Dhammaforpeople
ธรรมะเพื่อประชาชน
ปุณณเศรษฐี ผู้ไถนาเป็นทอง
พระรัตนตรัย คือ พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ และสังฆรัตนะ สามสิ่งนี้เท่านั้นที่เป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุดของเรา ผู้ใดก็ตามระลึกถึงรัตนะทั้งสาม หากยามมีทุกข์ก็สามารถบำบัดทุกข์ เมื่อมีสุขแล้วก็เพิ่มเติมความสุขได้ เพราะพระรัตนตรัยเป็นแหล่งรวมแห่งความสุข ความบันเทิง ความเบิกบานใจ ซึ่งมีอยู่ภายในตัวของเราทุกๆ คน หากทุกคนในโลกเข้าถึงสรณะอันสูงสุดนี้ได้ ความทุกข์ทั้งหลายจะดับหมด เพราะได้เข้าถึงความสุขที่แท้จริง ที่ท่านเรียกว่า เอกันตบรมสุข คือเป็นสุขล้วนๆ ไม่มีทุกข์เจือปนเลย การจะเข้าถึงรัตนะทั้งสามนี้ได้ ต้องทำใจให้หยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เท่านั้น
มีวาระพระบาลีที่ปรากฏใน ขุททกนิกาย ธรรมบท ว่า
“ตสฺมา วิเนยฺย มจฺเฉรํ ทชฺชา ทานํ มลาภิภู
ปุญฺญานิ ปรโลกสฺมึ ปติฏฺฐา โหนฺติ ปาณินํ
บุคคลควรกำจัดความตระหนี่อันเป็นสนิมในใจ ให้ทานเถิด เพราะบุญทั้งหลาย ย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในโลกหน้า”
การให้เป็นอริยะประเพณีที่ผู้รู้ทรงสรรเสริญ แม้เราจะรู้ว่าการให้ทานเป็นสิ่งที่ดี แต่การทำทานที่จะให้ได้ผลมาก เป็นมหาทานบารมีนั้น ผู้ให้จะต้องรู้จักวิธีการให้ทานที่ถูกต้อง และทำถูกเนื้อนาบุญด้วย การทำทานที่จะให้ได้ผลมาก ใจของเราจะต้องใสสะอาดบริสุทธิ์ หยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกาย ทานนั้นจึงจะเป็นมหาทานบารมี เป็นมหัคคตกุศล เป็นกุศลใหญ่ที่จะนับจะประมาณมิได้
การให้ทานที่ได้บุญมาก วัตถุทานต้องบริสุทธิ์คือ ได้มาด้วยความชอบธรรม อีกทั้งผู้ให้ และผู้รับก็ต้องมีความบริสุทธิ์ ยิ่งถ้าผู้รับเป็นเนื้อนาบุญอันประเสริฐ ได้เข้าถึงพระรัตนตรัย เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระรัตนตรัยภายใน และผลบุญที่เกิดขึ้นย่อมเป็นอสงไขยอัปปมาณังคือ ไม่สามารถจะคำนวณได้ว่า ได้บุญเท่านั้นเท่านี้ แม้ว่าผู้รับยังไม่หมดกิเลส แต่ถ้าตั้งใจปฏิบัติเพื่อให้หลุดพ้นจากอาสวกิเลสคือ มุ่งกำจัดราคะ โทสะ โมหะให้หมดสิ้นไป มหานิสงส์นั้นจะบังเกิดขึ้นอย่างไม่มีประมาณ เหมือนอย่างนายบุญชาวนา ที่ได้เปลี่ยนฐานะจากนายบุญชาวนาเป็นปุณณเศรษฐีหรือธนเศรษฐี ก็เพราะอานุภาพบุญที่เกิดจากการให้ทานด้วยจิตที่เลื่อมใส และได้ทำถูกเนื้อนาบุญนี่เอง
* เรามาลองศึกษาชีวประวัติของปุณณเศรษฐี ซึ่งเป็นหนึ่งในห้าของมหาเศรษฐีผู้ใจบุญประจำกรุงราชคฤห์ ในอดีตมีครอบครัวชาวนาซึ่งสามีออกไปไถนาแต่เช้าตรู่ ส่วนภรรยาจะทำอาหารและนำไปส่งให้ที่ท้องนาทุกวัน
วันหนึ่งพระสารีบุตรเถระออกจากนิโรธสมาบัติเดินบิณฑบาตผ่านมา ภรรยาของนายปุณณะหรือนายบุญ กำลังนำอาหารไปให้สามี เห็นพระก็เกิดความเลื่อมใส ปรารถนาจะทำบุญกับพระเถระ นางคิดว่า “บางวันเราปรารถนาจะทำทาน แต่ก็ไม่มีไทยธรรม เพราะต้องหาเช้ากินค่ำ บางวันมีไทยธรรม แต่ไม่มีพระมาโปรด ตอนนี้ไทยธรรมของเรามีพร้อม พระท่านก็มาโปรดแล้ว เราควรทำบุญวันนี้แหละ” และด้วยจิตที่เลื่อมใสในพระเถระ นางจึงน้อมถวายอาหารมื้อนั้นแด่ท่านด้วยความเบิกบานใจยิ่งนัก
ขณะกำลังตักบาตรด้วยความเลื่อมใสนั้น นางได้ตั้งจิตอธิษฐานให้พระเถระได้ยินว่า “ด้วยบุญที่ได้ถวายทานครั้งนี้ จงดลบันดาลให้ดิฉันพ้นจากชีวิตยากเข็ญในโลกนี้ และขอมีส่วนแห่งธรรมที่ท่านเห็นแล้วด้วยเถิดเจ้าข้า” พระเถระให้พรสั้นๆ ว่า “อิจฺฉิตํ ปตฺถิตํ ตุมฺหํ ขิปฺปเมว สมิชฺฌตุ ขอให้สมปรารถนาในทุกเรื่อง” นางชื่นใจ ปีติขนลุกชูชัน เบิกบานใจมาก ไม่กังวลว่าสามีจะหงุดหงิดหรือไม่ กลับบ้านเพื่อเตรียมอาหารนำไปให้สามีที่รอคอยอยู่กลางทุ่งนาทันที
สามีกำลังเหน็ดเหนื่อยและหิวมาก ภรรยาเห็นสามีกำลังเหนื่อยก็ส่งยิ้มไปก่อน และพูดจาด้วยถ้อยคำที่ไพเราะ หาน้ำหาท่าให้ดื่ม แล้วรีบจัดอาหารให้รับประทาน พลางพูดว่า “วันนี้ที่นำอาหารมาช้าเพราะขณะที่กำลังนำอาหารมาให้พี่ ฉันได้เจอพระระหว่างทาง ผิวพรรณท่านเปล่งปลั่งผ่องใสเหลือเกิน ฉันเห็นแล้วอยากทำบุญ จึงเอาอาหารตักบาตรทำบุญไปจนหมด จากนั้นก็รีบกลับไปทำอาหารมาพี่ ขอให้พี่ตั้งจิตอนุโมทนาด้วยเถอะนะ”
นายบุญใจบุญสมชื่อ แม้จะเหน็ดเหนื่อยมา แต่ครั้นได้ยินข่าวบุญก็สาธุ และบอกว่า “ดีแล้วน้องเอ๋ยที่ได้ใส่บาตรพระ เพราะเมื่อสักครู่พี่ก็ได้ถวายนํ้าบ้วนปาก และไม้ชำระฟันแด่ท่านไปเหมือนกัน” ด้วยจิตอันเลื่อมใส กระแสธารแห่งบุญจึงส่งต่อมาถึงนายบุญทันที หลังจากทานข้าวแล้วก็เอาศีรษะหนุนตักภรรยานอนพักผ่อนอยู่ครู่หนึ่ง ตอนนั้นใจสบาย พอลืมตาขึ้นมามองดูนาที่ไถไปเมื่อเช้า พื้นดินได้กลายเป็นทองคำไปหมด
นายบุญจ้องมองด้วยความตะลึง แทบไม่เชื่อสายตาตัวเอง จึงถามภรรยาว่า “น้องเห็นไหมนั่นอะไร บริเวณที่พี่ไถนาเมื่อเช้านี้ มันกลายเป็นทองคำเหลืองอร่ามไปหมดแล้ว” ภรรยาก็มองเห็นทองคำเช่นกัน จึงไปเอาก้อนดินที่กลายเป็นทองนั้น ลองทุบกับงอนไถ รู้ว่าเป็นทองแน่นอน ทั้งสองต่างรู้สึกปีติในความมหัศจรรย์แห่งบุญที่สามารถพลิกดินเป็นทองคำได้
นายบุญชวนศรีภรรยาไปกราบทูลพระราชา เพื่อส่งคนไปขนทองทั้งหมดเข้าสู่ท้องพระคลัง พระราชาทรงรับสั่งให้เทียมเกวียนไปขนทองของนายบุญมาจากท้องนา พวกราชบุรุษเห็นทองคำมากมาย ต่างรู้สึกอัศจรรย์ใจ พากันกล่าวด้วยความไม่รู้ว่า “นี่เป็นทองคำของพระราชา” พลางหยิบก้อนทองขึ้นมาดู ทองสุกปลั่งที่ปรากฏต่อหน้านั้น พลันกลับกลายเป็นก้อนดินทันที พวกราชบุรุษตกใจมาก อีกทั้งเกรงกลัวพระราชอาญา เพราะโทษฐานที่ทำให้ทองกลับกลายเป็นดิน จึงไปกราบทูลพระราชา
พระราชาจึงรับสั่งว่า ให้พวกท่านจงพูดว่า “ทองคำเหล่านี้เป็นของนายบุญ” เมื่อพวกราชบุรุษกลับไปดูใหม่ และพูดตามคำสั่งของพระราชา ก้อนดินที่ถือขึ้นมาก็กลายเป็นทองเหมือนเดิม พวกเขาจึงช่วยกันขนทองมาไว้ที่พระลานหลวง กองสูงประมาณเท่าต้นตาล พระราชาโปรดให้เรียกชาวเมืองและพวกพ่อค้ามาประชุมกัน และตรัสถามว่า “ในตระกูลของใครมีทองกองสูงเท่านี้ไหม” เมื่อได้รับคำตอบว่า ไม่มีผู้ใดมีทองมากเท่านี้ พระองค์ได้พระราชทานทองคำทั้งหมดคืนนายบุญ แล้วทรงแต่งตั้งให้เป็นเศรษฐี โดยขนานนามใหม่ว่า ธนเศรษฐี
นายบุญได้เป็นเศรษฐีแล้ว ก็ไม่ประมาท ท่านฉลองตำแหน่งเศรษฐีด้วยการจัดงานมงคล โดยไปกราบนิมนต์พระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขมารับสังฆทานตลอด ๗ วัน ในวันสุดท้ายพระบรมศาสดาทรงอนุโมทนาในทานของปุณณเศรษฐีและครอบครัว เมื่อจบพระธรรมเทศนา ท่านเศรษฐี ภรรยา และลูกสาว ต่างได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน เป็นผู้เลื่อมใสไม่คลอนแคลนในพระรัตนตรัย ได้ตั้งใจสั่งสมบุญจนตลอดชีวิต
เราจะเห็นว่า การทำบุญถูกเนื้อนาบุญ เป็นบุญลาภอันยิ่งใหญ่มาก ผู้ที่มีบุญมากนั้น เพราะในกาลก่อนท่านได้ทำในสิ่งที่ใครๆ ทำได้ยาก มีใจเต็มเปี่ยม ไม่เสียดายทรัพย์หรือแม้กระทั่งชีวิต ทำถูกเนื้อนาบุญ ทำกับผู้บริสุทธิ์ ถึงคราวบุญส่งผล ฟังแล้วแทบไม่น่าเชื่อว่า ผู้มีบุญมากไม่ต้องทำมาหากิน แค่ตรึกระลึกนึกถึงบุญเท่านั้น สมบัติใหญ่ก็ไหลมาเทมา เพราะสมบัติมีอยู่แล้วในโลก ถ้ามีบุญก็รวมสมบัติได้ สมบัติเป็นของกลางของโลก มีไว้ให้เฉพาะผู้มีบุญที่มีดวงบุญสุกใสสว่างอยู่ภายในเท่านั้น ถ้ามีบุญมากบุญก็ดูดสมบัติเข้ามา ยิ่งใจบริสุทธิ์สว่างมาก ท่อธารแห่งบุญที่อยู่ในศูนย์กลางกาย ก็ยิ่งมีแรงดึงดูดมาก สมบัติทั้งหลายจะหลั่งไหลมาสู่ผู้มีบุญให้ได้ใช้ตามใจปรารถนา
บุญจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะติดตามเราไปในภพชาติเบื้องหน้า เป็นบ่อเกิดแห่งความสุข และความสำเร็จในชีวิตทั้งปวง ดังนั้นให้ทุกท่านหมั่นสร้างมหาทานบารมีกันให้เต็มที่กันทุกคน
* มก. เล่ม ๒๒ หน้า ๒๗