ธรรมะเพื่อประชาชน พร้อมภาพประกอบ คติธรรม ข้อคิดสอนใจ

ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร ท่านทั้งหลายอย่ากลัวต่อบุญเลย เพราะคำว่าบุญนี้เป็นชื่อของความสุข ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร เราย่อมรู้ชัดผลแห่งบุญอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ที่เราเสวยแล้วตลอดกาลนาน

ชาดก : ธรรมะเพื่อประชาชน Dhamma for peopleรวมนิทานอีสปพร้อมภาพประกอบ  ข้อคิดสอนใจ

ธรรมะเพื่อประชาชน : พระเตมีย์ ผู้ยิ่งด้วยเนกขัมมบารมี ๒๒


ธรรมะเพื่อประชาชน : พระเตมีย์ ผู้ยิ่งด้วยเนกขัมมบารมี ๒๒

Dhamma for people
ธรรมะเพื่อประชาชน

DhammaPP185_01.jpg

พระเตมีย์ ผู้ยิ่งด้วยเนกขัมมบารมี ๒๒

                มีธรรมะพาเศรษฐกิจปรากฏในสรภังคชาดกความว่า

ผู้มีปัญญาย่อมเล็งเห็นกามคุณเป็นของไม่เที่ยง
เป็นทุกข์ แล้วก็เป็นโรคร้าย
ผู้เห็นอย่างนี้ย่อมละความพอใจในกามคุณ
อันเป็นทุกข์ เป็นภัยใหญ่หลวงได้

 


                       โลกมนุษย์รวมถึงสวรรค์ชั้นกามาวจรภูมิทั้ง ๖ ชั้นไม่เว้นแม้แต่สัตว์เดรัจฉาน ยังตกอยู่ในอำนาจของกามซึ่งเป็นเครื่องข้อง ทำให้เกิดการแก่งแย่งชิงดี ต่อสู้กันด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งก็รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส แสวงหาสิ่งที่มาบำรุงบำเรอตามความปรารถนา แต่บัณฑิตนักปราชญ์อย่างพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ท่านกลับเลือกที่จะเดินบนเส้นทางแห่งความบริสุทธิ์ ที่ห่างไกลจากเบญจมกามคุณ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา ที่สามัญชนทั่วไปยังยากจะเข้าใจได้ เพราะเป็นการกระทำในสวนกระแสกิเลส ที่ชาวโลกทั่วไปประพฤติกัน ชาวโลกส่วนใหญ่มักแสวงหาลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ไขว่คว้าหาเบญจกามคุณใส่ตัว ตั้งแต่สายตาสอดส่ายหารูปสวยๆ สิ่งของที่น่ารัก น่าไคร่ หน้าพอใจ หูก็เที่ยวฟังเสียงที่ไพเราะ อยากได้ยินคนชื่นชม ยกย่องสรรเสริญเป็นต้น ท่ามกลางการแสวงหาเบญจกามคุณเหล่านี้ น้อยคนนักที่จะสมหวังในทุกสิ่ง เพราะในโลกนี้มีทั้งความมืดและความสว่าง เหมือนเหรียญน่ะมีสองด้าน

 

 

                        ดังนั้นมนุษย์จึงประสบทั้งการได้ลาภเสื่อมลาภ ได้ยศเสื่อมยศ พบกับนินทาสรรเสริญ ประสบกับสุขและทุกข์คลุกเคล้ากันไป และดูเหมือนว่ามนุษย์จะประสบกับโลกธรรมฝ่ายเสื่อมเป็นส่วนมาก และที่เรียกว่าเป็นความสุขนั้นก็เป็นเพียงความสุขๆ ดิบๆ ไม่จีรังยั่งยืน เป็น สามิสสุขคือสุขที่ต้องอิงอาศัยวัตถุภายนอก เมื่อไม่ได้ในสิ่งที่พอใจก็มีทุกข์ และส่วนใหญ่ก็จะประสบทุกข์มากกว่าสุข 

 

 

                        พระบรมโพธิสัตว์ ท่านเห็นทุกข์ภัยอันใหญ่หลวง ที่ซ่อนเร้นอยู่ในรูปของสามิสสุข ไม่ว่าการเป็นพระราชามหากษัตริย์ หรือเป็นพระเจ้าจักรพรรด ฉะนั้นท่านจึงสระสุขที่อิงอามิสเหล่านี้เสีย แล้วมุ่งแสวงหานิรามิสสุขที่เกิดจากการประพฤติปฏิบัติธรรม ชำระกายวาจาใจให้บริสุทธิ์ เหมือนอย่างพระเตมียราชกุมาร ผู้ทรงเลือกเส้นทางสายนี้ตั้งแต่มีพระชนมายุได้เพียง ๑ ขวบเท่านั้น

 

 

                        พระโพธิสัตว์อธิบายให้สุนันทสารถีฟังว่า “ครั้งเรายังเป็นทารกอายุเพียง ๑ ขวบ ได้เห็นพระราชบิดารับสั่งให้ฆ่าโจรทั้ง ๔ คน ด้วยเครื่องประหารต่างๆ กัน  เราได้ฟังรับสั่งอันร้ายกาจนั้นแล้วก็สะดุ้งกลัว ไม่ต้องการเสวยราชสมบัตินั้นอีก สุนันทสารถี ชีวิตนี้เป็นของน้อย มีความปลื้มใจเพียงนิดหน่อย เราจะอาศัยชีวิตอันนิดหน่อยนี้ก่อเวรใหม่ทำไม เพราะต้องไปสู่อบายได้รับทุกข์ทรมานตลอดกาลยาวนาน"

 


 
                        สุนันทสารถีเมื่อไดฟังเหตุผลอย่างจัดเจนก็เข้าใจ แล้วเกิดความเลื่อมใสว่า แม้พระราชกุมารผู้เป็นรัชทายาทยังมีพระประสงค์จะผนวช แล้วตัวเราจะอยู่ครองเรือนไปทำไม จึงกราบทูลขอบวชตามแต่พระโพธิสัตว์ก็ยังคงยับยั้งเขาไว้ก่อน โดยให้นำราชรถกลับไปคืนเสียก่อน และควรที่จะกราบทูลพระราชบิดาพระราชมารดาของเราให้ทรงทราบความจริง หากเธอยังมีความศรัทธาที่จะออกบวชตามเรา จึงค่อยกลับมาบวชในภายหลัง

 

 

                         สุนันทสารถีฟังพระดำรัสแล้ว ก็ยังมีความหวั่นวิตกอยู่ว่า “หากพระเจ้ากาสิกราช และพระราชมารดาทรงทราบความจริงแล้ว พระองค์จะต้องเสด็จมาพบพระราชกุมารอย่างแน่นอน  ฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของเรา ในการนำเสด็จโดยไม่ต้องสงสัย

 


 
                        อีกประการหนึ่ง หากพระองค์ได้ทรงพบพระราชกุมารตามพระประสงค์ ก็จะเป็นความดีความชอบของเรา แต่หากว่าพระองค์เสด็จมาแล้ว ไม่ทรงพบพระราชกุมาร พระองค์ก็คงจะต้องลงพระราชทัณฑ์แก่เราเป็นแน่ เราควรจะต้องทูลขอปฏิญญาจากพระราชกุมาร เพื่อมิให้พระองค์เสด็จไปที่อื่นเสียก่อน”

 

 

                        คิดดังนี้แล้วจึงกราบทูลว่า “ข้าแต่พระราชกุมาร ขอพระองค์ทรงโปรดกระทำตามคำวิงวอนของข้าพระบาทด้วยเถิด ข้าพระบาทยินดีจะกระทำตามพระบัญชา หากแต่ว่าพระองค์จะต้องทรงประทับอยู่ ณ ที่นี้ไปจนกว่า ข้าพระบาทจะนำเสด็จพระราชบิดาและพระราชมารดามา เพียงเท่านี้ ก็จะเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่ข้าพระองค์อย่างสูงสุดแล้ว พระเจ้าข้า”

 

 

                        พระโพธิสัตว์ตรัสรับรองว่า “ได้ สุนันทสารถี เราจะทำตามคำที่เธอขอ  แม้ตัวเราเองก็ปรารถนาจะเห็นพระชนกพระชนนีเสด็จมาในที่นี้เช่นกัน ขอให้เธอรีบกลับไปเถิด แล้วจงแจ้งข่าวนี้ให้พระประยูรญาติของเราให้ทรงทราบว่า เรายังมีชีวิตอยู่อีกทั้งยังเป็นผู้มีร่างกายสมบูรณ์ดีทุกอย่าง แล้วอย่าลืมกราบบังคมทูลพระชนกชนนีแทนเราด้วยว่า เราขอถวายบังคมพระบาทของทั้งสองพระองค์”  ตรัสดังนี้แล้ว ก็ทรงบ่ายพระพักตร์ไปสู่ทิศอันเป็นที่ตั้งของพระนครพาราณสี น้อมพระกายลงถวายบังคม พระชนกและพระชนนีด้วยเบญจางคประดิษฐ์

 

 

                        ฝ่ายสุนันทสารถีน้อมรับพระดำรัสนั้นด้วยความปลื้มใจ กระทำประทักษิณพระกุมารแล้วจึงถวายบังคมลา จากนั้นจึงขึ้นสู่ราชรถ แล้วขับเข้าสู่พระนครพาราณสีโดยเร็ว

 

 

                     ฝ่ายพระนางจันทาเทวี นับแต่ถูกพรากพระราชกุมารไปจากอ้อมอก พระนางก็เอาแต่กันแสงร่ำไห้ด้วยพระทัยหมองเศร้า พระนางทรงตรอมพระทัย จนแทบจะไม่เสวยพระกระยาหารเลย กระทั่งพระวรกายเริ่มซูบผอมและนอกจากนี้ พระนางยังไม่ยอมตรัสสิ่งใดกับพระเจ้ากาสิกราช จนท้าวเธอไม่ทรงสบายพระทัยเป็นอย่างมาก ตลอดวันที่ผ่านมา พระนางไม่ทรงเสด็จไปในที่ใดเลย  นอกเสียจากประทับนั่งอยู่ตรงช่องพระแกล ที่เปิดกว้างอยู่ตลอดเวลา สายพระเนตรจับจ้องดูหนทาง ณ เบื้องล่าง คอยทอดพระเนตรการกลับมาของสุนันทสารถี โดยมีพระประสงค์ ที่จะทราบข่าวของพระราชกุมารก่อนผู้ใด

 


                         แต่แล้วเมื่อพระนางทรงทอดพระเนตรเห็น การกลับมาของสุนันทสารถีเพียงลำพังผู้เดียว ก็ยิ่งทรงกันแสง น้ำพระเนตรไหลนองพระพักตร์ รำพันด้วยความโศกเศร้าว่า “ลูกรักของแม่ ป่านฉะนี้ เจ้าคงจะถูกเขาฝังทั้งเป็นเสียแล้วกระมัง”

 

 

                        ครั้นนายสุนันทสารถีก้าวลงจากราชรถได้เท่านั้น พระนางก็มิได้ทรงรีรอ รับสั่งให้สุนันทสารถีเข้าเฝ้าทันที ทั้งๆ ที่พระนางก็ยังทรงกันแสงอยู่

 

 

                     ตรัสซักถามด้วยพระทัยที่เศร้าสร้อยว่า “ลูกเราเป็นอย่างไรบ้างเวลาเจ้าฝังลูกของเรา ลูกเราได้ร้องบ้างหรือไม่ ลูกเราขยับเขยื้อนมือเท้าบ้างหรือไม่ บอกเราเถิดเราอยากจะรู้เหลือเกิน”

 

 

                        สุนันทสารถีได้ฟังพระดำรัสนั้นแล้ว ก็สุดแสนจะสงสารพระนาง อีกทั้งรู้สึกซาบซึ้งในน้ำพระทัยของพระมารดา ที่ทุ่มเทความรักให้กับบุตร นี่ถ้าหากพระโอรสถูกฟังทั้งเป็นจริงๆ พระนางก็จะต้องถึงวิสัญญีภาพเป็นแน่ 

 


                        ส่วนว่านายสุนันทสารถีจะกราบทูลรายงาน เพื่อทำให้พระนางหายเศร้าโศกด้วยวิธีการใดนั้น เราคงต้องมาติดตามรับฟังกันต่อในวันพรุ่งนี้นะจ๊ะ สำหรับวันนี้ ให้ลูกทุกคนหมั่นเจริญสมาธิภาวนา เพราะผู้มีบุญทั้งหลาย ดังเช่นพระโพธิสัตว์ ท่านยังสระทุกอย่าง เพื่อการได้ประพฤติปฏิบัติธรรม เจริญสมาธิภาวนา เพราะสิ่งนี้จะทำให้เราเข้าถึงความ เต็มเปี่ยมบริบูรณ์ของชีวิตกันนะจ๊ะ

 

พระธรรมเทศนา โดย : หลวงพ่อธัมมชโย (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล