ธรรมะเพื่อประชาชน พร้อมภาพประกอบ คติธรรม ข้อคิดสอนใจ

ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร ท่านทั้งหลายอย่ากลัวต่อบุญเลย เพราะคำว่าบุญนี้เป็นชื่อของความสุข ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร เราย่อมรู้ชัดผลแห่งบุญอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ที่เราเสวยแล้วตลอดกาลนาน

ชาดก : ธรรมะเพื่อประชาชน Dhamma for peopleรวมนิทานอีสปพร้อมภาพประกอบ  ข้อคิดสอนใจ

ธรรมะเพื่อประชาชน : พระเตมีย์ ผู้ยิ่งด้วยเนกขัมมบารมี ๒๓


ธรรมะเพื่อประชาชน : พระเตมีย์ ผู้ยิ่งด้วยเนกขัมมบารมี ๒๓

Dhamma for people
ธรรมะเพื่อประชาชน

DhammaPP186_01.jpg

พระเตมีย์ ผู้ยิ่งด้วยเนกขัมมบารมี ๒๓

                ตลอดทั้งวันเราได้เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าจากการประกอบธุรกิจหน้าที่การงาน การศึกษาเล่าเรียนหรือเรื่องอื่นๆ ที่เราได้ทำผ่านมาซึ่งเป็นเรื่องที่มนุษย์ทุกคนในโลกต้องขวนขวายทำกัน เพราะการทำมาหากินหรือการศึกษาเล่าเรียน มีเฉพาะในโลกมนุษย์เท่านั้น ส่วนชีวิตในปรโลกเป็นชีวิตที่มีการเสวยสุขและทุกข์ ไม่มีการทำมาหากิน 

 

                เมื่อมัวทำมาหากิน จึงลืมฝึกฝนใจให้บริสุทธิ์หยุดนิ่ง ซึ่งเป็นงานขจัดกิเลสอาสวะที่สำคัญที่สุด แล้วจะทำให้ชีวิตประสบแต่ความสุขความเจริญรุ่งเรือง เมื่อใจอยู่ในกระแสแห่งธรรม เราจะรู้สึกอิ่มเอิบเบิกบานสดชื่นแจ่มใส คลายจากความเหน็ดเหนื่อย ที่เราได้ตรากตรำกันมาตลอดทั้งวันชีวิตของผู้ที่ประสบความสุขและความสำเร็จ คือชีวิตที่มีธุรกิจกับจิตใจควบคู่กันไป เพื่อความเจริญรุ่งเรืองทั้งทางโลกทางธรรมนั่นเองนะจ๊ะ

 

มีธรรมะภาษิตปรากฏในตัณหาสูตร ความว่า

โลกถูกตัณหานำพาไป สู่ตัณหาผลักไสไป

โลกทั้งหมดเป็นไปตามอำนาจของธรรมอย่างหนึ่งคือตัณหา

บัณฑิตพึงรู้โทษของตัณหาว่า เป็นเหตุให้เกิดทุกข์

พึงเป็นผู้ปราศจากตัณหา ไม่ยึดมั่นถือมั่นมีสติอยู่ทุกเมื่อ

 

                ตัณหาคือความทะยานอยาก ที่ทำให้มนุษย์ต้องแสวงหากัน ไม่มีที่สิ้นสุด ชีวิตจึงไม่มีการหยุดนิ่ง ยิ่งแสวงหาก็ยิ่งห่างไกลจากตัวตนที่แท้จริง ไกลจากสัจธรรมความเป็นจริง แม้ได้สิ่งหนึ่งมาก็ยังไม่เพียงพอ จึงอยากได้ในสิ่งที่ดีกว่ายิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ การแสวงหาความพอใจ ในเบญจกามคุณ ยากที่จะทำให้เต็มอิ่มได้ ผู้รู้ทั้งหลายจึงดำเนินชีวิตอยู่ในโลกนี้ ด้วยความไม่ประมาทมีสติอยู่เสมอ ไม่ยึดมั่นถือมั่นในเบญจกามคุณ ซึ่งเป็นของไม่จีรังยั่งยืน ให้ความสุขเพียงนิดหน่อย แต่ความทุกข์ที่ตามมานั้น มากมายจนเทียบกันไม่ได้เลย 

 

 

                เหมือนน้ำในบ่อไม่อาจเทียบกับน้ำในมหาสมุทรได้ พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ท่านได้มุ่งมั่นสร้างบารมีเพื่อมุ่งไปสู่เอกันตบรมสุขคือพระนิพพาน อันเป็นสุขล้วนๆ ที่ความทุกข์ไม่อาจมาปนเป็นได้เลย เหมือนดังเรื่องของพระเตมียราชกุมาร ที่หลวงพ่อจะได้นำมาเล่าต่อจากเมื่อวานนี้นะจ๊ะ

 

 

                เมื่อตอนที่แล้วถึงตอนที่ สุนันทสารถีได้กราบทูลลาพระราชกุมาร ขับราชรถเข้าสู่พระนครพาราณสีเพื่อกลับมาบอกข่าวดี ให้กับพระราชาและพระมเหสี ได้ทราบความเป็นไปของพระเตมียราชกุมาร

 

 

                  ฝ่ายพระนางจันทราเทวียังคงพระทับนั่งทอดพระเนตร การกลับมาของสุนันทสารถี ด้วยพระทัยที่จดจ่อ เมื่อทรงเห็นสุนันทสารถีกลับมาพร้อมราชรสที่ว่างเปล่า ก็ทรงยิ่งกันแสง น้ำพระเนตรไหลนองพระพักตร์ รับสั่งนายสารถีในทันทีที่เข้าเฝ้าว่า “ลูกเราเป็นอย่างไรบ้าง เวลาเจ้าฝังลูกของเรา ลูกเราได้ร้องบ้างหรือไม่ ลูกเราขยับเขยื้อนมือเท้าบ้างหรือไม่”

 

 

              สุนันทสารถีรีบกราบทูล เล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ทรงทราบว่า “พระราชกุมารทรงมีพระอวัยวะสมบูรณ์ทุกส่วน ทรงพระดำเนินคล่องแคล่ว ทั้งทรงมีพระปัญญา ตรัสพระวาจาได้ไพเราะสละสลวยน่าฟังยิ่งนัก” พระนางเจ้าทรงได้สดับดังนั้น จึงตรัสถามย้ำด้วยทรงตื่นเต้นดีพระทัย 

 

  

                      สุนันทสารถีจึงกราบทูลอธิบายต่อไปว่า “ขอเดชะ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท แท้จริงแล้ว พระราชกุมารมิได้เป็นคนง่อยเปลี้ยเสียขา หรือเป็นบ้าใบ้แต่อย่างใดเลย พระเจ้าข้า แต่ที่พระองค์ทรงแสร้งประพฤติเช่นนั้น เพราะไม่ทรงปรารถนาจะครองราชสมบัติ” จากนั้นก็ได้กราบทูลรายละเอียดเกี่ยวกับมโนปณิทานอันยิ่งใหญ่ ของพระราชโอรสให้ทรงทราบ

 

 

                      พระนางเจ้าจันทาเทวีทรงซักถามด้วยพระหฤทัยที่โสมนัสว่า “แล้วตอนนี้ลูกเราเป็นอย่างไรบ้าง” 

 

 

                “พระนางเจ้าอย่าได้ทรงเป็นห่วงเลย พระเจ้าข้า พระราชกุมารทรงปลอดภัยดี ขณะนี้พระองค์ประทับอยู่ ที่ชายป่าด้านทิศตะวันออกของพระนคร และทรงรับปฏิญญากับข้าพระบาทว่าจะทรงรออยู่ที่นั่น จนกว่าข้าพระบาทจะนำเสด็จพระนางเจ้าและพระราชบิดาไปที่นั่น พระเจ้าข้า และอีกอย่างหนึ่ง ก่อนที่ข้าพระบาทจะทูลลากลับมา พระราชกุมารยังได้ทรงฝากถวายบังคมพระบาทพระนางเจ้าและพระราชบิดาด้วย ขณะนี้พระราชกุมารทรงรออยู่ที่ป่านั้นแล้ว ขอเชิญเสด็จเถิดพระเจ้าข้า ข้าพระบาทรับอาสาจะนำเสด็จไปจนกว่าจะได้พบกับพระราชกุมาร พระเจ้าข้า” พระนางจันทราเทวีได้ฟังดังนั้น จึงมีพระทัยโสมนัสเปรมปรียิ่งนัก

 

 

                ส่วนพระโพธิสัตว์ ครั้นส่งนายสารถีกลับไปแล้ว ก็มีพระประสงค์จะทรงผนวช  ท้าวสักกเทวราชทรงทราบพระดำริของพระราชกุมาร จึงตรัสสั่งวิสสุกรรมเทวบุตรว่า “ท่านวิสสุกรรม พระเตมิยราชกุมารประสงค์จะทรงผนวช ท่านจงไปสร้างบรรณศาลา และจงจัดแจงบริขารสำหรับบรรพชิตไว้ถวายพระราชกุมารด้วยเถิด”

 

 

                วิสสุกรรมเทวบุตรรับเทวบัญชาแล้ว จึงลงมาเนรมิตอาศรมไว้ในราวป่า ไม่ไกลจากที่พักของพระโพธิสัตว์ เนรมิตที่พักกลางคืน ที่พักกลางวันและสระโบกขรณีไว้ในที่ไม่ไกลจากอาศรม ทำต้นไม้ใกล้สถานที่นั้นให้มีผลสมบูรณ์ไม่จำกัดฤดูกาล อีกทั้งยังเนรมิตที่เดินจงกรมไว้ใกล้อาศรม เกลี่ยทรายที่ขาวสะอาดไว้ในทางที่จงกรมนั้น แล้วจารึกอักษรไว้ที่หน้าอาศรมว่า “ผู้ใดใคร่จะบรรพชา ผู้นั้นจงถือเอาเครื่องบริขารเหล่านี้” เสร็จแล้วจึงได้กลับสู่วิมานตามเดิม

 

 

                ส่วนพระโพธิสัตว์ทอดพระเนตรเห็นอาศรมแห่งนั้น ได้ทรงอ่านอักษรที่จารึกแล้วก็ทรงทราบว่า สิ่งนี้ควรแก่ผู้ปรารถนาจะบรรพชา จึงเสด็จเข้าบรรณศาลา เปลื้องภูษาออก ทรงนุ่งผ้าเปลือกไม้สีแดงผืนหนึ่งห่มผืนหนึ่ง ทรงห่มหนังเสือเฉวียงพระอังสา ผูกมณฑลชฎาไว้เหนือพระเศียร แล้วทรงอธิษฐานถือผนวชเป็นพระดาบส

 

 

                จากนั้นจึงเสด็จออกจากอาศรม เสด็จจงกรมกลับไปกลับมาบนทางเดินจงกรมที่วิสสุกรรมเทพบุตรเนรมิตถวาย ทรงปลอดโปร่งพระหฤทัย เกิดปีติโสมนัสถึงกับเปล่งอุทานว่า “การบรรพชาของเราสำเร็จแล้ว ช่างเป็นสุขจริงหนอ” ทรงพระดำเนินบนทางจงกรมได้เวลาพอสมควรแล้ว ก็เสด็จเข้าอาศรม ประทับนั่งขัดสมาธิบนที่ซึ่งลาดด้วยใบไม้ ยังอภิญญา ๕  และสมาบัติ ๘ ให้เกิดขึ้น ประทับอยู่ด้วยความสุขภายในมหาสมาบัตินั้น ถึงเวลาเย็นก็เสด็จออกจากอาศรม เที่ยวเก็บใบหมากเม่า ที่เกิดอยู่ท้ายที่จงกรม มานึ่งในแล้วเสวยใบหมากเม่านึ่ง ที่ไม่มีรสเปรี้ยว 

 

 

                   ฝ่ายพระเจ้ากาสิกราช ครั้นทรงสดับคำกราบทูลของนายสุนันทสารถี ก็ทรงโสมนัสเป็นล้นพ้น ตรัสเรียกอำมาตย์และเสนาบดีมาเข้าเฝ้าทันที แล้วมีพระราชดำรัสสั่งเจ้าหน้าที่ทั้งหลายว่า พวกเจ้าจงรีบจัดเตรียมสำภาระเทียมรถม้า จงผูกเครื่องประดับช้าง”

 

 

                    ทั้งรับสั่งกำชับว่า “ม้าอ้วนเสียความว่องไว ม้าผอมเสื่อมถอยเรี่ยวแรง จงเว้นม้าอ้วนและม้าผอม เทียมแต่ม้าที่สมบูรณ์มีกำลัง ส่วนพนักงานกองดุริยางค์จงจัดเครื่องดนตรีแห่แหนทั้งสังข์ บัณเฑาะว์ กลองหน้าเดียว กลองสองหน้า และรำมะนาอันไพเราะ  แล้วก็จงป่าวประกาศเชิญชวนประชาชนชาวเมืองทุกหมู่เหล่าให้ตามเรามา เราจะไปให้โอวาทลูกของเรา”

 

 

                    ในสมัยนั้นพระนครพาราณสีอึกทึกครึกโครม ไปด้วยขบวนตามเสด็จอันมโหฬาร เพราะขบวนดังกล่าวเป็นขบวนใหญ่ ประกอบด้วยพระมหากษัตริย์ พระอัครมเหสี เหล่านางสนมกำนัล เหล่าขุนนางเสนามหาอำมาตย์ ข้าราชบริพารทั้งฝ่ายนอกฝ่ายใน ตลอดจนถึงบรรดาชาวบ้านชาวเมืองทั้งแว่นแคว้น การเตรียมการต่างๆ จึงกินเวลานานถึงสามวัน กว่าจะแล้วเสร็จ กระทั่งพร้อมที่จะออกเดินงได้ 

 

 

                พระเจ้ากาสิกราชและพระนางเจ้าจันทาเทวีพร้อมด้วยอาณาประชาราษฎร์ต่างก็มีความเอิบอิ่มใจดุจเดียวกับราชนิกุลทั้งหลาย ทั้งหมดพากันออกเดินทางไป เพื่อหวังจะได้เข้าเฝ้าพระเตมิยราชกุมาร ด้วยความปลื้มปีติใจยิ่งนัก ส่วนว่าเมื่อไปถึงแล้ว พระราชบิดาจะให้โอวาทว่าอย่างไร หรือจะเกลี้ยงกล่อมให้พระราชกุมาร กลับมาครองราชย์ได้หรือไม่นั้น ก็ให้มาติดตามรับฟังกันต่อในวันพรุ่งนี้นะจ๊ะ

 

พระธรรมเทศนา โดย : หลวงพ่อธัมมชโย (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล