Dhamma for people
ธรรมะเพื่อประชาชน
พระเตมีย์ ผู้ยิ่งด้วยเนกขัมมบารมี ๒๔
การที่มนุษย์จะมีความสุขได้ ต้องเริ่มต้นที่จิตใจของแต่ละคนก่อน ใจหยุดเป็นจุดเริ่มต้นของความสุข ถ้าหากใจเป็นสุขแล้วทุกอย่างก็จะพลอยดีตามไปด้วย ที่คนเราหาความสุขไม่ค่อยได้นั้น เนื่องมาจากความทะยานอยากหรือบางครั้งอาจไม่มีความทะยานอยาก ในสิ่งที่ยังมาไม่ถึง แต่กลับเป็นทุกข์ใจกับอดีต เพราะไปจมอยู่กับอดีตที่เคยผิดพลาด ถ้าไปนึกถึงความผิดพลาดที่ผ่านมาแล้ว ก็จะทำให้ใจเราเศร้าหมอง
ซ้ำร้ายกว่านั้นยังวิตกกังวลกลัวไปถึงกับอนาคต ที่ยังมาไม่ถึงจนกลายเป็นมะเร็งร้ายในอารมณ์ ที่บั่นทอนสุขภาพจิต ถ้าเราอยากมีความสุขหลุดพ้นจากอารมณ์อันไม่น่าปรารถนา เราต้องรู้จักปลดปล่อยวางไม่เป็นนึกถึงอารมณ์นั้น เปลี่ยนอารมณ์ไม่ดีนั้นให้มาเป็นอารมณ์ดี ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ทำแต่ความดีอย่าให้ใจว่างจากกุศลธรรม และดีที่สุดต้องหมั่นฝึกฝนอบรมใจให้หยุดนิ่ง แล้วเราก็จะพบกับความสุขที่แท้จริงกันนะจ๊ะ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน พันธนสูตร ว่า
บัณฑิตนักปราชญ์ทั้งหลายไม่ได้กล่าวว่า เครื่องจองจำที่ทำด้วยเหล็ก ทำด้วยไม้และทำด้วยหญ้า เป็นเรื่องจองจำที่มั่นคง
บัณฑิตนักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่า ความรักใคร่ในแก้วมณีและเครื่องประดับ ความอาลัยในบุตรและภรรยา เป็นเครื่องจองจำที่ มั่นคง พาให้ตกต่ำ เป็นเครื่องจองจำที่ผูกหย่อนๆ แต่แก้ยาก
บัณฑิตนักปราชญ์ ทั้งหลายตัดเครื่องจองจำนั้นแล้วออกบวช เป็นผู้ไม่มีความอาลัย เพราะละกามทั้งหลายเสียได้
ชีวิตเราเหมือนถูกจองจำ แต่มีภพ ๓ เป็นคุกขนาดใหญ่ ดิ้นกันไม่หลุด เกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิด ต้องทนทุกข์ทรมานกันอยู่อย่างนี้ มานับภพนับชาติไม่ถ้วน ที่เป็นเช่นนี้เพราะเราถูกคเรื่องผูกคือโยคะ ซึ่งแปลว่าเครื่องปลูกสัตว์ไว้ในภพ เครื่องผูกคือกาม เช่นอยากเห็นรูปสวยๆ อยากฟังเสียงเพราะๆ อยากทานอาหารอร่อยๆ ได้สัมผัสที่นุ่มนวล ได้ดมกลิ่นหอมๆ ได้นึกคิดในสิ่งที่ชื่นชอบหรือพึงพอใจ ความพอใจในเบญจกามคุณทั้งหลายเหล่านี้ เป็นเสมือนเชือกเกลียวแรกที่ผูกมัดเราไว้ ทำให้ต้องเวียนว่ายตายเกิด ในวัฏสงสารไม่รู้จบสิ้น สัตว์โลกต้องพบกับภัยในสังสารวัฏดิ้นกันไม่หลุด จิตจึงไม่พบกับความเกษมสำราญ มีสุขมีทุกข์คลุกเคล้ากันไป จะหาสุขจริงๆ นั้นยาก มีแต่หลงใหลเพลิดเพลินกันไปวันๆ สภาวะของจิตเกษมจึงไม่เคยพบเจอไม่เคยรู้จัก
จิตเกษมหมายถึงสภาพจิตที่ไม่มีกิเลส เครื่องร้อยรัดหลงเหลืออยู่เลย เบญจกามคุณรวมไปถึงเครื่องผูกสัตว์ไว้ในภพ ๓ ได้ถูกตัดขาดสบั้นไปแล้ว จิตจึงเป็นอิสระเสรี เหมือนนกที่ถูกปล่อยออกจากกรง ไม่ติดขัดอึดอัดอีกต่อไป จึงมีแต่ความสุขอย่างแท้จริง พอกิเลสหมดก็พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ผู้ที่จะมีจิตเกษมได้อย่างแท้จริงคือผู้ที่มีใจหยุดนิ่ง แช่อิ่มอยู่ในพระนิพพานตลอดเวลา ซึ่งหมายถึงพระอริยเจ้าทั้งหลาย หรืออย่างน้อยในเบื้องต้นก็คือ ผู้ที่ตั้งใจประพฤติธรรม ทำใจให้บริสุทธิ์หยุดนิ่งอยู่เป็นประจำ จนเข้าถึงฝั่งแห่งใจหยุดนิ่ง
เหมือนดังเรื่องของพระเตมียโพธิสัตว์ ผู้สระเครื่องจองจำแล้วออกผนวช ได้สัมผัสถึงสภาวะที่จิตเกษมจากโยคะทั้งหลาย มีปีติที่เกิดจากการเข้าถึงฌานสมาบัติ เรามาติดตามรับฟังเรื่องราวของท่านกันเลยนะจ๊ะ เมื่อครั้งที่แล้วหลวงพ่อได้เล่าถึงตอนที่สุนันทสารถี ได้กลับมารายงานเหตุอัจรรย์ที่เกิดขึ้นในป่าใหญ่ ให้พระเจ้ากาสิกราชและพระนางจันทราเทวีได้รับทราบ
ฝ่ายพระเจ้ากาสิกราช ครั้นทรงสดับ คำกราบทูลของนายสุนันทสารถีแล้ว ก็ทรงโสมนัสอย่างยิ่ง ตรัสเรียกอำมาตย์และเสนาบดีมาเข้าเฝ้า แล้วมีพระกระแสรับสั่งเจ้าหน้าที่ทั้งหลาย ให้รีบจัดเตรียมถม้า ให้ประดับช้าง และให้ป่าวประกาศเชิญชวน ชาวประชาทั่วพระนครให้ตามพระองค์ไปด้วย ทรงให้จัดขบนเสด็จกินเวลานานถึง ๓ วัน จึงได้เคลื่อนพลโยธากับทั้งชาวพระนครไปเกือบทั้งหมด
ไปถึงราวป่า สุนันทสารถีชี้ให้พระราชาทรงทอดพระเนตรบรรณศาลา ซึ่งเป็นที่พำนักของพระเตมิยราชกุมาร พระองค์ก็ทรงโสมนัสเป็นยิ่งนัก รับสั่งให้สุนันทสารถีรีบนำเสด็จเข้าไปยังอาศรมในทันที
เมืองพาราณสีซึ่งก่อนนั้นเคยคลาคล่ำไปด้วยผู้คนมาก อื้ออึงไปด้วยเสียงผู้คนที่สนทนาปราศรัยกัน ด้วยเรื่องค้าขายไม่ว่างเว้น แต่มาบัดนี้กลับว่างเปล่าและเงียบสงบราวกับเป็นเมืองร้าง เหลือไว้เพียงแต่คนแก่ชราและเด็กๆ กับพวกพวกนักเลงสุราเท่านั้น
หมู่พระประยูรญาตินำโดยพระเจ้ากาสิกราช ได้รีบเสด็จเข้าไปยังอาศรมก่อน ส่วนพระนางจันทาเทวีและเหล่าสนมนางในนั้น เสด็จตามมาภายหลัง แม้พระราชกุมารซึ่งบัดนี้ทรงผนวชเป็นพระฤษีแล้ว และได้เสด็จลงมาต้อนรับที่หน้าอาศรม ตรัสถามถึงพระพลานามัยของพระราชบิดาว่า “พระองค์ทรงปราศจากพระโรคาพาธ และทรงมีพระพลานามัยสมบูรณ์ดีอยู่หรือ”
พระเจ้ากาสิกราชก็ทรงตอบว่า “โยมสบายดี ไม่มีโรคาพาธเบียดเบียน” ทรงไต่ถามทุกข์สุขในการดำรงชีพเยี่ยงนักบวชในป่าว่า “ลูกเตมียะ ลูกเคยสุขสบายในวังหลวง ทุกอย่างมีคนคอยปรนนิบัติรับใช้ แต่บัดนี้มาอยู่ในป่าที่เปล่าเปลี่ยวปราศจากผู้คน ต้องลำบากตรากตรำ ลูกจะอยู่ได้อย่างไร”
พระเตมียฤษีจึงถวายพระพรว่า “ขอถวายพระพรมหาบพิตร แนวป่าที่สงบสงัด สระโบกขรณีก็น่ารื่นรมย์ใจ ทำให้อาตมภาพเกิดความสงัดทั้งกายและใจ ทั้งโรคภัยก็มิได้เบียดเบียน จึงยังคงพอดำรงอัตภาพให้เป็นไปได้อยู่” เป็นธรรมเนียมของบัณฑิตทั้งหลาย เมื่อได้พบปะสนทนากันก็จะไต่ถามถึงการดำเนินชีวิตว่ามีทุกข์มีสุขอย่างไร เพราะทราบดีว่าชีวิตนี้เป็นทุกข์ ความทุกข์เป็นพื้นฐานของชีวิต การดำรงชีพที่จะให้ราบรื่นเป็นสุขตลอดไปนั้นเป็นไปได้ยาก จึงได้ไต่ถามกันเช่นนั้น
เมื่อผ่านการทักทายปราศรัยพอให้คลายความระลึกถึงกันแล้ว พระเตมียฤษีจึงทูลถามต่อไปว่า “มหาบพิตร พระองค์ ยังรักษาศีล ๕ อีกทั้งสุราเมรัยพระองค์ยังงดเว้นได้ดีอยู่หรือ ทั้งชนบทชายแดนและเมืองหลวง ตลอดถึงท้องพระคลังยังแน่นหนาบริบูรณ์ดีอยู่หรือ”
พระเจ้ากาสิกราชก็ทรงตอบว่า “โยมยังมั่นคงในศีล ๕ อีกทั้งสุราเมรัยก็มิได้ดื่ม ชนบทเมืองหลวงและท้องพระคลังก็ยังแน่นหนาสมบูรณ์ดี”
ส่วนพระเตมียฤษีทรงเห็นว่า พระราชบิดาได้ประทับยืนนานแล้ว จึงอัญเชิญให้เสด็จขึ้นไปบนอาศรม พร้อมทั้งตรัสให้พระราชนั่งตามพระประสงค์ แต่พระองค์ก็มิได้ประทับนั่งบนพระราชอาสน์นั้นด้วยความเคารพในพระฤษี
พระฤษีจึงให้เจ้าพนักงานที่ตามเสด็จ จัดการลาดใบไม้ถวาย แล้วทูลเชิญให้พระราชาประทับนั่ง พระองค์ก็ไม่ทรงประทับอีก แต่ได้ประทับนั่งที่พื้นด้วยความเคารพในพระฤษี
จากนั้นพระโพธิสัตว์จึงนำเอาใบหมากเม่าที่นึ่งสุกแล้ว ออกมาถวาย แล้วทรงเชื้อเชิญให้พระราชาทรงเสวย โดยตรัสว่า “มหาบพิตร ใบหมากเม่านี้เป็นของสุกแล้ว ปราศจากรสเปรี้ยวและรสเค็ม ขอมหาบพิตรผู้เสด็จมาจากที่ไกล เชิญเสวยเถิด”
พระราชาทรงปฏิเสธว่า “โยมมีอาหารที่ได้เตรียมพร้อมมาแล้ว อาหารของโยมมีรสโอชา ไม่ใช่ใบหมากเม่าที่มีรสจืดสนิทอย่างนี้ โยมบริโภคข้าวสาลีสุกที่มีแกงและกับจำนวนมาก ถึงกระนั้นพระราชาก็ยังทรงหยิบใบหมากเม่ามากำไว้ ด้วยความเคารพในพระฤษี แล้วตรัสถามว่า พ่อเตมียะ พ่อบริโภคอาหารอย่างนี้หรือ”
พระโพธิสัตว์ตรัสในเชิงให้คติเตือนใจว่า “อย่างนี้แหละ มหาบพิตร ใบหมากเม่านี้เป็นอาหารของอาตมา บุคคลอยู่ในที่สงัด มีความสงบใจ แม้จะบริโภคอาหารเช่นไรก็ย่อมมีรสโอชา”
ธรรมภาษิตนี้แสดงให้เห็นว่า ความอร่อยของอาหารนั้น ไม่ได้เป็นเรื่องสำคัญของผู้แสวงหาธรรม อีกทั้งอาหารมีไว้เพื่อระงับความหิว เพื่อยังอัตภาพให้เป็นไปได้เท่านั้น ส่วนว่าจะอร่อยถูกใจหรือไม่นั้น ไม่ใช่เรืองสำคัญ ที่สำคัญอยู่ที่ว่า ก่อให้เกิดเรี่ยวแรงที่สามารถ นำไปทำความดีได้อย่างเต็มที่ก็พอแล้ว ส่วนว่าการสนทนาธรรม ระหว่างพระราชากับพระเตมียฤษีจะเป็นอย่างไรก็ให้มาติดตามรับฟังกันต่อในวันพรุ่งนี้น๊ะจ๊ะ