Dhammaforpeople
ธรรมะเพื่อประชาชน
ตอน โปริสาท ตอนที่ 17
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในขุทกนิกายธรรมบท ความว่า
ผู้ประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุข ทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า
มัจจุราชย่อมไม่เห็นบุคคลผู้พิจารณาเห็นโลก
ดุจบุคคลเห็นฟองน้ำ เห็นพยับแดด ฉะนั้น
การพิจารณาเห็นโลกและชีวิตไปตามความเป็นจริงได้นั้น เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เพราะมนุษย์ส่วนใหญ่ถูกกิเลสอาสวะครอบงำให้หลงระเริงยินดีในรูปเสียง รส สัมผัส ธรรมรมณ์ต่าง ๆ
หรือแม้จะรู้ว่าชีวิตนี้เป็นทุกข์ เต็มไปด้วยภยันตรายรอบด้าน แต่ก็ยอมที่จะจมอยู่กับความทุกข์นั้นต่อไป เพราะไม่ได้ประพฤติธรรม การประพฤติธรรมคือการประพฤติตนให้อยู่ในกรอบของความถูกต้องและความดี ทั้งปรับปรุงพฤติกรรมของตนให้ดีสมกับที่เกิดเป็นคน
ให้ปล่อยตัวปล่อยใจไปตามอำนาจของกิเลสที่เรียกว่า กรรมกิเลส ๔ ประการ คือ
๑.ไม่ฆ่าสัตว์ เบียดเบียนหรือประทุษร้ายร่างกายของสัตว์อื่น
๒.ไม่ลักเล็กขโมยน้อยจนถึงทรัพย์สินที่มีค่ามากของบุคคลอื่น
๓.ไม่ประพฟติผิดในกาม ยินดีในคู่ครองของตัวเอง
๔.ไม่พูดเท็จ ส่อเสียด คำหยาบ เพ้อเจ้อ
สรุปง่ายๆคือต้องเป็นผู้มีความสำนึก รับผิดชอบต่อศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของตัวเอง
ประการต่อมาต้องประพฤติตนเป็นคนเที่ยงธรรม จะได้นำไปสู่ความยุติธรรมอย่างแท้จริง ไม่มีอคติความลำเอียง คือ อคติ ๔
๑.ไม่ลำเอียงเพราะรัก ชอบพอกกัน ซึ่งเป็นสาเหตุของการคอรัปชั่นในปัจจุบัน
๒.ไม่ลำเอียงเพราะโกรธเคือง อันจะเป็นสาเหตุของการกลั่นแกล้งกันในสังคม
๓.ไม่ลำเอียงเพราะโง่เขลา เบาปัญญา ซึ่งจะทำให้กฎเกณฑ์และกฎหมายบ้านเมืองขาดความศักดิ์สิทธิ์ สังคมก็ระส่ำระส่าย
๔.ไม่ลำเอียงเพราะกลัว กลัวว่าภัยจะมาถึงตัว เป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดภัยมืดต่างๆ เช่นการเรียกค่าคุ้มครอง การเก็บส่วย การสร้างพยานเท็จเป็นต้น
ถ้ามนุษย์ประพฤติธรรมอย่างนี้ แสดงว่าเป็นผู้มีความสำนึกรับผิดชอบ ต่อศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของผู้อยู่ร่วมกันในสังคม เราจะต้องมีความสำนึกรับผิดชอบต่อศีลธรรมทางเศรษกิจอีกด้วย
