Dhamma for people
ธรรมะเพื่อประชาชน
ศาสตร์พิฆาตกิเลส ตอน ๒
ธรรมชาติของแต่ละอย่างจะมีความพอดีอยู่ในตัว ถ้าหากวางสิ่งนั้นไว้ถูกที่ วางไว้ถูกส่วนก็จะดีทั้งนั้น อย่างมือของเราน่ะปกติจะต้องวางไว้ข้างๆ ตัว ถ้าวางไว้ผิดที่ยกสูงๆ ค้างไว้อย่างนั้นสักครึ่งชั่วโมงเดี๋ยวก็เมื่อย ใจของเราก็เช่นกัน ถ้าวางไว้ผิดที่ไปวางไว้กับคน สัตว์ สิ่งของ หน้าที่การงาน การศึกษาเล่าเรียน บุตรธิดา ภรรยาสามี เดี๋ยวก็ร้อนรุ่มใจ แต่ถ้าวางไว้ถูกที่ ซึ่งเป็นที่ตั้งถาวรของใจคือศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เอาวางไว้ถูกที่ถูกส่วนเข้าเท่านั้น ใจจะค่อยๆ สงบ ค่อยๆ นิ่งจะค่อยๆ โล่งโปร่งเบาสบาย ที่เรียกว่าโล่งใจ
ความรู้สึกทางร่างกายจะเริ่มเบาและขยายกว้างออกไป จะเบาเหมือนจะเหาะจะลอย กลืนไปเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับบรรยากาศ เหมือนว่าไม่มีร่างกาย มีแต่ความนิ่งและความรู้สึกสบายใจ พอใจหยุดถูกส่วนก็จะเห็นแสงสว่าง เห็นดวงธรรม เห็นกายในกายที่ละเอียดขึ้นไปตามลำดับ กระทั่งเห็นกายธรรม ได้พบพระรัตนตรัยในตัว ดังนั้นการรู้จักวางใจให้ถูกที่ถูกศูนย์ถูกส่วน จะมีส่วนอย่างสำคัญ ที่จะทำให้เราเข้าถึงความสมบูรณ์ที่สุด ของการเกิดมาเป็นมนุษย์ เพื่อสร้างบารมีอย่างแท้จริงนะจ๊ะ
มีพระพุทธวจนที่ตรัสไว้ในอุปัชฌายสูตรว่า
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายจักเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น ทางกายและทางใจ จักเป็นผู้รู้ประมาณในการฉัน ปรารภความเพียร มีสติรู้ตัวตื่นอยู่เสมอ เพื่อให้เห็นแจ้งในกุศลธรรมทั้งหลายและจักเจริญโพธิปักขิยธรรม ตลอดทั้งวันทั้งคืน
พุทธพจน์บทนี้ปรารภเหตุที่ภิกษุรูปหนึ่ง เกิดความกำหนัดยินดีในกาม เข้าครอบงำจิตใจ ไม่ยินดีในการประพฤติพรหมจรรย์ แต่ท่านก็ไม่เก็บงำเอาไว้ ได้เปิดเผยความในใจให้พระอุปัชฌาย์ทราบ พระอุปัชฌาย์ไม่รู้จะช่วยอย่างไร จึงพาลูกศิษย์มาเข้าเฝ่า เพื่อขอคำแนะนำจากพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งครั้งที่แล้วหลวงพ่อได้พูดถึงเรื่องที่พุทธองค์ทรงแนะนำภิกษุ ให้รู้จักคุ้มครองอินทรีย์ทั้ง ๖ และได้อธิบายเรื่องการรู้จักประมาณในการขบฉัน ว่ามีส่วนที่จะพิฆาตกิเลสซึ่งหลบซ่อนอยู่ภายในใจได้อย่างไรบ้าง
การที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งจะนั่งสมาธิก้าวหน้า บรรลุธรรมเป็นพระอริยเจ้าได้นั้น ต้องรู้จักหลักวิชชาและมีกุศโลบายในการที่จะไปถึงเป้าหมายอันสูงสุดนั้น ตั้งแต่การประกอบเหตุภายนอก ไม่พอกพูนกิเลสที่ยังไม่เกิดขึ้น คือรู้จักสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รู้จักประมาณในการขบฉัน กายก็จะได้ฟ่องเบาไม่อึดอัด เหมาะสมต่อการเจริญภาวนา ซึ่งเราก็ได้รับฟังกันมาแล้ว สำหรับวันนี้หลวงพ่อก็จะพูดถึง เรื่องการเจริญโพธิปักขิยธรรมหมายถึงหมวดธรรมที่คอยสนับสนุน ให้ผู้ปฏิบัติได้บรรลุธรรมาภิสมัย สมดังความปรารถนากันนะจ๊ะ
โพธิปักขิยธรรม เป็นหัวข้อธรรมหมวดใหญ่ ซึ่งรวมเอาหมวดธรรมย่อยหลายๆ หมวดมารวมกัน ได้แก่
๑. สติปัฏฐาน ๔
๒. สัมมัปปธาน ๔
๓. อิทธิบาท ๔
๔. อินทรีย์ ๕
๕. พละ ๕
๖. โพชฌงค์ ๗
๗. อริยมรรคมีองค์ ๘
รวมแล้วเรียกว่า โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ
การที่พุทธองค์ตรัสว่าให้เจริญโพธิปักขิยธรรม ตลอดทั้งคืนและวัน จึงหมายเอาการเจริญหมวดธรรมเหล่านี้นั่นเอง สติปัฏฐานคือการใช้สติตามพิจารณาเห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิตและธรรมในธรรม เริ่มตั้งแต่ กาเย กายานุปัสสี คือใช้สติตามเห็นกายในกายเข้าไปเรื่อยๆ ในกายมนุษหยาบของเรานั้น ยังมีกายที่ละเอียดซ้อนกันเข้าไปเป็นชั้นๆ อยู่ถึง ๑๘ กาย เป็นแผนผังของชีวิตทุกคนในโลก
การพิจารณาเวทนาในเวทนา ท่านใช้คำว่า เวทนาสุ เวทนานุปัสสี คือพิจารณาเห็นเลยว่า ในแต่ละกายนั้น มีระดับการเสวยความสุขและทุกข์ที่แตกต่างกัน กายไหนบริสุทธิ์มาก ละเอียดมากก็เสวยสุขมากมีทุกข์น้อย แต่ไปถึงกายธรรมอรหัตก็เสวยสุขล้วนๆ ไม่มีทุกข์เจือปนเลย
ต่อมาพิจารณาจิตในจิตเป็นอย่างไร ในพระบาลีท่านกล่าวเอาไว้ว่า จิตเต จิตตานุปัสสี คือตามเห็นจิตในจิต จิตของกายแต่ละกายก็มีความรู้สึกนึกคิดที่แตกต่างกัน จิตที่หยาบก็มีกิเลสเอิบอาบซึมซาบปนเป็นอยู่มาก จิตของกายที่บริสุทธิ์มากๆ จะไม่มีกิเลสอาสวะมาห่อหุ้มได้เลย เมื่อเห็นจึงรู้ เมื่อรู้ก็เบื่อหน่าย พอเบื่อหน่ายก็คลายกำหนัด คลายความยึดมั่นถือมั่นในกายต่างๆ เหล่านั้น แล้วก็เข้าไปสู่กายที่ละเอียดบริสุทธิ์ยิ่งๆ ขึ้นไป ตามเห็นกันเข้าไปเป็นชั้นๆ จนถึงกายธรรมอรหัตละเอียด จึงเป็นจิตที่หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง
ทีนี้ตามเห็นธรรมในธรรมท่านกล่าวว่า ธัมเมสุ ธัมมานุปัสสี คือเห็นตั้งแต่ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ โตเท่ากับฟองไข่แดงของไก่ ถ้าเป็นกายทิพย์ก็เห็นดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์ เห็นกันเข้าไปเป็นชั้นๆ อย่างนี้ จนกระทั่งเห็นดวงธรรมที่ทรงรักษากายธรรมเอาไว้ และเข้าไปถึงดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายอรหัตใหญ่โต มีแต่ความบริสุทธิ์ล้วนๆ เป็นวิราคธาตุ วิราคธรรม นี้หลวงพ่อพูดโดยย่อนะจ๊ะ
สัมมัปปธานหมายถึงเพียรป้องกันระวังไม่ให้บาปเอากุศลใหม่เกิดขึ้น เพียงขจัดให้บาปหมดสิ้นไป อดีตที่เคยผิดพลาดก็ลืมให้หมด แล้วหมั่นสั่งสมบุญกุศลใหม่ แล้วก็หมั่นตามระลึกนึกถึงบุญกุศลที่ทำมาแล้วอยู่เสมอ
อิทธิบาท ๔ คือสูตรแห่งความสำเร็จได้แก่
๑. ฉันทะ มีใจรักในการปฏิบัติธรรม
๒. วิริยะ พากเพียรทำจิตให้หยุดนิ่ง
๓. จิตตะ เอาใจจดจ่อไม่ทอดธุระ
๔. วิมังสา ใช้ปัญญาปรับปรุงแก้ไขให้จิตเจริญขึ้น
อินทรีย์ ๕ ตรงกับพละ ๕ คือ
๑. ศรัทธา
๒. วิริยะ
๓. สติ
๔. สมาธิ
๕. ปัญญา
ธรรม ๕ อย่างจัดอยู่ในชุดเดียวกัน เพียงแต่เรียกชื่อต่างกันไปตามหน้าที่ คือเรียกว่าอินทรีย์ เพราะเป็นใหญ่ในการกำจัดความไม่ศรัทธาด้วยศรัทธา กำจัดความเกียจคร้านด้วยวิริยะ จำกัดความประมาทด้วยการมีสติ กำจัดความคิดฟุ้งซ่านด้วยการมีสมาธิ และกำจัดความหลงงมงายด้วยปัญญา ส่วนที่เรียกว่าพละ เพราะเป็นกำลังสนับสนุน ทำให้เกิดความเข้มแข็ง มั่นคงในการกำจัดความไม่ศรัทธา ความเกียจคร้านความประมาท ความฟุ้งซ่านและความหลงงมงาย
หมวดทำต่อมาก็คือสัมโพชฌงค์เป็นสามัคคีธรรม สนับสนุนซึ่งกันและกันเพื่อให้ได้บรรลุธรรม โดยสติจะส่งเสริมธรรมอื่นทั้งหมด เพราะสติที่สมบูรณ์จะเริ่มต้นด้วยศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เมื่อเกินความหดหู่ใจให้เจริญธรรมวิชัย เมื่อเจริญธรรมโดยอาศัยวิริยะ ปีติก็จะเกิดขึ้น พอปีติสงบ ปัสสัทธิ ความสงบระงับก็เกิดขึ้น ความสงบจะทำให้ใจเป็นสมาธิและก็หยุดนิ่งเป็นอุเบกขา จิตที่เป็นอุเบกขาเป็นกลางๆ นี่แหละ จึงจะทำให้เข้ากลางได้ง่าย จิตจะดำเนินเข้าสู่หนทางแห่งอริยมรรค
อริยมรรคเป็นข้อปฏิบัติเพื่อขจัดสังโยชน์เบื้องต่ำเบื้องสูง ให้หลุดร่อนจากใจไปตามลำดับ ตั้งแต่มีความเห็นชอบ ดำริชอบ วาจาชอบ มีการงานชอบ มีอาชีพชอบ มีความเพียรชอบ มีสติชอบและก็มีสมาธิชอบ ซึ่งรายละเอียดลูกๆ ก็คงพอจะเข้าใจกันบ้างแล้ว ทั้งหมดนี้คือ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ โดยย่อที่พวกเราควรศึกษากันเอาไว้นะจ๊ะ
เมื่อภิกษุพุทธบุตร ผู้มีบุญได้ฟังพุทธโอวาทแล้วก็เกิดกำลังใจ ที่จะทำพระนิพพานให้แจ้งต่อไป จึงได้ทูลลาพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วหลีกเร้นออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท ท่านได้ตั้งใจจะเจริญโพธิปักขิยธรรม ปรารภความเพียรอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งใจหยุดใจนิ่ง เข้าถึงดวงธรรม กายในกาย กายธรรมในกายธรรม จนเข้าถึงกายธรรมอรหัตเป็นพระอรหันต์ ผู้หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงอย่างสิ้นเชิง
ทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องราวตัวอย่าง ของผู้รู้จักวิธีแก้ไขปัญหา ได้เรียนรู้ศาสตร์พิฆาตกิเลสให้สิ้นเชื้อไม่เหลือเศษนะจ๊ะ เราจะเห็นว่าตราบใดที่เรายังไม่หมดกิเลส ก็ยังได้ชื่อว่าเป็นเชลยศึกถูกขังอยู่ในคุกคือภพ ๓ ถ้าเป็นเฉลยผู้ไม่รู้ ก็จะถูกกิเลสบีบบังคับให้สร้างกรรม แล้วก็ต้องไปเสวยทุกข์ทรมานในอบายภูมิ ไปเป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกายและสัตว์เดรัจฉานเป็นเวลายาวนาน เมื่อไหร่มีผู้รู้มาสอน ก็จะสามารถทลายคุกคือภพ ๓ ไปสู่นิพพานได้
บัดนี้พวกเราทุกคนถือได้ว่าเป็นเชลยผู้รู้แล้ว มีหลักวิชชาที่พอจะเอาตัวรอดได้บ้าง ก็อย่าได้ประมาณหรือชะล่าใจ ให้หมั่นเจริญโพธิปักขิยธรรมและทำใจหยุดใจนิ่งให้ได้ทุกวัน เป็นประจำสม่ำเสมอ ให้ความสะอาดบริสุทธิ์และความสว่างภายใน ไปทำลายข้าศึกคืออวิชชา พิฆาตกิเลสให้สิ้นเชื้อไม่เหลือเศษ เพื่อเข้าถึงฝั่งแห่งพระนิพพาน อันเป็นเอกันตบรมสุขกันทุกคนนะจ๊ะ
พระธรรมเทศนาโดย : หลวงพ่อธัมมชโย (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)