ธรรมะเพื่อประชาชน พร้อมภาพประกอบ คติธรรม ข้อคิดสอนใจ

ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร ท่านทั้งหลายอย่ากลัวต่อบุญเลย เพราะคำว่าบุญนี้เป็นชื่อของความสุข ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร เราย่อมรู้ชัดผลแห่งบุญอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ที่เราเสวยแล้วตลอดกาลนาน

ชาดก : ธรรมะเพื่อประชาชน Dhamma for peopleรวมนิทานอีสปพร้อมภาพประกอบ  ข้อคิดสอนใจ

ธรรมะเพื่อประชาชน : ชัยชนะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครั้งที่ ๖ สัจจก-นิครนถ์ (๔)


ธรรมะเพื่อประชาชน : ชัยชนะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครั้งที่ ๖ สัจจก-นิครนถ์ (๔)

Dhamma for people
ธรรมะเพื่อประชาชน

 

 

DhammaPP104%203_01.jpg

ชัยชนะครั้งที่ ๖ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

(ตอนที่ ๔ ชนะสัจจกนิครนถ์)

 
                ความเห็นถูกจะเป็นต้นทางของความคิดถูก ซึ่งจะทำให้ความคิดก็เริ่มมีระบบระเบียบแบบแผนที่ดี มีความคิดในทางสร้างสรรค์ คิดที่จะพ้นทุกข์และให้พบสุขที่แท้จริง กระทั่งมีความคิดที่สมบูรณ์ที่จะมุ่งตรงไปสู่อายตนนิพพาน ซึ่งจะแตกต่างจากความคิดเดิม ๆ ที่คิดอยากจะเป็นใหญ่ อยากจะครองโลก ครองสมบัติ ครอบครองทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วก็เบียดเบียนกัน แก่งแย่งชิงดีกัน  ต่อเมื่อหยุดใจไว้ตรงกลางกายฐานที่ ๗ได้แล้ว ความคิดเห็นจึงจะถูกต้องสมบูรณ์ เพราะเกิดปัญญาบริสุทธิ์คิดที่จะออกจากทุกข์ สิ่งใดที่เป็นเครื่องร้อยรัดเป็นพันธนาการของชีวิตก็จะปลดปล่อยวาง และมุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพาน มุ่งไปให้ถึงจุดหมายปลายทาง การเจริญสมาธิภาวนาด้วยการทำใจหยุดนิ่งเป็นประจำสมํ่าเสมอ จะทำให้ปัญญาสมบูรณ์ มีความคิด คำพูดและการกระทำที่สมบูรณ์
 
 
        พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในอังคุตตรนิกาย เอกนิบาตว่า
 
                “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความปรากฏขึ้นแห่งบุคคลเอก เป็นความปรากฏแห่งจักษุใหญ่ แห่งแสงสว่างใหญ่ แห่งโอภาสใหญ่ แห่งอนุตตริยะ เป็นการกระทำให้แจ้งซึ่งปฏิสัมภิทา ๔ เป็นการแทงตลอดธาตุธรรม เป็นการกระทำให้แจ้งซึ่งผล คือวิชชาและวิมุตติ เป็นการทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล อรหัตผล บุคคลเอกผู้นั้น คือพระตถาคต-อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า“
 
 
 
DhammaPP104%203__.03.jpg
                พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา เริ่มต้นคือเจ้าชายสิทธัตถะ ผู้เป็นมนุษย์ธรรมดา และเคยใช้ชีวิตครองเรือนดังชาวโลกทั่วไป แต่ที่เราเคารพนับถือพระองค์ ยึดท่านเป็นบรมครู และเป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุดนั้น ก็เพราะพระองค์ได้ฝึกฝนอบรมตนทั้งกายและใจ ทรงสละความสุขทางโลกที่พรั่งพร้อมด้วยเบญจกามคุณทุกอย่าง ขยันฝึกฝนใจให้หยุดนิ่งจนได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะที่ไม่มีใครยิ่งกว่า หรือเสมอเหมือนก็ไม่มี การอุบัติด้วยรูปกายของพระองค์นั้น ว่าเป็นความอัศจรรย์แล้ว แต่การอุบัติขึ้นของธรรมกายอรหัตของพระองค์นั้นกลับเป็นความอัศจรรย์ยิ่งกว่า เพราะทำให้พระองค์ทรงรู้แจ้งแทงตลอดในสรรพสิ่ง รอบรู้ยิ่งกว่าบุคคลใดในโลก จึงได้ชื่อว่า เป็นบุคคลเอกของโลก
 
 
 