คือยกเว้นขาดจากอบายมุขทั้งปวง ทั้งแต่งดเว้นการดื่มน้ำเมา เที่ยวกลางคืน ดูการละเล่นเป็นนิจ เล่นการพนัน คบคนชั่วเป็นมิตร และเกียจคร้านในการทำงาน ที่กล่าวว่าเป็นอบายมุขเพราะเป็นปากทางแห่งการเสื่อมเสีย
เช่นเสียเวลา เสียเงินตรา เสียสุขภาพ กระทั่งเสียชีวิต นอกจากต้องทุกข์ตรมในชาตินี้แล้ว ยังต้องไปเสวยทุกข์แสนสาหัสในปรโลกอีกด้วย อบายมุขนี่แหละคือปากทางสู่อบายภูมิที่อันตายที่สุดที่เราจะต้องไม่เข้าไปยุ่งเด็ดขาด
ตอนที่แล้วหลวงพ่อเล่าถึงตอนที่โปริสาทได้ฟังพระสตารหาคาถาก็บังเกิดความเลื่อมในในธรรมจึงอยากบูชาธรรม ด้วยการให้พระเจ้าสุตโสมขอพรได้ ๔ อย่าง พระเจ้าสุตโสมทรงประสงค์ให้โปริสาทเป็นผู้หนักแน่นในความสัตย์ จึงตรัสเป็นเชิงดูหมิ่นว่า “ดูก่อนโปริสาท พระองค์ไม่รู้ว่าตนจะต้องตาย ไม่รู้จักสิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่มีประโยชน์ ไม่รู้จักทั้งนรกและสวรรค์ เป็นผู้มัวติดอยู่ในรส จักให้พรอะไรได้ แม้พระองค์ให้พรแล้วจะกลับคืนคำก็ได้ ใครจะมาช่วยวินิจฉัยชี้ขาดได้”
โจรโปริสาทได้ฟังแล้วก็เกิดขัตติยมานะขึ้นมา กษัตริย์ตรัสแล้วไม่คืนคำ อันตัวเรานี้ก็เป็นกษัตริย์ การที่เจ้าสุตโสมไม่เชื่อเรา นับเป็นความเจ็บปวดยิ่งกว่าการถูกประหารซะอีก จึงทูลว่า “คนเช่นเราให้พรไปแล้ว จะกลับไปให้ก็ไม่ควรให้พรนั้น ดูก่อนสหายขอพระองค์จงทรงเชื่อมั่นรับพรเถิด แม้ชีวิตของข้าพเจ้าก็สละถวายได้”
พระโพธิสัตว์ดำริว่า เจ้าโปริสาทกล้าเอาชีวิตเป็นเดิมพัน บ่งบอกถึงความจริงใจที่จะให้พร หากเราจะขอพรข้อแรกเลยว่าท่านอย่ากินเนื้อมนุษย์เลย ก็จะเป็นการสร้างความลำบากใจให้แก่โปริสาทมากเกินไป เราต้องขอพรอย่างอื่นให้โปริสาทสบายใจเสียก่อน จึงค่อยขอพรข้อนี้
ทรงเริ่มขอพรจากข้อง่ายว่า “ดูก่อนสหาย พระอริยเจ้ากับพระอริยเจ้ามีศักดิ์ศรีเสมอกัน ผู้มีปัญญากับผู้มีปัญญาย่อมมีศักดิ์ศรีเสมอกัน ฉะนั้นขอข้าพเจ้าจงเห็นท่านเป็นผู้ไม่มีโรคตลอดร้อยปี นี่เป็นพรข้อแรกที่เราปรารถนา” โปริสาทฟังแล้วก็ปลื้มใจมากคิดว่าเจ้าสุตโสมช่างมีน้ำใจงดงามเหลือเกิน สมกับเป็นบัณฑิตนักปราชญ์
นอกจากกล่าวธรรมะได้ไพเราะแล้วยังเปี่ยมด้วยมหากรุณา หวังประโยชน์กับเราอย่างเดียว สมแล้วที่นับถือมานน น่าสรรเสริญยิ่งนัก จึงถวายพระพรว่า
“ข้าแต่ท่านสุตโสมจอมปราชญ์ พระอริยเจ้ากับพระอริยเจ้ามีศักดิ์ศรีเสมอกัน ผู้มีปัญญากับผู้มีปัญญาย่อมมีศักดิ์ศรีเสมอกัน พระองค์จะเห็นหม่อมฉันไม่มีโรคาตลอดร้อยปี หม่อมฉันขอถวายพรข้อแรกนี้ตามพระประสงค์”พระโพธิสัตว์ทรงทอดพระเนตรเหล่ากษัตริย์ทั้ง ๑๐๑ พระองค์อยู่ในอาการสะดุ้งหวาดกลัวต่อมรณะภัย ปรารถนาจะให้ชีวิตแก่กษัตริย์ทั้ง ๑๐๑ พระองค์
“พระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นกษัตริย์ ด้วยนามบัญญัติว่า มุทธาภิสิตเหล่าใด ในชมพูทวีปนี้ ขอท่านอย่าได้เสวยพระเจ้าแผ่นดินเหล่านั้นเลย นี้เป็นพรข้อที่สองที่เราปราถนา” โจรโปริสาทคิดในใจว่าพรนี้ไม่หนักเกินไป จะไม่ฆ่าสัตว์ทั้ง ๑๐๑ พระองค์เพื่อบวงสรวงเทวดาก็ได้ ถึงกระนั้นเราก็ยังสามารถจับมนุษย์คนอื่นมาฆ่ากินเป็นอาหารอันโอชะต่อไปด้วย
จึงถวายพระพรว่า “พระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นกษัตริย์ ด้วยนามบัญญัติว่า มุทธาภิสิตเหล่าใด ในชมพูทวีปนี้ หม่อมฉันจะไม่กินพระเจ้าแผ่นดินเหล่านั้น นี่เป็นพรขอที่สอง หม่อมฉันขอถวาย” กษัตริย์ทั้ง ๑๐๑ พระองค์ได้ยินพระสุรเสียงของสองกษัตริย์ถวายพระพรแก่กันและกัน จากที่หวาดหวั่นต่อมรณะภัยก็กลับกลายมาเป็นปิติดีใจที่จะได้รอดชีวิต
พระโพธิสัตว์ตรัสขอพรต่อไปว่า “กษัตริย์ทั้ง ๑๐๑ พระองค์ที่ถูกท่านจับร้อยพระหัตไว้ มีพระพักตร์นองด้วยอัสสุชลกันแสงอยู่นั้น ขอท่านจงปล่อยให้กลับไปสู่แว่นแคว้นโดยสวัสดิภาพเถิด นี่คือพรข้อที่สามที่เราปราถนา” การที่พระโพธิสัตว์ขอพรข้อนี้เพราะเกรงว่าแม้โจรโปริสาทจะไม่ฆ่า แต่ก็อาจจะให้กษัตริย์ทั้งหมดอยู่เป็นทาสในป่า ไม่ยอมให้อิสรภาพกลับไปครอบเมืองก็เป็นได้
ด้วยความฉลาดรอบคอบของพระโพธิสัตว์ ท่านจึงเลือกขอพรข้อนี้ จอมโจรโปริสาทเห็นว่าพรนี้ไม่หนักเกินไปจึงยอมถวายพระพรว่า “กษัตริย์ทั้ง ๑๐๑ พระองค์ที่หม่อมฉันร้อยพระหัตถ์ไว้ พระพักตร์อัสสุชลกันแสงอยู่นั้น หม่อมฉันจะปล่อยกลับไปสู่แคว้นของแต่ละพระองค์โดยสวัสดิภาพ นี้เป็นพระพรข้อที่สาม หม่อมฉันยอมถวาย”
นี่ก็คือผลของการฟังธรรมที่นำไปสู่การประพฤติธรรมของโปริสาท ผู้กำลังจะพลิกผันชีวิตกลับสู่วงจรแห่งสุคติภูมิอีกครั้งหนึ่ง ส่วนเรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไปนั้นติดตามต่อได้ในตอนหน้า