Dhamma for people
ธรรมะเพื่อประชาชน
พระเตมีย์ ผู้ยิ่งด้วยเนกขัมมบารมี ๒๑
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในขุททกนิกาย คาถาธรรมบทว่า
ถ้าว่านักปราชญ์พึงเห็นความสุขอันไพบูลย์ได้
เพราะยอมสละสุขพอประมาณ
เมื่อผู้มีปัญญาเล็งเห็นความสุขอันไพบุลย์
ก็พึงสละความสุขเล็กน้อยเสีย
ความสุขของมนุษย์ก็มีหลายระดับ ตั้งแต่ความสุขจากการมีทรัพย์ สุขจากการได้ใช้จ่ายทรัพย์ สุขจากการไม่มีหนี้และสุขจากการประกอบการงานที่ไม่มีโทษ สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นความสุขของคฤหัสถ์ ซึ่งเป็นเพียงสุขเล็กน้อย เพราะยังมีความทุกข์เจือปนอยู่มาก ส่วนความสุขที่แท้จริง ต้องเกิดจากการทำใจให้หยุดนิ่ง เป็นความสุขที่ดีละเอียดกว่าประณีตกว่า ปราศจากเครื่องกังวลใจ ไม่ติดข้องอยู่กับสิ่งภายนอก และจะมีความเป็นตัวของตัวเองเป็นใหญ่ในตัว เป็นอิสระที่ให้ความสุขยิ่งกว่าการได้เป็นเศรษฐีมหาเศรษฐี หรือเป็นพระเจ้าจักรพรรดิมากมายหลายเท่านัก
บัณฑิตนักปราชญ์ในกาลก่อน แม้ท่านจะสมบูรณ์ไปด้วยลาภ ยศสรรเสริญหรือสุข ในกามคุณมากเพียงใด ท่านก็ยอมสละความสุขภายนอกเหล่านั้น เพราะมองเห็นว่ามันไม่จีรังยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นเครื่องร้อยรัดให้เป็นห่วง เป็นกังวลอยู่ตลอดเวลา ขาดความเป็นอิสระในตัว ท่านจึงมุ่งแสวงหาความสุขภายใน อันเกิดจากวิเวกที่ประเสริฐกว่าการได้ครอบครองมาหาสมบัติทั้งหลาย
เหมือนอย่างเตมียราชกุมารบรมโพธิสัตว์ ผู้กำลังสร้างบารมี เพื่อมุ่งไปสู่การการได้บรรลุสุข อันเกิดจากการประพฤติวิเวก ท่านมีดวงปัญญาสว่างไสว จึงสอนตัวเองได้ตั้งแต่แรกเกิด ยอมสละสุขทางโลก คือการครองราชสมบัติ เป็นธรรมิกราชซึ่งสามารถครอบครองทวีปทั้ง ๔ ซึ่งท่านถือว่าเป็นความสุขที่อิงอามิสและมีปริมาณนิดหน่อย ไม่นานก็เบื่อหน่าย อีกทั้งยังเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ภัยใหญ่หลวง ในสังสารวัฏอีกด้วย ซึ่งลูกๆ ที่ได้ติดตามรับฟังกันเป็นประจำ ก็คงเห็นอัจฉริยภาพของพระบรมโพธิสัตว์ ผู้มุ่งไปสู่การบรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้วว่า ท่านมีมโนปณิธานยิ่งใหญ่เพียงใด ซึ่งในวันนี้เราจะได้มารับฟัง เรื่องราวการบำเพ็ญเนกขัมมบารมีบารมีของท่านกันต่อนะจ๊ะ
พระเตมิยราชกุมารทรงเห็นว่า สารถียังไม่รู้ไม่เข้าใจในสิ่งที่พระองค์ทำมา ไม่รู้มโนปณิธานของพระองค์ว่าเป็นเช่นไร จึงได้ตรัสอธิบายให้เข้าใจ และยืนยันความประสงค์ว่าพระองค์จะไม่เสด็จกลับอย่างแน่นอน แล้วทรงสรุปว่า ที่พระองค์สู้อุตส่าห์อดทนมายาวนานถึง ๑๖ ปีเพียงเพื่อปรารถนาจะพ้นจากความเป็นกษัตริย์ และบัดนี้เมื่อความปรารถนาสำเร็จแล้ว จึงไม่ต้องการที่จะหวนคืนสู่พระนครอีก แต่จะขอบวชบำเพ็ญพรตอยู่ในป่าแห่งนี้
สุนันทสารถีได้ฟังพระดำรัสของพระราชกุมารแล้ว ก็ยังมองไม่เห็นคุณค่าของการบวชว่าจะมีประโยชน์อย่างไร มองเห็นประโยชน์ที่จะเกิดกับประเทศชาติแบบโลกๆ ว่า ถ้าหากพระราชกุมารกลับไปครองราชย์ ประเทศชาติก็จะรุ่งเรือง จึงกราบทูลให้พระราชกุมารกลับพระนคร อีกทั้งเป็นห่วงพระราชกุมารว่า จะได้รับความลำบากพระวรกาย เพราะมองไม่ออกถึงความสะดวกปลอดภัย ในการอยู่ในป่าเพียงลำพัง มองไปรอบทิศก็มีแต่ภยันตรายรอบด้าน จะหาความสงบกายสงบใจได้อย่างไร จึงได้ทูลแนะแนวทางอื่นว่า “ข้าแต่พระราชกุมาร การบวชอยู่ในป่าเหมือนคนไม่มีทรัพย์ ไม่มีบุตรและภรรยาที่คอยสงเคราะห์ให้ความอบอุ่น จะมีความสุขได้อย่างไร เมื่อพระองค์ได้ครองราชย์ย่อมมีพระราชทรัพย์มากมาย และยังสามารถทำบุญให้ทาน สามารถรักษาศีล ชำระหนทางไปสวรรค์ให้ การบวชเสียแต่ยังหนุ่มจะมีประโยชน์อะไร”
พระโพธิสัตว์ตรัสว่า “สุนันทสารถี เธอจงฟังและคิดดูให้ดี ครั้งเรายังเป็นทารกแรกเกิดได้ไม่นาน ครั้งนั้นพระชนกของเรา อุ้มเราให้นั่งบนตัก แล้วตรัสสั่งข้อความว่า จงฆ่าโจรคนหนึ่งด้วยหอกอันคม จงจองจำโจรคนหนึ่งด้วยขื่อคา จงเฆี่ยนโจรคนหนึ่งให้ตายด้วยหวายหนาม และจงเสียบโจรคนหนึ่งให้ตายอยู่บนหลาว เราได้ฟังรับสั่งอันหยาบคายร้ายกาจ ที่พระชนกตรัสแล้วก็สะดุ้งกลัว ไม่ต้องการเสวยราชสมบัติ ถึงแม้เราไม่ได้เป็นง่อยเปลี้ยก็แกล้งทำเป็นง่อยเปลี้ย ไม่ได้เป็นใบ้ก็แกล้งทำเป็นใบ้ ไม่ได้หูหนวกก็แกล้งทำเป็นหูหนวก เพื่อต้องการพ้นจากราชมณเฑียรนั้นให้ได้
สุนันทสารถี ชีวิตนี้เป็นของน้อย มีความปลื้มใจเพียงนิดหน่อย แต่ประกอบด้วยทุกข์มากมาย เราจะอาศัยชีวิตอันนิดหน่อยนี้ก่อเวรใหม่เพิ่มขึ้น แล้วต้องไปตกอยู่ในอบายตลอดกาลยาวนานเพื่อประโยชน์อะไร ท่านจงรู้อย่างนี้เถิดสารถี การบวชเป็นหนทางสว่างที่จะทำให้พ้นจากอกุศลกรรมมีปาณาติบาตเป็นต้น และมีโอกาสว่างเพื่อบำเพ็ญกุศลธรรม คือฌานและอภิญญาให้บังเกิดขึ้น เราเห็นคุณประโยชน์ดังนี้จึงออกบวช พรหมจรรย์ของเราสำเร็จแล้ว เราออกบวชแล้วย่อมไม่มีภัยจากที่ไหน"
สุนันทสารถีใคร่ครวญตามพระดำรัสนั้น ก็เห็นจริงตามที่พระกุมารตรัสแล้วทุกประการ เกิดความเลื่อมใสศรัทธาอย่างแรงกล้า มีสติเตือนตนได้ว่า พระราชกุมารนี้ไม่ทรงอาลัยในสิริราชสมบัติเลยแม้แต่น้อย ทรงทิ้งราชสมบัติโดยไม่มีความเยื่อใย เหมือนบ้วนก้อนเขฬะ ทรงยอมพระองค์ทนทุกข์ทรมานอยู่เป็นเวลานาน เพียงเพื่อให้พ้นจากราชมณเฑียร แม้จะทรงทุกข์ยากเพียงไรก็ไม่ทำลายความตั้งใจเดิมที่จะออกบวช แล้วตัวของเราเล่า จะมามัวห่วงใยชีวิตที่กำลังบ่ายหน้าไปสู่ความตายทำไมกัน อย่ากระนั้นเลย เราจะออกบวชพร้อมพระองค์ในวันนี้แหละ ครั้นตัดสินใจดังนี้แล้ว จึงกราบทูลว่า “ข้าแต่พระราชกุมาร ขอพระองค์ทรงเป็นที่พึ่งของข้าพระบาทด้วยเถิด ขอพระองค์โปรดอนุญาต ให้ข้าพระบาทได้บวชตามพระองค์ด้วยเถิด พระเจ้าข้า”
พระราชกุมารทรงฟังคำอ้อนวอนของสุนันทสารถีแล้ว ก็มีพระทัยปีติยินดี แต่ก็ทรงดำริว่า “หากเรายินยอมให้เขาบวชตอนนี้ ผู้คนทั้งหลายก็จะคิดว่า พระเตมิยราชกุมารได้หายสาบสูญไปพร้อมกับสุนันทสารถี เห็นทีว่าพระองค์คงจะถูกยักษ์จับกินเสียแล้วเป็นแน่ หากไม่มีผู้ใดกราบทูลให้พระชนกพระชนนีทรงทราบความเป็นไป ทั้งสองพระองค์ก็คงจะไม่สร่างจากความเศร้าโศก การบวชของเราในครั้งนี้ก็จะไม่เกิดประโยชน์ใหญ่ เราควรบอกข่าวการบวชของเราแด่พระชนกชนนี พระพี่เลี้ยงนางนม และกุมารทั้ง ๕๐๐ ผู้เป็นสหายของเราให้ได้ทราบ เมื่อพระประยูรญาติได้ทรงทราบแล้ว ก็จะทรงโสมนัสรีบเสด็จมา การแสดงธรรมโปรดพระชนกและพระชนนีให้ทรงพระเจริญในกุศลธรรมก็จะสะดวก การบวชของเราก็จะมีคุณค่าต่อมหาชนเป็นอันมาก
ดำริเช่นนี้แล้ว จึงทรงยับยั้งตรัสบอกสารถีว่า “สุนันทสารถี บัดนี้เธอยังไม่สมควรบวชอยู่กับเรา เพราะเธอยังเป็นหนี้หลวงอยู่ ฉะนั้นเธอจงนำราชรถกลับไปคืนเสียก่อน เธอควรที่จะกราบทูลพระราชบิดาและพระราชมารดาของเราให้ทรงทราบความจริงเสียก่อน เพื่อเปลื้องความเป็นหนี้นั้น และกราบทูลให้พระประยูรญาติของเราทรงทราบความจริง หากเธอยังมีความศรัทธาที่จะออกบวชตามเรา จึงค่อยกลับมาบวช เพราะคนผู้ไม่มีหนี้จึงจะบวชได้ การบวชโดยความเป็นไทอย่างนี้ คนทั้งหลายก็จะไม่นินทา แม้ท่านผู้แสวงหาคุณธรรมทั้งหลายก็สรรเสริญ”
สุนันทสารถีฟังพระดำรัสแล้ว ก็ดีใจมากที่จะได้โอกาสออกบรรพชาแต่ก็ยังไม่สบายใจอยู่ดี เพราถ้าหากตัวเองไปแล้ว เมื่อกลับมาใหม่พร้อมกับพระราชาและเหล่าข้าราชบริภารหากไม่เจอพระราชกุมาร ก็อาจถูกกล่าวหาว่าโกหก สุนันทสารถีจะแก้ไขสถานการณ์นี้อย่างไรก็ให้มาติดตามรับฟังกันต่อในวันพรุ่งนี้นะจ๊ะ
พระธรรมเทศนา โดย : หลวงพ่อธัมมชโย (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)