 
DhammaPP104%203_05.jpg
                ตอนที่แล้วหลวงพ่อได้เล่าไว้เกี่ยวกับสัจจกนิครนถ์ ที่ได้มาทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ผู้ที่อบรมกายและใจไว้ดีแล้วนั้น จะได้รับผลเป็นอย่างไร พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสั่งสอนสัจจกนิครนถ์ว่า อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ได้ฝึกฝนอบรมตนเองมาดีทั้งกายและใจ  เมื่อมีสุขเวทนากระทบเข้าแล้ว ย่อมไม่ยินดีในสุขเวทนา  เมื่อทุกขเวทนาเกิดขึ้น ย่อมไม่เศร้าโศก แม้สุขเวทนาเกิดขึ้นแก่อริยสาวกแล้ว ก็ไม่สามารถครอบงำจิต เพราะเหตุที่อบรมกายมาดี แม้ทุกขเวทนาเกิดขึ้นก็ไม่ครอบงำจิต เพราะเหตุที่ได้อบรมจิตมาดี  เพราะฉะนั้น พระอริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ จึงเป็นผู้ไม่หวั่นไหวในสุขและทุกข์
                     พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสต่อไปว่า “เมื่อใดที่เราปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกบวชเป็นบรรพชิต  เมื่อนั้นจิตของเราที่มีสุขเวทนาเกิดขึ้นครอบงำตั้งอยู่ ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้เลย”
 
 
 
 
DhammaPP104%203_06.jpg
                สัจจกนิครนถ์ทูลว่า “สุขเวทนาและทุกขเวทนาอันเกิดขึ้นที่จะครอบงำจิตตั้งอยู่ ย่อมไม่เกิดขึ้นแก่พระโคดมผู้เจริญบ้างหรือ” พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ดูก่อนอัคคิเวสสนะ ทำไมเวทนาทั้ง ๒ อย่างนั้น จะไม่มีแก่เรา เราจะเล่าให้ฟัง เธอจงตั้งใจฟัง  เมื่อเรายังเป็นโพธิสัตว์ ยังมิได้ตรัสรู้ ก่อนตรัสรู้ได้มีความดำริว่า ฆราวาสเป็นทางคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลีกิเลส บรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง การที่เราอยู่ครองเรือน จะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ดุจสังข์ขัด ไม่ใช่ทำได้ง่าย ถ้ากระไรเราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกบวชเป็นบรรพชิต

 

 
 
 
DhammaPP104%203_02.jpg
 
                ครั้งนั้นเรากำลังเป็นหนุ่ม มีเกศาดำสนิท ตั้งอยู่ในปฐมวัย  เมื่อพระมารดาพระบิดาไม่ปรารถนาจะให้บวช มีพระพักตร์อาบด้วยน้ำพระเนตรทรงกันแสงอยู่ เราได้ปลงผมและหนวด แล้วนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกบวชเป็นบรรพชิต  เมื่อบวชแล้วเราพยายามเสาะหาว่า อะไรเป็นกุศล  เมื่อแสวงหาทางอันสงบอย่างประเสริฐยอดเยี่ยม จึงเข้าไปถึงสำนักของท่านอาฬารดาบสกาลามโคตร แล้วกล่าวว่า ท่านกาลามะ ข้าพเจ้าจะประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยนี้
 
                เมื่อเรากล่าวเช่นนี้แล้ว ท่านอาฬารดาบสกาลามโคตรกล่าวกับเราว่า เชิญท่านอยู่เถิด ธรรมที่วิญญูชนพึงบรรลุได้ เพราะทำให้แจ้งด้วยความรู้ยิ่งเองตามแบบอาจารย์ของตน ต่อมาไม่นานนัก เราได้ศึกษาธรรมนั้นชั่วขณะหุบปากเจรจาเท่านั้น ก็กล่าวได้ซึ่งญาณวาทะและเถรวาท ทั้งเราและผู้อื่นต่างรู้ชัดว่า เรารู้เราเห็น”
 
                พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเล่าให้ฟังต่อไปว่า พระองค์ได้เข้าไปหาอาฬารดาบสเพื่อศึกษาธรรมที่รู้ยิ่ง ท่านอาฬารดาบสบอกสมาบัติชั้นอากิญจัญญายตนะ ท่านเรียนธรรมนั้นด้วยความรู้ยิ่งเอง เข้าถึงอยู่โดยเร็วมิได้เนิ่นช้า “ดูก่อนอัคคิเวสสนะ เราเสาะหาว่า อะไรเป็นกุศล  เมื่อแสวงหาทางอันสงบอย่างประเสริฐ เราจึงเข้าไปถึงสำนักท่านอุทกดาบสรามบุตร แล้วกล่าวว่า ท่านรามะ ข้าพเจ้าปรารถนาจะประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยนี้”
 
                ท่านอุทกดาบสได้กล่าวสอนธรรมะตามแบบอาจารย์ที่สั่งสอนมา เพียงเรียนได้ไม่นาน พระองค์สามารถศึกษาธรรมนี้จนแตกฉาน ชั่วขณะหุบปากเจรจาปราศรัยเท่านั้น ท่านอุทกดาบสรามบุตรบอกสมาบัติชั้นเนวสัญญานาสัญญายตนะ พระองค์จึงดำริว่า ท่านอุทกดาบสมีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิและปัญญา แม้เราก็มีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิและปัญญา ถ้ากระไรเราพึงพากเพียร เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรม ที่ท่านดาบสบอก
 
                จากนั้นพระองค์ลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง ด้วยความเคารพในคำสอน พระองค์สามารถทำให้แจ้งเนวสัญญานาสัญญายตนะได้อย่างรวดเร็วหลังจากนั้น จึงเข้าไปหาอุทกดาบสรามบุตร พลางถามว่า “ท่านดาบส ท่านได้ทำให้แจ้งซึ่งธรรมนี้ด้วยความรู้ยิ่งเอง  เมื่อบรรลุแล้ว จึงบอกด้วยเหตุเท่านี้หรือ”
 
                ท่านอุทกดาบสตอบว่า “ดูก่อนท่านผู้มีอายุ เราทำให้แจ้งซึ่งธรรมนี้ ด้วยความรู้ยิ่งเอง บรรลุแล้ว จึงบอกด้วยเหตุเพียงเท่านี้แหละ” เราจึงบอกว่า “ท่านผู้มีอายุ แม้ข้าพเจ้าก็ทำให้แจ้งซึ่งธรรมนี้ด้วยความรู้ยิ่งเอง บรรลุแล้วอยู่ด้วยเหตุเท่านี้” ท่านอุทกดาบสกล่าวว่า “ท่านทำให้แจ้งซึ่งธรรมใดด้วยความรู้ยิ่งเอง บรรลุแล้วอยู่ เราก็ทำให้แจ้งซึ่งธรรมนั้น ด้วยความรู้ยิ่งเองแล้วบอกด้วยอาการอย่างนี้แหละ เรารู้ธรรมใด ท่านก็รู้ธรรมนั้น ท่านรู้ธรรมใด เราก็รู้ธรรมนั้น เป็นอันว่า เราเช่นใด ท่านก็เช่นนั้น ท่านเช่นใด เราก็เช่นนั้น มาเถิด บัดนี้เราทั้งสองจะอยู่ร่วมกันปกครองหมู่คณะ”
 
 
 

 

DhammaPP104%203_07.jpg
                “ดูก่อนอัคคิเวสสนะ ท่านอุทกดาบสรามบุตร ทั้งที่เป็นอาจารย์เรา ก็ยกย่องเราผู้เป็นศิษย์เสมอด้วยตน บูชาเราด้วยการบูชาอย่างดียิ่ง เราจึงมีความแน่ใจว่า ธรรมคือเนวสัญญานาสัญญายตนะนี้ ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด เพื่อความสงบ เพื่อความดับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้พร้อม เพื่อนิพพาน เพียงแต่เป็นไปเพื่อเข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะภพเท่านั้น เราไม่พอใจในธรรมนั้นจึงได้หลีกไป เพื่อแสวงหาทางพ้นทุกข์ให้กับตนเองต่อ”
 

 

                เรื่องการแสวงหาหนทางพ้นทุกข์ เพื่อให้หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ ที่พระบรมศาสดา ทรงเปิดใจ ตรัสเล่าให้กับสัจจกนิครนถ์ฟัง ยังไม่จบลงเพียงเท่านี้ ยังมีเนื้อหาสาระอัดแน่นไปด้วยธรรมะที่น่ารู้อีกมากมาย พวกเราทั้งหลายในฐานะที่เป็นชาวพุทธ ควรจะศึกษาเรื่องการใช้วิจารณญาณให้ดี และใช้สติปัญญาตรองตามธรรมให้ถี่ถ้วนว่า พระพุทธองค์ทรงไตร่ตรองพิจารณาธรรมที่ทรงได้เข้าถึงว่า เป็นที่สุดของการแสวงหาแล้วหรือยัง ถ้ายังไม่ถึงที่สุด ท่านจะมุ่งไปให้ถึงที่สุด เพื่อให้บรรลุจุดหมายปลายทางที่ตั้งไว้ คือที่สุดแห่งทุกข์ เราต้องตรองตามอีกว่า พระพุทธองค์ทรงดำเนินบนเส้นทางที่ถูกต้องได้อย่างไร จึงได้ตรัสรู้อนุตตสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้มีชัยชนะตลอดกาล ขอให้พวกเราติดตามศึกษาในตอนต่อไป
 
พระธรรมเทศนา โดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
*มก. มหาสัจจกสูตร เล่ม ๑๙ หน้า ๑๑o
 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล