ธรรมะเพื่อประชาชน พร้อมภาพประกอบ คติธรรม ข้อคิดสอนใจ

ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร ท่านทั้งหลายอย่ากลัวต่อบุญเลย เพราะคำว่าบุญนี้เป็นชื่อของความสุข ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร เราย่อมรู้ชัดผลแห่งบุญอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ที่เราเสวยแล้วตลอดกาลนาน

ชาดก : ธรรมะเพื่อประชาชน Dhamma for peopleรวมนิทานอีสปพร้อมภาพประกอบ  ข้อคิดสอนใจ

ธรรมะเพื่อประชาชน : ผู้ไม่ว่างเว้นจากการสร้างบารมี


ธรรมะเพื่อประชาชน : ผู้ไม่ว่างเว้นจากการสร้างบารมี

Dhamma for people
ธรรมะเพื่อประชาชน

DhammaPP162_01.jpg

ผู้ไม่ว่างเว้นจากการสร้างบารมี

อนาถบิณฑิกเศรษฐี (ทรัพย์หมด แต่ไม่หมดศรัทธา)

                 ช่วงเวลาที่มีคุณค่าคือ เวลาที่เราจะได้เพิ่มเติมความสุขความสำเร็จให้แก่ชีวิต ด้วยธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันเป็นสัจธรรมที่นำมาซึ่งความสุข และหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งมวล ทุกวันนี้มนุษย์กำลังสับสน ไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม อะไรคือเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต เมื่อไม่ได้ฟังธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ชีวิตจึงต้องเวียนวนอยู่ในกระแสแห่งความทุกข์ระทม เหมือนถูกตรึงด้วยเครื่องพันธนาการ ยากจะสลัดออกได้ ต่อเมื่อได้ฟังพระสัทธรรม จึงจะเข้าใจความเป็นจริงของชีวิต และสามารถสร้างคุณค่าให้แก่ชีวิตได้อย่างแท้จริง

 

                         พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย ภูริปัญหาชาดก ว่า

“น ปณฺฑิตา อตฺตสุขสฺส เหตุ
ปาปานิ กมฺมานิ สมาจรนฺติ
ทุกฺเขน ผุฏฺฐา ขลิตาปิ สนฺตา
ฉนฺทา จ โทสา น ชหนฺติ ธมฺมํ

 

                บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่ประพฤติกรรมอันเป็นบาป เพราะเหตุแห่งความสุขของตน ถูกทุกข์กระทบแล้ว แม้จะพลาดพลั้งลงไป ก็สงบอยู่ได้ไม่ละทิ้งธรรม เพราะความรัก และความชัง”

 

                    การสร้างบารมีเป็นหน้าที่หลักของเราในการเกิดมาแต่ละภพแต่ละชาติ และในระหว่างการสร้างบารมี บางครั้งเราอาจประสบความยากลำบากและอุปสรรคต่างๆ ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดา เพราะหนทางแห่งการสร้างบารมีมิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ อุปสรรคที่เกิดขึ้นจะหล่อหลอมให้เรามีจิตใจที่เข้มแข็ง และเป็นเครื่องทดสอบกำลังใจว่า เรามีหัวใจของยอดนักสร้างบารมีเต็มเปี่ยมแค่ไหน สำหรับผู้มีอุดมการณ์ที่มั่นคง มีมรรคผลนิพพานเป็นแก่นสาร จะไม่หวั่นไหวในเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพราะอุปสรรคเหล่านั้นมีไว้เพื่อทดสอบ และส่งเสริมการสร้างบารมีของเราให้เข้มข้นยิ่งขึ้น หากเราไม่หวั่นไหว อุปสรรคย่อมไหวหวั่น และย่อท้อต่อเราไปเอง

 

                    ทุกภพทุกชาติที่สร้างบารมี พระบรมโพธิสัตว์ท่านเอาชีวิตเป็นเดิมพันเสมอ แม้ประสบอุปสรรคนานัปปการ พระองค์ไม่เคยคิดท้อแท้หรือเบื่อหน่ายคลายความเพียร และไม่ยอมให้ชีวิตว่างเว้นจากการสร้างบารมี จะแสวงหาบุญตลอดเวลา หากมีปัญหา ท่านจะตั้งสติมั่นใช้ปัญญาแก้ไข ในที่สุดพระองค์ก็ฝ่าฟันเอาชนะอุปสรรคเหล่านั้นได้ทุกครั้ง จนได้มาเป็นพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา  

 

                    ยอดนักสร้างบารมีที่แท้จริงจะไม่เสียเวลามานึกถึงสิ่งที่ทำให้ท้อแท้ หรือวิตกกังวลใดๆ ทั้งสิ้น  จะไม่ยอมให้อุปสรรคมาเป็นกำแพงขวางกั้นการสร้างบารมี แต่จะมองข้ามอุปสรรคเหล่านั้น และหากรู้ว่าวิธีการใดเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้น แม้ด้วยชีวิตท่านก็ยอมแลกได้ เพราะฉะนั้นจึงไม่มีสิ่งใดขัดขวางการสร้างบารมีของท่านได้ “เมื่อใจใหญ่ โลกก็เหลือใบนิดเดียว”  

 

                    พวกเราทุกคนเป็นยอดนักสร้างบารมี มีใจของพระบรมโพธิสัตว์ที่ปรารถนาจะเห็นชาวโลกและสรรพสัตว์พ้นจากความทุกข์ เมื่อเราได้อัตภาพของความเป็นมนุษย์ พร้อมที่จะสร้างบารมีได้ดีที่สุดเช่นนี้แล้ว ไม่ควรอย่างยิ่งที่ปล่อยโอกาสดีนี้ให้ผ่านไป ควรใช้โอกาสนี้สร้างบารมีให้เต็มที่ โดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก ให้เอาอย่างนักสร้างบารมีในกาลก่อนที่มีใจมั่นคงยิ่งกว่าขุนเขา แม้มีผู้มาบอกให้เลิกทำความดี และแม้จะประสบความทุกข์ยาก ก็ไม่ยอมว่างเว้นจากการสร้างบารมี

 

                    *เหมือนท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ผู้เป็นยอดอุปัฏฐากฝ่ายชายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านมีความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก ถึงกับเอาทองไปปูเต็มพื้นดิน เพื่อแลกกับพื้นที่ที่จะใช้สร้างเป็นวัดเชตวัน ท่านใช้งบประมาณในการก่อสร้างถึง ๕๔ โกฏิ เมื่อสร้างวัดแล้ว ท่านหมั่นไปวัดถวายสังฆทาน ฟังธรรมมิได้ขาด โดยไม่เคยไปวัดมือเปล่าเลย ทานทั้งหลายที่ท่านบริจาคนั้นมากมายเกินที่จะคณานับ

 

                    ด้วยความใจใหญ่กล้าคิดและทุ่มเทให้กับงานพระศาสนา เทวดาที่สิงสถิตอยู่ซุ้มประตูบ้านกลัวว่าทรัพย์สมบัติของท่านเศรษฐีจะหมด จึงคอยหาโอกาสบอกให้ท่านเลิกไปวัด เลิกถวายทานแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เนื่องจากจังหวะชีวิตของท่านเศรษฐีในขณะนั้น สมบัติขาดมือ การค้าขายก็ไม่ค่อยดี เงินทองที่เพื่อนยืมไปก็ไม่ได้คืน ทรัพย์ที่ฝังไว้ริมตลิ่งก็ยังถูกน้ำพัดหายไปอีก ท่านเศรษฐีจึงยากจนลง แต่ท่านก็ยังสู้อุตส่าห์ถวายทานไม่ให้ขาดเลย แม้จะมีเพียงน้ำผักดองกับข้าวปลายเกรียน ท่านก็ยังคงทำทานอย่างต่อเนื่อง

 

                    ครั้นเทวดาได้โอกาสจึงเข้าไปในบ้าน แล้วปรากฏกายสว่างไสวอยู่ต่อหน้าท่านเศรษฐี และพูดเตือนว่า “ท่านเศรษฐี ท่านอย่าได้ทำทานต่อไปเลย ตั้งแต่เข้าวัดมา ก็มีแต่ยากจนลง ท่านควรรีบหันกลับมาทำธุรกิจของท่าน เพื่อจะได้ทรัพย์สมบัติกลับคืนมาบ้าง จงเลิกทำบุญเสียเถอะ”

 

                    เศรษฐีได้ฟังดังนั้น แทนที่จะเชื่อฟังคำของเทวดา กลับบอกเทวดาว่า “ท่านเป็นถึงเทวดา ทำไมมาบอกให้เราเลิกทำบุญ ท่านจงออกไปจากบ้านของเราเสียเถิด เราจะไม่ยอมเลิกทำบุญเด็ดขาด” เมื่อเทวดาถูกเศรษฐีขับไล่เช่นนั้น ก็ไม่มีวิมานอยู่ เพราะตนเองมีบุญน้อย เกิดสำนึกผิด จึงไปขอร้องให้เทวดาชั้นต่างๆ มาช่วยพูดให้เศรษฐียกโทษให้ แต่ก็ไม่มีเทวดาใดๆ มาช่วยได้

 

                    พระอินทร์จึงแนะวิธีว่า ถ้าอยากให้เศรษฐียกโทษให้ ต้องไปทวงหนี้คืนให้ท่านเศรษฐี แล้วไปเอาทรัพย์ที่ถูกน้ำพัดพาไปกลับคืนมา นอกจากนั้นยังมีสมบัติที่อยู่ใต้ทะเลอีกมาก ให้ไปขนมาให้เศรษฐีเพื่อจะได้ทำบุญต่อ แล้วเศรษฐีจะยกโทษให้ เทวดาตนนั้นจึงทำตามที่พระอินทร์แนะนำทุกอย่าง แล้วกลับมาบอกท่านเศรษฐี พร้อมทั้งขอให้ท่านยกโทษให้ตน ที่พูดไปอย่างนั้นก็ด้วยความเป็นห่วงท่านเศรษฐี

 

                    เมื่อท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐียกโทษให้ เทวดาจึงมีวิมานอยู่ตามเดิม พระบรมศาสดาทรงตรัสชมเชยท่านเศรษฐีว่า ทำถูกต้องแล้ว สมกับเป็นยอดนักสร้างบารมีจริงๆ แม้จะทำทานด้วยน้ำผักดองกับข้าวปลายเกรียนก็ได้บุญมาก เพราะเมื่อจิตเลื่อมใสในพระรัตนตรัย ทักษิณาทานนั้นชื่อว่ามีผลมาก แม้ท่านเศรษฐีจะยากจนลง แต่ท่านก็ไม่เคยหวั่นไหว และไม่เคยว่างเว้นจากการสร้างบารมี เช่นนี้ได้ชื่อว่าทำตามอริยประเพณีอย่างแท้จริง

 

                    แม้พระพุทธองค์เองครั้งทรงบำเพ็ญบารมีเป็นพระโพธิสัตว์ ถึงจะยากจนข้นแค้นเพียงไร พระองค์ก็ไม่เคยเลิกล้มการทำความดี แม้จะมีหญ้าคาเพียงมัดเดียว เมื่อถูกขอก็ไม่ได้ปฏิเสธ และแม้จะถูกพญามารขัดขวางไม่ให้ทำทาน พร้อมทั้งขู่ว่าถ้าขืนให้ทานอยู่อย่างนี้ จะต้องตกหลุมถ่านเพลิงลึกถึง ๘๐ ศอก พระองค์ก็ไม่เคยหวั่นไหว เพราะความเป็นผู้มีใจเด็ดเดี่ยวในการสร้างบารมีนี้เอง จึงทำให้พระองค์ได้บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณในที่สุด

 

                    เพราะฉะนั้น ให้พวกเราตระหนักไว้เสมอว่า หากเงินทองที่เคยมีใช้จ่ายอย่างสะดวกสบาย กลับหาได้ยาก และอุปสรรคต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตทำให้เราท้อแท้บ้าง แสดงว่าบุญในตัวของเรายังพร่องอยู่ เป็นสัญญาณเตือนภัยว่าเราจะต้องรีบสั่งสมบุญเพิ่มขึ้น อย่าได้ท้อแท้หรือตระหนกตกใจเกินไป ให้ใช้สติและปัญญาแก้ไข เพราะอุปสรรคมีไว้ให้แก้ ไม่ได้มีไว้ให้กลุ้ม ปัญหาทุกปัญหาล้วนมีทางแก้ไข และจะแก้ไขได้ด้วยปัญญาที่เกิดจากการทำใจหยุดใจนิ่งดีแล้ว

 

                    ไม่ว่าเศรษฐกิจจะตกต่ำหรือมีปัญหาใดๆ มารุมเร้า ล้วนสามารถแก้ไขได้ด้วยบุญ ฉะนั้น เราต้องขวนขวายทำบุญทุกอย่าง ตั้งแต่ทำทานเพื่อขจัดความตระหนี่ออกจากใจ หมั่นรักษาศีลให้บริสุทธิ์ เจริญภาวนาให้มากยิ่งขึ้น หมั่นเติมความบริสุทธิ์ให้กับตนเอง เมื่อความตระหนี่หลุดออกจากใจ  กายวาจาใจของเราบริสุทธิ์มากขึ้น ดวงบุญที่ใสสว่างอยู่ในกลางตัวของเรานี้ จะมีอายตนะดึงดูดสิ่งดีๆ เข้ามาแทนที่ จะช่วยพลิกผันเศรษฐกิจการงาน จากเหตุการณ์ที่เลวร้ายให้กลับกลายเป็นดีขึ้นมาอย่างน่าอัศจรรย์

 

                    นักสร้างบารมีที่แท้จริงจะต้องไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรคใดๆ ที่เกิดขึ้น ใจจะมุ่งไปข้างหน้าเพียงอย่างเดียว เพราะเป้าหมายของเราคือ การนำตนและสรรพสัตว์เข้าสู่ฝั่งแห่งพระนิพพาน ซึ่งจะต้องอาศัยบุญใหญ่ และกำลังใจที่ยิ่งใหญ่ ต้องกล้าคิด กล้าพูด และกล้าทำ ทำในสิ่งที่ถูกต้อง ถ้าเรามั่นคงในปณิธานเป้าหมายอันสูงส่ง ความท้อแท้จะไม่บังเกิดขึ้นในใจของเราอย่างแน่นอน

 

                    เมื่อใดที่เราท้อแท้หรือสิ้นหวัง ให้นึกถึงบุญภายในตัวที่ได้สั่งสมมา รวมทั้งภาพอันงดงามที่เราเคยสร้างบารมีร่วมกันมา ให้นำใจมาหยุดไว้ที่ศูนย์กลางกาย ซึ่งเป็นแหล่งแห่งพลังบุญพลังบารมีอันบริสุทธิ์ ใจจะชุ่มฉ่ำเยือกเย็นอยู่ภายใน เปลี่ยนจากใจที่สับสนมาเป็นดวงใจที่หยุดนิ่ง จากที่วุ่นวายเร่าร้อนคืนสู่ความสงบสุขเยือกเย็น แล้วเราจะมีกำลังใจ เมื่อใจหยุด ณ ที่ตรงนั้น ซึ่งเป็นที่ที่ดีที่สุด เป็นการเพิ่มเติมบารมีให้แก่ตัวของเราเองอย่างดีที่สุด

 

                    ขอให้ทุกท่านปฏิบัติธรรมกันอย่างสม่ำเสมอทุกๆ วัน อย่าได้ขาด ฝึกใจให้หยุดนิ่ง ให้ติดเป็นนิสัย ไม่ว่าจะมีภารกิจมากน้อยเพียงไรก็ตาม เราจะไม่เอาภารกิจเหล่านั้นมาเป็นข้ออ้าง จะไม่เอาความเจ็บไข้ได้ป่วย ความง่วง ความเหนื่อย ความเพลียมาเป็นข้ออ้าง แล้วเลื่อนเวลาของการปฏิบัติธรรมออกไป ซึ่งจะทำให้เราเสียโอกาสในการเข้าถึงธรรมอย่างน่าเสียดาย

 

                    ความสม่ำเสมอเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในการปฏิบัติธรรม เพราะเมื่อเราหมั่นปฏิบัติธรรมทุกๆ วัน  ใจของเราจะได้รับการขัดเกลาให้ละเอียด ให้บริสุทธิ์เข้าไปเรื่อยๆ จนกระทั่งในที่สุดเราจะสมปรารถนา มีดวงตาเห็นธรรมกันทุกคน

 

                    งานทางใจนั้น เราสามารถทำได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใด จะยืน เดิน นั่ง นอน หรือทำภารกิจอะไรก็แล้วแต่ เราสามารถฝึกใจของเราให้หยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายได้ และเมื่อถึงเวลาธรรมกาย เราก็มาปฏิบัติธรรมร่วมกันอย่างนี้ทุกวัน

 

นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)  
 
* มก. เล่ม ๔๒ หน้า ๑๖
 
 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล