนิดสัตว์เดรัจฉาน ในเปตวิสัยมีมากกว่า ที่เป็นเช่นนี้เพราะหมู่สัตว์ไม่เห็นอริยสัจ ๔”
เมื่อกล่าวถึงการไปเกิดมาเกิดของสรรพสัตว์ ที่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏแล้ว ที่ผ่านมาหลวงพ่อได้เล่าถึงชีวิตหลังความตายของมนุษย์ผู้ทำบาปอกุศลไว้ว่า ต้องไปบังเกิดในอบายภูมิ เป็นสัตว์นรก เปรต อสรุกาย และสัตว์เดรัจฉานตามลำดับเรื่อยมา ครั้งนี้หลวงพ่อขอถือโอกาสอธิบายถึงอบายภูมิประเภทสุดท้าย ซึ่งถือว่าได้รับความลำบากในอีกรูปแบบหนึ่ง คือมีขันธ์ของสัตว์เดรัจฉานมาครอบ
ติรัจฉานภูมิหรือโลกแห่งสัตว์เดรัจฉานนี้ เห็นได้ง่ายกว่าในนรก ในเปรตอสุรกาย เพราะอาศัยอยู่บนโลกใบนี้ พวกเราคงพอจะสังเกตได้ว่า สัตว์เดรัจฉานไม่ต้องเสวยทุกขเวทนาหนักเหมือนสัตว์นรก เปรต และอสุรกาย เพราะว่ามีอกุศลบางเบาลงมามากแล้ว บางครั้งเราจะเห็นสุนัขบางตัวได้รับการเลี้ยงดูเป็นอย่างดี เจ้าของรักใคร่เอ็นดูเหมือนลูกคนหนึ่งทีเดียว แต่นั่นก็มีจำนวนน้อย เมื่อนำมาเทียบกับเดรัจฉานอีกจำนวนนับไม่ถ้วนที่มีอยู่ในโลกนี้
สัตว์เดรัจฉานแม้ว่าจะลำบากยากแค้นอยู่มาก แต่ก็ยังมีเหตุที่พอจะให้ชื่นชมยินดีอยู่ ๓ อย่างด้วยกันคือ การกิน การนอนและการสืบพันธุ์ ดังนั้นท่านจึงเรียกว่าติรัจฉาน นอกจากนี้ยังหมายความว่า “โลกของสัตว์ผู้ไปตามขวาง” ก็ได้ คือเวลาจะไปไหนมาไหน ต้องไปตามขวาง เช่น สุนัข หมู วัว ควาย เป็นต้น ผิดกับมนุษย์ซึ่งไปตามตรง
นอกจากร่างกายของสัตว์เดรัจฉานจะมีสภาวะไปทางขวางตามที่หลวงพ่อได้เล่ามาเเล้ว ในส่วนจิตใจก็ยังขวางอีกด้วย คือขวางจากทางมรรคผลนิพพาน ชีวิตในภพชาตินั้นจึงไม่มีโอกาสจะได้บรรลุธรรม ถึงจะทำดีมากเท่าไร จะมีจิตใจประเสริฐมากแค่ไหน การที่จะได้บรรลุมรรคผลนิพพานในชาติที่เป็นสัตว์เดรัจฉานนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้เลย เพราะเป็นอภัพพสัตว์ จัดอยู่ในจำพวกอบายภูมิ จะได้อย่างมากก็เพียงสวรรค์สมบัติเท่านั้น
ติรัจฉานเมื่อจะแยกเป็นประเภทใหญ่ๆ มีอยู่ ๔ ประเภท คือ ๑.อปทติรัจฉาน คือสัตว์เดรัจฉานประเภทที่ไม่มีเท้า ไม่มีขา จะไปไหนก็เลื้อยไป ได้แก่ งู ปลา และไส้เดือน เป็นต้น ๒.ทวิปทติรัจฉาน เป็นสัตว์ประเภทมี ๒ ปีก และ ๒ ขา ได้แก่ แร้ง กา นก เป็ดไก่ เป็นต้น ๓.จตุปทติรัจฉาน มี ๔ ขา เช่น สุนัข แมว ช้าง ม้า วัว เป็นต้น และประเภทสุดท้ายคือ ๔.พหุปทติรัจฉาน มีขามาก ได้แก่ กิ้งกือ ตะเข็บ ตะขาบ เป็นต้น
โดยทั่วไปของสัตว์เดรัจฉานต้องแสวงหาอาหารกินเองตลอดเวลา ซึ่งกว่าจะได้ก็ยากลำบาก เช่น สัตว์ป่าทุกชนิด หรือนก หนู กา ไก่ ที่อยู่ใกล้ๆ เราเป็นตัวอย่าง ต้องระแวงภัยอยู่เป็นนิตย์ เกิดความสะดุ้งกลัวภัย ไหนจะภัยจากมนุษย์ ไหนจะภัยจากสัตว์ใหญ่กว่าที่คอยจ้องจับเอาเป็นอาหาร ต้องทนทุกข์ทรมานเป็นสัตว์เดรัจฉานอยู่อย่างนี้ไปจนกว่าจะสิ้นกรรมที่ทำไว้ เหล่าสัตว์ที่มาเกิดในติรัจฉานภูมินี้ ก็เพราะได้ทำบาปกรรมไว้ ครั้นละจากโลกนี้ไปแล้ว ต้องไปตกนรกเป็นเวลายาวนาน เมื่อพ้นกรรมจากนรกแล้ว เศษกรรมยังไม่สิ้น ก็ต้องไปเกิดเป็นเปรตเป็นอสุรกาย
ถ้าไปเกิดเป็นเปรตอสุรกายแล้ว แต่ว่าเศษบาปยังเหลืออยู่ ก็ต้องมาเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานในติรัจฉานภูมินี้ นี่ก็เป็นอีกจำพวกหนึ่ง บางประเภทละจากอัตภาพมนุษย์ก็มาเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานเลยก็มี เพราะจุติปฏิสนธิของสัตว์ทั้งหลายนั้นไม่แน่นอน จะยุติลงที่ตรงไหนนั้น ก็แล้วแต่กรรมนิมิตที่สร้างเอาไว้ กรรมนิมิตจะบันดาล หรือความหมองความใสของใจจะนำพาไป
เนื่องจากอัตภาพของเดรัจฉาน รูปกายไม่อำนวยที่จะทำให้พูดคุยกับมนุษย์ได้ แต่กายละเอียดของเขาเป็นคน เรารักสุขเกลียดทุกข์มากเพียงไร สัตว์เดรัจฉานก็มีความรักตัวกลัวตาย รักสุขเกลียดทุกข์เหมือนพวกเรานี่แหละ ให้รู้เถอะว่า สัตว์เดรัจฉานนั้น ก็คืออดีตมนุษย์ที่ทำบาปอกุศลเอาไว้นั่นเอง ถ้าหมดกรรมเมื่อไรและบุญส่งผล ก็สามารถกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ได้อีก มาสร้างบุญบารมีกันใหม่ เพื่อจะได้ไปสู่เป้าหมายเดียวกันคือพระนิพพาน ดังนั้น ในขณะนี้พวกเราได้กายมนุษย์ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสและโชคอันประเสริฐที่สุดแล้ว ก็ให้ใช้สังขารร่างกายนี้ สร้างบารมีให้เต็มที่เต็มกำลังความสามารถ จะได้ไม่พลาดไปบังเกิดในอบาย ชีวิตของเราจะได้สร้างบารมีให้สมบูรณ์ยิ่งๆ ขึ้นไปกันทุกคน
พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี
นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)