Dhammaforpeople
ธรรมะเพื่อประชาชน
ตอน ใช้ปัญญาก่อนตัดสินใจ
ในชีวิตของคนเราต่างก็ต้องการความพรั่งพร้อมบริบูรณ์ ความเต็มอิ่มของชีวิต ซึ่งผู้รู้ท่านมีความเห็นว่าความอิ่มใดๆก็ไม่เท่าความอิ่มด้วยปัญญาความรอบรู้ในสรรพสิ่งทั้งหลาย
เพราะปัญญาเป็นยอดของความอิ่มทั้งหลาย ส่วนความอิ่มในเรื่องอื่นนั้นก็เป็นเพียงของชั่วครู่ชั่วคราว ไม่ว่าจะเป็นอิ่มข้าว
อิ่มคำชมหรืออิ่มในทรัพย์สมบัติต่างๆ สิ่งเหล่านี้ไม่เที่ยงไม่ใช่ความอิ่มที่สมบูรณ์ ฉะนั้นเราต้องแสวงหาความอิ่มด้วยปัญญา ด้วยการหมั่นเจริญสมาธิภาวนากันทุกๆวัน
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในปัญญาสูตรว่า
สัตว์ทั้งหลายผู้เสื่อมจากอริยะปัญญา ชื่อว่าเป็นผู้ถึงความเสื่อมที่สุด สัตว์เหล่านั้นย่อมอยู่เป็นทุกข์ มีความเดือดร้อน มีความคับแค้นใจ และก็มีความเร่าร้อนในปัจจุบันทีเดียว
ความเสื่อมจากญาติก็ดี เสื่อมจากโภคทรัพย์สมบัติก็ดี หรือเสื่อมจากยศตำแหน่งก็ดี ความเสื่อมเหล่านี้ถือว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยที่พอจะบรรเทากันได้ แต่ความเสื่อมจากปัญญาเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่และก็นับว่าเป็นความเสื่อมเสียที่ร้ายแรงที่สุด
เพราะถ้าขาดปัญญาพิจารณาแยกแยะผิดชอบชั่วดีแล้ว ก็จะทำให้ทั้งชีวิตพบกับความหายนะได้ ยิ่งถ้าเสื่อมจากอาริยะปัญญา คือปัญญาบริสุทธิ์ที่พระอริยะเจ้าทั้งหลายท่านได้เข้าถึง อันเกิดเนื่องจากการได้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน
เป็นปัญญาอันรู้แจ้งในสรรพสัตว์และสรรพสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ได้อย่างแท้จริง ถ้าหากขาดปัญญาคือความรู้จริงในส่วนนี้ ชีวิตก็จะยิ่งลำบาก เพราะชีวิตที่ถูกความไม่รู้ครอบงำเป็นชีวิตที่อันตรายอย่างยิ่ง
ถ้าขาดปัญญาที่จะดำเนินชีวิตให้อยู่ในสังสารวัฏได้อย่างปลอดภัยและมีความสุขแล้วชีวิตก็ยังต้องเสี่ยงและล่อแหลมต่ออบายภูมิอยู่
ดังนั้นผู้มีปัญญาทั้งหลายจึงต้องพิจารณาใคร่ครวญให้ดีถึงการกระทำที่กำลังทำอยู่ว่าเป็นทางมาแห่งความดีงามหรือเป็นประโยชน์หรือว่าเป็นโทษอย่างไร
ซึ่งเรื่องนี้พระบรมศาสดาได้ทรงปรารถถึงพระภิกษุรูปหนึ่งที่ไม่รู้จักใช้ปัญญาพิจารณาโทษที่จะเกิดขึ้น เรื่องมีอยู่ว่า มีพระภิกษุรูปหนึ่งออกบวชด้วยศรัทธาแต่ว่าภรรยาเก่าของท่านตามมารบกวนทำให้ท่านหวั่นไหวและอยากจะหวนกลับไปสู่เพศฆราวาสอีก
พระบรมศาสดาทรงรับสั่งให้เรียกภิกษุรูปนั้นมาและให้โอวาสว่าครั้งก่อนเธอก็เกือบจะถึงความพินาศเพราะหญิงคนนี้ แต่เธอรอดตายจากกองไฟมาได้เพราะอาศัยบัณฑิต จากนั้นพระองค์ก็ทรงแสดงเรื่องในอดีตให้ฟังว่า
ในสมัยที่พระเจ้าเสนากะเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี ครั้งนั้นพระองค์ได้ทำราชไมตรีกับพญานาคตนหนึ่งโดยบังเอิญ เพราะพญานาคได้ออกจากนาคพิภพและแปลงร่างเป็นงูธรรมดาเพื่อออกเที่ยว
เผอิญได้มาเลื้อยทางที่เด็กๆกำลังเล่นกันอยู่ เด็กเหล่านั้นก็ตะโกนให้ช่วยกันตีงู และเป็นเวลาเดียวกับที่พระราชาเสด็จมาทางนั้นพอดี พระองค์จึงตรัสห้าม
พญานาคจึงได้จากไปโดยสวัสดี และได้ระลึกถึงอุปการะคุณของพระราชาจึงเสด็จมาทำสันถวไมตรีด้วย และได้มอบธิดานาคนางหนึ่งให้เป็นบรรณาการ พร้อมกับสอนมนต์ให้สามารถเห็นของละเอียดได้ถ้าใจปรารถนา
อยู่มาวันหนึ่งพระราชาได้พาธิดานาคไปเล่นน้ำในสระโบกขรณี เธอได้แลเห็นงูตัวผู้ตัวหนึ่งซึ่งมีความสง่างามผ่านมา
จึงมีจิตรักใคร่ยินดีและได้แอบไปร่วมอภิรมย์กับงูนั้น พระราชาเมื่อไม่เห็นเธอจึงทรงร่ายมนต์ตรวจตราดูก็เห็นพฤติกรรมอันไม่น่าดูของเธอ
จึงตีหลังด้วยไม้ไผ่ให้รู้สึกตัว แต่เธอโกรธมากจึงไปฟ้องพญานาคบิดา พญานาคไม่ทันได้สืบสวนทวนความก็บังเกิดโทสะอย่างมาก
รับสั่งให้นาคมานพผู้มีฤทธิ์ ๔ ท่านไปประหารพระราชาด้วยพิษอันร้ายแรง นาคมานพก็พากันออกจากนาคพิภพขึ้นสู่พระนครและได้เข้าไปในห้องบรรทมของพระราชาโดยไม่ปรากฎกายให้เห็น
ขณะนั้นพระราชาอยู่บนแท่นบรรทมกับพระมเหสีและกำลังตรัสถึงเรื่องที่พระธิดานาคได้หายไปโดยได้เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นที่สระโบกขรณีให้พระมเหสีฟังจึงทำให้นาคมานพทั้ง ๔ ได้ยินไปด้วย
เมื่อรับทราบสาเหตุที่แท้จริงแล้วนาคมานพทั้งหมดจึงเปลี่ยนใจที่จะสังหารพระราชาและได้กลับมาทูลความจริงให้พญานาคทราบ
พญานาครู้สึกไม่สบายใจจึงเสด็จมาหาพระราชาเพื่อขอขมาในสิ่งที่ตนได้มีดำริผิดพลาดไปและก็ได้สอนมนต์เป็นการทดแทน เป็นมนต์ที่สามารถฟังเสียงสัตว์พูดกันได้
วันหนึ่งพระราชาทรงเคี้ยวอ้อยและทรงเสวยร่วมกับพระมเหสี พอดีน้ำอ้อยได้หยดลงบนพื้นหยดหนึ่ง มดแดงตนหนึ่งแลเห็นจึงตะโกนบอกให้เพื่อนๆมากินกัน เมื่อพระราชาสดับเสียงของมดแล้วก็ทรงพระสรวล พระมเหสีทรงดำริว่าพระราชาอยู่ๆก็ทรงพระสรวลแสดงว่าต้องมีเหตุอะไรเป็นแน่
พอถึงเวลาเสวยพระกายาหารเห็น ข้าวเมล็ดหนึ่งได้หล่นบนพื้น มดแดงตัวหนึ่งจึงร้องบอกเพื่อนๆว่า หม้อในราชตระกูลแตกแล้ว เรารีบมาขนข้าวกันเถิด พระองค์สดับเสียงมดพูดกันก็ทรงพระสรวล พระมเหสีจึงถามว่าวันนี้พระองทรงพระสรวลหลายครั้ง ไม่ทราบว่าเป็นเพราะเหตุอะไร พระราชาก็ทรงนิ่งและแย้มพระโอษฐ์ แต่เมื่อพระมเหสีรบเร้าหนักขึ้นจึงตรัสบอกความจริงให้ทรงทราบ
พระมเหสีสดับแล้วก็อยากจะรู้มนต์บ้างแต่พระราชาก็ตรัสห้ามว่า เราให้มนต์กับใครเราก็จะต้องตายในกองไฟเพราะเราได้รับปากกับพญานาคไว้แล้ว แต่ด้วยความอยากได้มนต์ของมเหสีจึงใช้อุบายทุกอย่างลวงให้พระราชาสอนมนต์ให้กับตนให้ได้
พระราชาก็หลงเคลิบเคลิ้มตามมเหสีไปด้วย เรื่องนี้จึงร้อนถึงพระอินทร์ด้วยเหตุที่พระราชากำลังตกหลุมพรางมเหสีจนถึงขั้นยอมตายในกองไฟ
พระองค์จึงเนรมิตกายเป็นแพะ ทำทีว่าจะเสพสังวาสกับแพะตัวเมีย ขณะนั้นรถม้าพระที่นั่งได้เสด็จผ่านทางนั้นพอพญาม้าเห็นจึงกล่าวติเตียนแพะว่า
เจ้าแพะผู้โง่เขลาช่างไม่มียางอายเสียเลย แพะก็โต้ตอบกลับไปว่า สหายเอ๋ยท่านโง่กว่าเราเสียอีก เพราะท่านกำลังจะพาพระราชาไปสู่ความตาย แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีผู้ที่โง่เขลากว่าเจ้า คนๆนั้นก็คือคนที่นั่งอยู่ข้างหลังเจ้านั่นแหละ กำลังจะตายยังไม่สมควรอยู่แล้วก็ยังไม่รู้สึกตัวอีก
พระราชาสดับแล้วทรงพอพระทัยในถ้อยคำของแพะ จึงขอคำแนะนำจากแพะว่าจะให้ทำอย่างไรดี แพะก็บอกกับพระราชาว่า ก่อนจะสอนมนต์ให้โบยตีมเหสีก่อนสักร้อยที ถ้าทนได้โดยไม่ร้องก็ให้สอนให้โดยให้บอกเป็นเคล็ดวิชา
พระราชาก็ไปทำตามนั้น พอมเหสีโดนตีแค่สามที ทนความเจ็บปวดไม่ไหวก็บอกเลิกการเรียนมนต์ หลังจากนั้นก็ไม่เคยขอเรียนมนต์อีกเลย
พระบรมศาสดาทรงแสดงเรื่องนี้แล้วก็จบลงด้วยอริยสัจ ๔ ภิกษุรูปนั้นก็ได้สำเร็จเป็นโสดาบัน และพระองค์ก็ทรงตรัสว่าพระเจ้าเสนากะได้ทรงมาเป็นภิกษุรูปนี้
มเหสีได้มาเป็นภรรยาเก่าของภิกษุนี้ ม้าสินทกได้มาเป็นพระสาลีบุตร ส่วนพระอินทร์ในครั้งนั้นคือพระองค์เอง จากเรื่องนี้เราจะเห็นได้ว่าการรู้จักใช้ปัญญาเป็นสิ่งที่บัณฑิตนักปราชญ์ทั้งหลายท่านสรรเสริญ และท่านก็แสวงหาด้วย
ดังนั้นผู้มีปัญญาดี รู้จักใคร่ครวญในสิ่งที่กำลังทำอยู่ว่าเหมาะควรเพียงไร และก็พิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบ ก่อนที่จะตัดสินใจทำอะไรลงไปจึงจะเป็นผู้ที่ไม่ประมาท และจะประสบความสำเร็จในชีวิต ทั้งทางโลกและทางธรรม
และเราจะสามารถใช้ปัญญาได้อย่างเต็มที่ก็ต่อเมื่อจิตดวงนี้ของเราไม่ถูกครอบงำด้วยราคะ โทสะ โมหะ เป็นดวงจิตที่อิสระเสรีต่อการครอบงำของวิชา ซึ่งสภาพใจจะเป็นอย่างนี้ได้ต้องอาศัยการเจริญสมาธิภาวนา หมั่นฝึกฝนอบรมใจให้หยุดให้นิ่งให้สะอาดบริสุทธิ์ ดวงปัญญาของเราก็จะสว่างไสว จะมีกุศลธรรมเกิดขึ้นในใจแล้วเราก็จะคิดพูดทำในสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม