ธรรมะเพื่อประชาชน พร้อมภาพประกอบ คติธรรม ข้อคิดสอนใจ

ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร ท่านทั้งหลายอย่ากลัวต่อบุญเลย เพราะคำว่าบุญนี้เป็นชื่อของความสุข ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร เราย่อมรู้ชัดผลแห่งบุญอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ที่เราเสวยแล้วตลอดกาลนาน

ชาดก : ธรรมะเพื่อประชาชน Dhamma for peopleรวมนิทานอีสปพร้อมภาพประกอบ  ข้อคิดสอนใจ

ธรรมะเพื่อประชาชน : พระเตมีย์ ผู้ยิ่งด้วยเนกขัมมบารมี ๒๐


ธรรมะเพื่อประชาชน : พระเตมีย์ ผู้ยิ่งด้วยเนกขัมมบารมี ๒๐

Dhamma for people
ธรรมะเพื่อประชาชน

DhammaPP183_01.jpg
 พระเตมีย์ ผู้ยิ่งด้วยเนกขัมมบารมี ๒๐

 

มีธรรมภาษิตที่ปรากฎในเตมียชาดก ความว่า
อปิ อตรมานานํ ผลาสาว สมิชฺฌติ
ความหวังของบุคคลผู้ไม่รีบร้อน ย่อมสําเร็จอย่างแน่นอน

 

 

                มนุษย์ทุกคนอยู่ในโลกนี้ควรมีความหวัง ความหวังสร้างแรงบันดาลใจ ไม่หวังได้ลาภได้ยศได้สรรเสริญหรือความสุขก็ตาม ล้วนก่อให้เกิดพลังใจทั้งสิ้น ถ้าปราศจากความหวังเสียแล้ว ก็ยากที่จะไปถึงฝั่งแห่งความสำเร็จ    และการให้ความหวังที่ตั้งเอาไว้    กลายเป็นความจริงได้อนั้น นอกจากจะต้องอาศัยกำลังบุญ อาศัยสติปัญญา มีความเพียรพยายาม มีวิริยะอุตสาหะ และอดทนต่ออุปสรรคต่างๆ แล้ว ก็ยังต้องอาศัยระยะเวลาอีกด้วย งานบางอย่างจะด่วนได้ใจเร็วไม่ได้ 

 

 

                เหมือนจะปลูกผักผลไม้ก็ยังต้องรอเวลาผลิดอกออกผล นอกจากจะได้พัธุ์ดี ดินดี ปุ๋ยดี น้ำดี อากาศดีแล้ว ก็ต้องให้เวลาในการเจริญเติบโต จึงจะเห็นผล คนเราก็เช่นกัน ถ้าหากอดทนรอคอย ขณะเดียวกันก็ประกอบเหตุแห่งความสำเร็จเรื่อยไป ในที่สุดก็จะสมหวังกันทุกคน 

 

 

                เหมือนดังเรื่องของเตมียราชกุมารบรมโพธิสัตว์ ผู้อดทนรอคอยเวลาที่จะได้ออกบวช โดยผ่านอุปสรรคที่แสนหฤโหดมานาน ตั้งแต่อายุ ๑ ขวบจนถึง ๑๖ ปี ที่แสร้งทำเป็นคนง่อยเปลี้ยเสียขา เป็นคนใบ้ จนในที่สุดผลแห่งความเพียรนั้นก็สัมฤทธิผล คือได้ออกจากราชมณเฑียร สมดังใจปรารถนา ซึ่งเราจะสังเกตเห็นว่าพระพุทธองค์จะทรงนำธรรมะข้อใดมากล่าวสอนผู้อื่น ท่านจะต้องทำสิ่งนั้นให้ได้เสียก่อน ท่านทำได้อย่างไรก็พูดอย่างนั้น พูดอย่างไรก็ทำอย่างนั้น 

 

 

                เมื่อวานนี้หลวงพ่อได้เล่าถึงตอนที่ พระโพธิสัตว์ได้กล่าวสรรเสริญ มิตรธรรมเอาไว้ว่า บุคคลใดมิได้ประทุษร้ายมิตร เมื่อไปที่ไหนแม้พลัดพรากจากครอบครัว ก็มีผู้ให้การอุปการะ ได้รับการบูชาจากมหาชน ไม่ประสบโจรภัย แม้กษัตริย์ก็เบียดเบียนเขาไม่ได้ เมื่อเข้าสู่ที่ประชุมชนก็จะได้ความยินดีปรีดา ได้รับการยกย่องและเชิดชูเกียรติ ได้ยศตำแหน่ง เป็นที่ประชุมลงแห่งสิริมงคลทั้งหลาย จะพรั่งพร้อมไปด้วยโภคทรัพย์ทุกอย่าง และได้ที่พึ่งในยามยาก ศัตรูไม่อาจคุกคามได้ จะประสบแต่ความสวัสดีมีชัย

 

 

                ฝ่ายสุนันทสารถี ครั้นได้ฟังธรรมภาษิตที่ไพเราะจับใจเช่นนั้นแล้ว ก็คิดว่าท่านผู้นี้เป็นใครกันหนอ หรือว่าจะเป็นพระเตมิยราชกุมารจริงๆ จึงได้ขึ้นจากหลุมเดินไปดูที่รถ ก็มิได้เห็นพระโพธิสัตว์ประทับอยู่ จึงกลับมาดูอีกครั้งก็จำได้ทันทีว่า ใช่พระเตมิยราชกุมารแน่แล้ว จึงหมอบลงแทบพระบาทของพระโพธิสัตว์ ประคองอัญชลีทูลวิงวอนว่า “ข้าแต่พระราชโอรส ขอพระองค์จงเสด็จกลับพระนครเถิด ข้าพระบาทจะนำพระองค์กลับสู่ราชมณเฑียร ขอพระองค์จงครองราชย์สมบัติ ขอจงทรงพระเจริญ พระองค์จะอยู่ทำอะไรในป่านี้”


     
                    พระโพธิสัตว์จึงตรัสกับนายสารถีว่า “เราไม่ต้องการราชสมบัติที่จะต้องได้มาพร้อมกับการประพฤติอธรรม”

 


               ส่วนสารถียังมีความหวังว่า อย่างไรเสียพระราชกุมารก็คงจะเสด็จกลับ จึงกราบทูลว่า “ขอพระองค์จงเสด็จกลับเถิด เมื่อพระองค์เสด็จกลับไปแล้ว จะทำให้ข้าพระองค์ได้รางวัลอันน่าปลื้มใจ พระชนกและพระชนนีจะพระราชทานรางวัลให้แก่ข้าพระองค์ 

 

 

                แต่พระราชกุมารผู้ซึ่งได้หลุดพ้นจากพันธนาการ แห่งราชสมบัติมาได้อย่างแสนลำเค็ญ เมื่อทรงสดับถ้อยคำของสารถีแล้ว จึงตรัสบอกว่า “พระชนกและพระชนนีสละเราแล้ว ชาวแว่นแคว้น ชาวนิคม และกุมารที่เป็นเพื่อนของเราก็สละเราแล้ว  เราไม่มีเหย้าเรือนของตนเอง เราจะบวชอยู่คนเดียวในป่านี้ เป็นผู้ไม่ปรารถนากามคุณทั้งหลาย”

 

 

                เมื่อพระโพธิสัตว์ทรงนึกถึงความสำเร็จแห่งความเพียร ที่ได้ทรงทำมาอย่างยาวนาน ก็ทรงเกิดปีติโสมนัสอย่างล้นพ้น จึงทรงเปล่งพระอุทานว่า “ความหวังของบุคคลผู้ไม่รีบร้อน ย่อมสำเร็จอย่างแน่นอน ความประพฤติชอบที่เราได้พยายามมาเนิ่นนาน บัดนี้ได้สำเร็จผลแล้ว  ท่านจงรู้อย่างนี้เถิดสารถี ว่าประโยชนที่จะพึงเกิดขึ้นโดยชอบแก่บุคคลผู้ไม่รีบร้อน ย่อมเกิดผลอย่างแน่นอน ความประพฤติชอบของเราสำเร็จผลแล้ว เมื่อเราออกบวชแล้วย่อมมีแต่ความปลอดโปร่งใจ จักไม่มีภัยจากที่ไหน”

 

 

                สุนันทสารถีได้ฟังพระดำรัสของพระราชกุมารเช่นนั้นแล้ว เมื่อยังมองไม่เห็นคุณค่าของการบวชและอยู่ในป่าเพียงลำพัง เที่ยวกินใบไม้และผลไม้ ปราศจากซึ่งทรัพย์สมบัติอันจะนำมาซึ่งความสะดวกสบายว่า จะมีประโยชน์อะไร มองเห็นแต่ประโยชน์ที่เกิดแก่พระราชาและพระราชเทวี กับทั้งประโยชน์ที่จะเกิดแก่ประเทศชาติว่า ถ้าหากพระราชกุมารเสด็จกลับไปครองราชย์ ประเทศชาติก็จะรุ่งเรือง พระราชาต่างเมืองก็ไม่อาจจะข่มขี่ได้

 

 

                ทั้งราชสมบัติอันเป็นของประจำตระกูล ที่พระราชบิดาทรงตั้งพระทัยว่า จะทรงอภิเษกให้ได้ขึ้นครองราชย์ก็รออยู่เบื้องหน้า ซึ่งใครๆ ก็ปรารถนาแต่วาสนาเขาไม่ถึง แต่สำหรับพระองค์นั้น ตำแหน่งอันเลิศที่สุดของรัฐรออยู่แล้ว แต่กลับไม่เอา พระองค์จะทำอย่างนี้ได้อย่างไร

 


 
                จึงกราบทูลให้พระราชกุมารกลับพระนครว่า “ข้าแต่พระราชกุมาร พระวาจาของพระองค์ช่างไพเราะเสียจริง พระองค์มีพระดำรัสตรัสสละสลวยถึงเพียงนี้ แต่เหตุไฉนก่อนนี้ พระองค์ถึงไม่ทรงตรัสสิ่งใดกับพระชนกชนนีเลย ขอพระองค์จงเสด็จกลับพระนครเถิด การอยู่ในป่าคนเดียวจะมีประโยชน์อะไร”

 

 

                พระราชกุมารทรงเห็นว่า สารถียังไม่รู้ไม่เข้าใจในสิ่งที่พระองค์ทำมา ไม่รู้ถึงมโนปณิธานของพระองค์ว่าเป็นเช่นไร จึงได้ตรัสอธิบายให้เขาเข้าใจ และบอกความประสงค์ว่า “สุนันทสารถี เธอจงฟังให้ดี เราจะเล่าให้เธอฟัง  เราไม่ได้เป็นคนง่อยเปลี้ย ไม่ได้เป็นคนหูหนวก ไม่ได้เป็นคนใบ้ ที่เราต้องแสร้งทำเป็นง่อยเปลี้ยพิกลพิการเช่นนั้น เพราะเหตุที่เราระลึกชาติหนหลังได้ว่า ในปางก่อนโน้นเราเคยเป็นกษัตริย์ในพระนครนี้อยู่เพียง ๒๐ ปี  แต่ในที่สุดเมื่อเราละโลกไปแล้ว กลับต้องไปตกนรก ถูกทรมานให้เร่าร้อนหมกไหม้ ทุรนทุรายอยู่ถึง ๘๐,๐๐๐ ปี  

 

 

                ก็เพราะเหตุนี้แหละ เราถึงไม่ปรารถนาที่จะพูดกับพระชนกและพระชนนี จึงได้แต่แสร้งทำเป็นง่อยเปลี้ย เป็นคนหูหนวก และก็เป็นคนใบ้ เราสู้อุตส่าห์อดทนมานานถึง ๑๖ ปี เพียงเพื่อปรารถนาจะพ้นไปจากความเป็นกษัตริย์ และบัดนี้เมื่อเราได้ทำสำเร็จแล้ว เราจึงไม่ต้องการที่จะหวนคืนสู่พระนครอีก แต่จะขอบวชบำเพ็ญพรตอยู่ในป่าแห่งนี้”

 

 

                สุนันทสารถีกราบทูลด้วยความเป็นห่วงว่า  “ข้าพระบาทเกรงว่า หากพระองค์ประทับอยู่ในป่าเพียงลำพัง ก็ลำบากพระวรกาย ต้องอดอยากทุกข์ยากอยู่ในป่าและอาจเกิดอันตรายแก่พระองค์ได้”

 

 

                 พระโพธิสัตว์ตรัสด้วยพระภักตร์ที่เปี่ยมไปด้วยความสบายพระทัยว่า “ไม่มีอันตรายหรอก นักบวชไม่ได้แสวงหาผลประโยชน์อันเป็นโลกียทรัพย์ เมื่อไม่แสวงหาผลประโยชน์ ก็จะไม่คิดจะเบียดเบียนผู้อื่น เมื่อไม่คิดเบียดเบียนผู้อื่น จึงไม่เกิดการกระทบกระทั่ง เมื่อไม่กระทบกระทั่ง ก็ย่อมไม่มีศัตรูมาทำร้าย ดังนั้นเราจึงกล่าวว่าเพศของนักบวชเป็นเพศของผู้ที่ไม่มีภัยจากที่ไหน”

 

 

                  อย่างไรก็ตามสุนันทสารถีฟังแล้วก็ยังไม่เข้าใจเจตนารมภ์ของพระบรมโพธิสัตว์อยู่ดี เขาจะหาทางชักชวนให้พระโพธิสัตว์ กลับไปครองราชตามเดิม ด้วยวิธีการใดต่อไปนั้น ก็ให้ลูกๆ มาติดตามรับฟังกันต่อในวันพรุ่งนี้นะจ๊ะ 


พระธรรมเทศนา โดย : หลวงพ่อธัมมชโย (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)


 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล